เก็บตกวิทยากร (20) : รู้จักฉันรู้จักเธอ : ถอดบทชีวิตแบบบ้านๆ ผ่านภาพวาด


พอวาดเสร็จก็ให้จับกลุ่มตามอัธยาศัย เพื่อให้บอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง บนกรอบแนวคิดง่าย "พูดแทนภาพ...มีคนพูด มีคนฟัง" มีเวลาให้พอประมาณ แต่ให้แต่ละกลุ่มบริหารจัดการเวลาด้วยตนเอง

จากบันทึกที่แล้ว เก็บตกวิทยากร (19) : เอาง่ายๆ ใช้เท่าที่มี

....



เปิดเวทีแบบง่ายๆ เหมือนที่เคยทำมา

ผมเดินหน้าเปิดเวทีในสไตล์ตนเอง นั่นก็คือ "บันเทิงเริงปัญญา" นับตั้งแต่การให้ทีมจากสำนักฯ ช่วยละลายพฤติกรรมแบบ "โลดเต้น" อันเป็นกระบวนการที่ผมไม่ถนัด โดยทีมที่รับผิดชอบก็ทำได้ไม่ขี้เหร่เลยสักนิด สามารถปลุกเร้าให้แต่ละคนขยับแข้งขยับขา ตบมือประกอบจังหวะเพลงและเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างน่าชื่นชม ช่วยให้แต่ละคนดูตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นอย่างน่าชื่นชม

เสียดายก็แต่ทีมกระบวนการไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ลุกออกจากเก้าอี้ กิจกรรมที่ทำเกือบทั้งหมดลุกๆ ยืนๆ ติดกับดักอยู่กับโต๊ะและเก้าอี้ ถ้าเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อเหลือเกินว่าการละลายพฤติกรรมในแรกเช้าเช่นนี้จะทรงพลังกว่านี้เป็นไหนๆ แต่ก็อย่างว่า "ทำไปเรียนรู้ไป-เติบใหญ่ไปพร้อมๆ กัน" นั่นคือสิ่งที่ผมพูดทิ้งไว้ในเวที AAR ของเย็นวันนั้น



กระทั่งกระบวนการละลายพฤติกรรมยุติลง ผมก็เข้าสู่เวที แนะนำตัวเองแบบดิบด่วน (สังเขปๆ) แนะนำโดยให้ดูสไลด์ และเล่าเรื่องด้วยวาทกรรมสั้นๆ เพื่อให้ชวนฟัง ชวนคิดตาม พอเล่าเสร็จก็ตั้งคำถามกับทุกคนว่า "เวลามีความทุกข์ หดหู่ใจ แต่ละคนมีวิธีการบำบัด เยียวยา เสริมพลังให้กับตนเองอย่างไร"

คำถามที่ผมหยิบยกมานั้น ผมถามตามนั้นจริงๆ ถาม หรือใช้ภาษาแบบนั้นจริงๆ พอถามเสร็จก็กระตุ้นให้แต่ละคนบอกเล่าสั้นๆ ร่วมกัน เป็นการบอกเล่าเท่าที่ "สบายใจที่จะเล่า" ซึ่งก็มีสี่ถึงห้าคนที่ "แบ่งปัน" ต่อเพื่อนร่วมเวที ประมาณว่า "ในยามทุกข์ท้อทรมานใจก็จะฟังเพลง เดินเที่ยว เล่าสู่เพื่อนฟัง นั่งสมาธิ สวดมนต์"

ครับ, ไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็นเทคนิค ประสบการณ์เชิงเดี่ยวของบุคคล และวิธีการเหล่านั้นก็มีความเป็นสากลที่ใครๆ สามารถหยิบจับไปใช้ ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนพึงใจกับรูปแบบ หรือวิธีการใดเท่านั้นเอง




เมื่อเสร็จสิ้นการแบ่งปันผ่านเรื่องเล่าสั้นๆ ถัดจากนั้นผมก็ให้แต่ละคนได้ดูวีดีทัศน์ชุดเดิมๆ (Km แบบบ้านๆ) นั่นก็คือ วันเรียกขวัญ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของการ "เรียกพลังชีวิต" หรือ "ทบทวนชีวิต" หรือเรียกให้ดูขลังในวิถี KM หน่อยก็คือ "ถอดบทเรียนชีวิต" นั่นแหละ




รู้จักฉันรู้จักเธอ : ถอดบทชีวิตแบบบ้านๆ ...Km แบบบ้านๆ ผ่านภาพวาด


ทันทีที่ดูวีดีทัศน์เรื่องวันเรียกขวัญเสร็จสิ้นลง ผมตั้งคำถามชวนโสเหล่ร่วมกันว่า "มีอะไรในวีดีทัศน์บ้าง" โดยเน้นให้แต่ละคนได้ทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านวาทกรรมสำคัญๆ คือ "เห็นอะไร-รู้สึกอย่างไร-ได้อะไรจากสิ่งที่เห็นและที่รู้สึก"

กระบวนการง่ายๆ เช่นนี้ เป็นกระบวนการฝึกถอดบทเรียนจากสื่อ- และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถอดบทเรียนชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ



เมื่อวงโสเหล่สั้นๆ เกี่ยวกับวีดีทัศน์ยุติลง ผมก็เปิดสไลด์ "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ขึ้นมาโชว์ ภาพหลักๆ มีทั้งภาพเก่าๆ และภาพใหม่ๆ อันหมายถึงภาพกิจกรรมที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อครู่ รวมถึงภาพสถานที่ๆ จัดประชุม เป็นการซ่อนแนวคิดของการ "ถอดบทเรียน" แบบสดๆ ไปพรางๆ (ถอดบทเรียนผ่านภาพถ่าย)

ครับ, ผมให้ทุกคนอ่านบทกวี "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ร่วมกันเหมือนเวทีอื่นๆ เพื่อยึดโยงให้เห็นนิยามของการจัดการความรู้ผ่านบทกวี และเน้นให้เห็นถึงกระบวนการจัดการความรักและความรู้ในโลกแห่งองค์กร (การงาน) และโลกแห่งชีวิตร่วมกัน

ในบางช่วงของการอ่านบทกวี มีทั้งที่ให้ทุกคนอ่านร่วมกัน และในบทกวีบางบทผมก็ลงมือลงไม้อ่านด้วยตนเอ เพื่อกระตุ้นให้เห็นพลังชีวิตในบทกวี ---



เมื่อการอ่านบทกวียุติลง สังเกตดูทุกคนก็มีสมาธิมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะได้เพ่งจิตมายังสื่อที่เรากำหนดขึ้น จากนั้นผมก็ให้แต่ละคนได้วาดภาพในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง คือ

  • (๑) ความสุขของชีวิตที่ทรงอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของตนเอง
  • หรือ (๒) ความสุขของการทำงานในองค์กร

ผมให้ทางเลือกเพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น ถ้าไม่มีความสุขที่จะวาดภาพในประเด็นความสุข ก็อนุญาตให้วาดในประเด็น "ความทุกข์" ได้ หรือหากไม่พึงใจจะวาด ก็ให้เขียนเป็นเรื่องราวแทนก็ได้ หรือกระทั่งยังไม่พร้อมต่อกระบวนการเรียนรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนใจทำก็ได้ เพียงแต่ขอความร่วมมืออย่ารบกวนสมาธิของเพื่อนๆ เป็นพอ

ครับ-ผมเปิดกว้างเช่นนี้เสมอ ให้แต่ละคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเรียนรู้ ทว่าผมก็ซ่อนนัยสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ในบริบทและสถานการณ์อันเป็นหน้าที่ไว้เนียนๆ (ชีวิตคนเรามีหน้าที่เสมอ ไม่มีใครมีเสรีภาพอย่างแท้จริงหรอก)

...เช่นเดียวกับขณะวาดภาพ ผมก็ยังคงเปิดเพลงบรรเลงคลอเคล้าไปอย่างไม่ขาดห้วง –

พอวาดเสร็จก็ให้จับกลุ่มตามอัธยาศัย เพื่อให้บอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง บนกรอบแนวคิดง่าย "พูดแทนภาพ...มีคนพูด มีคนฟัง" มีเวลาให้พอประมาณ แต่ให้แต่ละกลุ่มบริหารจัดการเวลาด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ผมคอยทำหน้าที่บอกสัญญาณใดๆ ว่า "ใกล้หมดเวลาแล้ว...." หรือกระทั่ง "หมดเวลา.....แล้ว....."




ไม่สรุป... แต่ไม่ละเลยที่จะสะกิดการคิดตาม

หลังการเล่าเรื่องในแต่ละกลุ่มเสร็จสิ้นลง ทุกคนก็กลับเข้าสู่ที่นั่งเดิม
ผมไม่มีเวลาทำกระบวนการกลุ่มเช่นนี้ยาวนานนัก แต่ทำกระบวนการแบบพอประมาณ เน้นให้เห็นกระบวนการที่ผู้เข้าร่วมเวทีสามารถนำกลับไปปรับแต่งใช้ต่อได้...

ผมถือโอกาสถามด้วยคำถามเดิมๆ เช่น "มีใครชอบเรื่องราวของเพื่อนบ้าง" (ผมไม่ชอบให้โหวตเรื่องที่ดีที่สุดของกลุ่ม) รวมถึงคำถาม "ใครอยากเล่าเรื่องราวตนเองให้เพื่อนทั้งหมดฟังบ้าง"



ครับ, คำถามที่ดูเหมือนจะยืดยาว แต่ผมคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก หากแต่ยากยิ่งต่อการทะลุสู่ความกล้าที่จะ "เชิดชูคนอื่นและเชิดชูตนเอง" นั่นคือสิ่งที่ผมฝากให้ทุกคนได้คิดตาม -ต่อยอด

กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ— ผมไม่สรุปว่าประกอบด้วยวัตถุประสงค์ใด และเรื่องที่เล่ามีประเด็นอะไรบ้าง หรือกระทั่งไม่ได้ถามทักกลับว่าแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการนี้ ตลอดจนไม่ถามว่ากระบวนการนี้มีความเป็น Km อย่างไร อะไรคือเครื่องมือ Km ซึ่งผมตั้งใจจะเฉลยในวันรุ่งขึ้น เป็นการขมวดประเด็นเชิงทฤษฎี เพราะผมเลือกที่จะ Action to Km ไม่ใช่ร่ายทฤษฎีแล้วนำไปปฏิบัติในแบบ Km to Action

ถึงกระนั้นผมก็ยังไม่ลืมที่จะชวนให้คิดตามร่วมกันว่า...

  • ... คนเราจะจัดการความรู้ในองค์กรได้ดี การจัดการความรู้ด้วยการถอดบทเรียนชีวิตตนเอง ถือเป็นเรื่องที่ควรจะเริ่มต้นเป็นอันดับแรก นำไปสู่การถอดบทเรียนชีวิตเพื่อนร่วมงาน และถอดบทเรียนชีวิตแต่ละคนร่วมกัน (แบ่งปันประสบการณ์ชีวิต) เพราะนี่คือ "การจัดการความรัก...สู่การจัดการความรู้" ถ้าทำได้ บรรยากาศของการจัดการความรู้ในองค์กรก็ (อาจ/ย่อม) ง่ายขึ้น...



เช่นเดียวกับที่ผมชวนให้คิดตามในทำนองว่า

  • ... ในยามที่เราฟังเรื่องราวของคนอื่นแล้ว หากเรื่องราวเหล่านั้น สะกิดให้เราหวนคิดถึงเรื่องราวบางเรื่องที่เกิดกับเรา ซึ่งอาจมีทั้งเหมือนและต่างกับที่คนอื่นเล่า ผมถือว่ากระบวนการเช่นนี้ประสบความสำเร็จ เพราะนำพาให้เรากลับสู่ตัวเอง มันเหมือนการ check in กลับเข้าสู่ตัวเอง มันเหมือนจิตปัญญาในอีกมิติหนึ่ง...


นี่คือการจัดการความรู้ในแบบฉบับของผม –จัดการแบบบ้านๆ เหมือนที่ทีมงานฯ ได้พูดถึงผมในนิยาม (Km บ้านๆ) เช่นนั้น-




ไว้อ่านต่อในบันทึกหน้า ครับ



หมายเหตุ
กิจกรรมโครงการ
"ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ : Km to Action"
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเขาใหญ่คีรีธารทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

หมายเลขบันทึก: 582927เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 01:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

แวะมาบอกว่า..ชอบ..ค่ะ..กับกระบวนการนี้..ที่ยิ่งใหญ่แผ่ขยายเป็นมุมกว้างกับการมองและปฏิบัติ..

สาธุชนพึงมีพึงปฏิบัติ..จัดการความรัก..สู่การจัดการเรียนรู้..

เรียนอาจารย์แผ่นดิน

บันเทิงเริงปัญญา วาทกรรมที่สัมผัสสุขได้

วันเรียกขวัญ หนังสั้นในการทำสื่อที่เข้าถึงวิถีชุมชน

ขอบคุณที่ได้มาเรียนรู้


ไม่ละเลยที่จะสะกิดการคิดตาม..... สุดยอดจริงๆๆค่ะ



โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย
ใจ สู้หรือเปล่า
ไหว ไหมบอกมา
โอกาส ของผู้กล้า
ศรัทธา ไม่มีท้อ


จัดกี่วันครับ

เป็นกิจกรรมที่เนียนๆในงานมาก

บางทีค่อยๆไปไม่จำเป็นต้องขยับฐานกายมากนักถ้าผู้เข้าร่วมประชุมพร้อม

ฐานใจสำคัญกว่าครับ

อ่านแล้วได้ทั้งความรู้และความสุข

มาเชียร์การทำงานครับ

นักจิตวิทยาชอบกิจกรรมนี้มากนะคะเพราะจะทำให้รู้...ความคิด...มุมมอง ...ของผู้ที่ต้องการศึกษา...จากการระบายความในใจออกมานะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท