ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๑ : ข้อสรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เทศบาล เพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้"


วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ CADL และเทศบาลเมืองมหาสารคาม ร่วมกัน "เปิดวง PLC" ณ โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กิจกรรมดำเนินตั้งแต่ ๙:๐๐ น. - ๑๕:๐๐ น. ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจมากๆ นำมาเสนอให้คุณครูรู้ไว้ตรงกันครับ ถือเป็นความตั่งใจ รวมใจ ไว้ก่อนเริ่มลุยในเทอมหน้าครับ

"ผู้ใหญ่" ในที่นี้คือ ท่านรองนายกเทศมนตรี ท่านวัลลภ วรรณปะเถาว์ ดร.กมล ตราชู ศึกษานิเทศก์ ผอ.พัชรี ร.ร.บ้านแมด ผอ.พงษ์ศักดิ์ ร.ร.บูรพาฯ และ ผอ.สมปอง (เจ้าภาพ) ให้ความสำคัญกับ PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม ครั้งนี้มาก แสดงถึงความเอาจริงของผู้บริหารต้นสังกัด ในตอนก่อนเชิญท่านกล่าวเปิดงาน ผมเล่าความเป็นมาและแจ้งวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อมาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือ "ปัญญา" ความสำเร็จที่เรามีแล้ว ๒) มาร่วมกันวางแผนแก้ไข และกำหนดแนวทางที่จะดำเนินต่อไปร่วมกัน และ ๓) เพื่อสร้างชุมชนเรียนรู้ครู ที่จะแบ่งปัน แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อสู้ขจัดปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้หมดไปจากนักเรียนในสังกัดเทศบาล

รองฯ วัลลภ กล่าวเปิดงานด้วยการฝากคำสำคัญไว้ ๒ คำ คือ "โอกาส" กับ "ปัญหา" ฟังแล้วประเทืองปัญญายิ่ง ท่านเล่าเรื่องประหลาดใจที่พบตอนไปร่วมเป็นกรรมการประเมินผลงานครูของ สพม. ๒๖ หนึ่งในโครงการที่ได้รางวัลคือ "โครงการพัฒนาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" ว่า ทำไมระดับมัธยมศึกษามีปัญหาถึงขนาดต้องมาแก้กันอย่างจริงจังอย่างนี้เชียวหรือ? ท่านบอกว่า การอ่านออกเขียนได้ไม่ใช่เพียง "ปัญหาทั่วไป" ที่จะแก้ไขตอนไหนหรือค่อยๆ แก้ไปก็ได้ แต่ถือเป็น "โอกาสของชีวิตคน" เด็ก ป.๑-ป.๒ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หมายถึง โอกาสที่หายไปที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ใน ป.๓-ป.๔ นั่นคือ หากครูไม่สามารถสร้าง "โอกาส" ให้เขาอ่านออกเขียนได้ ก็เปรียบเหมือนกับกำลังทำลายชีวิตลูกหลานไม่ให้มีอนาคตนั่นเอง

กิจกรรมตลอดวัน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ๑) แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของแต่ละโรงเรียน หลังเบรคเช้ากลับเข้ามานำเสนอ ๒) หลังเที่ยงกลับมาระดมสมอง ร่วมกันวางแผน สร้างข้อตกลง และกิจกรรมที่จะทำในตอนเริ่มโครงการ มีข้อสรุปดังนี้

แผนผังนี้แสดงแผนและข้อตกลงของ "PLC เทศบาลฯ พัฒนาการอ่านออกเขียนได้" จุดเด่นที่พบคือ ทุกโรเรียนกำลังแก้ไข และมีแนวปฏิบัติที่ดีในการแก้ไขแล้ว และพร้อมที่จะนำสิ่งดีๆ มาแลกเปลี่ยนกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ดังมีข้อตกลงดังนี้

  • ให้ทุกโรงเรียนมีการคัดกรองนักเรียนออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑ กลุ่มที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ๒) กลุ่มที่ยังคงต้องการการปรับปรุง และ ๓) กลุ่มที่มีทักษะการอ่าน-เขียนเป็นที่พอใจแล้ว โดยอาจจะใช้แบบคัดกรองมาตรฐาน หรือแบบคัดกรองที่สร้างขึ้นเองก็ได้
  • ให้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน และร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เช่น สื่อ นิทาน ชุดฝึก เกม ฯลฯ โดยส่วนกลางจะมีแบบฟอร์มสำรวจและรวบรวม สื่อนวัตกรรมดังกล่าว มารวมไว้ จัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อเตรียมให้ครูเลือกใช้ได้สะดวกต่อไป
  • แต่ละโรงเรียนให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ด้วยกระบวนการที่ตนเองคิดว่าทำแล้วจะดี กล่าวคือ ให้มีอิสระในการแก้ปัญหา เพียงตกลงกันว่า ให้เน้นการแก้ปัญหาในห้องเรียน
  • ครูทุกคนต้อง "เปิดใจ เปิดสมอง เปิดห้อง สามัคคี" ในที่นี้ หมายถึง การจัดให้มีกระบวนการ "เยี่ยมห้องเรียน" เดือนละ ๑ ครั้ง โดยจัดให้ในห้องเรียนมี "มุมแสดงผลงานนักเรียน" และมี "สมุดเยี่ยม" เตรียมไว้เอื้อให้มีการบันทึกข้อมูลและประเมินชมระดมความคิดความเห็นอย่างเป็นกัลยาณมิตร
  • จัดให้มีระบบประเมินผลกลาง เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของการแก้ปัญหา โดยไม่บังคับว่าทุกโรงเรียนต้องนำไปใช้ เพียงแต่ให้อิสระในการเลือกขอนำไปทดลองใช้
  • จัดให้มี PLC กลุ่มพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน นำเสนอผลงาน เป็นระยะที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร หรือผู้ปกครองเข้ามาชมผลงานด้วย (Show & Share)
  • เริ่มกันในภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๘

สำหรับผม ถือว่าประสบผลสำเร็จมาก เพราะเราได้แผนกระบวนการที่ชัดเจนมาก และครูทุกคนร่วมใจ ที่จะแก้ไขปัญหาที่ร่วมกัน ...


....ส่วนประสบการณ์ที่เราทำสำเร็จที่ผ่านมา ผมจะมาว่ากันในบันทึกต่อๆ ไปครับ















ดูรูปทั้งหมดได้ ที่นี่ครับ




หมายเลขบันทึก: 585937เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 03:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 03:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท