อภิชญา วรพันธ์ : ปัญหาภายใน - ปัญหาภายนอก


เมื่อประมาณปี 46 จากผลการตรวจสุขภาพของพี่แป๊ะ ทำให้ทราบว่า เริ่มเป็นเบาหวาน และในช่วงเดือน ส.ค. 53 ตรวจพบว่าการทำงานของไตเริ่มมีปัญหา คือ ค่า Creatinine เกินมาตรฐาน ปกติจะอยู่ที่ 0.5-1.5 แต่ของพี่แป๊ะ 1.6 หลังจากนั้นก็ขึ้นมาเรื่อยๆ และจากการทำ Biopsy เมื่อ ม.ค.55 ผลการตรวจคือ ไตมีความเสื่อมจากโรคเบาหวานไตส่วนที่ดี ส่วนที่ใช้การมีราว 15 %

และพอช่วง ก.ย.55 Creatinine ของพี่แป๊ะวิ่งทะลุ 10.0 และ BUN ก็วิ่งทะลุ 100 โดยที่ค่าปกติของ BUNควรอยู่ที่ 8 – 20 นั้น ก็แสดงว่าของเสียในร่างกายมีมาก เราก็ได้เตรียมรับสถานการณ์ที่จะตามมาคือ การฟอกไต (การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม Hemodialysis) โดยได้ไปเตรียมต่อเส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดง เมื่อ 3 ต.ค. 55 แต่พี่แป๊ะก็ยังไม่ได้ไปฟอกไตทันที พยายามยืดเวลาการฟอกไตมาเรื่อยๆ โดยการควบคุมประเภทของอาหาร ซึ่งก็ชะลอได้ช่วงระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องฟอกไตเมื่อ 25 ธ.ค.56 ซึ่งเราก็ทราบดีว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงแรกจะฟอกไต 2 ครั้ง/สัปดาห์ แต่พอเริ่มปีที่ 2 จะเพิ่มเป็น 3 ครั้ง/สัปดาห์ เนื่องจากพี่แป๊ะตัวใหญ่ของเสียมาก การคุมน้ำบางครั้งยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องเพิ่มจำนวนครั้งเพื่อให้สามารถดึงของเสียออกจากร่างกายได้มากขึ้น ซึ่งวันที่ไปฟอกไตนั้น ถ้าวันทำงานดิฉันจะไปที่โรงพยาบาลด้วย อยู่จนเริ่มฟอกไตแล้วจึงไปทำงานต่อ ส่วนวันหยุดดิฉันจะพาลูกไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อให้ลูกได้รับทราบวิถีชีวิตของคุณพ่อ

เมื่อช่วง 11-16 พ.ย.57 และ 1-11 ธ.ค.57 พี่แป๊ะต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ห้อง ICU ในช่วงแรก เพราะเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลราว 10 แผลใหญ่ๆ และลึกด้วย สำหรับการเข้าโรงพยาบาลครั้งที่ 2 นั้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 4 วัน เพราะพี่แป๊ะเลือดออกเยอะมาก ทั้งในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด Hct ลดลงเหลือ 13 ความดันอยู่ที่ราว 70/45 อีกทั้งเลือดของพี่แป๊ะเป็นกรุ๊ปหายาก (A2) การแข็งตัวของเลือดช้า และมีโรคประจำตัวคือโรคไตเสื่อม เฉพาะครั้งที่ 2 ให้เลือดราว 18 ถุง เกล็ดเลือด 13 ถึง พลาสม่า 10 ถุง ในช่วง 1 สัปดาห์ ต้องส่องกล้องถึง 3 ครั้ง เพื่อจัดการจุดที่เลือดออก 4 จุด กว่าจะทำเลือดจะหยุดได้

การดูแลคนป่วยที่เป็นผู้ใหญ่นั้น ดิฉันมองว่ามีความยากกว่าดูแลเด็กป่วยเป็นอย่างมาก ดิฉันดูแลลูกที่เป็นมะเร็งยังง่ายกว่าการดูแลสามีเสียอีก และเมื่อบวกกับผู้ให้ความเห็นรอบตัว ก็ยิ่งต้องจัดการ "ตัวเรา" เองมากขึ้น

การเป็นโรคไตนั้น ก็ต้องระวังเรื่องการกินอาหาร ชนิดของอาหารที่ไม่ควรกิน ดิฉันในฐานะภรรยาจึงถูกมองว่า "ไม่ดูแล" เรื่องอาหารให้เหมาะสม แต่ความที่พี่แป๊ะเป็นคนชอบกินอาหารรสจัด เค็มจัด พอจะกินอาหารที่ทำรสชาติกลางๆ ก็จะเรียกหาน้ำปลา หรือแม็กกี้ ฯ ตามความเคยชิน เมื่อดิฉันทักท้วง พี่แป๊ะก็หงุดหงิดเหมือนกัน บางครั้งก็ยอมลด บางครั้งก็ไม่ยอม แต่ถ้าเป็นลูกซึ่งเป็นเด็ก ดิฉันโน้มน้าวได้ง่ายกว่า และลูกก็ยอมโดยดีด้วย

ผู้ที่มองว่าดิฉัน "ไม่ดูแล" สามีเรื่องอาหารการกินนั้น คงลืมไปว่า ดิฉันไม่สามารถมัดปากพี่แป๊ะได้ เราไม่ได้ผูกติดกันตลอด เวลาที่ต่างคนต่างไปทำงานก็ไม่สามารถไปดูได้ เมื่ออยู่ต่อหน้า หากดิฉันทักท้วงแล้ว แต่พี่แป๊ะไม่ยอม ดิฉันก็คงไม่ไปนั่งทะเลาะกับพี่แป๊ะแทบทุกครั้งเวลาจะกินอาหาร โดยเฉพาะเมื่อมีลูกอยู่ด้วย บางเรื่องถ้าเจ้าตัวไม่ดูแลตัวเอง เราก็ทำอะไรไม่ได้ค่ะ

ช่วงที่พี่แป๊ะจะต้องฟอกไตนั้น ก็อาจมีหลายท่านที่ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าเราน่าจะใช้แพทย์ทางเลือกมากกว่า น่าจะลองยาสมุนไพรให้จริงจัง เพราะถ้าฟอกไตแล้วก็ต้องทำตลอดไป ที่สำคัญคือมองว่า การที่พี่แป๊ะเลือกที่ฟอกไต ก็เพราะเชื่อดิฉัน เชื่อภรรยา

หากใครเข้าใจว่าพี่แป๊ะทำสิ่งใดเพราะเชื่อดิฉัน อยากจะบอกว่า คนที่พูดไม่รู้จักพี่แป๊ะเลย พี่แป๊ะเป็นคนหัวดื้อนะคะ ไม่เชื่อใครง่ายๆ ถ้าจะมองว่าเชื่อ ก็เพราะจะเป็นคนไม่เถียงเท่านั้น แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็จะไม่ทำ แต่ถ้าอยากทำ ถึงใครไม่อยากให้ทำ ก็จะทำ

ช่วงที่พี่แป๊ะอยู่โรงพยาบาล บางครั้งดิฉันให้ลูก 2 คน อยู่กับคุณพ่อที่โรงพยาบาล โดยที่ดิฉันไปซื้อของที่จะใช้ในบ้าน ผู้ใหญ่บางท่านที่ไปเยี่ยมก็มองว่า ดิฉัน "ไม่ดูแล" สามี หรืออาจมองว่าทำไมถึงเอาลูกไปอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้งที่ที่บ้านมีแม่บ้านและพี่เลี้ยง

ตามปกติเราจะจัดการเรื่องต่างๆ ทางบ้านกันเอง ไม่อยากรบกวนใคร ถ้าไม่ไปซื้อของที่จะใช้ที่บ้าน จะให้ใครไปซื้อให้ล่ะคะ ส่วนการเอาลูกไปอยู่กับคุณพ่อ ดิฉันมองว่าเป็นการฝึกอย่างหนึ่ง ลูกก็ควรทราบความเป็นไปของพ่อแม่ รับทราบปัญหาของพ่อแม่ตามสมควร อย่าให้ลูกได้รับแต่ความสบายโดยไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักความลำบากอะไรเลย การจัดการสิ่งต่างๆ ในครอบครัวของแต่ละคนนั้น บางทีคนนอกอาจไม่เข้าใจ เพราะบริบทในการใช้ชีวิตก็อาจต่างกัน และมักมองและวิจารณ์จากที่เห็นเท่านั้น

ความยากของการดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่นั้น นอกจากปัญหาจากคนรอบตัวแล้ว ก็ยังมีปัญหาจากตัวผู้ป่วยเองด้วย เพราะผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จะมีความคิดเป็นของตนเอง บางครั้งก็อยากทำตามใจตนเองถึงเราจะคุยกันด้วยเหตุผล ก็มิได้ฟังเสมอไป ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีปัญหาจากทั้งภายใน (บ้าน) และภายนอก (บ้าน)

หมายเลขบันทึก: 583328เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2015 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2015 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จะ มีความคิดเป็นของตนเอง บางครั้งก็อยากทำตามใจตนเองถึงเราจะคุยกันด้วยเหตุผล ก็มิได้ฟังเสมอไป ..."

ดังนั้น คนดูแลที่เป็นลูกหลานจึงเหินห่าง จึงต้องจ้างพยาบาลมาดูแลแทน

ดิฉันอ่านบทความนี้แล้วถึงกับอึ้งไปเลยค่ะ เหตุใดทุกข์จึงมากระจุกอยู่ตรงนี้ คุณอภิชญาเป็นแม่และภรรยาที่เข้มแข็งมากเลยนะคะ ไม่พบคำโอญครวญใดๆ เล็ดลอดมาให้เศ้ราใจเลยสักคำเดียว

จะเป็นกำลังใจให้นะคะ .. โดยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ดื้อกับลูกและสามี(โดยไม่จำเป็น) จะทานยาทุกวัน ทานอาหาร 'มื้อหลัก' ให้ครบทุกมื้อ และหลีกเลี่ยงอาหาร 'มื้อรอง' ที่ไม่จำเป็น (ถ้าอดใจได้) เพราะไม่อยากสร้างปัญหาภายนอกเพิ่มเข้ามาอีก ขอบคุณนะคะ

ขออวยพรให้คุณอภิชญามีความสุขมากขึ้นในปี 2558 ค่ะ

ส.รตนภักดิ์

การหาคนอื่นมาช่วยดูแลแทน (ถ้าสามารถทำได้) ก็อาจช่วยลดการกระทบกระทั่งกัน การไม่พอใจต่อการ ลดความเครียดที่อาจจะต้องเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องช่างมันบ้างคะ ดิฉันคิดว่าเราไม่สามารถจัดการใครได้ทุกอย่าง เพราะเราก็คงไม่ให้ใครมาจัดการเราทุกอย่างเหมือนกันค่ะ ถือว่าบอกแล้ว ได้ทำตามสมควรแล้ว ถ้าอีกฝ่ายไม่รับ ก็ต้องปล่อยค่ะ การจะมานั่งทะเลาะกันทุกมื้ออาหาร ไปๆ มาๆ เค้าก็อาจไม่อยากมานั่งร่วมด้วยมังคะ

ดารนี ชัยอิทธิพร

ทุกอย่างคือการเรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าปัญหา หรือทุกข์ หรืออุปสรรค ให้การเรียนรู้ที่ดีเสมอค่ะ เรามักได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ เพราะเราจะรู้สึกว่าอยู่กันนาน จึงมีเวลาได้ใคร่ครวญ ส่วนความสุขนั้น เพราะเรามักระเริง ยินดีกับความสุข อีกทั้งเราจะรู้สึกว่าวามสุขผ่านไปเร็วมาก เร็วจนจับอะไรไม่ทันเลยค่ะ เราจึงไม่ค่อยได้เรียนรู้จากความสุขเท่าไหร่ค่ะ

... หลีกเลี่ยงอาหาร 'มื้อรอง' ที่ไม่จำเป็น (ถ้าอดใจได้) 5555 เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เอาบ้างได้ค่ะ ไม่ได้คิดว่าต้องงด เพราะยิ่งห้ามจะเหมือนยิ่งอยาก

ขอบคุณมากนะคะสำหรับคำอวยพร และกำลังใจ เพราะมันแสดงถึงมิตรภาพ ส่วนกำลังใจจริงๆ กำลังใจที่ยั่งยืน ดิฉันมองว่า เราต้องพยายามสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองค่ะ ... Great thing always begin from inside.

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ... ที่ทำให้ได้เรียนรู้ แต่อธิบายยากค่ะ
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4856606949633&set=a.1071563205905.9042.1730881497&type=1&theater

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท