สอนอย่างมือชั้นครู :๒๕. สอนให้คิดและเขียนตามศัพท์ในวิชาที่เรียน



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๕ นี้ ตีความจาก Part Five : Making Learning Easier มี ๕ บท ตอนที่ ๒๕ ตีความจากบทที่ 24. Teaching Your Students to Think and Write in Your Discipline

สรุปได้ว่า แต่ละสาขาวิชา มีภาษา ถ้อยคำ และไวยากรณ์ที่จำเพาะ เมื่ออ่านเอกสาร ต้องตระหนักว่าส่วนใดเป็นภาษาวิชาการ และเป็นภาษาวิชาการในสาขาใด ส่วนใดเป็นภาษาของคนธรรมดา นักศึกษาต้องฝึกหัดการเขียน ให้เขียนได้ตรงกลุ่มเป้าหมายผู้อ่าน และตรงตามวัตถุประสงค์ ว่าต้องการให้ผู้อ่านเกิดพฤติกรรมใด

การเขียนเป็นผลของการคิดเสมอ (แต่การคิดไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเขียน) หรือกล่าวได้ว่า การเขียนคือการคิด (writing is thinking) การที่นักศึกษาเขียนได้ไม่ดีในวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นเพราะนักศึกษา ไม่รู้วิธีคิดตามแนวทางของวิชานั้น ซึ่งหมายความว่า แต่ละวิชา มีแบบแผนวิธีคิดไม่เหมือนกัน


วิธีคิดที่เหมือนกันทุกสาขาวิชา

วิธีคิดและวิธีนำเสนอในทุกสาขาวิชาการ มีส่วนที่เหมือนกัน ได้แก่ (๑) มีสมมติฐาน (hypothesis), หรือข้อวินิจฉัย (thesis), หรือคำตอบ (solution), หรือแนวทางแก้ปัญหา (resolution) ที่หนังสือเรียกว่า claim (๒) นำเสนอข้อมูล เพื่อสนับสนุนข้ออ้างเหล่านั้น ที่หนังสือเรียกว่า data (๓) ยืนยันข้ออ้างที่เสนอ ที่หนังสือเรียกว่า warrant

หนังสือเรียกกระบวนการนี้ว่า " claim-data-warrant model" ถือเป็นส่วนร่วมของวิชาการทุกศาสตร์ ทุกวิทยา (วิชา) ที่ในชีวิตจริง ปฏิบัติจริง มีข้อแตกต่างกันมากมาย ได้แก่แตกต่างในวิธีเขียนหรือนำเสนอ แตกต่างในภาษา แตกต่างในการจัดระบบการนำเสนอ ข้อมูล และการยืนยัน แตกต่างในรูปแบบและ มาตรฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และ แตกต่างในวิธียืนยัน

นักศึกษาไม่มีวันเขียนได้ดี หากไม่ได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจรูปแบบ (format) ภาษา (language) และการจัดระบบ (organization) และอื่นๆ ตามแนวทางของแต่ละสาขาวิชา โดยได้รับมอบหมายงานให้ทำ และได้รับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback) เพื่อการเรียนรู้


สอนคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วยโมเดลการคิดตามแนวของแต่ละสาขาวิชา

ความหมายโดยทั่วไปของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เดินตามแนวของการคิดตั้งแต่ระดับล่างไปถึง ระดับสูง รวม ๘ ระดับ ตามข้อเสนอของ Bloom (1956), Perry (1968), และ Wolcott (2006) ตามที่ระบุไว้ ในบันทึกชุด สอนอย่างมือชั้นครูนี้ ตอนที่ ๓ คือ รู้ เข้าใจ ประยุกต์ได้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน พัฒนาวิธีเรียน และเปลี่ยนกระบวนทัศน์

แต่ในรายละเอียดที่จำเพาะของแต่ละสาขาวิชา ระดับของการเรียนรู้นี้ อาจมีความหมายแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง เพราะแต่ละสาขาวิชาต่างก็มี "ภาษา" ของตนเอง (disciplinary dialect) ต่างก็มีวิธีสร้างความรู้ (disciplinary scaffolding) ของตนเอง และต่างก็มีวิธีการหยั่งรู้/รู้คิด (metacognition) ของตนเอง

ความแตกต่างเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาในตัวของมันเอง ตัวปัญหาคืออาจารย์ไม่ตระหนักว่า ตนจะต้องช่วยเหลือให้ศิษย์เข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ โดยเฉพาะความเข้าใจวิธีหยั่งรู้ในสาขาวิชาที่ตนเรียน

หนังสือแนะนำว่า อาจารย์ควรแนะนำให้นักศึกษาเข้าใจโมเดลการคิด และการหยั่งรู้ในสาขาวิชา ตั้งแต่บทเรียนเบื้องต้น และให้แบบฝึกหัดวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณในสาขาวิชา ให้แบบฝึกหัดให้นักศึกษา ได้ฝึกเขียนโดยใช้ภาษา (และไวยากรณ์) ของสาขาวิชา


รูปแบบการคิดแตกต่างกันในแต่ละสาขาวิชา

เขายกตัวอย่างคำว่า compare and contrast ว่ามีความหมายแตกต่างกันมากในต่างสาขาวิชา

  • Ø ในวิชาทางห้องปฏิบัติการ หมายถึงให้ทำรายการ (to list)
  • Ø ในวิชาสังคมศาสตร์ หมายถึงให้อภิปราย (to discuss)
  • Ø ในวิชาวรรณกรรม หมายถึงให้วิเคราะห์ (to analyze)

นักศึกษาวิชาหลักในสาขาหนึ่ง เมื่อไปเรียนวิชารองหรือวิชาเลือกต่างสาขา อาจตีความโจทย์ผิด แบบเข้าป่าไปเลย เพราะเข้าใจศัพท์ และไวยากรณ์ของสาขาวิชาผิด หลงเอาของสาขาวิชาหลักของตนมาใช้


สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิศวกรรมศาสตร์

ความรู้ใน ๓ สาขานี้ เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ (hard fact) นักศึกษาฝึกใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ในการแก้ปัญหา โดยแทบไม่มีช่องให้นักศึกษาใส่ข้อคิดเห็นส่วนตัวลงไป หากจะใช้ข้อสรุปของผู้อื่นมาใช้ ก็ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

แต่ใน ๓ สาขานี้ ก็ยังมีข้อแตกต่าง คือสาขาฟิสิกส์ เน้นตรรกะเชิงนิรนัย (deductive) ส่วนชีววิทยาอยู่ในขั้วตรงกันข้าม คือใช้วิธีคิดเชิงอุปนัย (inductive) และเคมีอยู่ตรงกลางๆ ระหว่างสองขั้วนี้ ส่วนวิศวกรรมศาสตร์นักศึกษาต้องฝึกใช้ความรู้เชิงวิธีการในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจออกแบบในสภาพที่ ข้อมูลไม่ครบถ้วน


สาขาสังคมศาสตร์

สาขาสังคมศาสตร์มาความหลากลายวิธีคิด

  • Ø จิตวิทยา คิดแนววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลอง
  • Ø สังคมศาสตร์โดยทั่วไป ไม่สามารถทำการทดลองได้ ต้องใช้การสำรวจ ใช้ข้อมูลประชากร การสัมภาษณ์ และการสังเกต ซึ่งวิธีการเหล่านี้มีข้อจำกัดด้านความแม่นยำ

ในขณะที่วิทยาศาสตร์มีทฤษฎีหรือแนวคิดที่ถูกต้องอยู่หนึ่งเดียว สังคมศาสตร์ ต้องพึ่งพิงสองหรือสามทฤษฎีเป็นอย่างน้อย โดยต้องใช้ประกอบกัน

  • Ø สังคมวิทยา ใช้ทฤษฎี functionalism และ conflict theory
  • Ø รัฐศาสตร์ ใช้ทฤษฎี pluralism และ elitism โดยเน้นศึกษาโครงสร้างสังคม มากกว่า ปัจเจกบุคคล ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ และปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม

นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าผลการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ไม่ใช่ความจริงแท้แน่นอน ต้องมองเป็น ความน่าจะเป็น ยังไม่แน่นอน และเปิดช่องให้ถกเถียง นักศึกษาต้องได้เข้าความไม่แน่นอนของความรู้ ด้านสังคมศาสตร์ และค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจต่อความรู้ ตามแนวของ Perry ตามระบุใน ตอนที่ ๒


สาขากลุ่มประวัติศาสตร์

เน้นการอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างพัฒนาการที่ขัดแย้ง หรือความขัดแย้งของเอกสารหลักฐาน นักศึกษาจะได้รับการฝึกให้สำรวจหลักฐานที่แน่นแฟ้น แล้วให้คิดจุดยืนของตนในเรื่องที่มีข้อโต้แย้ง โดยมีหลักฐานยืนยันโดยเอกสารที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งฝึกตรวจสอบข้อสรุปของผู้อื่นด้วยท่าทีเน้นจับผิด แยกแยะข้อคิดเห็นที่ผิดพลาด กับที่ถูกต้อง และแยกแยะประเด็นย่อยออกจากประเด็นสำคัญ

ในสาขานี้ เน้นการเขียนเชิงโต้แย้ง และการตีความ เอกสารและหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลหลักฐานความจริง และข้อมูลเชิงบริบท อาจารย์ท่านหนึ่งฝึกนักศึกษาด้านชิ้นงาน "จงบอกเหตุผลมา ๓ ชนิด ที่สอดคล้องกับเรื่องราวนี้ พร้อมกับรายละเอียดที่สนับสนุนแต่ละเหตุผล"

สาขาวิชากลุ่มนี้ได้แก่ ศิลปะ ดนตรี การเต้น ปรัชญา กฎหมาย และประวัติศาสตร์


สาขาวรรณคดี

เน้นการตีความ นักศึกษาได้รับการฝึกฝนให้อ่านวรรณกรรมชิ้นใดชิ้นหนึ่ง และตีความว่ามันสะท้อน ชีวิตจริงอย่างไร โดยใส่คุณค่า มุมมอง หรือจุดยืนของตนเองเข้าไป โดยแต่ละความเห็นต้องมีความน่าเชื่อถือ และความน่าเชื่อถือนั้น เชื่อมโยงกับสาระในเอกสารวรรณกรรมชิ้นนั้น นั่นคือ นักศึกษาต้องฝึกค้นหา พยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในวรรณกรรมชิ้นนั้น

นอกจากนั้น นักศึกษาต้องฝึกวิเคราะห์สไตล์การเขียน เปรียบเทียบสไตล์ของนักเขียนต่างคน และเรียนรู้มาตรฐานของการวิจารณ์วรรณกรรม แก่นของวรรณคดีคือการเขียน ในทำนองเดียวกันกับวิธีวิทยา ทางวิทยาศาสตร์เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์


ฝึกนักศึกษาด้านการคิดและการเขียน

อาจารย์พึงตระหนักในความจริง ๒ ข้อ

  • ๑.นักศึกษาจากต่างสาขาวิชา มีสามัญสำนึก (heuristics) ที่ต่างจากสาขาของอาจารย์ ติดมาในสมอง
  • ๒.อาจารย์พึงทำความเข้าใจกับนักศึกษาบ่อยๆ เรื่องภาษา และไวยากรณ์ จำเพาะ ในสาขาวิชาการที่กำลังเรียน ทำความเข้าใจถ้อยคำที่ใช้ในการให้หลักฐาน เหตุผล และข้อโต้แย้ง ในสาขาที่กำลังเรียน


สอนนักศึกษาให้เขียนเป็น เพื่ออนาคตของตนเอง

ภาษาและไวยากรณ์จำเพาะสาขาวิชา ที่นักศึกษาเรียนในวิชาของอาจารย์ มีประโยชน์เพื่อให้เรียนวิชานี้ เข้าใจ ไม่เข้าใจผิดๆ และเมื่อนักศึกษาจบออกไปทำงาน ก็จะต้องไปเรียนรู้ถ้อยคำ ภาษา และไวยากรณ์ ของที่ทำงาน และของสังคมที่ตนไปทำงาน และดำรงชีวิตอยู่

อาจารย์ควรบอกให้นักศึกษาตระหนักว่า คนที่ทำงานระดับวิชาชีพ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งในสี่ ในการเขียน และหากเป็นไปได้ อาจารย์ควรให้นักศึกษาได้ฝึก "การเขียนทางธุรกิจ" หรืออาจเรียกว่า "การเขียนเชิงเทคนิค" (technical writing) โดยอาจให้เรียนด้วยสถานการณ์จำลอง และอื่นๆ ที่เหมาะสม ตามที่ระบุในตอนที่ ๑๖ ซึ่งจะลงรายละเอียดข้างล่าง


ผู้อ่านกลุ่มจำเพาะ

ก่อนเขียน ต้องถามตัวเองก่อน ว่าเขียนให้ใครอ่าน คนเหล่านั้นมีภาษาและไวยากรณ์อย่างไร สำหรับนำมากำหนดสไตล์การเขียน และภาษาและไวยากรณ์ที่สื่อกับกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด


ภาษาและสไตล์

ตามปกติผู้อ่านเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่คนในสาขาวิชานั้น ผู้เขียนจึงต้องใช้ภาษาที่ไม่เป็นวิชาการ ไม่เป็นทางการ เป็นภาษาง่ายๆ เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิค ใช้คำและประโยคสั้นๆ เข้าถึงประเด็นโดยเร็ว รวมทั้งเข้าถึงใจของผู้อ่าน


เจตจำนง

เจตจำนงที่สำคัญคือ เร้าใจผู้อ่านจนต้องไปทำอะไรบางอย่าง ทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้


หลักฐานเพื่อสนองเจตจำนง

นักศึกษาต้องฝึกเก็บข้อมูลหลักฐานเหล่านั้น จากแหล่งต่างๆ ที่เหมาะสม สำหรับนำมาสนับสนุน ข้อเขียนของตน ให้เกิดผลได้จริงๆ หลักฐานอาจเป็นข้อสังเกตที่เห็นซ้ำๆ การสัมภาษณ์ การสำรวจ เอกสารสิ่งพิมพ์ เป็นต้น


รูปแบบ

ในเอกสารสั้นๆ วัตถุประสงค์และประเด็นหลักต้องอยู่ในประโยคแรกหรือตอนต้น แต่ในเอกสารขนาดยาว อาจใช้รูปแบบที่เป็นทางการ คือ ชื่อเรื่อง บทคัดย่อ ตามด้วยรูปแบบตามมาตรฐาน


ความแม่นยำและกาละ

ไม่ว่าในการเขียนแบบใด ความประณีต ไร้จุดผิดพลาด เป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อความน่าเชื่อถือ นักศึกษาต้องได้รับการฝึกให้ทำงานอย่างประณีต ไร้ที่ติหรือข้อผิดพลาด ต้องตรวจทานแล้วตรวจทานอีก เพราะในโลกแห่งชีวิตจริง ผู้คนไม่อดทนต่อผลงานชุ่ยๆ


โลกแห่งการเขียน ที่เป็นหลายจักรวาล

นักศึกษามักเข้าใจผิด ว่าวิธีคิดและวิธีเขียนที่ดีมีรูปแบบเดียว มาตรฐานเดียว อาจารย์มีหน้าที่พา นักศึกษาก้าวข้ามหุบเหวแห่งความเข้าใจผิดนี้ไปให้ได้ ให้นักศึกษาได้เข้าใจว่าตนจะต้องเรียนรู้ "ภาษา" จำเพาะ ตามสาขาวิชาชีพที่ตนเข้าไปอยู่ และตามสังคมแต่ละกลุ่ม

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัว ว่า เมื่อเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไป ภาษาคิด เขียน และพูด ก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งในบางกรณีคนแก่อย่างผมก็ตามไม่ทัน



วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 583245เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุขสันต์ตลอดปีใหม่และตลอดไปค่ะ.....

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

จากข้อความนี้

อาจารย์พึงตระหนักในความจริง ๒ ข้อ

  • ๑.นักศึกษาจากต่างสาขาวิชา มีสามัญสำนึก (heuristics) ที่ต่างจากสาขาของอาจารย์ ติดมาในสมอง
  • ๒.อาจารย์พึงทำความเข้าใจกับนักศึกษาบ่อยๆ เรื่องภาษา และไวยากรณ์ จำเพาะ ในสาขาวิชาการที่กำลังเรียน ทำความเข้าใจถ้อยคำที่ใช้ในการให้หลักฐาน เหตุผล และข้อโต้แย้ง ในสาขาที่กำลังเรียน

ทำให้ผู้สอน ที่สอนนักศึกษาหลายกลุ่ม หลายสาขาในวิชาเลือก พึงต้องตระหนักจริงๆและถือปฏิบัติ และทำความเข้าใจว่า

การที่นักศึกษาเขียนได้ไม่ดีในวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นเพราะนักศึกษา ไม่รู้วิธีคิดตามแนวทางของวิชานั้น ซึ่งหมายความว่า แต่ละวิชา มีแบบแผนวิธีคิดไม่เหมือนกัน....

ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท