ไปอินเดีย เชนไน ตอนที่ ๒


เชนไนน่าจะอยู่ในละติจูดเดียวกับกรุงเทพฯ ความเย็นของอากาศรอบตัวในช่วงเช้าจึงเย็นสบาย รายงานอุณหภูมิตอนเช้าราว ๒๒ อาศา

เช้าวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันแรกของการแสวงธรรมด้านช่องคลอดคนชรา ผมตื่นขึ้นมาตอน ๖ โมงเช้า มองออกไปด้านนอกโรงแรมเห็นหมอกลงค่อนข้างจัด เสียงแตรรถดังเล็ดลอดมาให้ได้ยินราวกับจะประกาศว่า "โปรดทราบ ที่นี่อินเดียปี๊น ที่นี่อินเดียปิ๊นปิ๊นปี๊นนนนนน" จัดการชงกาแฟด้วยเครื่องชงที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้ กลิ่นหอมของมันปลุกผมให้ตื่นจากความง่วงได้ดีทีเดียว ผมนัดกับอาจารย์รุ่นพี่ทั้ง ๒ ท่านว่าจะลงมาเจอกันที่ล็อบบี้โรงแรมตอน ๗ โมงครึ่ง ราคาค่านอนที่จ่ายไปไม่รวมอาหารเช้า ผมจึงคาดหวังจะไปกินในที่ประชุม

ที่นี่เป็นเมืองใหญ่ คนเยอะ รถบนท้องถนนมีมากมาย แยกไม่ออกว่าคันไหนคือรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ เพราะบนหลังคาก็ดูเหมือนกันหมด ไม่มีป้ายบอกแสดงตนว่าเป็นรถยนต์โดยสารหรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้น อย่าหวังว่าจะโบกแท็กซี่ได้ ต้องโทรศัพท์เรียกเท่านั้น

ทางโรงแรมมีรถบริการไปโรงพยาบาลที่จัดประชุม แต่ต้องเสียเงิน ๗๐๐ รู เราจึงให้ทางโรงแรมโทรเรียกรถให้แทน และต้องนั่งรอราว ๒๐-๓๐ นาที กว่าที่รถจะฝ่าการจราจรที่คับคั่งมารับเราได้

ชีวิตบนท้องถนนน่าตื่นตาตื่นใจ ต่างคนต่างไม่ค่อยยอมใคร เสียงแตรรถเป็นเสมือนลมหายใจบนท้องถนน ฝุ่นควันเป็นเสมือนทิวทัศน์ราวเมืองในหมอก ปริมาณรถพอๆกับแยกลาดพร้าว หรือแยกหน้าม.อ.ตอน ๕ โมงเย็น ผิดกันตรงที่ว่าไม่มีสัญญาณไฟหากเป็นแยกเล็กๆ ขับแทรกๆกันไป ก็ไม่เห็นมีอุบัติเหตุ เอาล่ะ ผมกำลังจะปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับความสับสนแบบนี้ตั้งแต่บัดนี้ นึกในใจ น้ำลายไหล ชัอยากลิ้มลองกลิ่นกระหรี่แล้วสิ

ผมมาประชุมที่โรงพยาบาลครับ Voluntary Health Services คือชื่อโรงพยาบาล แรกเริ่มเดิมทีก็นึกว่าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ขนาดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพราะคนจัดและวิทยากรต่างก็มีชื่อเสียงระดับโลก ศาสตราจารย์ดไวเยอร์ จากออสเตรเลีย ศาสตราจารย์ชูล จากอเมริกา ศาสตราจารย์ราล์ฟ และศาสตราจารย์ริส จากออสเตรีย และคนจัดงาน ศาสตราจารย์ราชามเหสวารี เจ้าแม่รูรั่วประจำชาติอินเดีย

แต่สถานที่ที่รถแท็กซี่พามาส่งที่นี่ นอกจากป้ายชื่อแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่ามันเบี่ยงออกจากจินตนาการไปไกลแค่ไหน เอาเป็นว่า มันดูคล้ายโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๖๐ เตียงของบ้านเราเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว ขนาดนั้น!

เรามาถึงก่อนเวลาเปิดงานเล็กน้อย ห้องประชุมที่นี่จุคนได้ราว ๑๕๐ คน มันดูเก่า เก้าอี้เป็นเหล็ก ชนิดที่น่าจะเป็นที่นั่งของคนไข้รอตรวจมากกว่าที่นั่งประชุม ยังมีการเตรียมการสำหรับระบบเสียงและภาพอยู่ ก็นึกแปลกใจว่าทำไมไม่เตรียมให้เสร็จตั้งแต่ก่อนวันงานประชุม เด็กวัยรุ่นผู้ชายราว ๓-๔ คนกำลังง่วนอยู่กับการดินสายไฟ ต่อนู่นเสียบนี่ เปิดโปรเจคเตอร์ ๒ จอ แล้วมันก็ล่วงเลยเวลาเปิดไปนานกว่าปกติประมาณครึ่งชั่วโมง

ครั้นเมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็พอดีกับที่บรรดาศาสตราจารย์เดินทางมาถึง แหม...อะไรมันจะลงตัวขนาดนั้น

การจัดประชุมในครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจและประทับใจอยู่หลายประการ

เชื่อไหมว่า บรรดาศาสตราจารย์ที่มาเป็นวิทยากรทั้ง ๔ วันนี้ ทุกท่านมากันเอง ออกค่าเครื่องบินเอง จ่ายค่าโรงแรมเอง ไม่มีค่าบรรยาย นั่นหมายความว่า เขามาด้วยความรู้สึกอุทิศตน หรือไม่ก็เป็นเพราะบารมีของศาสตราจารย์ราชามเหสวารี ที่สร้างเครือข่ายทางวิชาการไว้อย่างดี ลองคิดดูเล่นๆนะครับ ศาสตราจารย์แต่ละท่านจะพาลูกศิษย์และพยาบาลติดตัวมาด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็คงมหาศาลอยู่ทีเดียว เรื่องนี้ต้องยกนิ้วโป้งให้กับทุกท่านเลยนะครับ

เรื่องต่อมาคือการจัดเนื้อหาบรรยาย ที่มีเพียงนิดเดียว ช่วงเช้าราว ๑ ชั่วโมง และก่อนเลิกตอนเย็นราว ๑ ชั่วโมง นอกนั้นเป็นการแสดงผ่าตัดตั้งแต่เช้า ยาวไปจนถึงตอนเย็น เย็นแค่ไหนน่ะเหรอครับ เอาเป็นว่าเราเลิกกันหลัง ๖ โมงเย็นทุกวันนั่นแหละ เขาจะเริ่มผ่าตัดรายแรกราว ๑๐ โมง ผ่าพร้อมกัน ๒ ห้อง ถ่ายทอดสดและฉายให้ดูผ่านจอโปรเจคเตอร์ที่เพิ่งมาติดตั้งกันเสร็จสดๆร้อนๆนั่นแหละ การผ่าตัดก็เป็นเคสที่น่าสนใจมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดมดลูกทางช่องคลอดด้วยเทคนิคของแต่ละท่าน ต่างสไตล์ การผ่าตัดเพื่อเย็บผูกช่องคลอดแขวนไว้กับสิ่งต่างๆในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน ประเภทที่เคยอ่านมา อ่านเข้าใจบ้าง งงบ้าง ได้เห็นคราวนี้เลยเข้าใจแจ่มแจ้ง นี่เราเสียเวลาไปกับการอ่านและทำความเข้าใจในอากาศมานานเท่าไหร่กันเนี่ย

เขาแสดงการผ่าตัดกันทุกวัน เฉลี่ยวันละ ๗ ราย ประชุม ๔ วัน เราจึงได้ดูกันตาแฉะ ๒๘ ราย และในรายสุดท้ายของวัน ศาสตราจารย์ราชามเหสวารีจะถามคนในห้องประชุมเสมอว่ามีคนดูเหลืออยู่กี่คน ใน ๓ วันแรกเหลือถึงตอนเย็นราว ๕๐ คน จากทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คนในตอนเช้า

และเนื่องจากการประชุมในแต่ละวันที่แสนจะยาวนานนี้ มันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเราเล็กน้อย นั่นคือ อาการเจ็บที่ตูดและก้นกบ จะไม่ให้เจ็บได้อย่างไรในเมื่อเก้าอี้เป็นเหล็ก ไม่มีลักษณะที่ดีตามเออโกโนมิกดีไซน์เลยแม้แต่น้อย ผมเองเปลี่ยนตูดสลับข้างไปมา เอนบ้าง นั่งตรงบ้าง เป็นเช่นนี้อยู่ทั้งวัน ดังนั้น ในการประชุมวันที่ ๒ อาจารย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งจึงเอาหมอนรองตูดมาจากโรงแรมด้วย ตูดท่านเลยสบายกว่าใครเพื่อน ตูดไม่ช้ำ แก้มก้นไม่หมอง

นึกสงสัยอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมผู้ร่วมประชุมชาวอินเดียจึงไม่ค่อยขยับกันมากมายนัก ก็เดาไปว่า คงเป็นเพราะคนอินเดียตูดใหญ่นั่นเอง แต่ละคน แม่เจ้า ลองจินตนาการกันเอาเองนะครับ

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือระบบการถ่ายทอดภาพและเสียง ไอ้ที่เราดูลักษณะการติดตั้ง สายระโยงระยาง โปรเจคเตอร์ดูเพลนๆคล้ายกับลูกมือวงดนตรีลูกทุ่งสมัยโบราณนั้น แท้ที่จริงพวกเขาเป็นมืออาชีพมาก ลองหลับตานึกภาพนะครับ การถ่ายทอดสดการผ่าตัดจาก ๒ ห้องพร้อมๆกัน ฉายบนจอพร้อมกันทั้ง ๒ ห้อง สลับเสียงการบรรยาย การซักถามทีละห้อง เสียงดีฟังชัดไม่มีหอน แถมการผ่าตัดที่ทำนั้น เป็นการผ่าตัดผ่านรูช่องคลอด การเย็บหลายๆครั้งนั้นเย็บลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ลำพงที่เราเคยช่วยครูเราผ่าตัดก็แทบมองเข้าไปในรูนั้นไม่เห็นอยู่แล้ว (หลับตานึกภาพออกไหมครับ มองผ่านช่องคลอดเข้าไปลึกในช่องท้องน่ะ นึกไม่ออกล่ะซี) แต่ด้วยการใช้กล้องถ่ายวิดีโอโซนี่แฮนดิแคม HD ธรรมดานี่แหละ ภาพที่ส่งมามันจึงชัดมากๆ มากขนาดเห็นรูขุมขนคนไข้ได้เลย

ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ดไวเยอร์บอกพวกเราว่า "ผมแน่ใจว่า คนนั่งดูอยู่ในห้องประชุมเห็นภาพการผ่าตัดชัดกว่าผม ซึ่งเป็นคนผ่าเองเสียอีก" อันนี้เรื่องจริง ผมยืนยัน

นิทานบรรทัดบนสอนให้รู้ว่า อย่าประเมินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก และด้วยความมีไม่พร้อม มันสามารถทำให้คนเก่งได้เสมอ อันนี้ผมขอยืนยันอีกรอบ

เรื่องประชุมขอจบแค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะมาเล่าเรื่องการเดินทางบนท้องถนนและของกินให้ฟังกัน

ขอไปทำสปาตูดก่อน

หมายเลขบันทึก: 583968เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2015 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2015 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นรายงานการประชุมวิชาการที่สนุกที่สุดตั้งแต่เคยอ่านของใครๆมาเลยค่ะ อาจารย์แปร๊ะ ยกนิ้วให้จริงๆกับการบรรยายได้เหมือนนั่งฟังอาจารย์เล่าเองเลย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสุดๆค่ะ ชอบมาก

อ่านแล้วคุณหมอเล่าละเอียดมาก

เห็นภาพการผ่าตัดเลย

แต่ทึ่งเทคโนโลยีมาก

ใช้ได้สองห้องเลย

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท