ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๔๖. เด็กไม่ดี



วันเด็ก ๑๐ มกราคม ๒๕๕๘ ผมได้อยู่บ้านอ่านหนังสือและเขียน บล็อก อย่างเต็มอิ่ม มีรถกระจายเสียงเพลง เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หนึ่งนับถือศาสนา สอง... กระตุ้นให้ผมหวนระลึกถึงชีวิตสมัยเป็นเด็กตัวเล็กๆ อายุสักสิบขวบ

สมัยนั้น หากผมได้ยินคำขวัญดังกล่าว ผมก็จะเถียงในใจว่า ทำไมต้องสิบอย่าง สิบเอ็ดไม่ได้หรือ แล้วผม (เด็กชายวิจารณ์) ก็จะเอาเจ้าสิบอย่างมาตรวจสอบ เพื่อหาทางทำให้เป็น ๙ หรือ ๑๑ หรือจำนวนอื่น แต่ก็ไม่เคยหยิบยกความคิดในใจออกไปเถียงกับใคร เพราะเขาไม่สนใจที่จะเถียงด้วย

อาจเป็นเพราะมีความคิดเป็นของตนเองแบบนี้แหละ ผมจึงได้ชื่อว่าเป็นเด็กดื้อ แม่บอกว่าดื้อตาใส และโดนเฆี่ยนเป็นกิจวัตรประจำวัน เข้าใจว่าพ่อแม่คงจะหวั่นวิตกมากว่าโตขึ้นผมจะเสียคน เพราะเป็นเด็ก "สอนไม่จำ" โดนเฆี่ยนก็ไม่หลาบจำ

ตอนนั้น ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมผมจึงทำผิด และถูกลงโทษ (ที่จริงจนเดี๋ยวนี้ก็ไม่เข้าใจ แต่เรื่องมันนานมากจนลืมไปหมดแล้ว จึงนำมาไตร่ตรองใหม่ไม่ได้)

ตอนมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่จุฬาฯ และที่ศิริราช ได้ได้ยินเพื่อน ที่เรียนมาจากโรงเรียนฝรั่งเขาเถียงกัน ผมฟังด้วยความสนเท่ เพราะไม่ว่าอาจารย์สอนอะไร ว่าอย่างไร เพื่อนกลุ่มนี้เอามาเถียงกันนอกเหนือหรือนอกกรอบที่อาจารย์สอนได้เสมอ และเขามักจะเถียงกัน ในกลุ่มเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกันนั้น คล้ายเป็นภาษาสื่อสารสำหรับสนุกสนานในกลุ่มเฉพาะ สมัยนั้นเราใช้คำว่า เบิ้ลกัน

ตอนไปทำงานที่หาดใหญ่ ขึ้นมากรุงเทพทีไร ผมชอบไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหาร ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถนนพระราม ๖ เพราะจะพบกับเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงกันที่เป็นอาจารย์ที่นั่น และเขาคุยกันด้วยภาษาอย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว ซึ่งผมคุยไม่เป็น แต่ได้ฟังทีไรมันชุ่มชื่นหัวใจ ถูกใจ แต่ตัวเองคุยไม่ค่อยเป็น

ถึงตอนนี้ผมเดาว่าภาษาคุยกันแบบโต้แย้งกึ่งทับถมหยอกล้อกันฐานเพื่อนแบบนี้ เป็นภาษาที่ผมคุยกับตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และคงจะเป็นต้นเหตุให้ผมถูกตราว่าเป็นเด็กดื้อ จึงโดนดัดสันดานด้วยไม้เรียว และคำด่าว่าต่างๆ นานา จนคงจะได้ผลไม่น้อย ทำให้ผมเป็นเด็กดีขึ้นในสายตาผู้ใหญ่ และมีผลทำให้นิสัยถกเถียงกับทุกอย่างที่ขวางหน้ามันเบาบางลงไปมาก

เอามาสะท้อนคิดและบันทึกไว้ แต่ไม่รับรองว่าเป็นบันทึกที่เข้าข้างตัวเองแค่ไหน



วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 585588เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำให้เป็นจุดอ่อนของเด็กไทย ที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หาว่าเถียงผู้ใหญ่

อ่านแล้วรู้สึกขอบคุณที่อาจารย์เก็บมาเล่า เพราะตัวเองก็เป็นค่ะ และมักจะรู้สึกว่าเราคงเป็นคนแปลกคนเดียว ทำไมคนอื่นเขาไม่สงสัย ไม่ขัดแย้ง เป็นเด็กดื้อตาใสเหมือนกันค่ะ ไม่เถียงด้วยการโต้ตอบแต่ทำแบบที่ตัวเองคิด ไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำแล้วเราไม่เห็นด้วย เป็น"ขบถ"เล็กๆนะคะ อ่านแล้วรู้สึกว่า มีพวกเลยค่ะ อาจารย์บรรยายได้ชัดมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท