ชาวบ้านหอคำ บึงกาฬ ออกกฎชุมชนอนุรักษ์ปลาแม่น้ำโขง ฟื้นวิถีประมงพื้นบ้านแบบมีส่วนร่วม


กลุ่มประมงพื้นบ้านและกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหอคำ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ขึ้น โดยมีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นถึงปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารที่ลดลงมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่วังปลา ให้ปลาในลุ่มน้ำโขงไม่หายสาบสูญ

ปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกตินั้น อันเนื่องมาจากโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือน้ำ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนริมโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ชุมชนริมโขงต้องปรับตัวและสร้างวิถีชีวิตกันใหม่ ทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากร สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น ไม่ให้สูญหายไปกับการปรับเปลี่ยนสายน้ำ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เห็นและสืบต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาในแม่น้ำโขง ทุกวันนี้หายากและมีปริมาณลดลง เป็นเหตุให้เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ลุกขึ้นมารวมกลุ่มพร้อมสร้างเครือข่าย ฟื้นวิถีอนุรักษ์พันธ์ปลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ก่อนปลาน้ำโขงจะเหลือแค่ภาพและชื่อให้คนรุ่นหลังได้ดู

พื้นที่ตำบลหอคำเป็นบริเวณที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง จึงเรียกกันว่า "สะดือแม่น้ำโขง" มีเกาะแก่งหิน และวังน้ำลึกที่ชาวประมงพื้นบ้านเรียกว่า "เวิน" สภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของปลา ได้แก่ ปลาโจก ปลายาง ปลาเซือม ปลาขาวทราย เป็นต้น ชาวบ้านแถบนี้จึงมีอาชีพหาปลา จำนวนมากพอๆ กับอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ และปลูกผักริมน้ำโขง โดยมีพิธีกรรมและความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ที่จะไม่จับปลาแบบทำลายล้าง เช่น ประเพณีเลี้ยงขึ้นเลี้ยงลง การไหว้ศาลเจ้าพ่อกุดเป่ง

แต่เมื่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำที่ผิดปกติในแม่น้ำโขงในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2553 น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดมากที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ปลาจำนวนมากอพยพมาอยู่ที่สะดือแม่น้ำโขง ต.หอคำ –ไคสี ชาวบ้านจับปลาขนาดใหญ่ได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันรูปแบบการหาปลาของชาวประมงทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นเครื่องมือแบบทำลายล้าง เพื่อหวังผลจับปลาให้ได้จำนวนมาก เช่น การซ็อตปลา การละเมิดกฏหมายจับปลาในฤดูวางไข่ (พ.ค.-ก.ย.) การใช้เครื่องมืออุปกรณ์หาปลาที่มีตาข่ายถี่ทำให้ปลาตัวเล็กติดมาด้วย จึงเกิดความวิตกว่าอาจทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาสาบสูญได้

กลุ่มประมงพื้นบ้านและกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลหอคำ จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ขึ้น โดยมีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นถึงปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารที่ลดลงมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่วังปลา ให้ปลาในลุ่มน้ำโขงไม่หายสาบสูญ

จินตนา เกษมสมบัติ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ทางโครงการได้จัดการประชุมเวทีประชาคมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ รวมทั้งแนวทางการดูแล อนุรักษ์แหล่งน้ำ และกำหนดพื้นที่วังปลาในเขตตำบลหอคำ พร้อมเชิญ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มประมง และปราชญ์ชาวบ้าน เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ร่วมกัน และประสานเครือข่ายเพิ่มเติม ได้แก่ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สภาพปัญหาในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน

ทางโครงการยังคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการทำกิจกรรมกับกลุ่มเด็กเยาวชน ให้ทำหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแหล่งนิเวศน์ในพื้นที่ตำบลหอคำ มีแหล่งน้ำหลายพื้นที่ ประกอบด้วย หนองเครือเขา มีพื้นที่ 800 ไร่ มีการใช้ประโยชน์ในหลายอำเภอ เช่น อ.ปากคาด อ.โซ่พิสัย และอ.บึงกาฬ หนองกุดเป่ง มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ต.ไคสี ต.หอคำ ต.โนนสว่าง ต.หนองเลิง และหนองเมือก มีพื้นที่ 600 ไร่ ใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ ต.หนองเลิง ต.โนนสว่าง ต.หอคำ ต.ไคสี

เมื่อได้ข้อมูลมา ทางกลุ่มเยาวชนได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ เพื่อนำกลับไปให้ชุมชนได้รับทราบข้อมูล พร้อมทำแผนที่เดินดิน เพื่อค้นหาจำนวนชาวประมงในพื้นที่ ปฏิทินการหาปลาของชาวประมง เศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรม ประวัติของชาวประมง วิถีชีวิตคนหาปลา รายได้จากการหาปลา ชนิดของปลาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลกระทบของคนหาปลาในชุมชน

หลังจากที่ได้ข้อมูลพร้อมแล้ว มีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จัดแก็บมาและคัดเลือกกรรมการดูแลแหล่งอนุรักษ์จาก 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันและอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งอนุรักษ์ที่จัดทำ คือ บ้านหอคำ บ้านหอคำเหนือ บ้านหนองบัวทอ และบ้านโนนยาง

จากนั้นจะมีการลงมติชุมชนเพื่อออกกฎระเบียบ เป็นกติกาการหาปลาร่วมกันของชุมชน ทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ

1.ห้ามจับปลาในวันพระเด็ดขาด

2.ห้ามคนนอกพื้นที่เขตเข้าจับปลาในบริเวณเขตหวงห้าม เด็ดขาด

3.ให้จับปลาเฉพาะเวลา 6 โมงเช้า- 6 โมงเย็นเท่านั้น

4.ห้ามใช้ตาข่ายดักปลาถี่น้อยกว่า 3 เซ็นติเมตร มาจับปลาอย่างเด็ดขาด

5.ห้ามจับปลาในฤดูน้ำหลาก ระหว่างเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม เพราะเป็นฤดูวางไข่ของปลา

6. หากมีการฝ่าฝืน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และยึดอุปกรณ์หาปลา


สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน และขยายผลในชุมชนและท้องถิ่นหลังจากจบโครงการฯและหมดงบประมาณจาก สสส. ผู้จัดทำโครงการ บอกว่า ได้เตรียมนำเสนอแผนการพัฒนาเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ผลักดันเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลหอคำ และจัดทำแผนงานโครงการขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนเพื่องานพัฒนา นอกจากนี้ยังจะจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พื้นที่ออกกำลังกายสำหรับชุมชน ระดมทุนเข้ากองทุนกลางเพื่อการอนุรักษ์ และจัดให้มีกิจกรรมระดมทุนปีละครั้ง เช่น แข่งขันตกปลา ฟิชชิ่งปาร์ค เพื่อระบายปลาใหญ่และจัดซื้อพันธุ์ปลาเพิ่มเติม

แม้ขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น แต่เป็นการเริ่มอย่างมีความหวัง และน่าจะยั่งยืนได้ เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วน ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 583014เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2014 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2014 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท