ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๒๕. ไปเรียนรู้เรื่องสุขภาวะชายแดนระนอง (๑) วันแรก : โรงพยาบาลระนองและเกาะสอง


ปัญหามันไปพันกับงานของทางอำเภอหรือมหาดไทย ที่มีความเข้าใจผิดที่ต้นทาง มีผลทำให้โรงพยาบาลต้องให้การรักษาฟรีโดยเรียกเก็บเงินชดเชยไม่ได้ก่อปัญหาด้านการเงินแก่โรงพยาบาลฟังดูแล้วทีมอาจารย์แหววน่าจะช่วยปัดเป่าปัญหาได้มากทีเดียว

ผมติดตามคณะของอาจารย์แหววไประนอง เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาสถานะของบุคคล ในทำนองเดียวกับที่ไปศึกษาที่จังหวัดตากตามที่เล่าไว้ ที่นี่

การเดินทางครั้งนี้ กำหนดวันที่ ๒๘ - ๓๐ พฤศิกายน ๒๕๕๗ คราวนี้ผมชวนสาวน้อยไปด้วย

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรานั่งเครื่องบินนกแอร์ จากดอนเมืองไประนอง ด้วยเที่ยวบินนกแอร์ DD 7312เวลา ๘.๑๐-๙.๓๕ น.แล้วนั่งรถตู้ไปโรงพยาบาลระนองเพื่อเรียนรู้เรื่อง การจัดการสุขภาวะ ของคนชายแดนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามกฎหมาย ในพื้นที่ชายแดนไทย -พม่า

ทีมจัดการเดินทาง จัดทำเอกสารประกอบการเดินทางอย่างดี ความหนา ๓๕ หน้า ส่งให้อ่านล่วงหน้าระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางดังนี้

๑. สำรวจและทบทวนสถานการณ์ด้านการจัดการสุขภาวะของคนชายแดนที่มีปัญหา สถานะและสิทธิตามกฎหมายในพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาร์ ที่จังหวัดระนองและจังหวัด เกาะสอง โดยเยี่ยมชมรับฟัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส่วนราชการด้านสาธารณสุข ภาคประชาสังคม และเจ้าของปัญหา

๒. สร้างพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของคนชายแดน ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนอื่นรวมถึงประสบการณ์ในการจัดการปัญหาของ ทั้งเจ้าของปัญหา และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดระนอง ให้แก่บุคลากรของ โครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก

๓. เชื่อมเครือข่ายการทำงานเพื่อคนชายแดนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามกฎหมาย

ทีมจากจังหวัดตาก นั่งรถตู้มาตลอดคืน มาสว่างที่สนามบินดอนเมือง ขึ้นเครื่องบินต่อได้พอดี เราพบกันก่อนเวลาเรียกขึ้นเครื่องครึ่งชั่วโมงจึงไปนั่ง BAR กันก่อนใช้เวลา ๒๐ นาทีโดยผมตั้งโจทย์ ให้แต่ละคนพูด ว่าทำไมตนเองจึงมาร่วมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดเกาะสอง ในครั้งนี้ ผมพบว่าสมาชิกเปิดเผยความในใจของตนได้ดี

ผมได้นั่งริมหน้าต่าง ที่นั่ง 38Dเครื่องบิน Q400 บินสูง ๒๒,๐๐๐ ฟุต เหนือเทือกเขาตะนาวศรีท้องฟ้าใส ผมจึงได้ชมวิวภูเขา สลับที่ราบบริเวณหุบเขา เขื่อนและอ่างเก็บน้ำพอเวลา ๘.๕๐ น. ก็บินเหนือที่ราบ กว้างใหญ่.๕๕ น. ออกชายฝั่งทะเลเวลา ๙.๐๐ น. ก็บินผ่านบริเวณที่น่าจะเป็น ท่าเรือน้ำลึกบางสะพานตรงนี้เอง เครื่องบินเบนทิศไปทางตะวันตกเข้าไปบินเหนือแผ่นดินอีกแต่คราวนี้บินเหนือที่ราบ ถนนสี่เลน และชุมชน เมื่อเวลา ๙ .๑๐ น.แล้วจึงเริ่มบินเหนือทิวเขาอีกครั้งหนึ่ง อีกครู่เดียวแม่น้ำและทะเลอันดามันก็อยู่ไกลลิบๆ

เครื่องบินร่อนลงผ่านตัวเมืองระนอง และเห็นจังหวัดเกาะสองอยู่ไกลออกไป ในทะเลมีเกาะจำนวนมากในทะเลเห็นน้ำสองสีตัดกันเป็นแนวยาวเครื่องบินร่อนผ่านป่าชายเลนที่สมบูรณ์มีแม่น้ำแยกเป็นหลายสายไหลลงสู่ทะเลระหว่างแม่น้ำเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ แล้วผ่านป่าชายเลนที่มีบ่อเลี้ยงกุ้งมากมายตามด้วยสวนปาล์มน้ำมันแล้วเครื่องบินก็แตะพื้นทางวิ่ง

เราขึ้นรถตู้ไปโรงพยาบาลระนองไปขอเรียนรู้สถานการณ์การจัดการสุขภาวะของคนชายแดน ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จังหวัดระนอง มีนายแพทย์วิเชษฐ์ ปิติเกื้อกูล หัวหน้าเวชกรรมสังคม และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นหัวหน้าทีมต้อนรับมีทีมงานหลายคนร่วมให้ข้อมูล นำโดยคุณศิริรัตน์ หัวหน้าหน่วยประกันสุขภาพ นำเสนอเรื่องโรงพยาบาลระนอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาล ๓๐๐ เตียงมีบุคลากร ๓๖๔ คนที่ผมแปลกใจคือ มีหมอถึง ๓๕ คนผมไม่นึกว่าจะมีมากถึงขนาดนั้น

เขาลำดับเหตุการณ์การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรรักษาฟรีบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งเริ่มในปี ๒๕๕๓ เมื่อ ครม. มีมติในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง การคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ"สั่งการให้สำรวจและขึ้นทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ เดือน

ผมนั่งฟังรายละเอียดแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่อาจารย์แหววก็ขัดจังหวะและอธิบาย ความเข้าใจผิดเป็นช่วงๆ ผมได้เข้าใจว่า ปัญหามันไปพันกับงานของทางอำเภอหรือมหาดไทย ที่มีความเข้าใจผิดที่ต้นทาง มีผลทำให้โรงพยาบาลต้องให้การรักษาฟรีโดยเรียกเก็บเงินชดเชยไม่ได้ก่อปัญหาด้านการเงินแก่โรงพยาบาลฟังดูแล้วทีมอาจารย์แหววน่าจะช่วยปัดเป่าปัญหาได้มากทีเดียวแต่ในตอนสรุป ทีมโรงพยาบาลระนองขอแก้ปัญหากันเองภายในจังหวัดก่อน

กลับมาค้นที่บ้าน พบคู่มือของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการ การให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่นี่

ที่โรงพยาบาล เราได้พบคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดฝั่งพม่า ทวดอยู่เลยด่านสิงขรเข้าไปในแดนพม่า ซึ่งตอนนั้นเป็นของไทย เมื่อไทยเสียดินแดนให้อังกฤษสมัย ร. ๕ ทวดก็ติดอยู่ฝั่งพม่าแต่คนเหล่านี้ก็ยังคงพูดภาษาไทยเรียนภาษาไทยที่วัดและบางคนก็ข้ามมาอยู่ฝั่งไทยดังกรณีนายบุญเสริม ประกอบปราณ อายุ ๖๔ ปี ได้ข้ามมาอยู่แถวอำเภอบางสะพานและเพิ่งได้สัญชาติไทยในปีนี้ เวลานี้อยู่ที่ตำบลคลองวาฬ. เมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คนเหล่านี้ พูดภาษาปักษ์ใต้ได้คล่องและพูดภาษากลางสำเนียงเหน่อๆนิดหน่อยผมได้แหลงใต้กับเขาสนุกไปเลย

ออกจากโรงพยาบาลระนองเวลาประมาณ ๑๔ น.เรานั่งรถตู้ไปท่าเรือระนองทำพิธีขออนุญาตผ่านแดนแล้วนั่งเรือนำเที่ยวอันดามันขนาด ๖๒ ที่นั่ง ไปจังหวัดเกาะสองของพม่า ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาที ตอนอยู่ฝั่งไทยมองเห็นฝั่งพม่าอยู่ลิบๆ

ที่ท่าเรือฝั่งพม่า ระหว่างรอให้คนไปทำพิธีตรวจคนเข้าเมือง ผมพบคนไทยพลัดถิ่น อายุ ๕๒ ปี ที่เวลานี้อยู่ที่ระนองแต่ยังไม่ได้สถานะคนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมายประกอบอาชีพบริการเรือหางยาว ข้ามฟากระหว่างฝั่งไทยกับเกาะสองในราคาคนละ ๕๐ บาทไปกลับ ๑๐๐ บาทในขณะที่เรืออันดามัน ที่เป็นเรือท่องเที่ยวคิดไปกลับคนละ ๕๐๐ บาท รวมค่าพาเที่ยวในเกาะสองด้วยคนไทยพลัดถิ่นคนนี้ ข้ามไปอยู่ฝั่งไทยตั้งแต่เด็กเรียนที่โรงเรียนไทยเขาบอกว่าคนไทยพลัดถิ่นในลักษณะเดียวกับเขาได้บัตร แสดงสถานะกันเป็นส่วนใหญ่เขาเองเห็นว่ายุ่งยากนัก และไม่มีเงินเสียค่าเบี้ยบ้ายรายทาง จึงเลิกสนใจแล้ว เพราะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ก็พอใจแล้ว เลี้ยงลูกเรียนหนังสือจบทุกคนก็หมดห่วง เวลานี้ยังเรียนอยู่เพียงคนเดียว ฟังน้ำเสียงของท่านผู้นี้ผม ได้ยิน" ลึกเข้าไปในจิตใจคนปักษ์ใต้ ที่ไม่ศรัทธาราชการ และเจ็บปวดจากการกดขี่ รังแกโดยข้าราชการ

ทำพิธีขอผ่านเข้าเมืองพม่าเสร็จก็นั่งรถสองแถวเล็กไปยังโรงแรม Garden Hotel ใช้เวลาราวๆ ๑๐ นาที ผ่านบ้านเมืองที่ล้าหลังกว่าตัวจังหวัดของไทยตึกรามบ้านช่องและถนนต่างจากของจังหวัดระนองมาก

เช็คอินเข้าห้องพักผมได้ห้อง ๒๐๕ห้องพักมีแอร์เย็นดีผมมีข้อสังเกตว่าน้ำประปาของเขา เป็นน้ำอ่อน (ไม่มีความกระด้าง) เย็นสะอาดดีมาก และล้างสะบู่ออกยาก

เรานัดออกมานั่งรถไปชมเมืองและสถานที่ท่องเที่ยว เวลา ๑๖.๐๐ น. เวลาไทย (เวลาพม่าช้ากว่าครึ่งชั่วโมง) แต่พอถึงเวลาฝนก็เทลงมาแบบตกหนักมากจนเวลาราวๆ ๑๗ น. ฝนหาย เราก็นั่งรถสองแถวสองคันเดิมไปเที่ยวตามสูตรของนักท่องเที่ยวเกาะสอง คือไปอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองไปวัดปิดอเอ้ซึ่งเราไปหลงเสน่ห์หมูเสียบไม้อาหารกินเล่นที่มีร้านขาย ๔ - ๕ ร้านที่ถนนเข้าวัด หลังจากนั้นเราไปเที่ยวตลาดปลายแหลม ซื้ออาหารกลับมากินที่โรงแรม ผมพบว่าหมูกรอบอร่อยมาก

หลังจากกลับมากรุงเทพผมค้นกูเกิ้ล พบเรื่องของคนไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี ที่นี่





ท่าเรือน้ำลึก ที่ อ. บางสะพาน


ข้างล่างคือระนอง แหลมข้างบนคือจังหวัดเกาะสอง


รับฟังสถานการณ์ที่โรงพยาบาลระนอง


เรืออันดามัน ที่เรานั่งข้ามไปฝั่งพม่า


ใกล้ฝั่งเกาะสอง


วิวที่บอกความเป็นดินแดนพม่า


คุณอ้อน คนพม่า ภรรยาของคุณชาติชาย (เพ้ง) มารับ


สามผู้อาวุโส


แหลงใต้กับคุณบุญเสริม


อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง


กินหมูเสียบไม้


เครื่องหีบอ้อย บริการน้ำอ้อย


ตะวันลับฟ้าที่เกาะสอง


ซื้ออาหารอินเดียที่ตลาด


ร้านหมาก


ขนมหวานพม่า

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๑ ธ.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 583847เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2015 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท