การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต วิชากฎหมายอาญา (ข้อที่3) สมัยที่ 61-65


สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551

ข้อ 3. นายชอบพาสุนัขของตนสองตัวไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ(1) ขณะที่นายชอบเผลอ สุนัขทั้งสองตัววิ่งหายไปในกลุ่มคนที่มาเดินออกกำลังกาย (2)นายชอบเห็นสุนัขตัวหนึ่งของนายใจเดินอยู่ นายชอบเข้าใจว่าเป็นสุนัขของตนที่หายไป (3) จึงเข้าไปอุ้มนำขึ้นรถเพื่อกลับบ้าน (4) ระหว่างทาง นายชอบเห็นสุนัขอีกตัวหนึ่งเดินอยู่ข้างถนนเข้าใจว่าเป็นสุนัขของนายชื่น นายชอบอยากได้มาเป็นของตนแทนสุนัขอีกตัวหนึ่งที่หายไป จึงไปอุ้มขึ้นมาบนรถ (5) แต่ความจริงเป็นสุนัขของนายชอบเอง

ให้วินิจฉัยว่า นายชอบมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) การรับผิดทางอาญา (2) ลักทรัพย์

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายชอบ มีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และ 334

มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายชอบไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะขาดเจตนาลักทรัพย์ เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจึงจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ตามที่มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติไว้

นายชอบไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายชื่น เพราะสุนัขอีกตัวหนึ่งที่นายชอบอุ้มขึ้นมาบนรถเป็นสุนัขของนายชอบเอง จึงไม่ใช่การเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7144/2545)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายชอบไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายใจและของนายชื่น

สมัยที่ 62 ปีการศึกษา 2552

ข้อ 3. นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองไม่ชอบหน้านายฟ้า ระหว่างที่ทั้งสามคนกำลังยืนคุยกันอยู่ นายฟ้าเดินผ่านมาพอดี (1) ทั้งสามคนจึงร่วมกันแกล้งนายฟ้าโดยนายเหลืองมอบปืนให้แก่นายเขียว (2) นายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิงลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากำลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา (3) ขณะที่นายเขียวยิงปืน นายม่วงทำหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทำของนายเขียว (4) ส่วนนายเหลืองไปดูลาดเลาอยู่ห่างจากจุดที่นายเขียวยิงประมาณ 120 เมตร โดยจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นการยิงปืนได้ (5) ปรากฏว่ากระสุนปืนที่นายเขียวยิงไปที่พื้นดินดังกล่าวถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย(6) นายเขียวตกใจที่เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นและสำนึกผิดด้วยการพานายฟ้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนนายฟ้าปลอดภัย

ให้วินิจฉัยว่า นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองมีความผิดฐานใด หรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) ยับยั้งหรือกลับใจ (2) ตัวการ (3) ผู้สนับสนุน (4) ทำร้ายผู้อื่น

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายเขียว มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2)นายม่วง มีความผิดฐานใดหรือไม่

(3) นายเหลือง มีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82,83,86 และ 295

มาตรา 82 ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ

มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดแม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตามผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่ นายเขียวใช้ปืนยิงลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากำลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา นายเขียวย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกนายฟ้าได้ เมื่อกระสุนปืนถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่านายเขียวมีเจตนาทำร้ายร่างกายนายฟ้า นายเขียวจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายฟ้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 (คำพิพากษาฎีกาที่ 234/2529)

นายม่วงทำหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทำของนายเขียวเป็นการร่วมกระทำความผิดโดยการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันในการทำร้ายร่างกายนายฟ้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1423/2535)

นายเหลืองอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 120 เมตร และจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้ จึงไม่ใช่การกระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 346/2529) นายเหลืองจึงไม่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ในความผิดตามมาตรา 295 แต่นายเหลืองเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 86 เพราะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนการกระทำความผิดของนายเขียวด้วยการมอบปืนให้แก่นายเขียว และนายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิงลงไปที่พื้นดิน

การที่นายเขียวสำนึกผิดพานายฟ้าไปรักษาพยาบาลจนปลอดภัยไม่ใช่การกลับใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 82 เพราะจะเป็นการกลับใจได้ การกระทำของนายเขียวต้องอยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิด และนายเขียวกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เมื่อการกระทำของนายเขียวบรรลุผลเป็นความผิดสำเร็จฐานทำร้ายร่างกายนายฟ้าแล้วกรณีจึงไม่ใช่การกลับใจตามมาตรา 82 แต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายเขียวจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายฟ้า

นายม่วงทำหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ๆ จึงเป็นตัวการร่วมกันในการทำร้ายร่างกายนายฟ้า

นายเหลืองจึงไม่เป็นตัวการแต่นายเหลืองเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

สมัยที่ 63 ปีการศึกษา 2553

ข้อ 3. นายเบี้ยวจ้างนายแบนไปฆ่านายทอง (1) นายแบนไปที่บ้านนายทอง เห็นนายทองกำลังยืนคุยกับนายเงิน (2) แต่นายแบนไม่เคยรู้จักนายทองมาก่อน จึงถามนายทองว่าคนไหนคือนายทอง(3) นายทองรู้ว่านายแบนเป็นมือปืนรับจ้างจะมาฆ่าตน จึงชี้ไปที่นายเงินและบอกว่านี่คือนายทอง (4) นายแบนสำคัญผิดว่านายเงินคือนายทอง จึงชักปืนยิงนายเงินถึงแก่ความตาย

ให้วินิจฉัยว่า นายแบน นายทอง และนายเบี้ยวมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) สำคัญผิด (2) จำเป็น (3) ผู้ใช้ (4) กรณีผู้กระทำทำเกินขอบเขตที่ใช้ โฆษณาหรือสนับสนุน (5) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายแบน มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2)นายทอง มีความผิดฐานใดหรือไม่

(3) นายเบี้ยว มีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61,67,84,87 และ 289(4)

มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา 67 ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 87 ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพราะมีผู้ใช้ให้กระทำตามมาตรา 84 เพราะมีผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา 85 หรือโดยมีผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรือเกินไปจากเจตนาของผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณีต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรืออยู่ในขอบเขตแห่งเจตนาของผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดการกระทำความผิดเช่นที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการใช้ การโฆษณา หรือประกาศ หรือการสนับสนุนผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นนั้น

ในกรณีที่ผู้ถูกใช้ ผู้กระทำตามคำโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือตัวการในความผิด จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเพราะอาศัยผลที่เกิดจากการกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิดผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย แต่ถ้าโดยลักษณะของความผิด ผู้กระทำจะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเฉพาะเมื่อผู้กระทำต้องรู้ หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นนั้นขึ้น ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดจะต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้ หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น

มาตรา 289 ผู้ใด(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่นายแบนยิงนายเงินโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายทอง ต้องถือว่านายแบนมีเจตนาฆ่านายเงิน โดยนายแบนจะยกเอาความสำคัญผิดว่านายเงินคือนายทองเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาต่อนายเงินไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 เมื่อนายแบนรับจ้างมาฆ่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายแบนจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4)

การที่นายทองบอกนายแบนว่านายเงินคือนายทอง จึงทำให้นายแบนฆ่านายเงิน เป็นการก่อให้นายแบนกระทำความผิดต่อนายเงินด้วยวิธีอื่นใด เพราะนายแบนไม่มีเจตนาจะฆ่านายเงินมาก่อน นายทองจึงเป็นผู้ใช้ให้นายแบนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง

เมื่อนายแบนผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดตามที่ใช้ นายทองผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง นายทองจึงมีความผิดตามมาตรา289 (4) โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84นายทองจะอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะนายทองสามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นภยันตรายโดยวิธีอื่นใดได้ (เช่น อ้างว่าไม่รู้จักนายทองฯ)นายเบี้ยวจ้างนายแบนไปฆ่านายทอง เป็นการก่อให้นายแบนกระทำความผิดโดยการจ้าง จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84

เมื่อนายแบนฆ่านายเงินโดยสำคัญผิดว่าเป็นนายทอง ถือว่าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดตามที่ใช้ นายเบี้ยวผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสองกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าผู้ถูกใช้กระทำเกินขอบเขตที่ใช้ตามมาตรา 87 นายเบี้ยวจึงมีความผิดตามมาตรา 289 (4) โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายแบนมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

นายทองเป็นผู้ใช้ให้นายแบนกระทำความผิดต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

นายเบี้ยวผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

สมัยที่ 64 ปีการศึกษา 2554

ข้อ 3. นายชัยเป็นศัตรูกับนายชุ่ม นายชัยต้องการฆ่านายชุ่ม(1) จึงหยิบปืนออกจากบ้านเพื่อไปดักซุ่มยิงนายชุ่ม (2) แต่ด้วยความบังเอิญ นายชัยได้หยิบปืนกระบอกที่มีสภาพชำรุดใช้การไม่ได้เพราะระบบลั่นไกชำรุดติดตัวไป (3) เมื่อนายชุ่มเดินมาถึงบริเวณที่นายชัยดักซุ่มอยู่ นายชัยซึ่งไม่รู้ว่าปืนมีสภาพดังกล่าว ได้ใช้ปืนนั้นเล็งและลั่นไกยิงนายชุ่ม แต่ไม่สามารถใช้ยิงได้ (4) ในขณะเดียวกันนายชิตศัตรูอีกคนหนึ่งของนายชุ่มก็ดักซุ่มยิงนายชุ่มอยู่บริเวณนั้นเช่นเดียวกัน(5) เมื่อนายชิตใช้ปืนยิงนายชุ่ม ปรากฏว่ากระสุนไม่ระเบิดออกเพราะกระสุนด้าน (6) เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ทั้งนายชัยและนายชิตต่างก็เดินทางกลับ (7) ระหว่างทางนายชัยไปพบกับนายชุ่มโดยบังเอิญ นายชัยจึงหยิบมีดดาบที่มีผู้ทิ้งไว้ในบริเวณนั้นไล่ฟันนายชุ่ม (8) นายชุ่มกลัวที่ถูกไล่ฟันจึงวิ่งหนีกระโดดลงแม่น้ำและเป็นเหตุให้จมน้ำถึงแก่ความตาย

ให้วินิจฉัยว่า นายชัยและนายชิตมีความผิดฐานใดหรือไม่

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) พยายามกระทำความผิด (2) พยายามที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่ (3) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (4) ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายชัย มีความผิดฐานใดหรือไม่ (2)นายชิต มีความผิดฐานใดหรือไม่

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,81,289 และ 290

มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 81 ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าการกระทำดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำไปโดยความเชื่ออย่างงมงาย ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

มาตรา 289 ผู้ใด(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายชัยและนายชิตมีเจตนาฆ่านายชุ่ม ได้ไปดักซุ่มยิงนายชุ่ม จึงเป็นเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน(คำพิพากษาฎีกาที่ 433/2546 และ 1451/2531)

นายชัยและนายชิตได้ลงมือฆ่านายชุ่มแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล โดยในกรณีของนายชัยนั้น การกระทำไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ นายชัยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายชุ่มที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4367/2544)

ส่วนกรณีของนายชิตนั้น การกระทำไม่บรรลุผลเพราะกระสุนไม่ระเบิดออก เนื่องจากกระสุนด้านซึ่งเป็นเหตุบังเอิญเท่านั้น หาเป็นการแน่แท้ว่าจะไม่สามารถทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงไม่ นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายชุ่มตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 (คำพิพากษาฎีกาที่ 783/2513)

การที่นายชัยใช้มีดดาบวิ่งไล่ฟันนายชุ่ม เป็นการทำร้ายนายชุ่ม เมื่อนายชุ่มกลัวที่ถูกไล่ฟันจึงวิ่งหนีกระโดดลงแม่น้ำและเป็นเหตุให้จมน้ำถึงแก่ความตาย การกระทำของ นายชัยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายนายชุ่มถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก (คำพิพากษาฎีกาที่ 9413/2552)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นายชัยต้องรับผิดฐานฆ่านายชุ่มโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและมีความผิดฐานพยายามฆ่านายชุ่มที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้

นายชิตต้องรับผิดฐานฆ่านายชุ่มโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและมีความผิดฐานพยายามฆ่านายชุ่มและความผิดฐานทำร้ายนายชุ่มถึงแก่ความตาย

สมัยที่ 65 ปีการศึกษา 2555

ข้อ 3. นายจิตและนายใจเป็นศัตรูกัน (1) ทั้งสองคนไปพบกันโดยบังเอิญในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก (2) ขณะที่นายใจเผลอ นายจิตซึ่งนั่งร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับนายใจเกิดความคิดขึ้นมาทันทีที่จะฆ่านายใจ (3) จึงลอบเอายาพิษร้ายแรงจำนวนหนึ่งที่นำติดตัวมาเพื่อจะไปใช้ฆ่าสัตว์ ใส่ในจานอาหารของนายใจที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร (4) แต่ก่อนที่นายใจจะกินอาหารในจานนั้น นายใจได้ตักอาหารใส่ปากเด็กหญิงแจ๋วบุตรของตนก่อน (5) สักครู่หนึ่งเด็กหญิงแจ๋วหมดสติมีน้ำลายฟูมปาก(6) ขณะที่กำลังรอรถพยาบาลรับเด็กหญิงแจ๋ว นายจิตสำนึกผิดพาเด็กหญิงแจ๋วไปรักษาที่โรงพยาบาลเสียก่อนจนเด็กหญิงแจ๋วปลอดภัย

ให้วินิจฉัยว่า นายจิตมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดบ้าง

จากโจทย์ วินิจฉัยกรณี (1) กระทำความผิดโดยพลาด (2) พยายาม (3)ยับยั้งหรือกลับใจ (4) ปลอมปนอาหาร ยา (5) ฆ่าผู้อื่น

ประเด็นที่ต้องตอบ (1) นายจิต มีความผิดอาญาฐานใดบ้าง

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60,80,82,236 และ 288

มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 82 ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ

มาตรา 236 ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใดเพื่อบุคคลอื่นเสพย์หรือใช้ และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ หรือจำหน่าย หรือเสนอขายสิ่งเช่นว่านั้นเพื่อบุคคลเสพย์หรือใช้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

คำตอบ ข้อเท็จจริงตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้

นายจิตเอายาพิษใส่ในจานอาหารของนายใจ เป็นการปลอมปนอาหารเพื่อบุคคลอื่นเสพ โดยการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของนายใจ นายจิตมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236

เมื่อนายใจตักอาหารใส่ปากเด็กหญิงแจ๋ว นายจิตก็มีความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 ต่อเด็กหญิงแจ๋วด้วย โดยเป็นการกระทำโดยพลาดตามมาตรา 60

นายจิตเอายาพิษร้ายแรงใส่ในจานอาหารของนายใจแสดงว่ามีเจตนาฆ่านายใจ เมื่อเป็นการกระทำขั้นตอนสุดท้ายในการทำให้นายใจถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อผลคือความตายของนายใจ แต่เมื่อการกระทำไม่บรรลุผล นายจิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80

นายจิตเจตนาฆ่านายใจ แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่เด็กหญิงแจ๋วโดยพลาด นายจิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเด็กหญิงแจ๋วโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,60 ประกอบมาตรา 80 ด้วย

การที่นายจิตสำนึกผิดพาเด็กหญิงแจ๋วไปรักษาจนปลอดภัย ไม่ใช่การกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เพราะขณะนั้นกำลังรอรถพยาบาลจะมารับเด็กหญิงแจ๋วไปรักษาอยู่แล้ว นายจิตจึงไม่ได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่า (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3688/2541)

ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น (1) นายจิตมีความผิดฐานปลอมปนอาหารเพื่อให้นายใจเสพย์

(2) นายจิตมีความผิดฐานปลอมปนอาหารเพื่อให้เด็กหญิงแจ๋วเสพย์โดยพลาด

(3) นายจิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายใจ

(4) นายจิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเด็กหญิงแจ๋วโดยพลาด

(5) นายจิตไม่ได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าเด็กหญิงแจ๋ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท