ทัศนะความคิดเห็นบางประการต่อทิศทางการกระจายอำนาจ ตอนที่ ๒


ทัศนะความคิดเห็นบางประการต่อทิศทางการกระจายอำนาจ ตอนที่ ๒

ทัศนะความคิดเห็นบางประการต่อทิศทางการกระจายอำนาจ ตอนที่ ๒

๑๗ มกราคม ๒๕๕๘

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ (๑๕.๐๐ น.) ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เคยแสดงทัศนะในการสัมภาษณ์ทีวีสปริงนิวส์มาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ขอต่อยอดในประเด็นสำคัญ จากการกล่าวขานวิพากษ์วิจารณ์ถึงทิศทางและแนวทางในการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นกันต่าง ๆ นานา ในเรื่องการกระจายอำนาจมีประเด็นน่าพิจารณาอื่น ๆ จึงขอนำเสนอแนวคิดในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม และค้นคว้าอ้างอิงเอกสารหลักฐานประกอบด้วย ในหัวข้อสำคัญ (๑) ทิศทางการกระจายอำนาจ (๒) เรื่องการปกครองท้องถิ่นพิเศษ (๓) การลดบทบาทส่วนกลาง และ (๔) ควรยุบภูมิภาคหรือไม่ [1]

(๑) ทิศทางการกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ตามแนวทาง

(๑) ปรับบทบาทราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้ลดน้อยลง เหลือเฉพาะภารกิจหลักของรัฐ คือ ความมั่นคงการรักษาความสงบเรียบร้อยการต่างประเทศกระบวนการยุติธรรม โดยเน้น "มาตรการบังคับใช้กฎหมาย" ให้เด็ดขาด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

(๒) มอบหมายภารกิจของท้องถิ่นให้แก่ท้องถิ่น โดยมีการปรับโครงสร้าง อปท. โดยการควบรวม อปท. เข้าด้วยกัน (Amalgamation) [2] เพื่อให้ท้องถิ่นมีขนาดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการตอบสนองการบริการสาธารณะ (Public Service) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนใน "ท้องถิ่น"

มีการกระจายอำนาจทางการคลังและการงบประมาณ (Fiscal & Budgeting) [3] ที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นด้วย เช่น เพิ่มฐานภาษีให้แก่ท้องถิ่นรวมเม็ดเงินภาษีท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ เป็นต้น

ด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นถือ [4] เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการ เพราะตัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนา และนำนโยบายของท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติคือ "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" รวมลูกจ้างท้องถิ่นด้วย ที่มีจำนวนประมาณ ๓ แสนคน [5] กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศ หากขวัญกำลังใจ และระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีคุณธรรม (Merit System) ก็จะก่อให้เกิด "ความมีประสิทธิภาพ" เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ

(๓) เสริมสร้างกระบวนการ (Process) และขบวนการ (Movement) "ประชาสังคม" (Civil Society) [6] หรือ "สมัชชาประชาชน" หรือ "เวทีประชุมของประชาชน" (Forum) ในทุกระดับทั้งตำบล อำเภอ จังหวัด ให้ประชาชนมีส่วนร่วม (People Participation) และเข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวเสริมการกระจายอำนาจให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการตรวจสอบควบคุมระบบของท้องถิ่น ในรูปของ "สภาพลเมือง" (Civil Juries or Citizen Juries or Civic Assembly) "สมัชชาประชาชน" (Popular Assembly or Forum) หรือ "สภาประชาชน" (Organic People's Assembly) [7] และ "องค์กรสภาจริยธรรมคุณธรรมแห่งชาติ" (Ethics & Moral Organization) [8] เสริมสร้าง "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) [9] ในทุกเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกระดับ ผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง (Sufficiency Economy) ตามแนวพระราชดำริ [10]

(๔) เสริมสร้างศักยภาพของ "ชุมชน" "อปท." เพื่อการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC (ASEAN Economic Community) [11] โดยการเพิ่มทักษะประชากรและชุมชน เช่น ด้านการท่องเที่ยว และสินค้าชุมชนทางเศรษฐกิจ

(๕) ตามแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) [12] โดยการ (๕.๑) ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และ (๕.๒) ลดความเหลื่อมล้ำสังคมในทุกมิติ

(๒) เรื่องการปกครองท้องถิ่นพิเศษ

แนวคิดการปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย มี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ๒ ระดับ (เทียร์ : Tier) [13] คือ (๑) อปท. ระดับบน คือ อบจ. รับผิดชอบภารกิจใหญ่ อาทิ งานสิ่งแวดล้อม งานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น(๒) อปท.ระดับล่าง ให้มีรูปแบบเดียวคือ รูปแบบเทศบาล ที่มี "ฝ่ายบริหารและสภา" โดยมีการยกฐานะ อบต. เป็น "เทศบาล" และควบรวม อปท. (Amalgamation) [14] ที่มีขนาดเล็กตามที่กำหนด ให้เป็น อปท.ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้จำนวน อปท. มีลดน้อยลง ไม่เป็นภาระด้านการคลังแก่รัฐบาล

อปท. ที่มีลักษณะเงื่อนไขพิเศษด้านเศรษฐกิจ หรือเหตุผลความจำเป็นอื่น อาจยกฐานะเป็น "อปท.เขตเศรษฐกิจพิเศษ" (Special Economic Zone) [15] เช่น เมืองชายแดนแม่สอด [16] เบตง , เมืองอุตสาหกรรม มาบตาพุด , เมืองสนามบิน สุวรรณภูมิ , เมืองท่องเที่ยว ภูเก็ต สมุย หรือเมืองวัฒนธรรม เป็นต้น

ซึ่งเป็นแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่กำลังจะเปิด "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดน" เริ่มที่จังหวัดตาก(อำเภอแม่สอด) จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสงขลา และจังหวัดหนองคาย

มีข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเองหรือจังหวัดปกครองตนเอง ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด ซึ่งถือว่า "จังหวัดจัดการตนเอง" เป็น อปท.ระดับบน ที่อาจเป็นต้นแบบแก่ อปท.ระดับล่างให้พัฒนาเป็น "การปกครองท้องถิ่นพิเศษ" ได้

(๓) การลดบทบาทส่วนกลาง

มีความจำเป็นต้องลดบทบาทของส่วนกลางลง ซึ่งรวมถึงการลดบทบาทของ "ภูมิภาค" ลงด้วย เพราะ ตามหลักการบริหารถือว่า "ภูมิภาค" ก็คือติ่งหนึ่งของส่วนกลาง

การลดบทบาทเป็นไปในรูปของหน่วยงาน "ที่ปรึกษา" (Staff) หรือเป็น "พี่เลี้ยง" "ผู้ประสานงาน" มิใช่ "หน่วยงานหลัก" (Line) ในการดำเนินงาน โดยเปลี่ยนเน้นบทบาทในการดำเนินงานให้แก่ ท้องถิ่น หรือ อปท. ดำเนินการแทน

(๔) ควรยุบภูมิภาคหรือไม่

การปรับบทบาท "ภูมิภาค" เสียใหม่ ดีกว่าการยุบภูมิภาค เพราะบริบทของสังคมไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ตรา "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗" [17] ขึ้นมีการแบ่งการปกครองจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐในพื้นที่ ซึ่งการปรับบทบาทของภูมิภาคให้เป็น "ที่ปรึกษา" "พี่เลี้ยง" "ผู้ประสานงาน" ยังคงดำเนินต่อไป

โดยเฉพาะบทบาท "เชิงสัญลักษณ์" (Symbol) ในการเป็นตัวแทนแก่ "ภูมิภาค" ที่ส่วนกลางดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านที่ปรึกษา หรือ งานประสานงานอื่นใดของส่วนกลาง

ประกอบกับการเปลี่ยนรูปแบบ อปท. ให้เป็นรูปแบบ "จังหวัดปกครองตนเอง" [18] ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด (ท้องถิ่น) การเปลี่ยน และปรับลดบทบาทของ "ภูมิภาค" ลงน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดนี้


[1] สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๘, ใน ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๐ ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๕๕๐ คอลัมน์ <การเมืองท้องถิ่น> #ทรรศนะบางประการต่อทิศทางการกระจายอำนาจ อปท.

[2] ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ, "รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง ทิศทางการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ", ๒๕๔๕ หน้า ๓๔๑ – ๓๔๓ http://www.lawreform.go.th/lawreform/index.php?option=com_content&task=view&id=290&Itemid=11

[3] ดู รศ. ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา, "การกระจายอำนาจการคลังและการจัดการการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, http://www2.nkc.kku.ac.th/manit.p/document/962322/962322_ch9_fiscal_decentraliazation_managemant.ppt & ดวงมณี เลาวกุล, "การปฏิรูปการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น", ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕, http://v-reform.org/decenterization-reform-local-finance/ สรุป "กลไกขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน ทั้งในระดับรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานศึกษานี้ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจทางการคลังในประเทศไทย เพื่อทราบถึงสถานะและความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจทางการคลังที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งสามารถสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในที่สุด"

[4] ดร.สุรพงษ์ มาลี, "บทวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....", สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนสถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๔, http://thailawwatch.org/wp-content/uploads/2013/06/Localorder.pdf&http://www.kpi.ac.th/kpith/downloads/55-09-11/4%20ร่างประมวลฯ%20(1).pdf

[5] ข้อมูลของ ดร.จรัสสุวรรณมาลา ปัจจุบันมีข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระจายอยู่ตามท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน ๓๙๓,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๙ ของข้าราชการทั้งประเทศ, อ้างใน ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา, "การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ", http://www.lrct.go.th/th/wp-content/uploads/2014/08/การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ-โดย-จรัส-สุวรรณมาลา.pdf

[6] "แนวคิดเรื่องประชาสังคม", http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=39&Itemid=32

[7] CitiZenQuest, " ปฏิบัติการสร้างฝันให้เป็นจริง (Project of Hope) สภาประชาชน : รากแก้วประชาธิปไตย", Posted in new democracy, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖, สรุปสาระสำคัญว่า "... สภาแบบนี้ (organic people's assembly)ชื่อไม่สำคัญ เราจะเรียก สภา สมัชชา หรือกลุ่ม สหกรณ์ อะไรก็ตาม แนวคิดหลัก คือ การรวมกลุ่มของผู้คน ประชาชน/พลเมือง ที่เอาธุระของชุมชน องค์กร บ้านเมือง มารวมตัว ประชุมสนทนาปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน… ตัวอย่างรูปธรรมของสมัชชาประชาชนที่ผ่านมาแล้ว เช่น สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดและระดับภาค สมัชชาคุณธรรมอันเป็นสมัชชาระดับชาติ สมัชชาประชาชนประชาธิปัตย์ที่มีผู้เข้าร่วม ๓,๐๐๐ คนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ และสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนถึงวันนี้ …", อ้างใน https://citizenquest.wordpress.com/tag/สมัชชา/ & ดู ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, "สภาประชาชน/ สมัชชาประชาชน", ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, http://thaicivicnet.com/?p=729 &ดูใน สุคนธ์ทิพย์ จันสน ผู้สื่อข่าวชุมชน จ.ชุมพร รายงาน, "ชูอำนาจที่ ๔ สภาพลเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ", เสียงจากสมัชชาพัฒนาการเมือง ๑๔ จังหวัดภาคใต้, เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ ห้องหลังสวน โรงแรมชุมพรแกรนด์พาเลซ ต.วังไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร, http://www.codi.or.th/index.php/news/documentary-communities-news/42-2009-09-22-05-47-57/4011-4-14

[8] อ้าง ไพบูลย์ นิติตะวัน, "ไพบูลย์" จ่อผุดสภาตรวจสอบภาค ปชช.-สภาจริยธรรม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000135434

[9] "หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)", ในเวบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, http://click.senate.go.th/?p=3772

[10] มูลนิธิชัยพัฒนา, "เศรษฐกิจพอเพียง", http://www.chaipat.or.th/chaipat/content/porpeing/porpeing.html

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ๑. ความพอประมาณ ๒. ความมีเหตุผล ๓. ภูมิคุ้มกัน

โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ ๑. เงื่อนไขความรู้ ๒. เงื่อนไขคุณธรรม & ดู "เศรษฐกิจแบบพอเพียงตามแนวพระราชดําริ", http://hm.npru.ac.th/pdf/news/polpeang.pdf

เศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำรงชีวิตในความพอดีมีชีวิตใหม่ คือหวนกลับมาใชวิถีชีวิตไทยจะทำให้ชาติบานเมืองและตัวเราหลุดพ้นจากความทุกข์และมีความสุขในที่สุด ดูใน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.),http://www.rdpb.go.th/thai/concept/ecot.html

[11] กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)", กุมภาพันธ์ 2555, http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121126-180228-326132.pdf &ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), "ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ อาเซียน และประชาคมอาเซียน", http://www.sac.or.th/databases/conference_asean_2011/?page_id=536

[12] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ วรรคสอง บัญญัติว่า "ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม", http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

หมายเหตุ ในเรื่องการปฏิรูปประเทศตามแนวทางของ คสช. นั้น มีผู้เห็นโต้แย้งว่า "นอกจาก คสช. ยังไม่มีความเข้าใจในการกระจายอำนาจแล้วยังมีการออก บทความโดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร เรื่อง คำสั่ง คสช. ที่ 85/2557 ก้าวข้ามมายาคติ กระจายอำนาจ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์วันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ที่ชื่นชม คสช. ว่า ดินดีหมีหัวใจเสือ จึงมีความกล้าหาญในการออกคำสั่งดังกล่าว โดยที่ สมปรารถนา มองว่า นักการเมืองในทุกระดับเป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องขจัดออกไปให้สิ้น สมปราถนา ยังกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของระบบราชการในการขับเคลื่อนประเทศ"ดูในยอดพล เทพสิทธา, "มายาคติของรัฐราชการผ่านการกระจายอำนาจ", 16 กรกฎาคม 2557, http://www.prachatai.com/journal/2014/07/54597

[13] ดูใน ณัฐกร วิทิตานนท์, "กรุงเทพ "มหานคร" ที่ไม่ได้มีสองชั้น", ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖, http://blogazine.in.th/blogs/cityatmouth/post/4024 สรุปว่า "...การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยเป็นแบบชั้นเดียว (single tier system) มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่มีเทศบาลขึ้นในปี ๒๔๗๖ รื้อฟื้นสุขาภิบาลในปี ๒๔๙๕ จัดตั้ง อบจ.ในปี ๒๔๙๘ เพื่อให้ดำเนินการในพื้นที่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นว่าหน่วยงานท้องถิ่นที่มียังน้อยเกินไป และจำกัดอยู่แต่เพียงเขตชุมชนเมือง (ซึ่งเท่ากับว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแลอยู่)ปี ๒๔๙๙ ให้มีสภาตำบล และ อบต.กรุงเทพมหานครปี ๒๕๑๕ และเมืองพัทยา ปี ๒๕๒๑

อนึ่ง ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มจากขบวนการรณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงขั้นหลายพรรคการเมืองได้นำมากำหนดเป็นนโยบายหาเสียง ถึงแม้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้นำมาซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ นำเอา อบต.กลับมา ส่งผลให้มีการยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็น อบต.จำนวนมากในเวลาต่อมา

การเกิดขึ้นของ อบต.มีผลกระทบโดยตรงต่อ อบจ. เนื่องด้วยตามกฎหมายเดิม อบจ.รับผิดชอบพื้นที่ทั้งจังหวัดเฉพาะที่อยู่ "นอก" เขตสุขาภิบาลและเทศบาล (รวมถึง อบต.ด้วย) ทำให้พื้นที่รับผิดชอบของ อบจ.ลดลงจนไม่เหลือพื้นที่ให้รับผิดชอบ นำไปสู่การออก พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยจัดวางให้ อบจ.เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งไปทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับรองได้แก่ เทศบาล อบต. รวมถึงเมืองพัทยานั่นเอง..."

[14] ศักดิ์ณรงค์ มงคล, เลขานุการกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ), "รายงานผลการศึกษาเรื่อง ทางเลือกสำหรับการออกแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นระนาบล่าง", เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน, http://www.lrct.go.th/wp-content/uploads/2013/07/รายงานผลการศึกษาการ-ออกแบบอปท.ชั้นล่าง.doc & เวิลด์แบงค์เสนอประชากร อปท.หน่วยละ ๑๐,๐๐๐ คน ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๖) เสนอประชากร อปท. หน่วยละ ๒๐,๐๐๐ คน ดู "เวิลด์แบงก์แนะรัฐบาลควบรวม อปท.", วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๙.๒๕ น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ ๒๗๓๙ วันที่ ๑๓-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕, http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=121607:2012-05-11-12-27-05&catid=104:-financial-&Itemid=443#.VB4_pldvD98&http://www-wds.worldbank.org/external/default/WDSContentServer/WDSP/IB/2012/12/20/000356161_20121220072749/Rendered/PDF/NonAsciiFileName0.pdf

[15] ส่องความคืบหน้ากฎหมายเดินเครื่อง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ", นางสาวเรวดี แก้วมณี สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค(สม.) http://www.oie.go.th/sites/default/files/attachments/article/specialeconomiczone-18032556.pdf

[16] "การวิเคราะห์(ร่าง) พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ", จัดทำโดย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย,

http://www.nakhonmaesotcity.go.th

[17] พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C503/%C503-20-9999-update.pdf

[18] สรัล มารู, ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, "ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ...."คำตอบหนึ่งของการ "ปฏิรูปประเทศ", ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1922

หมายเลขบันทึก: 584100เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2015 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท