สอนอย่างมือชั้นครู :๒๔. วิธีจัดการให้นักศึกษาอ่านบทเรียนก่อนมาเข้าชั้นเรียน



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๔ นี้ ตีความจาก Part Five : Making Learning Easier มี ๕ บท ตอนที่ ๒๔ ตีความจากบทที่ 23. Getting Students to Do the Readings

สรุปได้ว่า วิธีการที่เสนอในบทนี้ ช่วยให้อาจารย์มีวิธีทำให้นักศึกษาเอาใจใส่การเรียน (student engagement) รวมทั้งให้นักศึกษาเรียนรู้สาระได้อย่างลึกและเชื่อมโยง คือบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับสูง และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้ไปในตัว

พฤติกรรมของนักศึกษายุคปัจจุบันน่าจะเป็นสากล คือน้อยคนที่จะเตรียมพร้อมมาเข้าชั้นเรียน ซึ่งหมายความว่าต้องอ่านบทเรียนของคาบเรียนนั้นมาก่อน เพื่อจะได้มาทำกิจกรรมในชั้นเรียน


ทำไมนักศึกษาไม่อ่านมาก่อน

สรุปได้ว่า เหตุที่นักศึกษาไม่อ่านเอกสารประกอบการเรียนก่อนเข้าชั้นเรียน มีสาเหตุ ๓ ประการ (๑) ไม่ชอบอ่าน เพราะขาดทักษะในการอ่าน (๒) ไม่คิดว่าตนเองจะต้องอ่าน คือไม่เห็นความจำเป็น หรือไม่เห็นคุณค่า (๓) ไม่มีเงื่อนไขให้นักศึกษาต้องอ่านมาก่อน

ในหนังสือให้รายละเอียดผลการวิจัย เรื่องการอ่านของนักศึกษาอเมริกัน เห็นชัดเจนว่านิสัยอ่าน หนังสือลดลงอย่างมากมาย รวมทั้งขีดความสามารถในการอ่านก็ลดลง ทั้งในนักศึกษา และในผู้จบการศึกษา เห็นตัวเลขข้อมูลแล้วน่าตกใจมาก และทำให้คิดกลับมาที่เมืองไทย ว่าน่าจะมีแนวโน้มเดียวกัน

อาจารย์มีหน้าที่สร้างเงื่อนไข สร้างบรรยากาศ ให้นักศึกษาอ่านสาระวิชาที่จะเรียนในชั้นเรียนมาก่อน เพื่อใช้เวลาในชั้นเรียน ทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning)


วิธีทำให้นักศึกษาอ่านมาก่อน

การอ่านเป็นกิจกรรมทางสมอง ไม่ใช่กิจกรรมทางสายตา ที่ต้องรู้คำศัพท์จำนวนมากมาย การอ่านของนักศึกษาต้องรู้/เข้าใจ ศัพท์เฉพาะของแต่ละสาขาวิชา อาจารย์ต้องเข้าใจว่า กระบวนการอ่าน ของอาจารย์ กับกระบวนการอ่านของนักศึกษาแตกต่างกัน คืออาจารย์มีทักษะของผู้เชี่ยวชาญการอ่าน รู้คำศัพท์จำนวนมากมาย และมี "ทักษะเข้าใจทางลัด" (cognitive shortcut) คือคำคำเดียว อาจให้ความหมาย กว้างขวางมาก ความรู้สึกต่อการอ่านเอกสารที่กำหนดให้อ่านล่วงหน้า ย่อมแตกต่างกัน

อาจารย์พึงเข้าใจ และเห็นใจนักศึกษา ในเรื่องการอ่าน และต้องช่วยเหลือ พร้อมกับตั้งเงื่อนไข ให้นักศึกษาอ่านเอกสารประกอบการเรียน ก่อนมาเข้าชั้นเรียน โดยมีคำแนะนำต่อไปนี้


อย่าบรรยายตามเอกสาร

ต้องใช้เวลาในห้องเรียน ให้นักศึกษาทำกิจกรรม ฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ตามในเอกสารที่กำหนดให้อ่าน ล่วงหน้า เพื่อให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจ และแก้ข้อเข้าใจผิดต่อสาระความรู้เหล่านั้น ซึ่งหากนักศึกษา ไม่อ่านมาก่อน ก็จะทำกิจกรรมได้ไม่ดี เข้าใจได้ไม่ลึก นักศึกษาจะรู้เองว่า การไม่อ่านมาล่วงหน้าเป็นการ ลงโทษตนเอง


สอนให้นักศึกษารู้จักวิธีอ่านเอกสารวิชาการ

อาจารย์ต้องอย่าทึกทัก ว่านักศึกษารู้วิธีอ่านเอกสารวิชาการ ตามปกติ นักศึกษาไม่รู้โครงสร้างของ เอกสารวิชาการ ไม่รู้ว่าจะมีวิธีเข้าถึงแก่นสาระได้อย่างไร มีวิธีอ่านโดยมีเครื่องช่วยความเข้าใจและความจำ อย่างไร ไม่รู้วิธีขีดเส้นใต้ ใช้ปากกาแต้มสี หรือเขียนบันทึก


ให้นักศึกษาเห็นภาพรวมของเอกสารประกอบการเรียน

เอกสารประกอบการเรียนมักเป็นหนังสือตำรา หรือหนังสือวิชาการ ก่อนมอบหมายให้อ่านแต่ละบท ก่อนเข้าชั้นเรียน อาจารย์ควรช่วยให้นักศึกษาทำความเข้าใจโครงสร้างของภาพรวมของหนังสือทั้งเล่มเสียก่อน โดยในคราวนั้น ให้นักศึกษานำหนังสือมาด้วย

ให้นักศึกษาอ่านชื่อหนังสือ และคำนำ แล้วอภิปรายกันว่า หนังสือเล่มนี้บอกอะไร แล้วให้อ่าน สารบัญ แล้วอภิปรายกันว่า มีการจัดโครงสร้างของหนังสืออย่างไร มีการแบ่างออกเป็นตอนใหญ่ (section) ตอนย่อย (subsection) อย่างไร จะหาอ่านแต่ละตอนได้อย่างไร

หากเป็นหนังสือเรื่องสารคดี ร่วมกันอภิปรายว่าผู้แต่งมีสมมติฐาน หรือฐานคิดอย่างไร มีวิธีบอกแก่นความคิดนั้นอย่างไร

ความเข้าใจเหล่านี้ จะช่วยให้นักศึกษาอ่านหนังสือง่ายขึ้น การอ่านแทนที่จะหนักสมอง กลับให้ความท้าทาย ตื่นเต้น และรู้สึกว่าได้ประโยชน์คุ่มค่า


ให้นักศึกษาใช้วิธีอ่านที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี

วิธีที่ใช้กันทั่วไป เรียกว่า วิธี 3R (read-recite-review) คืออ่าน แล้วปิดหนังสือ พูดออกมาดังๆ ว่าสาระเป็นอย่างไร แล้วอ่านซ้ำ เพื่อทบทวนความเข้าใจ การที่ได้พูดและได้ฟังสาระ จะช่วยการเรียนรู้ ดังนั้นวิธีนี้อาจเรียกชื่อว่า วิธี อ่าน-พูด-ฟัง-ทบทวน

ที่จริงมีคำแนะนำวิธีอ่านแก่นักศึกษามากมาย ในเว็บไซต์ต่างๆ ได้แก่ www.aw-bc.com/etips/usahome/index.html , www.educationatlas.com/study-skills.html , www.studygs.net/murder.htm , www.how-to-study.com/pqr.htm , www.mindtools.com/rdstratg.html , www.utexas.edu/student/utlc/learning_resources , www.ucc.vt.edu/stdysk/stdyhlp.html , www.studygs.net

วิธีการที่แนะนำมีส่วนคล้ายกัน เช่น วิธี SQ3R (survey-question-read-recall-review) วิธี PQR3 (preview-question-read-recite-review) โดยมีขั้นตอนและวิธีการสำคัญคือ

  • อ่านผ่านๆ เพื่อสัมผัสภาพใหญ่ โครงสร้างของเรื่อง ทิศทาง เป้าหมาย ทำความเข้าใจชื่อเรื่อง ชื่อรอง ภาพ แผนผัง ตาราง คำตัวหนาตัวเอน ข้อสรุป และบทคัดย่อ
  • ทำความชัดเจนเป้าหมายของการอ่าน
  • อ่านตามเป้าหมาย ค้นหาสาระที่ตอบโจทย์ของตน คิดถ้อยคำของตนเอง อาจเขียนขึ้นใหม่
  • ทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้ อาจารย์อาจมีเค้าโครงให้นักศึกษาใช้

ที่จริงอาจารย์อ่านเอกสารวิชาการตามขั้นตอนข้างบนมานานแล้ว ไม่ได้อ่านทีละหน้า จากหน้าแรกสู่บรรทัดสุดท้าย แต่จะพลิกกลับไปกลับมาเพื่อจับใจความหรือประเด็นสำคัญ การอ่านเพื่อเขียนบันทึกลง บล็อก อย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน


ให้นักศึกษามีเป้าหมายในการอ่าน

นักอ่านระดับเชี่ยวชาญ มีเป้าหมายในการอ่าน ผมเคยพูดและเขียนไว้ในหลายที่ ว่าเวลาอ่านหนังสือ ผมไม่ได้อ่าน แต่ใช้วิธี "ถาม" หนังสือ คือผมมีคำถามอยู่ในใจ และคิดว่าจะหาคำตอบได้จากหนังสือ แล้วจึงค้นหาคำตอบด้วยการอ่าน

การอ่านโดยใช้ ๔ ขั้นตอนข้างบน ช่วยให้นักศึกษาอ่านอย่างมีเป้าหมาย และเพื่อช่วยให้นักศึกษา มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น อาจารย์อาจช่วยตั้งคำถาม โดยมีกรอบคำถามให้ สำหรับชี้นำขั้นตอนความคิด ควบคู่ไปกับขั้นตอนของการอ่าน เพื่อให้นักศึกษาเกิดการคิดแบบเจาะลึกจริงจัง คำถามอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ผู้เขียนมีจุดยืน หรือสมมติฐานอย่างไร
  • ข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนคืออะไรบ้าง
  • มีพยานหลักฐาน หรือข้อมูลสนับสนุน อย่างไรบ้าง
  • ประเมินหลักฐานของผู้เขียน หาจุดอ่อนของหลักฐาน หลักฐานสำคัญที่ขาดหายไป และหาตรรกะที่ผิดพลาด

ในวิชาที่มีการทำโจทย์หรือแก้ปัญหา เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ เขาแนะนำให้อ่านคำถามท้ายบทก่อน สำหรับนำมาตั้งเป้าของการอ่าน

วิธีง่ายๆ ที่นักศึกษานำมาใช้ตั้งเป้าหมายในการอ่าน คือเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นคำถาม เช่น เช่นเมื่ออ่านเอกสารเรื่อง การจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นักศึกษาใช้คำถาม "ปัญหาเรื่องน้ำในลุ่มเจ้าพระยามีอะไรบ้าง ที่ผ่านมามีการจัดการอย่างไร ได้ผลอย่างไร มีประเด็นที่ควรปรับปรุงอะไรบ้าง โดยทำอย่างไร"

เพื่อให้อ่านแล้วจับใจความได้ครบ และเข้าใจถูกต้อง อาจารย์ควรกำหนดให้นักศึกษาเขียนข้อสรุป ด้วยภาษาของตนเอง


สอนนักศึกษาให้รู้จักสังเกตคำสัญญาณการดำเนินเรื่อง

คำสัญญาณนี้คือคำเชื่อมความ หรือ "คำบุพบท" นั่นเอง ดังตัวอย่างสัญญาณที่แตกต่างกันเหล่านี้

  • เพิ่ม เป็นสัญญาณบอกว่า มีหลายประเด็น ได้แก่คำ อาทิ หนึ่ง สอง สาม นอกจากนั้น อีกประการหนึ่ง
  • ความเป็นเหตุและผล ได้แก่คำ เนื่องจาก เพราะว่า ดังนั้น เพราะ...จึง....
  • การเปรียบเทียบ ชี้ความเหมือนหรือความต่าง ได้แก่คำ เช่นเดียวกัน ตรงกันข้าม แตกต่างจาก เท่าเทียมกัน
  • ชี้ความต่าง (contrast) เช่น อย่างไรก็ตาม แต่
  • ย้ำ เช่นคำ เหนือสิ่งใดทั้งหมด แก่น หัวใจ สิ่งสำคัญ กุญแจ สำคัญที่สุด
  • ยกตัวอย่าง เพื่อทำความกระจ่างต่อหลักการ เช่นคำ ตัวอย่างเช่น ยกตัวอย่าง ได้แก่


สอนนักศึกษาให้รู้จักการขีดเส้นใต้ แต้มสี และบันทึกตรงที่ว่างด้านซ้าย

บันทึกตรงที่ว่าง เป็นข้อสรุปของใจความส่วนนั้น ถือเป็นทักษะระดับกลางของการอ่าน เสริมด้วยการขีดเส้นใต้ หรือแต้มสีคำ/ประโยคหลัก หรือคำสำคัญ ซึ่งถือเป็นเทคนิคการอ่านขั้นสูง ซึ่งหมายความว่า มีการขีดเส้นหรือแต้มสีเฉพาะส่วนที่เป็นคำสำคัญหรือประโยคหลักจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่ขีดเส้นใต้หรือแต้มสีเต็มทั้งหน้า อย่างที่นักศึกษามือใหม่ส่วนใหญ่ทำ

อาจารย์ควรฝึกให้นักศึกษาหาประโยคที่สะท้อนแนวความคิดหลักของย่อหน้า ซึ่งมักจะเป็นประโยคแรก หรือมิฉนั้นก็เป็นประโยคสุดท้าย จะช่วยให้นักศึกษาอ่านจับใจความง่ายขึ้น

การขีดเส้นใต้ แต้มสี และบันทึกใจความหลักในที่ว่าง จะช่วยลดเวลาอ่านทบทวน และเป็นการฝึกอ่านหนังสือแบบผู้เชี่ยวชาญระดับสูง


ให้ทบทวนสาระจากการอ่าน

หนังสือแนะนำ ๓ วิธีช่วยให้นักศึกษาทบทวนสาระจากการอ่าน

  • ให้จับประเด็นเป็นตอนๆ แล้วสังเคราะห์เข้าด้วยกันเป็นข้อความ ๑ - ๒ ประโยค
  • ให้เขียน concept map หรือ mind map
  • ให้ทำ reflective writing โดยเมื่อนักศึกษาอ่านไปได้ ๑ - ๒ ตอน พร้อมกับขีดเส้นใต้ แต้มสี และเขียนสรุปลงในหน้าหนังสือ แล้วนักศึกษาเขียนประเด็นด้วยถ้อยคำของตนเอง ประมาณครึ่งหน้ากระดาษ ในลักษณะของการเขียนอิสระ ไม่ใช่สรุป

ผมขอเรียนว่า การทบทวนสาระแบบที่สามข้างบน เป็นวิธีที่ผมใช้ เพื่อเขียนบันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" นี้


มอบหมายภาระงานอ่านให้พอดี

หากนักศึกษาได้รับมอบหมายการบ้านให้อ่านมากเกินไป ผลที่จะเกิดขึ้นคือ นักศึกษาไม่อ่าน ความพอดีมี ๒ พอดี ได้แก่ ปริมาณพอดี และความยากง่ายพอดี โดยต้องคำนึงถึงนักศึกษาที่อ่อนทักษะ การอ่านเป็นหลัก

รวมทั้งควรต้องมีการประเมินความเหมาะสม และผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ที่เกิดจากการมอบภาระงาน อ่านที่บ้าน โดยมีเครื่องมืออยู่ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Flesch-Kincaid


ขายการอ่าน

นี่คือการจัดการด้าน "การตลาด" จูงใจให้นักศึกษา "ซื้อ" การอ่าน ซึ่งหากมีการย้ำเป้าหมาย และความสำคัญของการอ่าน (ต่อความสำเร็จในการเรียน และต่อชีวิตอนาคต) ในเอกสารรายวิชา และโดยอาจารย์ นักศึกษาจำนวนหนึ่งก็จะปฏิบัติ

ที่สำคัญคือ กระบวนการจัดการชั้นเรียน เพื่อฝึกฝนการใช้ประโยชน์จากการอ่าน ดังกล่าวแล้วข้างบน จะแสดงให้นักศึกษาประจักษ์ผลดีของการอ่านเอกสารประกอบการสอนมาก่อนล่วงหน้า

นอกจากนั้น หากแต่ละสัปดาห์ อาจารย์กล่าวถึงเรื่องที่จะให้อ่าน และกิจกรรมต่อเนื่องในชั้นเรียน ในสัปดาห์ต่อไป ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อการเรียนวิชานั้น ทำเช่นนี้ทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน ก็จะเกิดผล จูงใจนักศึกษา ให้อ่านเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียนในชั้นเรียน


ให้นักศึกษาต้องรับผิดรับชอบต่อการอ่าน

แรงจูงใจให้นักศึกษาอ่านมีทั้ง แรงจูงใจภายใน และ แรงจูงใจภายนอก

แรงจูงใจภายในคือการเห็นคุณค่าของการอ่านต่อความสำเร็จของการเรียนรู้ในปัจจุบัน และต่อความสำเร็จของชีวิตในอนาคต รวมทั้งความสุขความพึงพอใจในการอ่าน

แต่สำหรับนักศึกษาส่วนหนึ่ง แรงจูงใจภายในไม่แข็งแรงพอ อาจารย์จึงต้องเสริมแรงจูงใจภายนอก อันได้แก่ การให้คะแนน และให้ความภาคภูมิใจหรือการยกย่องจากเพื่อนๆ โดยมีเครื่องมือที่แนะนำในหนังสือ ๓ อย่าง ได้แก่ (๑) ให้เขียนสาระของบทที่อ่านเป็นการบ้าน เขียนด้วยถ้อยคำของตนเอง ส่งเป็นผลงาน ที่อาจารย์ให้คะแนน เน้นให้คะแนนการทำงาน และความตั้งใจในการทำงาน มากกว่าคุณภาพของผลงาน (๒) มีการทดสอบ และให้คะแนน (๓) ให้นำเสนอสาระด้วยวาจาต่อชั้น โดยเขามีคำแนะนำวิธีการจัดการ ของอาจารย์ดังต่อไปนี้

  • ใช้เครื่องมือชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือหลายชิ้นร่วมกัน อย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ครบกำหนดการอ่าน
  • ให้คะแนนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
  • น้ำหนักของคะแนนต้องไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป จึงจะเกิดแรงจูงใจต่อนักศึกษา เขาแนะนำ ร้อยละ ๒๐ ว่าพอเหมาะพอสม
  • ทำให้การอ่านเป็นแหล่งสาระความรู้เดียว คืออย่าบรรยายสาระนั้น และอย่าเอาสาระนั้น ขึ้นเว็บ

เขาย้ำความสำคัญของศักดิ์ศรี (pride) ต่อแรงจูงใจในการอ่าน และการทำงานอย่างอื่นของนักศึกษา


เครื่องมือสร้างความรับผิดรับชอบของนักศึกษา

การบ้าน

มีผลการวิจัยมากมาย ที่บอกว่าการบ้านที่ให้นักศึกษาทำอย่างสม่ำเสมอ มีผลต่อความเอาใจใส่เรียน และต่อผลการเรียนของนักศึกษา และเมื่อนักศึกษาทำการบ้านที่มีคะแนนจนคุ้นแล้ว อาจารย์อาจให้ทำ การบ้านแบบไม่มีคะแนนบ้างก็ได้ โดยอาจใช้เงื่อนไขว่าต้องมีผลงานการบ้านส่ง จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้า ชั้นเรียน โดยที่รูปแบบของการบ้านนั้นมีได้ไม่จำกัด ตัวอย่างเช่น

  • บันทึกหรือบทสรุปจากการอ่าน
  • concept map หรือ mind map
  • คำถามหรือข้อสอบ จากสาระที่อ่าน อาจารย์อาจกำหนดรูปแบบของข้อสอบ สำหรับเก็บไว้ใช้เลือกเป็นข้อสอบจริง
  • คำตอบต่อคำถามท้ายบท หรือคำถามที่อาจารย์กำหนดให้
  • ข้อเขียนผลการทบทวนไตร่ตรองหลังการอ่าน (reflection / AAR) ของนักศึกษา
  • เขียนเพื่อเรียน ตามในตอนที่ ๑๘
  • เอกสารสิ่งพิมพ์ใดๆ ก็ได้ (เช่นหนังสือพิมพ์) ที่สะท้อนความสำคัญ หรือความหมาย ของสาระที่อ่าน


การทดสอบ (Quiz)

ผลการวิจัยบอกว่า การทดสอบเล็กๆ บ่อยๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ ให้ผลดีต่อการเรียนมากกว่า การทดสอบแบบไม่รู้ตัว โดยอาจทดสอบในห้องเรียน หรือทดสอบ ออนไลน์ ก่อนเข้าชั้นเรียนไม่นาน โดยต้องใช้หลักการว่า นี่คือการทดสอบเพื่อสร้างความเอาใจใส่การเรียน (accountability quiz) ไม่ใช่การทดสอบ ความรู้อย่างจริงจัง จึงต้องเน้นถามความรู้เชิงหลักการใหญ่ๆ ไม่ถามรายละเอียด และต้องให้อาจารย์ตรวจได้ อย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลา หรือมีระบบตรวจผลทดสอบช่วยเหลืออาจารย์

ข้อสอบอาจเป็นปรนัยหลายตัวเลือก หรือเป็นข้อสอบแบบเขียนตอบสั้นๆ โดยมีผลการวิจัยบอกว่า วิธีให้เขียนตอบสั้นๆ ให้ผลต่อการเรียนรู้มากกว่า

อาจใช้วิธี Just-in-time teaching ตามที่ระบุในตอนที่ ๑๙ โดยให้นักศึกษาตอบข้อสอบ ออนไลน์ ในคืนก่อนมาเข้าชั้นเรียน ช่วยให้อาจารย์รู้ระดับความเข้าใจของนักศึกษา สำหรับนำมาปรับกิจกรรม ในชั้นเรียน

อาจใช้วิธีสอบในห้อง โดยฉายข้อสอบขึ้นจอ หรือบอกข้อสอบด้วยคำบอก ช่วยประหยัดกระดาษ หรืออาจให้การบ้านให้นักศึกษาออกข้อสอบ นำมาส่งอาจารย์ หรืออาจให้นักศึกษาตอบข้อสอบเป็นผลงานกลุ่ม


ฝึกฝนโดยการเขียนในชั้นเรียน

ฝึกฝนโดยเครื่องมือ เขียนเพื่อเรียน ตามที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่ ๑๘ เช่น บทความหนึ่งนาที บทสรุป บทสรุปหนึ่งประโยค เขียนใหม่ตามคำขอของผู้ฟัง เป็นต้น

อาจฝึกให้เขียนเป็นกราฟิก เช่น mind map โปสเตอร์ อินโฟกราฟิก

อาจให้ทำงานเป็นกลุ่ม


การนำเสนอด้วยวาจา

เป็นการนำเสนอสั้นๆ หรือตอบคำถามด้วยข้อความสั้นๆ ซึ่งมีวิธีการที่หลากหลายได้มาก เช่น

  • สุ่มเลือกนักศึกษาให้อ่านข้อเขียนในการบ้านของตน แทนที่จะส่งการบ้านให้อาจารย์ตรวจ
  • ให้นักศึกษาเตรียมมาอ่านคำถามในชั้น ให้เพื่อนตอบ
  • จัดกิจกรรมทบทวน/จดจำบทเรียน โดยสุ่มเลือกนักศึกษาให้ตอบคำถามที่อาจารย์ถามทันที เริ่มจากคำถามง่ายๆ ในระดับรู้/จำ ไปสู่การเรียนรู้ระดับสูงขึ้น
  • ใช้วิธีของ โซกราตีส (ตอนที่ ๑๕)
  • ใช้วิธีโต้วาที อภิปรายกลุ่ม แถลงข่าว ฯลฯ


จัดการภาระงานของตัวอาจารย์เอง

การสอนแบบที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ข้อจำกัดอยู่ที่ภาระงานของอาจารย์ อาจารย์จึงต้องหาวิธี จัดการภาระงานของตนเอง ไม่ให้มากเกินไป จนทนไม่ไหว มีข้อแนะนำต่อไปนี้

  • ให้นักศึกษาออกข้อสอบ
  • หาวิธีตรวจข้อสอบ ที่ใช้เวลาไม่มาก
  • อาจสอบไม่บ่อยนัก
  • เก็บกระดาษคำตอบ เอามาสุ่มตรวจบางคน และบางครั้งที่สอบ
  • ประหยัดเวลา จากการที่ไม่ต้องเตรียมบรรยาย


ผมอ่านบทนี้แล้ว นึกถึงคำว่า ห้องเรียนกลับทาง วิธีการในบทนี้ เป็นวิธีกลับทางห้องเรียน แต่ต้องคิด ต่างออกไป จากเน้นอ่าน เป็นเน้นทำความเข้าใจสาระวิชามาก่อนเข้าชั้นเรียน และเพื่อให้สอดคล้องกับนิสัย ของคนสมัยใหม่ ต้องเน้นให้ดูวีดิทัศน์ มากกว่าให้อ่าน ตามที่ระบุในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง

แต่ผมก็เห็นว่า การอ่านให้คุณประโยชน์ต่อนักศึกษามากกว่าการได้สาระวิชา คือได้ฝึกทักษะการอ่าน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในกลุ่มทักษะการเรียนรู้ (learning skills)

กิจกรรมหลากหลายอย่างที่แนะนำ ยังไม่มีการวิจัยว่าได้ผลเพียงใดในบริบทไทย จึงมีโจทย์วิจัยมากมาย ในบทนี้



วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 583086เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท