อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ


ในการวิเคราะห์ตัวกิจการหรือบริษัทต่างๆสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ SWOT , การวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท เป็นต้น ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการวิเคราะห์โดยใช้อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ โดยใช้ตัวเลขจากงบการเงินของบริษัทเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่ากิจการหรือบริษัทที่เรากำลังทำการวิเคราะห์นั้นมีสภาพคล่อง มีประสิทธิภาพในการบริหารและทำกำไร รวมไปถึงความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

อันดับแรกจะทำการวิเคราะห์สภาพคล่องของกิจการ

1. อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียนรวม / หนี้สินหมุนเวียนรวม

จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถนำมาชำระหนี้สินหมุนเวียนได้กี่เท่า ซึ่งหากคำนวณออกมาแล้วได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องที่ดี แต่หากได้ค่าน้อยกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องต่ำซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นนั่นเอง

2. อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินอย่างเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียนรวม - สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียนรวม

จะเหมือนกับ Current Ratio แต่ Quick Ratio จะคิดเฉพาะสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไวดังนั้นจึงต้องหักสินค้าคงเหลือออก

3. อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Account Receivable Turnover) = ยอดขายเชื่อ / ลูกหนี้การค้า

จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีการบริหารลูกหนี้การค้าได้ดีเพียงใดโดยค่าที่คำนวณออกมาได้จะมีหน่วยเป็นรอบ หากได้จำนวนรอบที่มากแสดงว่ามีการหมุนเวียนลูกหนี้การค้าได้หลายรอบใน 1 ปี ซึ่งเป็นผลดีกับกิจการ แต่บางธุรกิจอาจมีอัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้าที่น้อยเนื่องจากเป็นรูปแบบของธุรกิจนั้นๆว่าจะต้องให้สินเชื่อกับลูกหนี้เป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรดูการดำเนินธุรกิจนั้นๆประกอบด้วย

4. ระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ย (Day Receive) = 365 วัน / Account Receivable Turnover

จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ยนานหรือสั้น โดยหากคำนวณได้ค่าที่น้อยเช่น 15 วัน ก็แสดงว่ากิจการใช้เวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ยเพียง 15 วัน เมื่อเทียบกับกิจการคู่แข่งที่คำนวณได้ 30 วัน แสดงว่ากิจการที่คำนวณได้ 15 วันมีการบริหารลูกหนี้การค้าได้ดีกว่าคู่แข่งขัน

5. อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) = ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือ

จะแสดงให้เห็นว่าใน 1 ปี กิจากรสามารถทำการผลิตไปจนขายสินค้าได้กี่รอบ ซึ่งหากคำนวณออกมาได้จำนวนรอบที่มากก็แสดงว่ากิจการมีการผลิตไปจนขายสินค้าได้หลายรอบใน 1 ปีซึ่งเป็นผลดีกับกิจการ แต่บางธุรกิจอาจมีอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือที่น้อยเนื่องจากเป็นรูปแบบของธุรกิจนั้นๆว่าจะต้องใช้เวลาผลิตเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรดูการดำเนินธุรกิจนั้นๆประกอบด้วย

6. ระยะเวลาผลิตโดยเฉลี่ย (Inventory Day) = 365 วัน / Inventory Turnover

จะแสดงให้เห็นกิจการมีระยะเวลาผลิตไปจนขายสินค้าได้โดยเฉลี่ยนานหรือสั้น โดยหากคำนวณได้ค่าที่น้อยเช่น 30 วัน ก็แสดงว่ากิจการใช้เวลาผลิตไปจนขายสินค้าได้โดยเฉลี่ยเพียง 30 วัน เมื่อเทียบกับกิจการคู่แข่งที่คำนวณได้ 90 วัน แสดงว่ากิจการที่คำนวณได้ 30 วันมีการบริหารสินค้าคงเหลือได้ดีกว่าคู่แข่งขัน

7. อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Euqity Ratio หรือ D/E Ratio) = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น

จะแสดงให้เห็นว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของหนี้สินหรือส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่ากัน โดยหากคำนวณมาได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น แต่หากคำนวณออกมาได้ค่าน้อยกว่า 1 แสดงว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าส่วนของหนี้สิน ทั้งนี้การใช้ทุนจากส่วนของหนี้สินมากๆอาจจะเป็นผลดีในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตดีดังนั้นการเลือกใช้หนี้สินหรือส่วนของทุนมากกว่ากันมักต้องดูตามแต่ละสถานการณ์

8. อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit Margin) = (กำไรสุทธิ * 100) / ยอดขาย

จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรสุทธิของกิจการ ซึ่งหากคำนวณมาได้เปอร์เซ็นที่มากแสดงว่ากิจการมีความสามารถในการทำกำไรสุทธิที่ดี

สรุป การใช้อัตราส่วนทางการเงินมาวิเคราะห์กิจการหรือบริษัทนั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการวิเคราะห์และช่วยให้อ่านงบการเงินของบริษัทได้ง่ายขึ้น โดยต้องมีการนำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้นๆเพื่อนำมาสรุปผล

หมายเลขบันทึก: 584002เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2015 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2015 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท