หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เลี่ยงไม่ได้กับการหายไป


บนหินก็เปลี่ยนผ่านจากหินเปล่า ไปเป็นเกิดสาหร่าย มอส หญ้า พืชล้มลุก ไม้พุ่มโตเร็วชอบแดด จนกระทั่งเป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่เป็นป่า บนทรายก็เปลี่ยนผ่านจากทรายเปล่า ไปเป็นเกิดไม้เลื้อยหยั่งรากลง มีไม้ลำต้นใต้ดินยาว แตกกิ่งก้านไปได้ไกล มีรากไม้ใต้ดิน มีไม้พุ่มไม้ใหญ่ ในแหล่งน้ำ ก็เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงก้นน้ำ ไปเป็นเกิดแพลงก์ตอน สาหร่ายเซลเดียว ตัวอ่อนของแมลงบางชนิด สาหร่ายใต้น้ำ ปลา หอย พืชโผล่ใบเหนือน้ำ หอยโข่ง กบ เขียด กุ้ง หนอน ไส้เดือน หญ้า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พืชบก สัตว์บก ป่า

มีคนบอกว่า มีอยู่เรื่องหนึ่งในระบบนิเวศที่หลีกเลี่ยงได้ไม่นาน เรื่องนั้นก็คือเรื่องการแทนที่ของสิ่งมีชีวิต การเปลี่ยนแปลงของบางสิ่งในระบบนิเวศตามกาลเวลาจากสิ่งไม่มีชีวิตไปจนมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มสุดท้าย

รายละเอียดของการแทนที่มีเรื่องน่าสนใจ เกี่ยวกับพื้นที่ทั้งบนบกและแหล่งน้ำ บนบกมีทั้งบนหิน บนทราย

บนหินก็เปลี่ยนผ่านจากหินเปล่า ไปเป็นเกิดสาหร่าย มอส หญ้า พืชล้มลุก ไม้พุ่มโตเร็วชอบแดด จนกระทั่งเป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่เป็นป่า

บนทรายก็เปลี่ยนผ่านจากทรายเปล่า ไปเป็นเกิดไม้เลื้อยหยั่งรากลง มีไม้ลำต้นใต้ดินยาว แตกกิ่งก้านไปได้ไกล มีรากไม้ใต้ดิน มีไม้พุ่มไม้ใหญ่

ในแหล่งน้ำ ก็เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงก้นน้ำ ไปเป็นเกิดแพลงก์ตอน สาหร่ายเซลเดียว ตัวอ่อนของแมลงบางชนิด สาหร่ายใต้น้ำ ปลา หอย พืชโผล่ใบเหนือน้ำ หอยโข่ง กบ เขียด กุ้ง หนอน ไส้เดือน หญ้า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พืชบก สัตว์บก ป่า

เมื่อการเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดสิ่งหนึ่งขึ้น สิ่งที่เคยมีและเกิดมาก่อนจะหายไปจนไม่พบเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การช่วยเหลือของมนุษย์กรณีฟิ้นฟูป่า เป็นเพียงแค่การเข้าไปช่วยร่นให้ระยะเวลาของการแทนที่หดสั้นลง แบบไม่สามารถกระโดดข้ามลำดับการแทนที่ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านเอ่ยถึงรากพืชใต้ดิน ไม้ลำต้นใต้ดินยาว อืม ตรงนี้หมายถึงพืชประเภทหัว ประเภทเหง้าละมั๊ง ถ้าใช่ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ตามรอยธรรมชาติต่อกับเรื่องรากพืชใต้ดิน พืชที่มีเหง้า

ฟังเรื่องนี้ก็ไม่กังขาแล้วว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่านิเวศจึงเน้นย้ำ ให้ยอมรับลำดับการปลูกพืช จากหญ้า ไปสู่ไม้พุ่ม แล้วจึงเป็นไม้ใหญ่

เก็บความรู้ไปใช้ตามรอยธรรมชาติในพื้นที่แล้วดีใจกับความก้าวหน้าที่ ธรรมชาติทำงานให้บนหิน ทีนี้ก็เหลือขั้นของการทำงานร่วมเรื่องกลุ่มต้นไม้ใหญ่ ก็จะไปต่อถึงการเปลี่ยนผ่านไปเป็นป่าได้ต่อไป

ส่วนความก้าวหน้าของการทำงานบนทรายนั้น วันนี้มีไม้เลื้อยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่ เห็นทียังต้องแกะรอยเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ธรรมชาติสื่อความไว้โดยให้กลุ่มไม้ที่พบในที่แห่งนี้เป็นครูให้ต่อไป

เคยรู้มาว่า เวลาฝนตกลงมาแต่ละห่า ดินก็เหมือนได้รับน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆรดราดลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศแทรกตัวเข้าไปในหยดน้ำฝนทำให้น้ำฝนกลายเป็นกรด คาร์บอนิก ถ้าในบรรยากาศมีสารกรดอยู่ สารกรดก็ละลายเข้าไปในหยดน้ำฝนด้วย

เพิ่งรู้เพิ่มว่า แอมโมเนียที่ระเหยขึ้นจากดิน ก๊าซไข่เน่า เจอน้ำฝนจะเกิดเป็นกรดกำมะถัน กรดดินประสิว น้ำฝนนั้นกลายเป็นกรดแก่หยดลงดิน ดินก็เป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก อยากรู้ก็เก็บตัวอย่างน้ำฝนในที่โล่งด้วยภาชนะสะอาดวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ถ้าเจอค่าต่ำกว่า ๕.๖ น้ำฝนนั้นเริ่มมีความเป็นกรดแล้ว

ความเป็นกรด-ด่างในดินมีอิทธิพลต่อความสามารถในการดูดซับอาหารจากดินของพืช ดินที่มีความเป็นกรดมากทำให้ธาตุแมงกานีส ธาตุอลูมิเนียม ธาตุเหล็กละลายอยู่ในดินมากเกินไป จนเกิดเป็นพิษต่อพืชได้ มักพบปัญหานี้ถ้าค่าความเป็นกรด-ด่างที่พบต่ำกว่า ๔.๕ ลงไป ดินที่มีความเป็นกรดมากยังทำให้จุลินทรีย์ดินทำงานได้ช้า การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุเป็นไปได้ช้า

แสดงว่าที่ธรรมชาติทำงานบนหิน บนทรายมาแล้วนั้น มีเรื่องให้ฝ่าฟันเกี่ยวกับความเป็นกรด-ด่างของดินแต่ละจุดอยู่ทุกๆวัน และปรากฏการณ์เรื่องรังมดแดงบนต้นไม้แต่ละต้น ก็มีเรื่องราวแฝงเกี่ยวกับความเป็นภัยของดินที่มีผลต่อต้นไม้ด้วย

อืม การปลูกป่ามิได้เป็นเพียงการฝังต้นไม้ลงดิน หากแต่มีอะไรเบื้องหลังเกี่ยวกับวิวัฒนาการอยู่มากหลายที่ท้าทายให้ทำความเข้าใจซะใหม่

หมายเลขบันทึก: 582899เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท