Knowledge Sharing 2.0 หลากหลายรูปแบบการแบ่งปันความรู้


ในสมัยก่อน รูปแบบของการแบ่งปันความรู้แก่กันถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ พ่อแม่สอนการบ้านลูก ครูสอนหนังสือนักเรียน เพื่อนติวหนังสือให้เพื่อน หรือกว้างออกมาหน่อยก็คือนักเขียนเขียนหนังสือขายให้คนอ่าน


การแบ่งปันความรู้ส่วนใหญ่เป็นแบบทางเดียว พ่อแม่สอนการบ้านลูก แต่ลูกไม่ได้สอนอะไรให้พ่อแม่ ครูสอนหนังสือนักเรียน แต่นักเรียนไม่ได้สอนหนังสือให้ครู นักเขียนเขียนให้อ่าน แต่คนอ่านก็ไม่ได้แบ่งปันอะไรกลับมาให้นักเขียน แต่ก็มีบ้างที่เป็นการแบ่งปันแบบหลายทาง เช่น เพื่อนติวหนังสือให้เพื่อน เพื่อนคนนึงอาจจะเป็นคนนำในการติว และเพื่อนอีกคนก็อาจจะถามคำถามที่ตัวเองสงสัยขึ้นมา ซึ่งเพื่อนที่เป็นคนติวอาจจะตอบไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่ช่วยตอบให้ได้

หรือการเรียนการสอนในห้องเรียนสมัยใหม่ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูอาจจะไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่เอาแต่เขียนกระดานหรือปิ้งแผ่นใส แต่ครูเป็นเสมือน Facilitator ที่คอยกระตุ้นให้นักเรียนถ่ายทอดความรู้ของตัวเองให้เพื่อนๆ ฟัง โดยครูเป็นแค่คนคอยไกด์ให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันความรู้แบบหลายทางก็ยังจำกัดอยู่แค่ในวงแคบๆ เท่านั้น ภายในกลุ่มเพื่อนไม่กี่คนหรือในห้องเรียนเล็กๆ เพราะถ้าคนเยอะขึ้นเมื่อไรก็จะเกิดความโกลาหลขึ้นทันที ต่างคนต่างพูดจนไม่รู้จะฟังใคร หรือมีเวลาจำกัดที่ให้พูดกันทุกคนไม่ได้ ไม่งั้นไม่จบเรื่อง

แต่พอมาถึงยุคของ Web 2.0 ยุคที่ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างเนื้อหาได้ ยุคที่คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงมากและมีต้นทุนต่อหน่วยแทบจะเป็นศูนย์ ช่วยให้ข้อจำกัดด้านขนาดของการแบ่งปันความรู้แบบหลายทางลดลง ถ้าคุณอยากแบ่งปันความรู้ คุณก็แค่เขียนบล็อก และเปิดให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ ซึ่งก็จะช่วยเสริมความรู้ที่คุณนำเสนอให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

แต่นอกจากบล็อกแล้วก็ยังมีรูปแบบการแบ่งปันความรู้แบบหลายทางอื่นๆ อีก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ 2 แห่งที่มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ Wikipedia และ Yahoo! Answers

Wikipedia
Wikipedia เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ครูในยุคปัจจุบันไม่สามารถสั่งการบ้านแบบครูในยุคก่อน ที่ให้นักเรียนไปค้นหนังสือในห้องสมุดแล้วเขียนเป็นรายงานมาส่ง เพราะนักเรียนสมัยนี้เข้า Wikipedia แล้วก็อปแปะมาทั้งดุ้น

Wikipedia เป็นเครื่องมือที่ดีมากสำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตาม เพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ดเข้าไปก็มีข้อมูลสรุปและรายละเอียดให้อ่านอย่างครบถ้วน แถมมีลิงก์อ้างอิงที่ให้ตามไปอ่านต่อได้อีก

การที่ Wikipedia มีข้อมูลจำนวนมหาศาลได้นั้นเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนทั่วโลกที่ช่วยกันเขียนเนื้อหาใส่เข้าไป ใครถนัดเรื่องอะไรก็เขียนเรื่องนั้น มนุษย์เราทุกคนอย่างน้อยก็ต้องมีสักเรื่องที่ถนัดและสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้อยู่บ้าง



จุดเด่นของ Wikipedia อยู่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลที่คนอื่นเขียนไว้ได้หมด โดยที่ระบบของ Wikipedia จะเก็บข้อมูลไว้เป็นเวอร์ชั่น ถ้าเกิดมีมือดีมาลบข้อมูลทิ้งไปก็สามารถนำเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่จะถูกลบกลับคืนมาได้ หรือถ้าใครใส่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไป คนที่เข้ามาเห็นก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Wikipedia ที่ทำให้ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะถูกต้อง พอจะเชื่อถือได้

แต่ Wikipedia ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ นั่นก็คือความถูกต้องและเชื่อถือได้จะเกิดกับข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงเท่านั้น เพราะจะมีคนคอยเข้ามาอ่านอยู่ตลอดเวลา แต่กับข้อมูลที่ได้รับความนิยมน้อย โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในส่วนหาง The Long Tail เมื่อไม่ค่อยมีคนเข้ามาดู ถ้าใครใส่ข้อมูลผิดๆ ลงไป มันก็จะผิดอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข

จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของแรงจูงใจในการเขียนข้อมูลให้กับ Wikipedia เนื่องจากผู้ที่เขียนข้อมูลลง Wikipedia นั้นไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้เงินค่าเขียน ไม่ได้ชื่อเสียง แถมพอเขียนไปแล้ว วันดีคืนดีดันมีคนมาแก้ไขหมดเลย ทำให้รู้สึกว่าที่เขียนไปนี่เสียเวลาจริงๆ พาลทำให้ไม่อยากเขียนซะงั้น ขอเป็นผู้อ่านอย่างเดียวดีกว่า

ด้วยจุดอ่อนเหล่านี้ ทำให้เว็บหลายแห่งที่นำหลักการรวมถึงซอฟต์แวร์แบบ Wikipedia ไปใช้ในเว็บตัวเอง มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีคนเข้ามาเขียนจนทำให้เจ้าของเว็บต้องเขียนเอง อาจจะเรียกได้ว่าเว็บที่ใช้แนวคิดนี้ได้ประสบความสำเร็จมีเพียงแห่งเดียวในโลก นั่นคือ Wikipedia.org

Yahoo! Answers

Yahoo! Answers หรือชื่อในภาษาไทยคือ Yahoo! รู้รอบ บริการจาก Yahoo! ที่ออกแนวเว็บบอร์ด คือให้คนตั้งคำถามได้ และเปิดให้คนอื่นมาตอบคำถาม ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่พยายามหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ แล้วไม่พบ หรือไม่ชอบการค้นหาคำตอบด้วยตัวเองแต่ยินดีรอให้คนอื่นมาตอบให้

สิ่งที่ทำให้ Yahoo! รู้รอบ แตกต่างออกไปจากเว็บบอร์ดทั่วๆ ไปก็คือระบบการให้คะแนน โดยถ้าใครที่ตอบคำถามได้ดีจนเจ้าของคำถามอ่านแล้วพอใจกับคำตอบ เจ้าของคำถามจะเลือกคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ผู้ตอบคำถามก็จะได้รับคะแนนที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง



ด้วยกลไกแบบนี้ ทำให้เกิดวัฏจักรการช่วยเหลือกันขึ้นมา ทุกคนจะพยายามตอบคำถามให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้รับคะแนนจากเจ้าของคำถาม เจ้าของคำถามก็พอใจที่ได้รับคำตอบที่ตัวเองต้องการ เกิดเป็นกระบวนการแบ่งปันความรู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะทุกคนที่อยู่ในชุมชนต่างก็มีตัวตนกันหมด

นอกจากนี้ กลไกคะแนนยังช่วยให้คนอื่นๆ เข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกับคำตอบทั้งหมด เช่น ถ้ามีคนตั้งคำถามเรื่องปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีหลายคนเข้ามาช่วยกันให้คำตอบ เจ้าของคำถามก็จะทดลองแก้ปัญหาโดยอาศัยคำตอบต่างๆ จนเมื่อเจอคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาได้ เขาก็จะเลือกคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ต่อมาเมื่อมีคนอื่นที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันเข้ามาค้นหาคำตอบ เขาก็จะใช้คำตอบที่ดีที่สุดช่วยแก้ปัญหาของเขาได้ทันที ซึ่งกลไกนี้คล้ายๆ กับ Pantip.com ในบริการ Technical Xchange ที่ให้คนร่วมกันโหวต It's work! ให้แก่คำตอบที่ใช้การได้จริง

แต่จุดอ่อนของ Yahoo! รู้รอบ ก็คือมีความเป็นไปได้ที่จะมีการโกงคะแนน หรือหากลวิธีที่จะเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง ซึ่งทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบคะแนนลดลง ถ้าคนโกงมีคะแนนมากกว่าคนที่ตั้งใจตอบคำถาม ระบบคะแนนก็จะล้มเหลวทันที

ปัจจุบันก็จะมี Social Network 3 ค่าย ที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมสูงสุดในการแชร์ข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว ความรู้ต่างๆ ก็คือ Facebook, Google Plus และ Twitter

สรุป
จากการวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแบ่งปันความรู้ทุกแบบต่างก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เหมือนกันคือ จะทำอย่างไรให้ข้อมูลถูกต้องมากที่สุด? จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดได้ทันทีโดยไม่เสียเวลาไปกับข้อมูลที่ผิด? และจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้มีผู้เขียนเข้ามาแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา?

ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการแบ่งปันความรู้ในรูปแบบอื่นที่สามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ ซึ่งวันนั้นมนุษยชาติเราก็จะมีระบบอับดุลอัจฉริยะที่สามารถตอบได้ทุกคำถามจริงๆ

ขอบคุณที่มา - http://macroart.net/2008/08/knowledge-sharing-wikipedia-yahoo-answers-google-knol/

http://www.akcsys.org/master/index.php?topic=621.0


หมายเลขบันทึก: 583695เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2015 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2015 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท