เอกสารประกอบการสร้าง "ค่านิยมร่วม" "Shared Value" จากวง "PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม"


(บันทึกนี้เสนอบางส่วนของเอกสารที่ผมเขียน เพื่อสื่อสารกับครูเพื่อศิษย์ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม เพื่อ "จุดประกาย" ค่านิยมร่วม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ ... เนื้อความอาจ "แรง" เพราะต้องการจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เห็นด้วยว่าต้องพึ่งตนเองได้ "แสดงพลังออกมาร่วมรวมกัน" ... โปรดใช้วิจารณญาณครับ ....)

กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ที่เราเอาวิธีการของคนอื่น วิธีการของนักคิด นักวิชาการ แม้จะเป็นวิธีการที่ผ่านการรับรองว่าทำสำเร็จจากผลงานวิจัยสวยหรู นำมาบอกครูว่าดีหมดกำหนดให้ครูต้องสอนแบบนั้น ทำแบบนี้ ครูต้องไปเรียนต่อถึงจะดี ต้องทำผลงานจากการทำงานพัฒนาเด็ก แต่ผลลัพธ์ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นเด็กไทย ป.๓ ป.๖ อ่านไม่ได้กว่า ๒ แสนคนสวนทางกับงบประมาณและทรัพยากรที่ทุ่มลงไปมหาศาล

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลองมาคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง ทฤษฎีหรือวิทยาการใดที่เป็นประโยชน์ เราอาจจะนำมาปรับใช้อย่างเท่าทัน ไม่ใช่ไป "ยกหมวก อเมริกัน มาสวมหัว บักหำน้อย" ซึ่งนอกจากจะ "จำ" และ "ทำ"ไม่ได้แล้ว ยัง "มองไม่เห็นทาง" และไม่ภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในรากเหง้าของตนเองอีกด้วย

ในด้านวัตถุ เกลือที่ประเทศไหนก็มีรสเค็ม แก้วที่ไหนก็คือแก้ว หากได้วัตถุดิบและวิทยาการสร้างที่ถูกต้องแล้ว แก้วที่ไหนก็สร้างได้ด้วยวิธีเดียวกัน วิทยาศาสตร์นั้นเป็นสากล แต่การศึกษาไม่ใช่ การศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่สังคมและสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างยิ่ง การศึกษาของคนหรือกลุ่มคนแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ จะแตกต่างไป ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยทั้งภายในแต่ละคน ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม นี่คือสาเหตุที่ เราไม่สามารถ "ยกหมวก อเมริกัน มาสวมหัว บักหำน้อย"

"เรา" ในที่นี้ คือ "คนไทย" โดยเฉพาะ "ไทยอีสาน" ควรหันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์แห่งความสำเร็จของเราเอง แนวปฏิบัติที่ดีของคนในพื้นที่ เพราะคนที่รู้จักเด็กของเราที่ที่สุดก็คือเราเอง มาช่วยกันระดมสมองและสองมือ มองปัญหาและแก้ปัญหาให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของตนเอง "ถักหมวกตาล สานกระต่า ตัดเสื้อผ้าใส่ ให้เหมาะกับขนาดของเราเอง" เปิดใจแล้วนำเอาสิ่งดีๆ มาลงมือปรับใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานเรา

เราต้องมั่นใจ ว่าเราทำได้ ความจริงคือ เราเท่านั้นที่ทำได้ เราเท่านั้นที่แก้ปัญหาของเราได้ เพียงแต่ต้องใช้ความร่วมมือ ร่วมใจ และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เรามีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีหลักวิชาการ วิธีที่ดีคือ การน้อมนำเอาหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

เริ่มตั้งแต่ การวางแผนร่วมกันการกำหนดข้อตกลงเพื่อเอื้อให้เกิดการลงมือทำอย่างมีกำลังใจ สร้างและแลกเปลี่ยนสื่อนวัตกรรมกัน สร้างระบบประเมินและติดตามผลการดำเนินการ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาเปิดเผยแบ่งปันกัน เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

เอกสารนี้ รวบรวมเอาแนวปฏิบัติที่ดีของครูเพื่อศิษย์ในพื้นที่ ๓ ท่าน ที่ประสบความสำเร็จแล้วในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ท่านแรกคือ ผอ.สมปอง มาตย์แท่น ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยา โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคามของเราเอง ท่านที่ ๒ คือ ครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ครูโรงเรียนบ้านหินลาด อ.ท่าสองคอน ที่ประสบความสำเร็จในการสอนด้วยกระบวนการเด็กจิตอาสา และท่านที่ ๓ คือ ครูผอ.ไพฑูรย์ แวววงศ์ เจ้าของโรงเรียนมีสุข (เอกชน) ที่สามารถแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยใช้เวลาไม่เกิน ๒ เดือน

ปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา ไม่ได้มาจาก “ผู้อื่น” แต่มาจาก “เรา” เราผู้พึ่งตนเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ “ลูกหลานเรา” ได้ดี


หมายเลขบันทึก: 585934เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Yes it is time to actually do things for ourselves by ourselves.

My reason is simple - we need to experience not just results but the work involve in what we do.

For this same reason, I would like to Thai railway systems developed by Thais --not bought or built by other countries--. Once we have learned how to build a railway system, we will learn to build the best (other) systems too.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท