แถลงนโยบายในสภานิติบัญญัติ


          (คำอภิปรายใน การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติรัฐสภา วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549)

                กระผมได้นั่งฟังการอภิปรายมาตั้งแต่เช้า ขอเรียนความรู้สึกว่ารู้สึกอิ่มทางปัญญาเพราะได้ฟังคำพูดที่ดี  กลั่นออกมาจากสมองและหัวใจของท่าน นำเอาประสบการณ์และความคิด ที่ได้สั่งสมมาบอกให้คณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งวัตถุประสงค์ ในเบื้องปลายนั้นน่าจะตรงกัน ไม่ว่าจะมองในมุมของคณะรัฐมนตรี  หรือมองในมุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติ  และประชาชน ผลสุดท้ายจะต้องนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของประชาชนชาวไทย ซึ่งกินความรวมถึงการมีสังคมที่ดีงาม การมีสังคมที่สมานฉันท์ การมีสังคมที่อบอุ่นและมั่นคง บรรดาข้อคิดทั้งหลายที่ได้นำเสนอมา ผมคิดเช่นเดียวกับท่านอาจารย์วิจิตร ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีทุกท่านน่าจะคิดคล้ายกัน  นั่นคือน้อมนำความคิดที่ดีๆ เหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อประยุกต์ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามภาระหน้าที่ของหลายๆกระทรวง ซึ่งในหลายกรณีเป็นเรื่องที่ดีต้องร่วมกับทุกกระทรวง ดังเช่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาได้พูดว่า ได้มีการพบปะกันเพื่อหารืออย่างน้อย ในกระทรวงที่มีภารกิจด้านสังคม  ซึ่งก็ครอบคลุมถึง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย ที่จริงเรื่องทางสังคมนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกระทรวงทางสังคม  ทุกกระทรวงนั้นย่อมมีการดำเนินการไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเกี่ยวกับเรื่องทางสังคม  เพราะเรื่องทางสังคมเป็นเรื่องของคนที่อยู่ร่วมกัน เรื่องเศรษฐกิจก็ดี การเมืองก็ดี สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับคน การมีชีวิตในครอบครัว ในชุมชน และการอยู่ร่วมกัน ในสังคมทั้งสิ้น  ผมจะขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูล เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รับทราบและจะได้ช่วยพิจารณาต่อด้วยว่าท่านจะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอย่างไรไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านสื่อต่างๆ เพื่อว่าแต่ละกระทรวงและกระทรวงที่กระผมรับผิดชอบจะได้นำมาพิจารณาและผนวกเข้าไปในมาตรการและแผนงานที่จะทำต่อไป เรื่องทั้งหลายที่ท่านได้อภิปรายมาเป็นความกังวลหรือเป็นห่วงว่ามีปัญหาหลายประการทางด้านสังคมไม่ว่าจะเป็นปัญหาอบายมุข  ความรุนแรง ความมั่นคง คุณธรรมต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไขและทำให้ดีขึ้น  แต่ท่านทั้งหลายคงจะเห็นด้วยว่าในการแก้ปัญหาสังคมนั้น  ลำพังการจะไปบังคับ การจะไปควบคุมย่อมไม่ได้ผล การที่จะแก้ไขปัญหาสังคมจำเป็น ที่จะต้องดำเนินการในระดับพื้นฐาน ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนา ของสังคมในทางที่ดีงาม เมื่อสิ่งที่ดีงามมีมากขึ้น สิ่งที่ไม่ดีจะค่อยๆลดลงไป นั้น เป็นผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน ผมจึงขอยกตัวอย่างกรณี ยุทธศาสตร์ทางด้านสังคม ที่ปรากฏในคำแถลงนโยบายที่เรียกว่า นโยบายสังคม และมีหลายข้อด้วยกัน มีข้อที่ว่าด้วยการส่งเสริมความรักความสามัคคี ความสมานฉันท์ของคนในชาติ ข้อที่ว่าด้วยการจัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เป็นต้น ซึ่งทุกข้อมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ในเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ได้มีการพิจารณากำหนดแผนงานรองรับไว้แล้ว ผมขอเรียนชี้แจงเป็นตัวอย่างว่า ในการที่จะทำให้เกิดสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ควรจะต้องมียุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม จะเห็นว่าเรื่องทั้ง 3 ประการนี้ได้กระจายอยู่ในแนวนโยบายหลายข้อในด้านสังคม

                เรื่องสังคมไม่ทอดทิ้งกัน หมายถึง การที่ผู้คนไม่วางเฉย แต่ว่าช่วยเหลือเกื้อกูล เอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ในพื้นที่ต่างๆชุมชนระดับต่างๆ ระดับหมู่บ้าน ตำบล ขณะนี้ก็ได้มีการดูแลซึ่งกันและกันระดับหนึ่ง ดังนั้น  นโยบายทางด้านสังคมของรัฐบาลจึงจะไปเสริมหนุน ส่งเสริม ให้ความสะดวก ให้งบประมาณเท่าที่เหมาะสม เพื่อให้การดูแลซึ่งกันและกันในชุมชนฐานรากต่างๆ ในระดับตำบล ในระดับอำเภอ จังหวัด เป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น จะมีการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้ค้นหาคนยากลำบาก รวมทั้งที่เกิดจากอุทกภัย เกิดจากกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดจากสภาวะทางสังคมทั่วๆ ไป เริ่มจากการได้มี  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เสริมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมด้วยราชการส่วนภูมิภาค แล้วจึงเสริมด้วยราชการส่วนกลาง รวมถึงประชาคมหรือประชาสังคมที่อยู่ในท้องถิ่นในระดับอำเภอ จังหวัด และที่ส่วนกลางด้วย ตัวอย่างเช่น องค์กรสาธารณประโยชน์ หรือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อสังคม กลุ่มที่รวมตัวกันเป็นสโมสร เช่น  โรตารี เป็นต้น   นี่เป็นตัวอย่างของการที่จะมีมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าสังคมไม่ทอดทิ้งกันเป็นสังคมที่มีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นลักษณะและเป็นวัฒนธรรมของไทยที่ดีอยู่แล้วเพียงแต่เราจะเข้าไปเสริมให้มีมากขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้น

                ยุทธศาสตร์ทางด้านสังคมเข้มแข็ง  มีความสำคัญมาก เพราะที่สุดแล้วสังคมเข้มแข็งคือหลักประกันที่แท้จริงของสังคมที่จะปลอดจากสภาพที่ไม่ดีทั้งหลายที่เราเป็นห่วงร่วมกัน รวมทั้งมีความสมานฉันท์  สังคมเข้มแข็งหมายถึง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม จะเป็นมูลนิธิ สมาคม องค์กร เครือข่ายต่างๆ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ล้วนแล้วแต่จะมีศักยภาพที่จะเข้มแข็ง และนโยบายของรัฐบาลจะไปส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มคนเหล่านี้  ให้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าสังคมเข้มแข็ง นั่นก็คือ สังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง องค์กรทางสังคม ประชาสังคมเข้มแข็ง เมื่อสังคมเข้มแข็ง ก็สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆได้ดี ด้วยการแก้ไข การป้องกัน สังคมสามารถสร้างความอยู่เย็นเป็นสุข มีความสมานฉันท์ มาตรการที่จะทำให้สังคมเข้มแข็ง ในส่วนของความสมานฉันท์ก็มีตัวอย่างเช่นกระบวนการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วที่ท่านทั้งหลายได้อภิปรายไปแล้วเมื่อเช้า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติวิธีและสมานฉันท์ แต่ก็มีเทคนิค วิธีการ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่ขึ้นกับรัฐสภานี้ได้คิดค้นนำมาประยุกต์ใช้จัดฝึกอบรม ส่งเสริม ดังนั้น จึงจะมีความร่วมมือระหว่างสถาบันพระปกเกล้า กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงอื่นๆ ที่จะส่งเสริมกระบวนการสันติวิธีและกระบวนการสมานฉันท์ ซึ่งทำได้ผลทั้งในประเทศและในต่างประเทศ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะสร้างสังคมเข้มแข็ง

                ส่วนสังคมคุณธรรม ทุกท่านในที่นี้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา กระทรวงทางด้านสังคมมีความเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา  แล้วการที่จะได้มาซึ่งสังคมคุณธรรมนั้นก็มีอยู่ วิธีการที่จะให้ได้สังคมคุณธรรมก็มีวิธีการผ่านสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ผ่านสถาบันด้านสังคมและอื่นๆ รวมทั้งผ่านองค์กรของรัฐ  จึงจะมีความพยายามร่วมกันในเรื่องที่จะสร้างสังคมคุณธรรม เป็นต้นว่า การทำแผนที่คนดี แผนที่ความดี การทำระบบข้อมูล การจัดการความรู้ในเรื่องคุณธรรมความดีทั้งหลาย ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า สังคมคุณธรรม ดีขึ้นๆ เป็นลำดับ

                ท่านประธานและท่านสมาชิกที่มีเกียรติทุกท่าน ผมเพียงแต่มาพูดให้เห็นว่า  การที่จะพัฒนาสังคม สร้างความมั่นคงเข้มแข็ง อบอุ่น ร่มเย็น อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมนั้น เราเชื่อว่ามีทางทำได้  มีฐานอยู่แล้ว มีฐานศักยภาพของคนไทยของสังคมไทยอยู่แล้ว ด้วยความร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ทั้งประชาชนเอง ประชาชนฐานราก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ราชการส่วนภูมิภาค ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอ จังหวัด ตลอดจนราชการส่วนกลางที่มีองค์กรของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม องค์การมหาชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และยังมีองค์กรภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม  ซึ่งได้รวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งหลายทั้งปวงนี้ มีแผนงานมีโครงการรองรับไว้เพื่อจะดำเนินการในทันที ที่จริงก็ได้เริ่มดำเนินการบางเรื่องมาตั้งแต่เข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่บางเรื่องต้องใช้เวลาตามสมควร บางอย่างก็ลงมือไปแล้ว บางอย่างก็กำลังจะ ลงมือ บางอย่างจะต้องนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย พ......ก็จะได้มีการพิจารณาและนำเสนอเป็นลำดับ ซึ่งถ้าเป็น พ...แน่นอนต้องนำเข้ามาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผมหวังว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้กลไกทั้งหลายเดินไปได้ เพราะการที่จะมีสังคมที่ดี สังคมที่ดีงามอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ต้องการไม่ใช่เฉพาะมาตรการของราชการ แต่ต้องการการปฏิบัติของประชาชน และต้องการกฎหมายข้อบังคับที่เหมาะสม ทั้งหมดนั้นประกอบกัน จึงจะทำให้การเคลื่อนตัวของสังคมไปในทางที่พึงปรารถนาเกิดขึ้นได้ ขอบพระคุณครับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

10 พ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 58466เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นแนวคิดที่มองทะลุถึงสังคมที่จะนำไปสู่ศานติสุขที่แท้จริงครับ ที่แสดงให้เห็นความจริง ความดี ความงาม บนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่สร้างกรอบคิดที่เป็นนามธรรมในเชิงนโยบาย สำหรับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยกลไกของรัฐคือภาคราชการควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ให้ภาคเอกชน และประชาชนมีความเข้มแข็งอย่างสมดุล คงต้องเป็นภาระงานที่จะต้องช่วยกันเดินหน้าต่อไป ขอเป็นกำลังใจและพร้อมเป็นแรงผลักดันในขั้นการปฏิบัติครับ

- สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง

- เหตุใดจึงดึงโรงเรียนออกจากวัดครับ เอาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกลับไปแทนดีไหมครับ(บวร-บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บรม - บ้าน โรงเรียน มัสยิด)

- จะบอกทุกคนอย่างไร ว่าไม่ต้องรอคนอื่น เริ่มที่ตัวเรานั่นแหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท