ทำอย่างไรดี เมื่อผู้ป่วยสมองเสื่อมหงุดหงิดฉุนเฉียว?!!


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกคน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพวกเราได้เรียนวิชากิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุกับอาจารย์ป๊อป ซึ่งในคาบนี้ได้เรียนรู้ในเรื่องของกรอบอ้างอิง วิธีการทางกิจกรรมบำบัดต่างๆ และรวมถึงการใช้สื่อทางกิจกรรมบำบัดกับผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จักกับอาการ 3 ลักษณะที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ได้แก่ Agitation Quiet Delirium และ Excite Delirium

อาการ Agitation ในผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของครอบครัว และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ญาติไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยที่มีอาการ Agitation จะมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ตลอดจนการทำร้ายผู้อื่น โดยที่ไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาจากโรคทางกายบางอย่าง ความเจ็บปวด หิว ท้องผูก นอนหลับไม่เพียงพอ หรือปัญหาทางจิตใจต่างๆ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า เปลี่ยนที่อยู่ หรือเปลี่ยนผู้ดูแลกะทันหัน ซึ่งควรหาสาเหตุให้พบและทำการแก้ไข เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข ซึ่งการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เช่น แสงสว่างที่เหมาะสม เสียงดนตรีหรือสัตว์เลี้ยงที่ผู้ป่วยชอบ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสงบลงได้

ตัวอย่างกรณีศึกษา

คุณตาสมคิด อายุ69ปี อาศัยอยู่ที่บ้านกับครอบครัว โดยมีหลานสาวเป็นผู้ดูแล คุณตาสมคิดมีปัญหาในเรื่องของการรับประทานยา เนื่องจากมีอาการสับสัน และหงุดหงิด ทำให้หลานสาวมีความยากลำบากในการดูแล

บทสนทนาระหว่างคุณตากับหลาน

หลาน: "ตา! กินยานะ เดี๋ยวมา" หลานพูดพร้อมกับวางยาเอาไว้และแสดงอาการเบื่อหน่ายก่อนที่จะเดินออกไป

ผ่านไป 10 นาที

หลาน: "ตาทำไมยังไม่กินยา" หลานเริ่มโกรธ เนื่องจากคุณตาไม่ยอมกินยาที่จัดเตรียมไว้ให้

คุณตา: "กินแล้ว"

หลาน: "นี่ไง ยายังวางอยู่เลย จะทิ่มตาแล้ว ถ้าไม่กินจะไม่เลี้ยงแล้วนะ"

คุณตา: "เออ ไม่เลี้ยงก็ไม่ต้องเลี้ยง ออกไปเลย ฉันอยากอยู่คนเดียว!"

บทสนทนาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวและอาการสับสนของคุณตา ทำให้มีปัญหาเรื่องการรับประทานยา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หลานจึงได้ขอคำปรึกษาจากนักกิจกรรมบำบัด มาดูกันว่านักกิจกรรมบำบัดจะช่วยให้คุณตาทานยาได้อย่างไร??

ณ ห้องดู TV คุณตานั่งอยู่ในห้องตามลำพัง หลานสาวมาพร้อมกับ นักกิจกรรมบำบัด

นักกิจกรรมบำบัด: "สวัสดีค่ะ คุณตา หนูชื่อพลอยนะคะ เป็นนักกิจกรรมบำบัด วันนี้หนูมาเยี่ยมคุณตา ตอนนี้คุณตากำลังดูอะไรอยู่เหรอคะ"

คุณตา: ".............." คุณตาไม่ยอมตอบ

นักกิจกรรมบำบัด: "หนูขออนุญาตเปิดผ้าม่าน กับ หน้าต่างนะคะ" นักกิจกรรมบำบัดเดินไปเปิดหน้าต่าง เมื่อเปิดหน้าต่างนักกิจกรรมบำบัดก็ชี้ชวนให้คุณตาดูธรรมชาติด้านนอก "โห! คุณตาดูสิคะ ด้านนอกมีดอกไม้บานเต็มเลย อากาศก็ดีมากๆ ออกไปนั่งเล่นที่สวนด้านนอกกันดีไหม เดี๋ยวหนูจะพาคุณตาไปเองค่ะ"

คุณตา: "ฉันเบื่อ"

นักกิจกรรมบำบัด: "นี่ไงคะคุณตา ออกไปข้างนอกกันไปดูต้นไม้ดอกไม้กัน คุณตาจะได้สดชื่นขึ้นนะคะ" นักกิจกรรมบำบัดพูดพร้อมสัมผัสตัวคุณตา โยกและนวดเบาๆเพื่อให้มีการตื่นตัว "ไปกันเถอะคะคุณตา"

คุณตา: "ไปก็ได้"

หลังจากนั้นนักกิจกรรมบำบัดได้พาคุณตาไปเดินเล่นชมสวนรอบบ้าน และให้คุณตาไปนั่งพักที่โต๊ะในสวน

นักกิจกรรมบำบัด: "คุณตา เห็นแก้วยากับแก้วน้ำที่วางอยู่หรือเปล่าคะ ในนี้มียาอยู่ คุณตาหยิบแก้วยาขึ้นมาสิคะ" นักกิจกรรมบำบัดพูดพร้อมแตะที่ข้อศอกคุณตาให้หยิบแก้วยาขึ้นมา

นักกิจกรรมบำบัด: "คุณตาเทยาลงบนฝ่ามือสิคะ"

นักกิจกรรมบำบัด: "ตอนนี้คุณตามียาอยู่ในมือ 2 เม็ดนะคะ สีเหลืองกับสีขาว คุณตากินยานะ" เมื่อพูดจบนักกิจกรรมบำบัดช่วยแตะเตือนที่ข้อศอกคุณตา เพื่อให้คุณตารู้ว่าต้องเอายาเข้าปาก

นักกิจกรรมบำบัด: "ให้คุณตาหยิบแก้วน้ำมาดื่มน้ำนะคะ" นักกิจกรรมบำบัดพูดพร้อมทั้งแตะที่มือคุณตาให้ดื่มน้ำ

นักกิจกรรมบำบัด: "คุณตาดูที่แก้วยาสิคะไม่มียาแล้ว แก้วน้ำก็ไม่มีน้ำแล้ว แสดงว่าคุณตากินยาไปแล้วนะคะ"

นักกิจกรรมบำบัด: "ครั้งต่อไปให้คุณตาดูที่แก้วยาเสมอนะคะว่ายังมียาอยู่หรือไม่ เมื่อมีคนถามว่า คุณตากินยาหรือยัง"

คุณตา: "ขอบคุณมากนะหนูเอ๋ย" พร้อมกับยิ้มอย่างมีความสุขให้กับนักกิจกรรมบำบัด

จากบทสนทนาข้างต้น นักกิจกรรมบำบัดได้ทำการ

  • การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการ (Client relationship) เป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้รับบริการและผู้บำบัด โดยพูดกับคุณตาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล (soft voice) และมีการสัมผัสเบาๆ (soft touch) เพื่อทำให้ผู้รับบริการใจเย็นลด และลดอาการหงุดหงิด
  • ใช้ตนเองเป็นสื่อบำบัด (Therapeutic use of self) โดยใช้ตัวผู้บำบัดในการกระตุ้นให้ผู้รับบริการทานยา เช่น การบอกชี้แนะให้คุณตาทานยา ให้ความรู้เกี่ยวกับการทานยา และให้คำแนะนำคุณตาในการทานยาครั้งต่อไป
  • ใช้การปรับสภาพแวดล้อม (Environment modification) โดยการเปิดผ้าม่านและหน้าต่าง ทำให้คุณตาได้เห็นสิ่งแวดล้อมต่างๆนอกบ้าน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้แตกต่างไปจากเดิม กระตุ้นให้คุณตารู้สึกกระปรี้กระเปร่า และลดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว
  • ใช้ Physical activity โดยการให้คุณตาได้ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย (ให้เดินรอบๆสวนหน้าบ้าน)
  • ใช้การวิเคราะห์ขั้นตอนของกิจกรรม (Activity analysis) วิเคราะห์ขั้นตอนในการกินยา รวมถึง วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งที่ผู้รับบริการทำได้ ทำไม่ได้ รวมถึงวิธีการปรับประยุกต์กิจกรรม ให้ผู้รับบริการสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนั้นได้มากที่สุด และเพื่อลดการสับสน
  • ใช้หลัก Teaching & Learning โดยใช้ คำถามปลายปิด เพื่อให้ผู้รับบริการไม่รู้สึกว่าการทำกิจกรรมนี้ยากเกินไปหรือสับสน เช่น คำถามYes No Question ถามความต้องการ เป็นต้น
  • การใช้ Physical prompt เพื่อเตือนให้ผู้รับบริการรู้ว่าต้องขยับร่างกายในการทำกิจกรรมก่อน ถ้าหากผู้รับบริการยังไม่เข้าใจ ให้จับมือแล้วทำกิจกรรมนั้นเลย (Physical patterning) และใช้ verbal prompt โดยใช้คำพูดบอกว่าขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคืออะไร

หมายเลขบันทึก: 585935เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท