​สอนอย่างมือชั้นครู : ๓. ออกแบบรายวิชา โดยเอาผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นหลัก


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๓ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๓ ตีความจากบทที่ 2. Outcome-Centered Course Design

          นี่คือปฐมบทของการจัดการเรียนรู้โดยใช้นักศึกษาเป็นฐาน หรือการทำให้นักศึกษาเป็นเจ้าของ กระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งต้องทำให้การสอนกับการเรียน เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน โดยเน้นให้ นักศึกษาเป็นผู้ลงมือกระทำเพื่อแสดงว่าตนได้เรียนรู้ ตัวอย่างของการกระทำได้แก่ เขียน, อภิปราย, แสดง, เขียนแผ่นภาพ, ลงมือทดลองหรือสาธิต, นำเสนอด้วยวาจา, สร้างเว็บเพจ, สอนผู้อื่น, เป็นต้น


วิธีเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้

          เขียนจากมุมของนักศึกษา ว่านักศึกษาจะต้องทำอะไรได้บ้าง เมื่อเรียนรายวิชานั้นจบ หรือเมื่อเรียน ไปได้ระยะหนึ่ง และเพื่อให้นักศึกษาบรรลุเป้าหมายนั้น นักศึกษาต้องทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง Linda Nielsen ให้ตัวอย่างข้อเขียน เพื่อแสดงชัดเจนว่า ผู้ทำให้บรรลุผลลัพธ์นั้นคือตัวนักศึกษาเอง ดังต่อไปนี้ “นักศึกษาอาจมีระดับสมรรถนะแตกต่างกันในความสามารถต่อไปนี้ ท่านจะเรียนรู้และมีความสามารถเหล่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อท่านทำตามข้อกำหนดของรายวิชา เข้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเอาใจใส่ และตรงเวลา และปฏิบัติตนตามความคาดหวังในฐานะนักศึกษา”

          ก่อนจะเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ อาจารย์ต้องใช้หลักของซุนวูเสียก่อน คือ “รู้เขา” และ “เขา” ในที่นี้คือ ตัวรายวิชา และตัวนักศึกษา

          อาจารย์ผู้สอนต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของรายวิชาที่ตนจะสอน ว่ามีเป้าหมายอะไร มีความหมายต่อชีวิตในอนาคตของนักศึกษาอย่างไร ฯลฯ

          พร้อมๆ กัน อาจารย์ต้องทำความรู้จักนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชานั้น ตามที่กล่าวแล้วในตอนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำความเข้าใจว่านักศึกษามาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ด้วยความมุ่งหวังอะไร

          “เขา” ที่สาม คือตัวช่วยทั้งหลายที่จะช่วยให้การเรียนและการสอนสะดวก ซึ่งจะได้มาโดยง่ายหากถาม อาจารย์ที่เคยสอนวิชานั้นมาแล้ว ว่า ตัวช่วยอะไรบ้าง (เช่น หนังสือ วิธีการสอน กิจกรรม การบ้าน ฯลฯ) ที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี อะไรบ้างที่ใช้ไม่ได้ผล

          หากข้อมูลยังไม่ค่อยชัดเจน ควรเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ และการออกแบบการเรียนรู้ ไว้อย่างกว้างๆ ให้มีความยืดหยุ่นปรับปรุงได้ง่าย แล้วค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ตรง

          ข้อเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้มี ๓ ส่วน ได้แก่

          ส่วนที่ ๑ ระบุผลลัพธ์ที่วัดได้ โดยต้องเขียนเป็นคำกริยา ที่แสดงการกระทำ เช่น นิยาม จัดหมวดหมู่ สร้าง คำนวณ อย่าใช้คำที่แสดงสภาวะภายในตัวคนที่สังเกตไม่ได้ เช่น รู้ เรียนรู้ เข้าใจ ตระหนัก ชื่นชม

          ส่วนที่ ๒ ระบุเงื่อนไขของผลลัพธ์นั้น ว่าสามารถทำได้ในสถานการณ์ใด โดยวิธีใด เช่นโดยการเขียน โดยการนำเสนอด้วยวาจา โดยการนำเสนอเป็นแผ่นภาพ โดยการนำเสนอเป็นมัลติมีเดีย เป็นต้น

          ส่วนที่ ๓ เกณฑ์และมาตรฐานในการวัดผลลัพธ์ดังกล่าว เพื่อให้รู้ว่า ผลลัพธ์แค่ไหนจะได้เกรด เอ, บี, ซี, หรือตก


ชนิดของผลลัพธ์การเรียนรู้

          มี ๕ ชนิด ได้แก่

  • ๑.ด้านการคิด หรือพุทธิพิสัย (cognitive) ตัวอย่างเช่น ความรู้และความจำ; ความเข้าใจและการแปลความ; การประยุกต์ใช้, การวิเคราะห์, การสังเคราะห์ และการสร้าง; การประเมินผล
  • ๒.ด้านทักษะพิสัย (psychomotor) สามารถลงมือทำได้ อาจต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ เช่น ปฏิบัติการทางการแพทย์และ การพยาบาล; เทคนิคทางห้องปฏิบัติการ; ปฏิบัติการด้านสัตว์ทดลอง; การประกอบ ทดสอบ ใช้งาน ซ่อม เครื่องยนต์หรือยานยนต์; การร้องเพลง; การเต้นรำ; การเล่นเครื่องดนตรี; การใช้เสียง และหน้าตาท่าทางในการพูดในที่สาธารณะ
  • ๓.ด้านจิตพิสัย (affective) เช่น การมีท่าทีที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วย และให้ความเห็นอกเห็นใจ; การแสดงความน่าเชื่อถือและความเอาใจใส่ต่อลูกความ ลูกค้า ผู้ใต้บังคับบัญชา และนักศึกษา; แสดงความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่ต่าง; แสดงอารมณ์ที่มั่นคง มั่นใจ ผ่อนคลาย และตอบสนองต่อผู้ฟัง ในการพูดในที่สาธารณะ
  • ๔.ด้านจริยธรรม (ethical) แสดงการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น ต่อสัตว์ หรือต่อสภาวะแวดล้อม เช่น การตัดสินใจของแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับการจัดลำดับ ก่อนหลังในการดูแลผู้ป่วย การยกเลิกการดูแล หรือการยืดเวลาตาย; การตัดสินใจของทนายความ ว่าจะดูแลผลประโยชน์ของลูกความอย่างไร; การตัดสินใจทางการบริหาร ที่มีข้อได้เสียด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และด้านนิติธรรม
  • ๕.ด้านสังคม (social) แสดงออกเป็นพฤติกรรมต่อคนอื่น เช่น ความร่วมมือและเคารพผู้อื่นเมื่อทำงานเป็นทีม; การแสดงภาวะผู้นำในยามจำเป็น; การแสดงความมุ่งมั่น (ไม่ใช่ก้าวร้าว เมินเฉย หรือดื้อแพ่ง) ในยามมีความขัดแย้ง; มีทักษะในการต่อรองหรือเจรจา

วิธีจำแนกผลลัพธ์ของการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง เสนอโดย Fink ว่ามี ๖ ชนิด

  • ๑.ความรู้พื้นฐาน (Foundational Knowledge) นักศึกษาสามารถทบทวนความจำและแสดงความเข้าใจแนวคิด และสารสนเทศ เรื่องต่างๆ เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ระดับต่อๆ ไป
  • ๒.การประยุกต์ (Application) นักศึกษาสามารถคิดอย่างซับซ้อน บูรณาการการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ และคิดสู่การปฏิบัติ; พัฒนาทักษะที่สำคัญ; และเรียนรู้วิธีจัดการโครงการที่ซับซ้อน ทำให้สมารถเรียนรู้อย่างอื่นได้ต่อไปอีก
  • ๓.บูรณาการ (Integration) นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยง ระหว่างแนวคิด สาขาวิชา บุคคล และความเป็นจริงในชีวิตของตน
  • ๔.มิติของความเป็นมนุษย์ (Human dimension) นักศึกษารู้จักตนเอง และรู้จักผู้อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เข้าใจมิติของความเป็นมนุษย์ต่อการเรียนรู้
  • ๕.เอาใจใส่ (Caring) นักศึกษาเรียนรู้ด้านความสนใจ ความรู้สึก และคุณค่า ในสิ่งที่ตนกำลังเรียน และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก
  • ๖.เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (Learning how to learn) นักศึกษาเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และกระบวนการเรียนรู้โดยทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีสติ อย่างได้ผล และอย่างมีประสิทธภาพ


ชนิดของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย

          การเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Outcomes) เน้นกันมากที่สุดในมหาวิทยาลัย จึงลงรายละเอียดด้านนี้ โดยถือตาม Bloom’s Taxonomy ดังนี้

  • จำได้ (มีความรู้) (Remembering) (ต่ำสุด)
  • เข้าใจ ( Understanding)
  • ประยุกต์ได้ (Applying)
  • วิเคราะห์ได้ (Analyzing)
  • ประเมินได้ (Evaluating)
  • สร้างสรรค์ได้ (Creating / Synthesizing) (สูงสุด)

          ในตารางที่ ๒.๑ ของหนังสือ ได้ให้คำกริยาที่แสดงขีดความสามารถในผลลัพธ์การเรียนรู้ของแต่ละระดับ เช่นในระดับที่ ๖ สร้างสรรค์/สังเคราะห์ได้ หนังสือให้คำกริยาไว้ดังต่อไปนี้ adapt, arrange, assemble, build, change, collect, compose, conclude, construct, create, design, develop, discover, estimate, extend, formulate, forward, generalize, imagine, infer, integrate, invent, make up, manage, modify, originate, organize, plan, post, predict, prepare, produce, propose, set up, suppose, theorize

          ในตารางที่ ๒.๒ ได้ให้ตัวอย่างวลีของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยแต่ละระดับไว้ ตัวอย่างในระดับ ประเมินได้ เช่น “ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อสรุปที่ได้จากข้อมูลและการวิเคราะห์ทางสถิติ” “ให้คำแนะนำการลงทุนในหุ้น ตามข้อมูลผลประกอบการของบริษัท และมูลค่าคาดการณ์”

          ในภาษาทางการศึกษาสมัยเก่า ตอนที่ผมเริ่มเป็นอาจารย์เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ยังไม่มีคำว่า “ผลลัพธ์ของการเรียนรู้” (Learning Outcome) แต่ใช้คำว่า “วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้” (Learning Objective) แทน


ออกแบบกระบวนการเรียนรู้

          การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใช้หลักการ “ออกแบบถอยหลัง” (backward design) จากผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (ที่กำหนด) ที่อาจเรียกว่า “เป้าหมายปลายทาง” ย้อนกลับมาที่ “เป้าหมายรายทาง” และย้อนกลับมาที่จุดปัจจุบัน หรือพื้นความรู้เดิม ของนักศึกษา

          เป้าหมายรายทางต้องเริ่มจากง่ายไปหายาก คือนักศึกษาต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐาน หรือง่ายก่อน แล้วจึงค่อยๆ บรรลุเป้าหมายรายทางที่ยากขึ้นๆ และต้องใช้เป้าหมายแรกๆ เป็นตัวเชื่อม ในหนังสือ เขายกตัวอย่างการเขียนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “มีความสามารถในการเขียนข้อเสนอ โครงการวิจัย” ขั้นตอนผลลัพธ์การเรียนรู้ (เป้าหมายรายทาง) เรื่องนี้ เรียงจากหน้าไปหลัง ควรเป็นดังนี้

  • กำหนดกรอบปัญหาการวิจัย หรือกำหนดสมมติฐาน
  • แสดงเหตุผลว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญ
  • ดำเนินการทบทวนวรรณกรรม (literature review) และเขียนรายงาน
  • ออกแบบการวิจัยที่เหมาะสม
  • ระบุวิธีเก็บข้อมูล
  • ระบุวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
  • อธิบายความสำคัญของผลลัพธ์ที่ได้
  • ระบุงบประมาณที่ต้องการ

          นี่คือตัวอย่างโครงเป้าหมายรายทาง สำหรับใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ของรายวิชา

          อาจารย์ต้องไม่ลืมว่า การเรียนรู้ที่แท้ คือการฝึกทักษะสำหรับนำไปใช้งานได้ในสภาพจริงของชีวิต ไม่ใช่การ “มีความรู้” แบบจำได้หมายรู้ ซึ่งเป็นเพียงขั้นต้นของผลลัพธ์การเรียนรู้ ดังนั้น ในขั้นตอนของ การเรียนรู้ นักศึกษาต้องค่อยๆ เข้าใจมายาของความรู้ ว่าความรู้ที่คงที่ตายตัวไม่มีอยู่จริง เพราะสถานการณ์จริง มีความซับซ้อนมีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย ความรู้ที่นำมาใช้จริงและได้ผลย่อมต้องซับซ้อนตามไปด้วย


กรอบทฤษฎีสำหรับใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของรายวิชา

          หนังสือเล่มนี้เสนอว่า มีทฤษฎีอยู่ ๓ ชุด ที่จะช่วยเป็นหลักหรือกรอบยึด ในการออกแบบกระบวนการ เรียนรู้ คือ

  • 1.ทฤษฎี Taxonomy of Cognitive Operation ของ Bloom และที่ปรับปรุงโดย Anderson & Krathwohl
  • 2.ทฤษฎี Cognitive Development ของ Perry และทฤษฎีของ Baxter – Magolda
  • 3.ทฤษฎี Categories of Learning ของ Fink

          สองทฤษฎีแรกเน้นพัฒนาการเป็นขั้นตอน จากง่ายไปยาก (hierarchical) แต่ทฤษฎีของ Fink แตกต่างออกไป ไม่เน้นลำดับยากง่าย แต่เน้นการสั่งสม (cumulative) และปฏิสัมพันธ์ (interactive)


ให้นักศึกษาประจักษ์กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง

          นักศึกษายุคปัจจุบันไม่ถนัดการอ่านตัวหนังสือ แต่ถนัดการอ่านภาพ อาจารย์จึงควรเขียนแผ่นภาพ “แผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้” (Outcome Map) แจกให้นักศึกษาใช้ตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเอง


จัดการรายวิชาโดยยึดผลลัพธ์เป็นศูนย์กลาง

          แผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้เปรียบเสมือนโครงหรือโครงกระดูก อาจารย์ต้องใส่เส้นเอ็นยึดโยงกระดูก และใส่กล้ามเนื้อ เพื่อให้ได้ข้อกำหนดรายวิชาที่ครบถ้วน โดยยึดหลักเขียนแบบถอยหลัง จากผลลัพธ์สุดท้าย หรือปลายทาง มาสู่ผลลัพธ์รายทาง สู่ต้นทาง

          หลักการที่สำคัญคือ สอนน้อยเกินไป ดีกว่าสอนมากเกินไป ต้องระมัดระวังว่าอาจารย์มักเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และมีจุดอ่อนคือรู้มาก และกลัวศิษย์จะไม่รู้ จึงใส่เนื้อหาที่จะสอนมากเกินไป ผลสุดท้ายคือ ศิษย์เรียนรู้น้อย และไม่ลึก

          ตำรา เอกสาร เว็บไซต์ สำหรับให้นักศึกษาอ่าน ควรจำกัดเท่าที่จำเป็น หากมีตำราประจำรายวิชา ที่เหมาะสม ๑ เล่ม จะดีที่สุด ไม่ควรให้นักศึกษาต้องซื้อตำราเกินรายวิชาละ ๑ เล่ม พึงตระหนักว่า การมอบหมายให้นักศึกษาอ่าน กับการอ่านของนักศึกษาเป็นคนละสิ่ง หากมอบหมายแล้วนักศึกษาไม่อ่าน มีคำแนะนำในบทที่ ๒๓ ของหนังสือ

          กิจกรรมในชั้นเรียน การบ้าน และการทดสอบ ต้องดำเนินการตามแผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เขียนไว้ เพื่อให้กระบวนการการเรียนรู้ดำเนินการตรงเป้า ไม่เปะปะ อาจารย์ควรใช้แผนผังผลลัพธ์ที่เขียนไว้ ช่วยนำทาง การวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ ลงไปถึงรายชั่วโมง

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 573636เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 03:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท