​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๑๒. ควงสาวเที่ยวเยอรมนี ๑๐. มิวนิก



เราเดินทางถึงมิวนิก ค่ำวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ โรงแรม Leonardo อยู่ใกล้สถานี แต่ไปครั้งแรกก็ต้องคลำทาง และถามทาง ผมใช้วิธีถามคนขับรถแท็กซี่ เขาช่วยชี้ทางด้วยอัธยาศัยที่ดีมาก

ที่รีเซพชั่น สาวน้อยบอกเจ้าหน้าที่ว่า ค้นหาโรงแรม Leonardo ทางอินเทอร์เน็ตยากมาก เธอตอบว่า เพราะในเมืองมิวนิกมีโรงแรมชื่อนี้ (เป็นเชน) ๖ โรงแรม และในยุโรปมีเป็นร้อย

ห้องพักที่เราได้หมายเลข ๑๕๙ พักสามคืน ๒๖๐.๙๕ ยูโร ไม่มีอาหาร และไม่มี Wifi ฟรีไม่ว่าในห้องหรือที่อื่น ถ้าจะใช้ Wifi ต้องซื้อ ผมคิดว่าตนเองมี AIS Mobile Wifi มาด้วย ก็ไม่คิดจะซื้อเวลาเพราะเขาคิดแพง แต่ผิดหวัง AIS Mobile Wifi เอามาใช้ในเยอรมันใช้ไม่ได้เลย


วันจันทร์ ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ วันแห่งพิพิธภัณฑ์

ที่จริงเราไปชมพิพิธภัณฑ์เดียว คือ Munich Residence ซึ่งเป็นวังของเจ้าผู้ครองแคว้นบาวาเรีย ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๐๘ จนสิ้นยุคกษัตริย์ในปี ๑๙๑๘ เป็นเวลา ๔๑๐ ปี โดยเดินดูอยู่เกือบสามชั่วโมง สาวน้อยบอกว่าเต็มอิ่มแล้ว

เราตื่นเช้าตีสี่เศษๆ โดยหลงคิดว่าตีห้าเศษๆ เพราะตั้งให้นาฬิกาของ iPad ปลุกเวลาไทย ๑๐ โมง ผมได้มีเวลาเขียนบันทึกของนูเร็มเบิร์กเสร็จ

หลังจากอิ่มอาหารเช้าที่หัวหน้าทัวร์เตรียมเสบียงมาจากกรุงเทพ เราออกเดินทางเที่ยวมิวนิก โดยหัวหน้าทัวร์กำหนดว่าไป ๒ ที่ คือ Residenz กับ Schloss Nymphenburg เป็นวังทั้งคู่ เราไปขอแผนที่จากโรงแรม และไปหา Tourist Information Office ใกล้สถานีรถไฟกลาง แต่ยังไม่เปิด กำหนดเปิด ๑๐.๐๐ น. จึงไปปรึกษาเจ้าหน้าที่รถไฟ ช่องปรึกษาการเดินทาง ได้ตั๋ววันเดินทางอยู่เฉพาะชั้นในของเมือง สองคนราคา ๑๑.๒ ยูโร แล้วนั่งรถไฟ S1 ไปจตุรัสมารีน (Marienplatz) ซึ่งเป็นจตุรัสกว้างขวาง ถือเป็นศูนย์กลางเมือง มีโบสถ์ St. Peter ซึ่งสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๑๕๐ ที่นี่เขาห้ามถ่ายรูป อาคารใหญ่ที่สุดในบริเวณเป็นศาลาว่าการเมือง ซึ่งมีทั้งหลังเก่าและหลังใหม่อยู่ติดกัน ลักษณะเก่าทั้งคู่ แต่หลังใหม่มีหอคอยสูงเด่นเป็นที่สังเกต สวยงามมาก ภายในอาคารมีจตุรัสกว้าง ด้านหน้าอาคารมีคอลัมน์สูง มีพระรูปพระแม่มารีอุ้มพระบุตรอยู่ข้างบนเป็นสีทองอร่าม

ที่นี่มี Tourist Information Center เปิดตั้งแต่ ๙ น. เราจึงเข้าไปเอาเอกสารแผ่นพับ และซื้อแผนที่ City Map ซึ่งมีคำแนะนำที่เที่ยว ๑๒ แห่งสั้นๆ พร้อมรูป และมีคำแนะนำอื่นๆ แก่นักท่องเที่ยวดีมาก แต่แปลกที่ไม่มีแนะนำ Residenz แผนที่นี้ราคา ๐.๔๐ ยูโร เขาให้หยิบและหยอดเหรียญเอง ในเยอรมนี มีระบบเชื่อใจกันที่เข้มแข็งมาก ผมคิดว่า สังคมใดสามารถทำให้ระบบความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นสิ่งปกติ หรือเป็นวัฒนธรรม สังคมนั้นจะน่าอยู่และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ผมมีความตั้งใจเป็นส่วนเล็กๆ ในการสร้างวัฒนธรรมนี้ให้แก่สังคมไทย ผ่านขบวนการปฏิรูปการศึกษา

ที่จตุรัสมารีน เห็นหอคอยคู่รูปหัวหอมสีเขียว ของมหาวิหารมิวนิก (Munich Dom) หรือ Frauenkirche (Church of Our Lady) เราเดินไปชมข้างในซึ่งสวยงามมาก

อากาศหนาวมาก แต่เราก็ทนเดินเล่นไปทั่วบริเวณ จนไปพบแผงขายผลไม้หลายแผง กระจายอยู่ในบริเวณ สาวน้อยปิ๊งลูกพลับสด จึงซื้อ ๓ ผล ราคา ๑.๙๙ ยูโร (อร่อยมาก) แล้วสาวน้อยดูแผนที่ถามทางไปเรื่อยๆ เพื่อจะไป Residenz หลงทางบ้าง จนในที่สุดก็เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ Residenz ซื้อตั๋วควบ ชมวังและชมเครื่องประดับ ราคาผู้สูงอายุ (เกิน ๖๕) คนละ ๙ ยูโร จากราคาเต็ม ๑๒ ยูโร

นี่ขนาดวังของ Elector หรือกษัตริย์ของแคว้นบาวาเรีย ไม่ใช่วังจักรพรรดิ์ ยังใหญ่โตและอลังการถึงขนาดนี้ เขามีออดิโอไกด์ให้ยืมโดยไม่คิดเงิน ซึ่งหากฟังคำอธิบายแต่ละหมายเลขให้จบจึงเดินต่อ อยู่ทั้งวันก็คงจะยังดูไม่จบ

ในเวลา ๔๐๘ ปี ที่ Residenz เป็นวังของราชวงศ์ Wittelsbach ผู้ครองแคว้น บาวาเรีย ตัวผู้ครองแคว้นเลื่อนฐานะรวม ๓ ครั้ง คือครั้งแรก ปี ๑๑๘๐ เป็น Duchy, ปี ๑๖๒๓ เป็น Electors, และปี ๑๘๐๖ เป็น King of Bavaria วังก็มีการขยายไปตามความเจริญก้าวหน้าของแคว้น หลังจากยกเลิกระบบกษัตริย์ในปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ตัววังจึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชมตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ เวลานี้เปิดห้องให้ชม ๑๓๐ ห้อง สาวน้อยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าวังมีทั้งหมด ๕๐๐ห้อง ที่เราได้เข้าไปชม น่าจะไม่ถึง ๕๐ ห้อง ที่จริงเราเลือกเดินชมรอบเล็ก น้อยกว่ารอบใหญ่ ๑๐ ห้อง

ห้องที่เราไปชมมีห้องเลี้ยงอาหาร (ซึ่งใหญ่โตมโหฬารและประดับพระรูปกษัตริย์ ราชินี และสังฆราชเต็ม) ห้องพระรูปต้นตระกูล ห้องประดับเครื่องเซรามิก (ซึ่งยาวและอลังการมาก) ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องถ้ำเทพนิยาย ห้องจัดแสดงของเก่า โบสถ์ ห้องคนรอเข้าเฝ้า ท้องพระโรงให้คนเข้าเฝ้า ห้องจัดแสดงเครื่องเคลือบดินเผาจากจีนและญี่ปุ่น หลายส่วนถูกทำลายในสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ บางส่วนบูรณะเหมือนเดิม บางส่วนบูรณะพอให้เห็นรูปร่าง แต่ไม่ประดับประดาอย่างเดิม เช่นโบสถ์

ในแต่ละห้องมีเฟอร์นิเจอร์ประดับ ทั้งที่เป็นของเดิม และของทำเลียนขึ้นใหม่ เราได้เห็นฝีมือช่างสมัยโบราณที่ประกอบเครื่องเรือนที่ละเอียดลออและงามตระการตามาก

นิทรรศการทรัพย์สมบัติ (Treasures) มี ๑๐ ห้อง มีชิ้นงานศิลปะ สวยงามลานตาไปหมด บางชิ้นงานมีขนาดเล็กจิ๋ว การแกะสลักต้องใช้ฝีมือมาก บางชิ้นมาจากต่างประเทศ เช่นอินเดีย ศรีลังกา

สาวน้อยหมดแรงแล้ว เราจับรถรางสาย ๑๙ กลับ Hbf ซี้อปลา take away ที่ร้าน Gosch Sylt กลับไปกินที่โรงแรม และนอนพักขา

บ่ายสี่โมงเศษ ชวนกันไปเดินเล่นที่ Karlplatz ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แต่นั่งรถรางสาย ๑๙ ไป พอไปถึงผมก็ชวนนั่งเที่ยวให้สุดสาย แล้วนั่งกลับ หัวหน้าทัวร์ตกลง รถรางแล่นไปตาม Maximilianstrasse ไปข้ามแม่น้ำ Isar ทางสะพาน Maximulianbruecke ผมสังเกตหาที่เดินเที่ยวริมน้ำก็ไม่เห็น ดูเงียบๆ มืดๆ เมื่อนั่งเลยไปสักครู่ เธอชวนลง ผมบอกว่าให้นั่งไปถึง Ostbahnhof (สถานีรถไปตะวันออก) จะหารถสาย ๑๙ กลับง่ายกว่า แต่ในที่สุดที่สถานีหนึ่งเธอก็ชวนลง เป็นที่ๆ ไม่มีอะไรให้ดู ได้แต่หารถกลับเท่านั้น และอากาศก็หนาวมากด้วย

อนิจจา ป้ายบอกว่าไม่ใช่ป้ายของสาย ๑๙ เรายืนเก้ๆ กังๆ ท่ามกลางความหนาวนานพอควร ก็เห็นรถรางสาย ๑๙ แล่นผ่านไป ไม่จอด ไปจอดไกลออกไป และมีคนลง เราเดินไปรอตรงนั้น ซึ่งลักษณะไม่เป็นป้ายจอดรถราง แต่สักครู่ก็มีสายอื่นมาจอดแล้วไป

เรายืนรออยู่ท่ามกลางความหนาวอยู่นานทีเดียว ในที่สุดรถรางสาย ๑๙ ก็มา และแล่นเลยไป ไปจอดที่ป้ายจริงของเขา ซึ่งอยู่ไกลประมาณ ๕๐ เมตร อีกฝั่งของสี่แยก เรารีบวิ่งตามไป ผมไปถึงก่อน ประตูปิดพอดี ผมกดที่เปิดประตูและรอให้สาวน้อยวิ่งมาถึง ในที่สุดเราก็ได้ขึ้นรถสาย ๑๙ กลับ Hbf หัวหน้าทัวร์บอกว่า ค่อยเที่ยว Karlplatz พรุ่งนี้ ตอนกลางวันอากาศอุ่นกว่า เราแวะซื้อปลาทอดแบบเดิมเอาไปกินที่ห้องพัก

การผจญภัยความหนาวและวิ่งตามรถรางได้ดังที่เล่า แสดงว่าสุขภาพของสาวน้อย ที่เราเป็นห่วง โดยเฉพาะสุขภาพของเข่า ไม่ก่อปัญหาเลยสำหรับการเที่ยวครั้งนี้


วันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ วันสุดท้ายที่มิวนิก จบลงด้วยความชื่นมื่น

หัวหน้าทัวร์บอกว่าวันนี้ไม่ชมวังแล้ว ไปเดินชมตลาดดีกว่า เธอเล็ง Viktualienmarkt ซึ่งอยู่ระหว่างจตุรัสมารีน (Marienplatz) กับจตุรัสคาร์ล (Karlplatz) เป็นตลาดที่อายุกว่า ๒๐๐ ปี

เรานั่งรถรางหลง แต่ในที่สุดก็ไปลงที่ Karlplatz ตามเป้าหมายของหัวหน้าทัวร์ เดินไปเรื่อยๆ ตาม Kaufingerstrasse ในที่สุดก็ไปถึง Marienplatz ที่เราไปเดินเที่ยวเมื่อวาน และในที่สุดก็พบป้ายบอกทางไปตลาด วิคทัวลีน ที่เป็นเป้าหมาย ถือเป็นคล้ายๆ ตลาดสนามหลวงสมัยก่อน หรือตลาดจตุจักรสมัยนี้ คือมีของขายทุกอย่าง สาวน้อยระดมซื้อลูกพลับสด ตั้งแต่ยังอยู่ที่จตุรัสคาร์ล และซื้อเรื่อยไปรวมสัก ๔ จุดเห็นจะได้ ใส่เป้ของผมแบกหลังแอ่นไปเลย แล้วแวะซื้อตุ๊กตาฝากหลาน

ที่ร้านหนึ่ง สาวน้อยถามว่าคนขายปลูกพลับเองใช่ไหม เขาตอบว่าเขามาจากโคโซโว ส่วนลูกพลับมาจากสเปน

เวลาราวๆ ๑๐ โมง เราก็ชวนกันว่ากลับเอาของหนักไปเก็บโรงแรมแล้วค่อยออกไปเดินเที่ยวใหม่ และซื้อขาหมูเยอรมันที่ร้านในตลาดไปกินแกล้มเบียร์เป็นอาหารเที่ยง ร้านที่เราแวะซื้อมีคนขายเป็นสาว (ใหญ่) คนไทย บอกว่าอยู่มากว่ายี่สิบปีแล้ว เมืองนี้คนไทยชอบมาเที่ยวและชอบมาซื้ออาหารที่ร้านของเธอด้วย ไม่ทราบว่าเพราะขาหมูช่วยหรือเปล่า ผมพบว่าเบียร์ที่กินก่อนเที่ยงวันนี้อร่อยกว่าทุกชนิด ยี่ห้อ Edelstoff ระบุปีเริ่มผลิต 1328 วันนี้อากาศเย็นพอๆ กับเมื่อวาน

ก่อนบ่ายโมงหัวหน้าทัวร์ก็ชวนไป Maximilian Monument โดยนั่งรถรางไป เดินหาสถานที่อยู่นาน จนในที่สุดก็ตระหนักว่า เข้าใจสลับกับ Max – Joseph Platz ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ Residenz และเมื่อวานนี้เราได้ไปถ่ายรูปหน้าสถานที่นี้แล้ว หัวหน้าทัวร์จึงนำกลับโรงแรม เพราะในห้องอุ่นสบายกว่ามาก



Rathaus หลังใหม่กับหลังเก่า ที่ Marienplatz


Residenz ห้องจัดเลี้ยง (Antiquarium)


Black Hall สร้างปี 1590 จุดเด่นคือภาพวาดที่เพดาน
ที่ทำให้มองเห็นเพดานแบนๆ เป็นภาพ ๓ มิติ ดังในภาพที่ ๔


ศิลปะเยอรมัน สร้างภาพสามมิติ


ห้องนอนของท่าน Elector ผมตกใจว่าเตียงสูงมาก


ห้องนอนของชายาเจ้าเมือง ไม่ได้ตั้งเตียงไว้


ห้องรอพบชายาเจ้าเมือง


ห้องภาพบรรพบุรุษ (Ancestral Gallery)


ส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติ (Treasures) ของเจ้าครองนคร
ในภาพเป็นภาชนะที่ทำด้วย cristal ไม่ใช่แก้วธรรมดา


ทำด้วยหินมีค่า (semi-precious stones)


ชิ้นนี้มาจากศรีลังกา เข้าใจว่าทำด้วยงาช้าง


Max - Joseph Platz


ประตูเมืองเก่าที่ Karlplatz


ตลาด viktualienmarkt


สาวน้อยกับ ไอด้า ชูมักเกอร์ ในตลาดวิคทัวลีน



ขาหมูเยอรมัน ขาละ ๔ ยูโร


Maximiliam Monument



๒๙ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 582762เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจนี่ต้องเริ่มจากการนับถือตัวเองนะคะ ต้องสร้างกันตั้งแต่เด็กๆเลยค่ะ อาจารย์ถึงจะติดตัวไปตลอด

วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจนี่ต้องเริ่มจากการนับถือตัวเองนะคะ ต้องสร้างกันตั้งแต่เด็กๆเลยค่ะ อาจารย์ถึงจะติดตัวไปตลอด

อ่านบันทึกเหมือนได้ตามอาจารย์ไปเที่ยวด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท