พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

​นายบี แซ่โซ้ง : ชาวม้งลาวถือสัญชาติอเมริกัน อดีตคนหนีภัยความตายจากสงครามเวียนดนามในศูนย์อพยพบ้านวินัย จังหวัดเลย, บิดาของนักศึกษาไร้สัญชาติในประเทศไทย


นายบี แซ่โซ้ง[1] : ชาวม้งลาวถือสัญชาติอเมริกัน อดีตคนหนีภัยความตายจากสงครามเวียนดนามในศูนย์อพยพบ้านวินัย จังหวัดเลย, บิดาของนักศึกษาไร้สัญชาติในประเทศไทย

ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗

เขียนโดย น.ส.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

การวิเคราะห์อดีตคนหนีภัยความตายจากประเทศลาว เพื่อประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์

------------------------------------------------------------

พ่อบี แซ่โซ้ง เกิดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ณ แขวนคำม่วน เมืองคำเกิด ประเทศลาว จากบิดาชื่อนายเบลี้ยตู้ แซ่โซ้ง และนางหมี่ แซ่ว่าง พ่อบี มีพี่น้อง คือ นาย Tongsua Xiong และ นายเฮ้อ แซ่โซ้ง เป็นคนชาติพันธุ์ม้งที่เป็นชาวเขา ไม่เคยมีเอกสารประจำตัวที่ออกโดยประเทศลาว เมื่อเกิดสงครามเวียดนาม ผู้นำทหารม้งคือนายพลวัง เปา หนีออกนอกประเทศ ประชาชนชาวม้งก็หนีตามมาเพื่อหวังจะให้มีชีวิตรอดจากภัยการสู้รบและการประหัตประหาร และไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

ดังนั้นปี พ.ศ.๒๕๓๐ พ่อบี จึงได้หนีเข้าประเทศไทย ทางชายแดนไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านวินัย อำเภอปากชม จังหวัดเลย ศูนย์อพยพนี้ตั้งไว้สำหรับชาวม้งโดยเฉพาะและพ่อบีก็ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)[2] เพื่อขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

พ.ศ.๒๕๓๒ หลังจากอยู่ในประเทศไทยได้ ๒ ปี พ่อบีผ่านการสัมภาษณ์และได้รับอนุญาตให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่คุณปู่เบลี้ยตู้ แซ่โซ้งยังคงอยู่ต่อที่ประเทศลาวอีก ๖ ปีเพราะถูกจับกุมโทษฐานที่ปล่อยให้คนม้งลาวนั้นหนีออกนอกประเทศลาว หลังจากนั้นจึงได้หนีออกมาประเทศไทยเช่นกันในปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยคุณปู่เบลี้ยตู่ตัดสินใจไม่ไปประเทศที่สาม จึงถูกพามาอาศัยอยู่ที่ถ้ำกระบอกชั่วคราว เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งชาวม้งจำนวนมากที่รอคอยการไปประเทศที่สามและไม่ไปมาอาศัยอยู่

ช่วง พ.ศ.๒๕๓๖ พ่อบี แซ่โซ้ง เดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมญาติ โดยไปที่บ้านห้วยคุ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ขณะนั้นพ่อบีเข้าประเทศไทยด้วยสถานะคนไร้สัญชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย เพราะเขาถือเอกสารเดินทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกาออกให้สำหรับผู้ลี้ภัยเมื่อเขาทราบข่าวว่าบิดาของตนเอง คือ ปู่เบลี้ยตู้เดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้ว จึงหาลู่ทางติดต่อให้บิดาของตนเองมาอาศัยอยู่ที่นั่น ในคราวนี้เองพ่อบีจึงได้พบกับแม่ไมว่างที่บ้านห้วยคุ ทั้งสองพบรักกัน แม้ว่าพ่อบีต้องเดินทางกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ก็ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อแต่งงานตามประเพณีม้งกับแม่ไมว่าง

นอกจากนั้นปู่เบลี้ยตู้ก็ย้ายออกจากถ้ำกระบอก เพื่อไปอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยคุ อำเภอเวียงแก่น ตามคำขอของพ่อบีเพราะเห็นว่าบริเวณนั้นภริยาของตนอาศัยอยู่ และมีชาวม้งอาศัยอยู่ด้วย ทำให้ปู่เบลี้ยตู้ตัดสินใจไปตั้งรกรากที่บ้านห้วยคุ อำเภอเวียงแก่นนับแต่นั้น และปู่เบลี้ยตู้ก็ได้เข้ารับการสำรวจเพื่อมีชื่อในทะเบียนราษฏรไทย ปัจจุบันปู่เบลี้ยตู่ก็ถือสัญชาติ แต่พ่อบีนั้นไม่ได้เข้ารับการสำรวจใดๆ ด้วย

จนกระทั่ง วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ แม่ไมว่างและพ่อบี ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกในประเทศไทย คือ ด.ช.ธงชัย แซ่ลี ซึ่งเกิดในบ้าน หมู่ ๘ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้องชัยก็ได้รับการจดทะเบียนการเกิดและมีสูติบัตรที่ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแก่น แต่ในฐานะบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีลักษณะชั่วคราว

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๘ พ่อบี แซ่โซ้ง ได้รับการอนุมัติแปลงสัญชาติอเมริกัน จากแผนกการเข้าเมืองและแปลงสัญชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตาม Certificate of Naturalization No.2066xxxx และถือหนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา เขาทำงานบริษัททั่วไปในตำแหน่งเช็คสินค้า

พ่อบี พยายามหาลู่ทางทางกฎหมายเพื่อติดต่อให้แม่ไมว่าง และลูกชายคือน้องชัย ได้ไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังดำเนินการไม่ได้ แต่พ่อบีก็จะกลับมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศไทยเป็นประจำ

ปี พ.ศ.๒๕๔๔ พ่อบี และแม่ไมว่างให้กำเนิดลูกสาวคนที่สอง คือ ด.ญ.ศิริยุพา ณ โรงพยาบาลเวียงแก่น โดยในสูติบัตรก็ระบุว่าบิดาคือนายบี แซ่โซ้ง สัญชาติอเมริกัน ด้วยเหตุที่ ด.ญ.ศิริยุพา เกิดหลังจากบิดาถือสัญชาติอเมริกันแล้ว และมีสูติบัตรซึ่งเป็นเอกสารแสดงความสัมพันธ์กับบิดา จึงทำให้พ่อบี แซ่โซ้งพา ด.ญ.ศิริยุพา ไปพิสูจน์สัญชาติอมริกันโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา จนเธอได้รับรองสัญชาติอเมริกันและขจัดความไร้สัญชาติได้ในที่สุด ในขณะที่น้องชัยลูกชายคนโตซึ่งเกิดก่อนบิดาถือสัญชาติอเมริกันทำให้เขายังคงไร้สัญชาติ

ประกอบกับเวลานี้แม่ไมว่างเองก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยแล้ว เธอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ พ่อบีและแม่ไมว่างจึงติดต่อกับอำเภอเวียงแก่ กระทรวงมหาดไทย กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเพื่อขออนุญาตให้แม่ไมว่างไปอาศัย/ไปเยี่ยมพ่อบีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกับ ด.ญ.ศิริยุพา ด้วยเหตุนี้แม่ไมว่างจึงได้รับเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย และขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าพ่อบีต้องการพา ด.ช.ธงชัย ลูกชายคนโตไปประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แต่เนื่องจากน้องชัยนั้นยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย แม้ประเทศสหรัฐเชื่อว่าน้องชัยเป็นบุตรของคนสัญชาติอเมริกันจริง และยินยอมออกวีซ่าให้กับน้องชัยในฐานะบุตรของพ่อบี แต่ปัญหาที่เกิดกับน้องชัย คือ ถูกปฏิเสธจากรัฐไทยไม่ให้มีเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว ทำให้น้องชัยไม่มีเอกสารเดินทางที่ได้รับการยอมรับในทางระหว่างประเทศเพื่อใช้สามารถเดินทางไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ พ่อบีและแม่ไมว่างจึงจำเป็นต้องให้น้องชัยอยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยทำหนังสือข้อตกลงเลี้ยงดูเพื่อตั้งตายงยุทธ และคุณยายป้า และน้าจังลีให้เป็นผู้ปกครองดูแลน้องชัย ปัจจุบันน้องชัยก็ศึกษาในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ พ่อบี แซ่โซ้ง และแม่ไมว่าง ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นเมื่อกระบวนการแปลงสัญชาติเป็นไทยของแม่ไมว่างได้รับอนุมัติ เธอจึงมีสถานะเป็นคนสัญชาติเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘ เธอและพ่อบีกลับมาเยี่ยมลูกชายอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ และพยายามดำเนินการให้น้องชัยได้รับสัญชาติไทย แต่ด้วยทั้งครอบครัวก็ไม่ทราบว่าน้องชัยมีสิทธิในสัญชาติไทยตาม ม.๒๓ เมื่อติดต่อกับอำเภอก็ไม่ได้รับคำแนะนำว่าน้องมีสิทธิในสัญชาติไทยอย่างใด จึงเป็นเหตุให้น้องชัยยังคงไร้สัญชาติ พ่อบีและแม่ไมว่างก็จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่นทั้งสองคนให้กำเนิดบุตรอีก ๗ คนซึ่งถือสัญชาติอเมริกันโดยการเกิด พวกเขาคือน้องสาวน้องชายของน้องชัย แต่ก็ไม่เคยได้พบหน้ากัน

ปัจจุบันพ่อบีและแม่ไมว่าง หวังว่าจะมีวิธีการทางกฎหมายที่จะให้ความช่วยเหลือบุตรชายคนโตของตนเองให้ได้รับสัญชาติไทย และสามารถเดินทางไปอยู่กับครอบครัวร่วมกันได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่หนีภัยการสู้รบออกจากประเทศลาว พ่อบีก็ไม่เคยกลับไปประเทศลาวอีกเลย เพราะในสมัยก่อนกลัวการถูกทำร้าย แต่แม้ว่าปัจจุบันตนเองจะมั่นใจว่าภัยการสู้รบจะจบสิ้นลงแล้ว และก็คงจะเดินทางกลับไปได้โดยปลอดภัย แต่ก็ไม่เคยกลับไปอีกเลย ปัจจุบันจึงอาศัยอยู่กับภรรยา คือ นางไมว่าง แซ่ลี และลูกอีก ๘ คนที่ Anchorage , Alaska ประเทศสหรัฐอเมริกา และหวังว่าตนเองและลูกๆ ทุกคนรวมถึงน้องชัยจะได้ใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกัน

--------------------------------------------------

การจัดการสิทธิมนุษยชนให้กับพ่อบี แซ่โซ้ง อดีตคนที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย โดยรัฐไทย

-----------------------------------------------------

จะเห็นได้ว่ารัฐไทยไม่ปฏิเสธที่จะคุ้มครองสิทธิในชีวิตของพ่อบี ผู้อพยพที่หนีภัยความตายจากเหตุการณ์สู้รบและการประหัตประหารเข้ามาประเทศไทย และแม้ว่าจะไม่สามารถจัดการคนหนีภัยความตายทุกคนให้อยู่ในประเทศไทยได้ แต่ในช่วงเวลา พ.ศ.๒๕๓๐ ก็มีกระบวนการจัดการ โดยร่วมมือกับรัฐต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UNHCR ในการให้สิทธิไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแก่คนหนีภัยความตาย เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิในการพัฒนาคุณชีวิตอื่นๆ ได้ตามมา สังเกตได้ว่าการจัดการสิทธิของพ่อบีจึงมีความเป็นไปได้เรื่อยมา และอดีคนหนีภัยความตายอย่างพ่อบีก็ได้รับการพัฒนาคุณชีวิตตามศักยภาพของเขา แต่ในทางกลับกันปัจจุบันการจัดการสิทธิให้กับ "บุตร" ของอดีตคนหนีภัยความตายที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย คือ น้องชัย กลับยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่น้องชัย[3]มี

ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติฝ่ายปกครองของรัฐไทยก็ยังไม่ได้จัดการสิทธิในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวของพ่อบี อดีตคนหนีภัยความตายที่เคยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศผ่านหลักบุคคลได้อย่างดีที่สุด เพราะปฏิเสธที่จะอนุญาตและออกเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว ให้กับน้องชัยเพื่อใช้เดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ข้อกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยก็กำหนดให้น้องชัยมีสิทธิขออนุญาตเดินทางไปหาครอบครัว และมีสิทธิที่จะร้องขอเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวได้ ระหว่างที่กระบวนการรับรองสัญชาติไทยของน้องชัยยังไม่แล้วเสร็จ


[1] ข้อมูลจากาการให้สัมภาษณ์ของนายธงชัย แซ่ลีเมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ สัมภาษณ์โดยผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายบี แซ่โซ้งเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ โดยนายธงชัย แซ่ลี ตามแบบสอบถามเพื่อใช้ในการสัมภาษณ์ออกแบบโดยผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์

[2] ปี พ.ศ.๒๕๑๘ UNHCR ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้อพยพอินโดจีน โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ก็ได้ลงนามกับรัฐบาลไทยในข้อตกลงว่าด้วยหลักการการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามและการกลับถิ่นฐานเดิมโดยสมัครใจ ตลอดจนหลักการไม่ผลักดันผู้อพยพกลับออกไป หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ รัฐบาลไทยอนุญาตให้ UNHCR เข้ามาดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และเปิดรับผู้อพยพอินโดจีนจากลาว กัมพูชา เวียดนาม จำนวนมากเพราะเหตุว่าพวกเขาหนีภัยการสู้รบและการประหัตประหารมา ซึ่งเป็นภารกิจของ UNHCR ที่จะดูแลคนเหล่านี้ในสถานะของผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดย พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ชี้แจงว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือคนจากประเทศอื่น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.๒๔๙๔ ก็ตาม โปรดดูเพิ่มเติม หน้า ๓๙-๔๐ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. ม้งลาวในประเทศไทย นโยบายและการดำเนินการของภาครัฐไทย (2518-2552). กรุงเทพฯ, อรุณการพิมพ์, 2554.

[3] โปรดดูเรื่อง คุณยายป้า อนุสาวรีย์ดอย และครอบครัว ๓ รุ่น : คนหนีภัยความตายจากประเทศลาว หรือ ม้งลาวในสงครามอินโดจีน ที่ตัดสินใจไม่ไปอเมริกา และถือสัญชาติไทยในปัจจุบัน ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 585593เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท