ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๒๘. ไปเรียนรู้เรื่องสถานะบุคคลที่ระนอง (๔) AAR



ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๓

ผมติดตามคณะของอาจารย์แหววไประนอง เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาสถานะของบุคคล ในทำนองเดียวกับที่ไปศึกษาที่จังหวัดตากตามที่เล่าไว้ ที่นี่

การเดินทางครั้งนี้มีการทำ BAR และ AAR มากเป็นพิเศษ ทำให้ได้เรียนรู้จากมุมมองของคนที่ แตกต่างกันมาก รวมทั้งมีการถกเถียงกันมากด้วย

ในเชิงสาระของความรู้ ผมได้เรียนรู้เรื่องคนไทยพลัดถิ่น ที่ในความเป็นจริงแล้วถิ่นมันพลัดไป จากรัฐสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ทำให้คนติดถิ่นไปด้วย ในมุมของรัฐ แต่ในมุมของเครือญาติ และการติดต่อกันทางสังคม ยังคงมีการติดต่อกับทางฝั่งไทย ต่อเนื่องเรื่อยมา จนมามี พรบ. สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงมีกระบวนการจดทะเบียนสัญชาติไทย แก่คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ มีการจัดตั้งกลไกดำเนินการ คือ คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่ประมาณการว่าจะทำงานให้แก่คน ๑.๘ หมื่นคน แต่เวลาผ่านไปเกือบ ๓ ปี รับรองได้เพียง ๒ พันคนเท่านั้น เพราะติดปัญหาทางเทคนิค ที่การหาคนรับรองผังเครือญาติที่น่าเชื่อถือ

สภาพการณ์ก็คล้ายๆ กับที่จังหวัดตาก ที่ผมไปเรียนรู้เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ว่า การมีคนที่อยู่ในสังคมแบบที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย หรือมีสถานะครึ่งๆ กลางๆ ก็เป็นโอกาส ให้คนจำนวนหนึ่ง หาผลประโยชน์โดยมิชอบจากคนเหล่านี้ การดำเนินการเพื่อให้สัญชาติแก่คน ที่เป็นคนไทยพลัดถิ่นจริงๆ จึงไม่ง่าย

ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อมีการทุจริต เช่นสวมรอย โดยคนที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย หรือมีการทำเอกสาร หรือหลักฐานปลอม รวมทั้งมีความไม่รู้กฎหมาย หรือตั้งกฎกติกาซ้อนขึ้นมา ในระดับปฏิบัติ

ผมไปเห็นสภาพที่หน่วยราชการในพื้นที่ทำงานแบบต่างหน่วยต่างทำ ขาดการทำงานร่วมมือ หรือประสานงานกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ซับซ้อนให้ลุล่วงไปได้

ที่จริงเราลงพื้นที่คราวนี้ มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ในหลายมิติ สมาชิกของคณะ ๒๐ คน มีหลายกลุ่ม มีเป้าหมายที่เป็นจุดเน้นของแต่ละคนแตกต่างกัน คือกลุ่มทำงานมอบสัญชาติไทยให้แก่คนไทยพลัดถิ่น ในจังหวัดระนองและประจวบฯ ในฐานะ เอ็นจีโอ นำโดยคุณเชษฐ์ (ซึ่งไม่ใช่นักกฎหมาย) กลุ่มนักกฎหมาย ในจังหวัดระนอง ที่ทำงานกับองค์การศาสนาคาทอลิก กลุ่มนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ใน โครงการสี่หมอ จังหวัดตาก ที่ทำงานด้านสถานะบุคคล กลุ่ม "เจ้าของปัญหา" คือคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่นี้ กลุ่มลูกศิษย์อาจารย์แหวว สังกัดบางกอกคลินิก และกลุ่มตามไปดู คือคุณเปา สาวน้อย และผม

ความหลากหลายของสมาชิกกลุ่ม เป็นพื้นฐานอย่างดี ของการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือ "จัดการความรู้"

มองจากมุมของการจัดการความรู้ ผมอยากทดลองวิธีการไปเรียนรู้เรื่องสถานะบุคคล (ซึ่งในกรณีนี้คือเรื่องคนไทยพลัดถิ่นฝั่งตะนาวศรี) โดยวิธีไปรับฟัง ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ รับฟังให้ตลอด ไม่สอน ไม่ขัดจังหวะ ให้เขาพูดให้จบ ถ้าจะขัดจังหวะก็ขัดเพื่อขอความกระจ่าง ผมอยากรู้ว่า หากใช้วิธีนี้ ผลของการลงพื้นที่จะแตกต่างออกไปอย่างไร เราจะสามารถ "แงะ" เอา "ความรู้" หรือเรื่องราว ที่อยู่ลึกๆ และซับซ้อนออกมาได้ดีกว่าหรือไม่ ทำให้ผลการเรียนรู้ดีกว่าหรือไม่

ดังนั้น ในวันแรก ผมจึงเสนอวิธีนี้ต่อ อ. แหวว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี แต่พอถึงสถานการณ์ จริง ผมเข้าใจว่า เหตุการณ์มันไปกระตุ้นต่อม "เห็นแก่คนยากลำบาก" ของอาจารย์แหววอย่างแรง จน อ. แหวว ปล่อยวิญญาณอาจารย์วิชากฎหมายออกมา แผนการทดลองของผมจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า

เนื่องจากทีมนี้จะชวนผมไปลงพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ของคนมีปัญหาสถานภาพ และสิทธิ ผมจึงคิดว่า น่าจะไปด้วยเงื่อนไขว่า ต้องเตรียมวางแผนเวทีการรับฟังอย่างมียุทธศาสตร์ และมีแผนลงรายละเอียด ปิดช่องโหว่หลายอย่างที่เราพบในเวทีรับฟังสี่เวทีในการเดินทางครั้งนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญคือ รับฟังให้ตลอด ไม่สอน ไม่ขัดจังหวะ รอให้เขาพูดจบ จึงพูดเพื่อให้ข้อมูล โดยฝ่ายเราต้องมีรายการความเข้าใจผิด หรือประเด็นความรู้แจกให้ชาวบ้านด้วย (ใช้ภาษาชาวบ้าน) สำหรับใช้กำกับเวที ให้ดำเนินไปอย่างมีโครงสร้างความรู้ที่เราต้องการเรียนรู้ และมีโครงสร้างความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วย


วิจารณ์ พานิช

๒ ธ.ค. ๕๗




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท