อ้ายติ๊บ...


(ขอคั่นรายการจากเรื่องนายฮ้อยก่อนนะครับ)

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 58 เวลา 17.29 น.

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นเบาๆ ผมหยิบขึ้นมารับสาย...

ไพศาล : ฮัลโหล ครับ..

เสียงในโทรศัพท์ : อาจ๋านไพศาล..กา...

ไพศาล : ใช่ครับ โทรมาจากไหนครับ...

เสียงในโทรศัพท์ : ผม ติ๊บ จากบ้านโต่งยาว สะเมิง ก่ะ... ฯลฯ

สี่สิบปีแล้วครับที่ผมเข้าไปทำงานพัฒนาชนบทครั้งแรกที่นั่นเมื่อปี 2518 หลังจากเรียนจบ มช. เพื่อนฝูงร่วมสถาบันต่างสอบเข้าเป็นข้าราชการ และมุ่งหน้ารับใช้สังคมภายใต้ชุดสีกากี แล้วก็ก้าวหน้าไปตามสภาพ เงื่อนไขของแต่ละคน เพื่อนบางคนไปทำธุรกิจ หรือทำงานในองค์กรธุรกิจ ส่วนผมนั้นผ่าเหล่าออกมาจากกลุ่ม ไปทำงานพัฒนาชนบท และงานแรกที่ทำคือ โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิฟริดริช เนามัน เยอรมัน ซึ่งใช้สำนักงานเกษตรภาคเหนือเป็นที่ทำงาน

ผมมุ่งหน้าสู่ชนบทด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญ และเป็นหลักใหญ่ก็ต้องยอมรับว่า คนเดือนตุลา ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยนั้น หากไม่เข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ก็ไปทำงานอิสระที่เรียก NGO ผมเลือกเดินเส้นทางชนบท ในมือยังถือคัมภีร์ปฏิวัติสังคมสมัยนั้นอยู่เลย

ดังนั้นงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิงก็ทุ่มเทสุดๆด้วยอุดมการณ์ เราเองไม่มีภาระอะไร ทุกเวลานาทีมอบให้กับงาน ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องหลักการทำงานพัฒนาชนบทแต่อย่างใดเลย มีแต่ใจและอุดมการณ์ จำได้ว่าความรู้ในงานพัฒนาชนบทยุคนั้นเรานำเข้ามาจากต่างประเทศมากมาย เช่นประสบการณ์จาก ซาโวดายาจากศรีลังกา กิบบุช โมชาปจากอิสราเอล แซมาเอิลอัลดงจากเกาหลีใต้ กรามินแบ้งค์ของท่านยูนุช และที่เราไปฝึกฝน เรียนรู้กันแบบจริงจังก็ต้อง TRRM คือโครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ชัยนาท ที่เอาหลักการมาจาก PRRM ของท่าน ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์

อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อยู่หลังดอยสุเทพ เข้าได้สองทางคือทาง อ.แม่ริมตรงน้ำตกแม่สา หรือทางอ.หางดง ในปี 2518 นั้น อ.สะเมิงคือถิ่นธุรกันดาร เป็นชนบทในป่าเขา มีคนเมืองกับชาวเขาเผ่าม้ง กะเหรี่ยง เย้า มูเซอ เดิมมีละว้า อยู่ด้วย

ประวัติศาสตร์พัฒนาการน่าสนใจ เท่าที่จำได้ขึ้นใจคือ สมัยที่ประชาชนคนไทยต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลกรุงเทพฯนั้น สมัยนั้นเรียก "ฐา 4 บาท" หากใครไม่มี่เงินเสีย ก็ต้องไปใช้แรงงาน เช่นสร้างศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สร้างคุก เชียงใหม่ สร้างอาคารต่างๆที่รัฐจะจัดการมาให้ มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่มี่เงินเสียภาษี และไม่ต้องการไปใช้แรงงาน ก็หนี อพยพเข้าป่าไปอยู่ในพื้นที่ อ.สะเมิงปัจจุบัน ก็เป็นบรรพบุรุษของชาวสะเมิงยุคหนึ่ง อีกยุคหนึ่ง สมัยที่รัฐบาลให้บริษัทต่างชาติมาประมูลสัมปทานป่าไม้ใน อ.สะเมิง ซึ่งบริษัทจ้างคนงานที่เป็นชาวขมุที่มีความชำนาญในการใช้ช้างลากไม้ คนงานเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่แต่งงานอยู่กินกับชาวสะเมิง และไม่กลับบ้านเมื่อหมดระยะสัมปทานป่าไม้แล้วก็ตาม

ปี 2518 เข้าไปทำงานกินนอนกับชาวบ้าน นอนวัดบ้าง คลุกคลีกับชาวบ้านจนสนิทสนมกันเรียกเป็นแม่เป็นลูกกันนั้น เราแยกไม่ออกว่าใครมีเชื้อสายมาจากที่ไหนบ้าง รู้แต่ว่าเป็นคนเมือง เนื่องจากสะเมิงสมัยนั้นเป็นพื้นที่ปิด คนทำงานพัฒนาชนบทอย่างเราจึงเป็นชุดแรกๆที่เข้าถึงชาวบ้าน และวนเวียนไปทำงานกับชาวบ้านตลอดระยะเวลา 5 ปี สามารถกินนอนกับชาวบ้านได้ทุกหลังคาเรือนก็ว่าได้

ความสนิทสนมกันเช่นนี้ วัฒนธรรมชนบทที่เราเคารพและสานสัมพันธ์กันมา สี่สิบปีผ่านไป

ผมจึงยังได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้านที่สะเมิงอยู่....

อ้ายติ๊บ บ้านทุ่งยาว ต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง : สวัสดี๋ปี๋ใหม่เน้อ อาจ๋าน..ไพฉาน...

สำเนียงถิ่นเหนืออ้ายติ๊บ ทำให้ผมขนลุกซู่..... สี่สิบปีที่ผ่านไปความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันยังแน่นแฟ้นอยู่เลย

คิดถึงสะเมิง คิดถึงวันเก่าๆที่สะเมิง... คิดถึงพี่น้องชาวสะเมิง...

หมายเลขบันทึก: 583971เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2015 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2015 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีปีใหม่เพชรน้ำหนึ่งครับ

อ่านแล้วทึ่งมาก

นานหลายปีมาก

แต่ยังระลึกถึงกันอยู่

สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้พี่และครอบครัวมีความสุขมากๆครับ

ขจิตครับ บันเป็นความผูกพันมาก ทุกครั้งที่เราเดินทางไปทำงานหมู่บ้านทุ่งยาวนี้เราก็แวะมากินมานอนที่บ้านอ้ายติ๊บนี่ สนิทสนมกัน ความผูกพันเหมือนญาต จึงถามไถ่ ไฝ่หากันบ่อยๆ แม้เวาล่วงเลยมานานก็ตาม...


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท