โอเน็ต ป.๖ ตกต่ำ ต้องทำใจ


การศึกษาไทย ไม่รู้จะจัดการไปเพื่อประจานตนเองอยู่ทำไม และท้ายที่สุดครูก็จะต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่ร่ำไป ทำไมผู้ใหญ่ในกระทรวงถึงไม่คิดข้อนี้..ไม่เข้าใจ

ผมบอกเพื่อนครูอยู่เสมอ ว่าการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้กับการทดสอบโอเน็ต คนละเรื่องเดียวกัน รวมไปถึงการสอนให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข จะสวนทางกับสนามสอบโอเน็ตอย่างสิ้นเชิง

หลายปีมาแล้ว ที่เด็กไทยขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ทักษะชีวิตและอาชีพขั้นพื้นฐาน ครูใช้เวลาหมดไปกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ไกลตัวเด็กและชุมชน ข้อสอบที่ยากขนาดนั้น ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กรมหาชนก็จริง ออกตามหลักสูตร ไม่ผิดเพี้ยน แต่ไม่เคยมีความเหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น ไม่มีครูวิชาหลักๆ โรงเรียนชายแดน ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ก็ยังอุตส่าห์ให้ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันกับโรงเรียนสาธิตฯและโรงเรียนคุณภาพชั้นนำ

การศึกษาไทย ไม่รู้จะจัดการไปเพื่อประจานตนเองอยู่ทำไม และท้ายที่สุดครูก็จะต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่ร่ำไป ทำไมผู้ใหญ่ในกระทรวงถึงไม่คิดข้อนี้..ไม่เข้าใจ

ดังนั้น..เมื่อผู้ใหญ่ไม่แก้ไขนโยบาย ที่สร้างความทุกข์ยากในกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนก็ต้องหาทางออกเอง ..ที่โรงเรียน..ผมวิเคราะห์ข้อมูล ปี ๒๕๕๕ ผลโอเน็ตออกมาปานกลาง เพราะครูใส่ใจให้เวลา ปี ๒๕๕๖ ตกต่ำ เพราะครูให้ความสนใจงานนอก เช่น อบรมสัมมนา ศิลปหัตถกรรมฯลฯ ปีนี้จึงวางแผนใหม่ งดงานอีเว้นท์ทั้งหมด ลดงานเอกสารโรงเรียน ครูอยู่ประจำห้อง สอนให้เต็มที่....

ภาคเรียนที่ ๑ ที่ผ่านมา ป.๖ เรียนเพิ่มแบบเข้ม(ติว) วันละ ๑ ชั่วโมง พอเข้าสู่ภาคเรียนที่ ๒ เริ่มเรียนตั้งแต่แปดโมง ช่วงบ่ายเข้าเรียนเร็วขึ้น ๓๐ นาที และเรียนพิเศษในวันเสาร์ แม้แต่วันหยุดนักขัตฤกษ์ก็ยังต้องมาเรียนเพิ่มเติม....ผมทำเป็นว่ามีความสุขกับงานแบบนี้ ที่จริงก็ทุกข์ไม่น้อยไปกว่านักเรียน

ข้อสอบเก่าที่จัดหามามากมาย แทบจะเป็นคลังข้อสอบ มอบหมายครูในโรงเรียนที่มีความถนัดมาช่วยกันสอน แม้จะไม่ใช่วิชาเอกก็ตาม เราจะปล่อยให้ครูประจำชั้น ป.๖ วิชาเอกคอมพิวเตอร์ สอนและพัฒนาคุณภาพตามลำพังไม่ได้ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เขตพื้นที่ให้ความสำคัญ นิเทศติดตาม ให้ขวัญกำลังใจพร้อมเครื่องมือให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนก็ยังต้องวิเคราะห์รายวิชาและรายข้ออย่างเข้มข้น เพื่อศึกษาแนวทางของข้อสอบและแนะนำวิธีการหาคำตอบที่ตรงประเด็นที่สุด

เด็ก ป.๖ จะมีเวลาได้ผ่อนคลายน้อยกว่าทุกชั้น แต่ผมก็พยายามทำดีที่สุดได้เพียง ให้เขาเล่นออกกำลังกาย พาไปปลูกผัก เล่นดนตรี พาไปเรียนรู้ในกิจกรรมที่เขาชอบ เป็นบางช่วงบางตอนเท่านั้น

ในแต่ละสัปดาห์ คณะครูจะประชุมหารือ เพื่อสรุปผลความก้าวหน้า และปรับกระบวนยุทธ์กันตลอด ผมพยายามชี้ให้ครูมองเห็นปัญหาว่า นักเรียนของเรา ยังอ่อนและมีปัญหาในสาระใด และมาตรฐานหรือตัวชี้วัดใดเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันครูก็ต้องไม่ลืมศึกษาคู่มือของ สทศ.ว่าเขาเจาะที่เรื่องใด ให้น้ำหนักไว้มากน้อยแค่ไหน..ครูควรทราบไม่ใช่ว่ากันไปเรื่อย เสียเวลาเปล่า เวลาก็เหลือน้อยแล้วด้วย

ครับ..ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็นปีที่ผมเหนื่อย(ใจ)ที่สุดในชีวิต จะออกหัวออกก้อย ก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว ถ้าตกต่ำอีก ก็ต้องทำใจ..เพราะการศึกษาไทยเป็นวังวนให้หนักใจอยู่เช่นนี้

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

</span></strong>

หมายเลขบันทึก: 582916เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาให้กำลังใจ ผอ. ค่ะ



โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย

ใจ สู้หรือเปล่า
ไหว ไหมบอกมา
โอกาส ของผู้กล้า
ศรัทธา ไม่มีท้อ.....

ตามมาให้กำลังใจ

บ้านเราประเมินมากเกินไป

หลายประเทศที่จัดการศึกษาดีก็ไม่ได้ประเมินบ้าเลือดแบบบ้านเรา

ผมเชื่อว่า การประเมินไม่ได้วัดนักเรียน

มันวัดกันแค่เนื้อหาครับ

o net เค้าก้สอบ ผักเค้าก็ปลูก ขอบอก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท