การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 3


การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 3

5 กุมภาพันธ์ 2558

ประเด็นวิเคราะห์การแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติฯ นายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุล [1]


ปัญหาการรอนสิทธิใน "สถานะบุคคล" ที่เกี่ยวกับ "สัญชาติ" ดูเหมือนจะมีปัญหาทางปฏิบัติที่คาดไม่ถึงในหลายแง่มุม เหตุการณ์นี้ได้เกิดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยนายอำเภอแม่อายมีคำสั่งให้ถอนชื่อบุคคลราษฎรออกจากทะเบียนบ้าน จำนวน 1,243 ราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งฯ ใช้เวลาในการต่อสู้ดำเนินคดีถึง 3 ปี แต่ในรายละเอียดเพื่อให้ได้สิทธิใน "สัญชาติไทย" ของบุคคลหาได้จบลงไม่ เพราะยังคงมีเหลือบุคคลที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยหลงเหลือตกค้างอยู่อีกหลายปี และเหตุในลักษณะเช่นนี้ กำลังเกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในรายของนายชนินทร์และนายเบียะอ่อ ดังกล่าว

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คอย่างน่าสนใจ ผู้เขียนขออ้างอิงและขออนุญาตโพสต์อ้างอิงด้วยความเคารพ

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ (29 ธันวาคม 2557) [2] เห็นว่า

"หนังสือที่ (นายอำเภอท่าสองยางแจ้งไม่อนุมัติคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สู.ฯ) ตอบมานี้ ไม่ชัดเจนและน่าจะทำให้ปัญหาแบบนี้ยืดเยื้ออีกนาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร เดินเข้าไปหารือกันเลย ถามกันชัดๆ หารือกันชัดๆ ตรงประเด็น ตรงกับใจที่อยากถาม" และ

"ขอเน้นว่า ถ้าต้องสู้คดีกันในศาลปกครอง ก็ต้องทำ ไม่ได้บอกว่า ไม่ทำ แต่อยากให้ฟ้องกันไป คุยกันไป จะให้ศาลปกครองชี้ประเด็นอะไรกันแน่ ? อาทิ ปากคำชาวบ้านฟังไม่ได้จริงหรือ ? การเดินเผชิญสืบทำไม่ได้จริงหรือ ? อำเภอสามารถเงียบเฉย/ไม่ร่วมมือในการพิสูจน์สิทธิของเจ้าของปัญหาได้จริงหรือ ? เป็นอำเภอใจของอำเภอเต็มร้อยหรือไม่ที่จะฟังหรือไม่ฟังชาวบ้าน ? การเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านจะทำไม่ได้เลยจริงหรือ ? ประเด็นของความถูกต้อง/ความยุติธรรมอันใดที่จะขอให้ศาลชี้กันแน่ ?? คุยกับอำเภอให้ชัด หรืออาจจะต้องคุยให้ชัดถึงจังหวัด/กรมการปกครอง/กระทรวงมหาดไทย ... ลองเอาคดีแม่อายมาทบทวนเลย ประเทศไทยคงมีคดีปกครองใหญ่อีกครั้งแล้ว"

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ (31 ธันวาคม 2557) [3] ได้เรียกร้องข้อเสนอที่สะท้อนให้เห็นถึง "ข้อกฎหมายที่ว่า (1) ประชาชนยากจนไร้การศึกษาอาจแสดงตนเป็นพยานบุคคลได้หรือไม่ (2) ในสถานการณ์ยากลำบาก และไม่ใช่ พื้นที่ที่เป็นสภาพเมือง การเรียกร้องให้เจ้าของปัญหาต้องมีพยานหลักฐานที่สมบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองข้อที่คาใจอำเภอท่าสองยางนี้ ก็มีคำสอนและคำพิพากษามากมาย หากทางกรมการปกครองในส่วนกลางลงมาช่วยจังหวัดตากและอำเภอท่าสองยาง ก็น่าจะดีกว่าหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมที่จัดการโดยฝ่ายปกครองเอง ก็น่าจะเพียงพอ" และเห็นว่า "หากท่านนายอำเภอท่าสองยางจะไม่มั่นใจในข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เป็นอยู่ ก็น่าจะใช้กระบวนการทางศาลได้" ซึ่งเป็นทางออกสุดท้ายที่ดูจะเป็นความล่าช้าก็ได้

เรื่องนี้ผู้เขียนได้แสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊คแล้วบางส่วน ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2557 – วันที่ 4 มกราคม 2558 และผู้เขียนได้นำเสนอบทความ ความเห็นมาแล้วสองตอน ตอนต่อไปขอนำเสนอแง่คิดเห็นใน "เนื้อหา" บ้าง จึงขอลงความเห็นฯในเฟซบุ๊ค ซ้ำอีกครั้ง

ประเด็น ผู้ร้องทั้งสอง "มีสิทธิ" ขอ "แก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง" ต่อนายทะเบียนอำเภอท่าสองยาง หรือไม่ อย่างไร

ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าผู้ร้องทั้งสองราย (นายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุล) เป็นผู้มีสิทธิในการขอแก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง และได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการในเอกสารฯ ต่อนายทะเบียนอำเภอท่าสองยาง ไว้เป็นการถูกต้องแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ซึ่งนายอำเภอท่าสองยาง (ผู้มีอำนาจอนุมัติให้แก้ไขรายการในเอกสารฯ) ได้แจ้งการไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในเอกสารฯ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 รวมระยะเวลาการดำเนินการของผู้ร้องทั้งสองคนในขั้นตอนนี้เป็นเวลา 5 เดือน 29 วัน

เอกสารที่ขอแก้ไขรายการคือ "แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง" "ทะเบียนบ้าน ท.ร.13" ที่ต้องแก้ไข ไม่รวม "ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน" หรือ "ทะเบียนประวัติทะเบียนชาวเขา (ทร.ชข.)"

ในหนังสือแจ้งไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงฯ ได้กล่าวอ้างถึง ความน่าเชื่อถือของพยานบุคคล พยานบุคคลมีลักษณะเป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" จึงขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวดังนี้

ความเห็นแนวอุทธรณ์โต้แย้ง

ข้อเหตุผลสำคัญที่นายอำเภอไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการทะเบียนประวัติฯ ก็คือ "พยานหลักฐานของผู้ร้องมีลักษณะเป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" แต่คำสั่งนายอำเภอท่าสองยางไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจนไว้ในคำสั่งฯ กล่าวคือ ไม่มีการ "วางธง" ไว้ให้ ฉะนั้น "ธง" คำตอบโดยตรงในการอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่มี

ประเด็นที่ 1 ข้อโต้แย้งใน "ความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งของทะเบียนประวัติ" นายอำเภอจึงไม่อนุมัติคำร้องฯ ทำให้ "เนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุผลประกอบดังนี้

(1.1) การยอมรับว่าทะเบียนประวัติ ฯ มีความถูกต้องสมบูรณ์ และชัดแจ้ง เท่ากับว่า นายอำเภอท่าสองยาง ได้ปฏิเสธการนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขรายการฯ ในพยานเอกสารโดยเฉพาะการปฏิเสธพยานบุคคลที่เป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ (เช่น เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร เป็นญาติพี่น้องใกล้ชิด เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด ฯลฯ) เป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" ไม่น่าเชื่อถือ จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ เพราะการไม่รับฟังพยานบุคคลดังกล่าว เป็นการ "ตัดพยาน" (Exclusionary Rules) โดยไม่มีเหตุผล และหากนำพยานบุคคลอื่นมาประกอบ ยิ่งไม่สามารถนำพยานบุคคลนั้นมากล่าวอ้างได้เลย เท่ากับว่า เป็นการปฏิเสธ "การนำพยานบุคคล" เข้านำสืบโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทางปฏิบัติ

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคุณชุติ งามอุรุเลิศ (ผู้ทำงานเพื่อชนเผ่า) ผู้เขียนขออ้างอิงด้วยความเคารพ ให้ความเห็นว่า [4] "ในส่วนของการระบุในคำสั่งที่ว่าพยานสมรู้ร่วมคิด เนี้ย ไม่เข้าใจว่าคืออะไร หากบอกว่าเป็นพยานใกล้ชิด , เป็นเครือญาติ , เป็นเพื่อนบ้าน , เป็นคนที่เพิ่งได้รับการลงรายการสถานะ ถ้าเป็นอย่างนั้น อำเภอแม่อายคงต้องเพิกถอนรายการในทะเบียนราษฎรกันอีกรอบ แล้วยกคนอีก 1,000-2,000 กว่าคนไปยื่นคำร้องขอสถานะคนต่างด้าวทั้งหมด ผมอาจจะคิดสั้นไป คงต้องเพิกถอนทุกอำเภอและจังหวัดที่มีกระบวนการลงรายการสถานะ เพราะใครล่ะที่จะรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นประจักษ์ของเราได้ ถ้าไม่ใช่ เพื่อนบ้าน เครือญาติ และคนที่อยู่ในสถานะที่เหมือนกัน ใกล้ชิดกัน และอยู่ในชุมชนเดียวกัน"

(1.2) พยานหลักฐานสำคัญที่เป็น "สูติบัตรไม้ไผ่" (ตะระกาแดะ) ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร กล่าวคือ นายอำเภอท่าสองยางจะต้องสรุปความไม่น่าเชื่อถือของพยานในแต่ละพยาน (พยานทั้งหมดที่ผู้ร้องอ้าง) เป็นรายการไป โดยเฉพาะประเด็น ความ "ไม่สอดคล้องต้องกัน" (ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญไม่สัมพันธ์กัน) ของพยานบุคคล เพราะโอกาสที่จะมีพยานที่เป็นบันทึกของชาวกะเหรี่ยงเช่นนี้ และเป็นปฏิทินแบบไทย (พุทธ) มีโอกาสเช่นนี้น้อยมาก (ชาวเย้าก็มีการบันทึกวันเดือนปีเกิดในลักษณะเช่นนี้เช่นกัน แต่เป็นปฏิทินจีนบันทึกในกระดาษ) และ การบันทึกไว้ในไม้ไผ่ไม่น่าเชื่อถือ อย่างไร จำเป็นต้องสอบสวนบุคคลอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ การเสกสรรปั้นแต่งพยานบุคคล และหรือพยานหลักฐานอื่นใดขึ้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมูลความจริงเหตุการณ์อันเป็นสาระสำคัญมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นลำดับ น่าเชื่อถือ

ประเด็นที่ 2 ข้อโต้แย้งใน ขั้นตอนและรูปแบบของคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(2.1) นายอำเภอต้องแจ้งระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งไม่อนุมัติฯ ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง [5] แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วยว่าเป็น อย่างไร (ต้องอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎมายประกอบกัน) กล่าวคือ ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ตามหลักกฎหมายใด และนายอำเภอใช้ดุลพินิจไม่อนุมัติฯ อย่างไร มีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานหรือไม่ อย่างไร เพื่อผู้ร้องจะได้มี "ธง" โต้แย้งได้ เพราะพยานบุคคลของผู้รู้องเป็นพยานบุคคลที่ใกล้ชิด ซึ่งเป็นพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยาน เป็นพยานคู่ การลำดับเหตุการณ์ตามคำให้การไม่สอดคล้องกัน ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร

เห็นว่า การโต้แย้งรูปแบบขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ (ขั้นตอนและรูปแบบคำสั่งฯ ตามมาตรา 29 และมาตรา 30) [6] ของคำสั่งไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติฯ ไม่จำเป็นต้องอ้างเหตุผลโต้แย้งมาก เพราะคำสั่งไม่อนุมัติซึ่งไม่ถูกต้องก็ยังคงมีผลตลอดไปจนกว่าจะมีการยกเลิกเพิกถอน การทักท้วงโต้แย้งว่า "คำสั่งไม่อนุมัติฯไม่เป็นไปตามรูปแบบฯ เพื่อให้มีผลว่า "เป็นคำสั่งที่ใช้ไม่ได้ไม่มีผล" จึงไม่มีความจำเป็นนัก คงอ้างตามมาตรา 29 และมาตรา 30 ไว้พอเป็นหลักการ

ประเด็นที่ 3 มีเหตุผลความจำเป็นที่ผู้ร้องทั้งสองรายต้องขอรายการเอกสารในประวัติบุคคลฯ เพื่อ "สิทธิในสถานะของบุคคล" ตามมาตรา 52 วรรคแรก [7] แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. 2542

มีเหตุผลความจำเป็นรองรับ 2 ประการคือ (1) เป็นการขอแก้ไขรายการในเอกสารเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามมาตรา 10 วรรคสาม [8] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และ (2) เป็นการขอแก้ไขเพื่อให้ได้สิทธิใน "สัญชาติไทย" ตามมาตรา 23 [9] แห่ง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

ในประเด็นนี้ พิจารณาจากระเบียบกฎหมาย ว่าด้วยการแก้ไขรายการในเอกสาร ที่รองรับคำร้องขอแก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ดังนี้

(3.1) ตามหนังสือตอบหารือของกรมการปกครอง ว่าสามารถรับฟังพยานบุคคล เพื่อแก้ไขพยานเอกสารได้ เพราะไม่มีพยานเอกสารอื่นใด (ให้แก้ไขทะเบียนประวัติฯ ได้) ตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตากที่ มท.0309.1/16671 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 เรื่องหารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง

(3.2) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 115(2) [10] กรณีแก้ไขรายการเอกสารทะเบียนราษฎรที่ "ไม่มีเอกสารราชการมาแสดง"

(3.3) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ข้อ 47 [11]

(3.4) เทียบเคียงตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 ข้อ 15 ข้อ 16 [12]

ประเด็นที่ 4 แนวทางการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อแก้ไขพยานเอกสาร

ในประเด็นนี้ทีมงานที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่า ต้องเริ่มปักหมุดที่กระบวนการจัดทำทะเบียนประวัติว่าจัดทำอย่างไร มีความน่าเชื่อถือเพียงใด

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนวทางการสอบสวน ตามบันทึกถ้อยคำ ป.ค.14 (ในการสอบสวนผู้ร้อง รวมถึงการสอบสวนพยานแวดล้อมฯ ผู้ใกล้ชิด) ดังนี้ [13]

(1) สอบถามผู้ร้อง ไล่เรียงประวัติส่วนตัว ได้แก่ การศึกษา, บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา ว่าแต่ละคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใด มีสัญชาติใด ซึ่งอาจทำเป็นแผนผังเครือญาติ, สถานะครอบครัวมีสามี ภริยา บุตรหรือไม่

(2) สอบถามถิ่นที่อยู่ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ว่าไปประกอบอาชีพอยู่ที่ใดมาบ้าง จนถึงปัจจุบัน (ระบุมาให้หมดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร อย่างไร) ข้อมูลส่วนนี้จะสำคัญมาก ที่ชี้ถึงประวัติส่วนตัว ที่ยากจะเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเหมือนนิยาย ต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้นเพราะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ขอเพิ่มชื่อเองจะอ้างประวัติของคนอื่นมาไม่ได้หากให้การเป็นเท็จ สามารถตรวจสอบได้จากพยานบุคคลแวดล้อมอื่นได้

(3) สอบถามว่า ผู้ขอเพิ่มชื่อ(หรือผู้ร้อง) มีความประสงค์ใด (คล้าย ๆ กับคำขอท้ายฟ้อง)

(4) สอบถามว่า ในการดำเนินการตามข้อ (3) ผู้ร้องมีพยานหลักฐานใด (พยานบุคคล หรือพยานเอกสาร หรือพยานอื่นใด)

(5) สอบถามประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติม ตามพฤติการณ์ หรือแล้วแต่กรณีของแต่ละบุคคลซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป

(6) ขมวดท้ายว่า "ข้าฯ ขอให้ถ้อยคำด้วยความสัตย์จริง ข้าฯ ให้ถ้อยคำด้วยความสุจริตใจ มิได้มีเจตทุจริตอื่นใดแอบแฝง มิได้แอบอ้างสวมชื่อ สวมตัวบุคคลอื่นใดว่าเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย หากข้าฯ ให้การอันเป็นเท็จ ข้าฯ ยอมรับผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาทุกประการ อ่านให้ฟังแล้ว รับว่าถูกต้องจึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน"

ซึ่งในลักษณะตั้งคำถาม-ตอบ ไม่จำเป็นไม่ควรใช้คำถามนำ และในการสอบสวนไม่ควรให้นั่งล้อมวงซักถามกันหลายคน เพราะจะไม่ได้ความจริง และจับเท็จไม่ได้

ผู้เขียนประมวลสรุปความเห็นเบื้องต้น จากข้อมูลของคุณศิวนุชสร้อยทอง ได้ว่า [14]

(1) สามารถรับฟังพยานบุคคล เพื่อแก้ไขพยานเอกสารได้ เพราะไม่มีพยานเอกสารอื่นใด ตามหนังสือตอบหารือกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.1/16671 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ประกอบฐานอำนาจจาก มาตรา 10 วรรคสาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

(2) พยานบุคคลน่าเชื่อถือ มากกว่าสองคน เพราะเป็นพยานบุคคลใกล้ชิด เป็น "ประจักษ์พยาน" และเป็นพยานคู่ จึงเป็นพยานชั้นหนึ่ง

(3) การชั่งน้ำหนักพยานบุคคลเป็นอำนาจ "ดุลพินิจ" ของผู้มีอำนาจอนุมัติฯ การกล่าวอ้างว่าพยานบุคคลที่เป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ (เช่น เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร เป็นญาติพี่น้องใกล้ชิด เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด ฯลฯ) เป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" ไม่น่าเชื่อถือ จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้เพราะเป็นการ "ตัดพยาน" (Exclusionary Rules) โดยไม่มีเหตุผล และหากนำพยานบุคคลอื่นมาประกอบ ยิ่งไม่สามารถนำพยานบุคคลนั้นมากล่าวอ้างได้เลย เท่ากับว่า เป็นการปฏิเสธ "การนำพยานบุคคล" เข้านำสืบโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทางปฏิบัติ ความเห็นของผู้เขียนในประเด็นนี้ก็คือ หากพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานมีมากกว่าหนึ่งคน ในการชั่งน้ำหนักพยานนั้น ควรพิจารณาจากคำให้การที่สอดคล้องกับพฤติการณ์อันเป็น "สาระสำคัญ" ในประเด็นแห่งคดีก็เพียงพอแล้ว

สรุปปิดท้ายความเห็นในเรื่อง "พยานบุคคล" รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ (6 มกราคม 2558) เห็นว่า [15] "การจะพิจารณาว่า "เชื่อพยานบุคคลปากใดหรือไม่ ?"ผู้พิจารณาจะต้องใช้แนวคิดแบบสามัญชนในสถานการณ์นั้นๆ จะเอาตัวผู้พิจารณาเป็นตัวตั้งไม่ได้ จะเอาสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหาไม่ได้ การเอาแนวคิดและสถานการณ์ของผู้พิจารณาไปตัดสินความน่าเชื่อถือของคำพยานบุคคลจึงเป็นการใช้อำเภอใจที่ไม่อาจนำไปสู่ความยุติธรรมของเรื่อง การพิจารณาในลักษณะที่ขัดต่อความจริงของเรื่อง จึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความพยาน"

หมายเหตุ

บทความนี้เขียนในขณะที่ยังไม่ทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ของนายอำเภอท่าสองยาง และ ได้นำบทวิเคราะห์ลงภายหลังจากที่ นายอำเภอท่าสองยางได้ "ยกเลิกคำสั่ง" ไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงแล้ว ตาม

หนังสือแจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของอำเภอท่าสองยาง

ถึงถึงนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุล

เลขที่ ตก 0518.2/406,407 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558


[1] "พยานสมรู้ร่วมคิดในการสอบพยานเพื่อรับรองตัวบุคคลในการแก้ไขรายการในทะเบียนราษฎร"

, 5 มกราคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts/583457& "การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 2", 4 กุมภาพันธ์ 2558, https://www.gotoknow.org/posts/585201& ศิวนุชสร้อยทอง, การรับรองความน่าเชื่อถือของ "พยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิดเพื่อแก้ไขทะเบียนประวัติ ฯ ของนายชนินทร์" : ปลาทอง นักกม.โครงการ4หมอ, 1 มกราคม 2558, https://www.facebook.com/notes/1030676490283094

[2] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ให้ทัศนะไว้ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557.

[3] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ให้ทัศนะไว้ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557.

[4] ชุติงามอุรุเลิศ, ในเฟซบุ๊ควันที่ 28 ธันวาคม 2557

[5] มาตรา 37 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยและเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

[6] มาตรา 29 เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจง หรือความเห็นของคู่กรณีหรือของพยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่กรณีกล่าวอ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือยหรือเพื่อประวิงเวลา

(3) ขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

(4) ขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(5) ออกไปตรวจสถานที่

คู่กรณีต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และมีหน้าที่แจ้งพยานหลักฐานที่ตนทราบแก่เจ้าหน้าที่

พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 30 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง

(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้

(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง

(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

[7] มาตรา 52 การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

[8] มาตรา 10 วรรคสาม "ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียนและดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี"

[9] มาตรา 23 บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน

[10] ข้อ 115 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้ …

(2) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐานแล้วรวบรวมหลักฐานเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น เมื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้ ...

[11] ข้อ 47 ในกรณีที่บุคคลบนพื้นที่สูงซึ่งอ้างตนว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

ได้รับการเพิ่มชื่อลงในทะเบียนบ้านโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือ

แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือมีการรับรองโดยผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนยื่นเรื่องต่อนายอำเภอ เพื่อให้นายอำเภอวินิจฉัยปัญหาและดำเนินการจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังจากการเพิกถอนตามความในวรรคแรกแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการลงรายการสถานะ

ที่แท้จริงของบุคคลนั้นในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องและให้นำความในวรรคสองและวรรคสามในข้อ 43 มาดำเนินการต่อไปโดยอนุโลม

ดูใน http://www.tobethai.org/newsite/sites/default/files/Law-18.pdf , ระเบียบฯ ลงวันที่ 21 เมษายน 2543

[12] ข้อ 15 ให้นายทะเบียนตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนประวัติให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันอยู่เสมอหากตรวจพบหรือได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ารายการในทะเบียนประวัติของผู้ใดไม่ถูกต้องหรือมีการแจ้งรายการซ้ำซ้อนให้นายทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำหน่ายหรือดำเนินการอื่นใดให้ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง

ข้อ 16 การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคล และการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่นและฐานข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้นายทะเบียนปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 โดยในส่วนของทะเบียนประวัติให้ดำเนินการเช่นเดียวกับทะเบียนบ้าน

ดูในhttps://www.gotoknow.org/posts/308024 , ระเบียบฯ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป

[13] "เทคนิคการสอบสวนการขอเพิ่มชื่อหรือการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาบุคคลสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน", 5 กุมภาพันธ์ 2556, https://www.gotoknow.org/posts/518592

[14] ศิวนุช สร้อยทอง,

1. โต้แย้งว่าขั้นตอนและรูปแบบคำสั่งทางปกครองของท่านไม่ชอบด้วยกฎหมาย, 4 มกราคม 2558,

https://www.facebook.com/notes/1030670270283716 &

2. โต้แย้งข้อกม.ว่าทะเบียนประวัติอาจผิดพลาดและแก้ไขได้, 4 มกราคม 2558,

https://www.facebook.com/notes/1030676490283094 &

3. โต้แย้งการรับฟังพยานและชั่งน้ำหนักพยานบุคคล, 4 มกราคม 2558,

https://www.facebook.com/notes/1030911383592938/

[15] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ให้ทัศนะไว้ในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558.

หมายเลขบันทึก: 585336เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท