ข้อเสนอวิธีการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้าน "ตรงต่อเวลา" และ "ความรับผิดชอบ" ในชั้นเรียน อย่างเป็นระบบ


ข้อเสนอต่อผู้บริหารเรื่อง "คะแนนจิตสาธารณะ" (อ่านที่นี่) ได้ความเห็นชอบจากทีมผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ให้ฝ่าย CADL เริ่มดำเนินการในปีการศึกษาหน้า ทำให้ผมยินดีและมีไฟ มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบช่วยอาจารย์ผู้สอน ให้สามารถปลูกฝังคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอเสนอ "ระบบปลูกฝังวินัยโดยใช้นิสิตผู้ช่วยอาจารย์"

เป้าหมายและปัญหาที่ผ่านมา

ผลการเรียนหรือคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านคุณธรรม จริยธรรม กำหนดเป้าหมายของการศึกษาทั่วไป ให้เป็นผู้มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ แต่กระบวนการปลูกฝังผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจำนวนนิสิตต่อห้องเรียนมาก ๑๐๐ - ๒๕๐ คน (ห้องเรียนขนาดใหญ่) ที่ผ่านมามีแนวคิดเรื่องระบบสแกนลายนิ้วมือมาใช้ แต่ยังคงต้องใช้เวลามากอยู่ดี เพราะนิสิตต้องมารอต่อคิดสแกนทีละคน ไม่สอดคล้องกับเวลาเรียนเพียง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที อาจารย์ผู้สอนก็ยังคงต้องรับภาระกรอกคะแนนเก็บและติดหรือลงประกาศคะแนนเก็บให้นิสิตรู้ เพื่อลดปัญหาการแก้ไขเกรดเหมือนเดิม

ระบบปลูกฝังวินัยด้านวินัย ตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบ โดยใช้ "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" สามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมด

  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสามารถเช็คชื่อผู้เข้าเรียนให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาไม่เกิน ๕ นาที (ด้วยเทคนิควิธีการที่จะเสนอต่อไป) หรือสามารถตรวจเช็คขณะที่อาจารย์กำลังสอนโดยไม่รบกวนอาจารย์เลย วิธีนี้จะช่วยให้อาจารย์ปลูกฝังวินัยเรื่องการตรงต่อเวลา โดยใช้เกณฑ์การหักคะแนนเมื่อไม่รักษาเวลา
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะนำเอางานหรือการบ้านที่อาจารย์ตรวจแล้ว ไปกรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ (excel หรือระบบฐานข้อมูล ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้) และนำมาประกาศหน้าห้อง (หรือในฐานข้อมูลออนไลน์) ให้นิสิตทราบก่อนอาจารย์จะเข้าสอนทุกสัปดาห์หรือตามที่อาจารย์บอก วิธีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ได้มาก และช่วยให้อาจารย์ออกแบบและมอบหมายงานเพื่อฝึกความรับผิดชอบของนิสิตได้อย่างเหมาะสม
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะมีความสามารถได้การใช้สื่อมัลติมิเดียหรือระบบเสียงต่างๆ ในชั้นเรียน โดยทางสำนักศึกษาทั่วไป จะมีการฝึกอบรมนิสิตก่อนจะประกาศให้เป็น "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอนจะมีการตรวจสอบและเตรียมระบบสื่อ เสียง แสง และมีผู้ช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น และนำปัญหาและความต้องการกลับมายังสำนักศึกษาทั่วไปเพื่อแก้ไขต่อไป
  • นอกจากนี้แล้ว นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอยู่ตลอดการสอนของอาจารย์ จึงเหมือนเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น การช่วยแจกหรือเก็บอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น

วิธีการดำเนินการ

รับสมัครนิสิตจิตอาสาที่สมัครใจ โดยเฉพาะนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จำนวนไม่เกินจำนวนกลุ่มเรียนที่เปิดสอนในภาคการศึกษานั้นๆ เข้ามารับการฝึกอบรม "หลักสูตรนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" จากสำนักศึกษาทั่วไป ผู้อ่านการอบรมจะรู้หน้าที่และขั้นตอนการทำงานที่ทางสำนักฯ ได้สื่อสารไว้กับอาจารย์ผู้สอนแล้วเป็นอย่างดี เช่น

  • วิธีเช็คชื่อนิสิตเข้าเรียน ทำได้ง่ายๆ และเร็วด้วยวิธีการใช้แผนผังที่นั่ง ดังรูป โดยในคาบเรียนแรกๆ นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอธิบายกับนิสิตเรื่องแผนผังการนั่งประจำประจำเพื่อเช็คชื่อก่อนเริ่มเรียน นิสิตทุกคนจะมีเลขที่นั่งเหมือนกับเลขที่นั่งสอบ ใครไม่มาเรียนจะทราบทันที สามารถบันทึกง่ายๆ ด้วยการกากบาททับที่ว่างนั้นบนแผนผัง


  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสร้างกลุ่มบน Social Network เช่น Facebook เพื่อสื่อสารคะแนนต่างๆ เช่น การส่งงาน การนัดแนะอื่นๆ รูปภาพกิจกรรมสำคัญๆ ในชั้นเรียน หรือนิสิตเองก็สามารถส่งงานมาทางออนไลน์ได้ หากอาจารย์ต้องการ
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะได้รับการฝึกอบรมให้สามารถสื่อ มัลติมิเดีย ระบบแสง เสียง ในชั้นเรียนอย่างดี จนมีทักษะสามารถเปิด ปิด และแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ดี และรู้จักแนวปฏิบัติเมื่อไม่สามารถแก้ปญหาได้
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะจัดเก็บข้อมูลงานของนิสิตทุกคนในรูปอิเล็คทรอนิคส์ไฟล์ แล้วจัดเก็บไว้ (ในฐานข้อมูล หากอาจารย์ต้องการ) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปศึกษา ถอดบทเรียนต่อไป

วิธีนี้จะดีสำหรับอาจารยผู้สอน ที่จะสะดวก มีเวลาในการตรวจงานและเตรียมการสอนมากขึ้นแล้ว ยังจะได้นิสิตแกนนำที่มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ ถือได้ว่า มีนิสิตแกนนำที่มีคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ฯ พร้อมๆ กับการปลูกฝังค่านิยมตรงต่อเวลา และรับผิดชอบให้กับนิสิตทุกคนด้วยเพราะนิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรอยู่แล้ว ส่วนนิสิตช่วยงานที่ไม่สามารถทำตามที่กำหนดไว้ จะถูกประเมินให้ปรับปรุงหรือประเมินออกโดยอาจารย์ผู้สอน

ที่สำคัญงบประมาณค่าจ้าง "นิสิตช่วยงาน" ที่มหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์ไว้ แม้จะไม่มาก แต่ก็น่าจะเป็นค่าตอบแทนที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านของนิสิต หรือถือเป็นเงินเก็บจากการฝึกทำงานระหว่างเรียนก็ได้ นอกจากนี้แล้ว การเคร่งครัดกับการมาเรียน อาจสามารถแก้ปัญหาเรื่องลิฟท์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้ครับ



หมายเลขบันทึก: 584672เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2015 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2015 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท