ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๐๖. ควงสาวเที่ยวเยอรมนี ๔. แฟรงค์เฟิร์ต วันที่ ๒



ตอนที่ ตอนที่ตอนที่ ๓

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมรอจน ๖ โมงเศษก็ยังไม่สว่าง สาวน้อยชวนลงไปกินอาหารเช้าเสียก่อนออกไปวิ่ง เพราะเขาเริ่มบริการอาหารเช้าเวลา ๖.๐๐ น. และท้องเราเริ่มหิว เพราะยังชินกับเวลาไทย เราจึงเป็นคู่แรกที่เข้าไปกินอาหารเช้า เป็นอาหารที่ดีมาก มีสารพัดอาหาร รวมทั้งข้าวสวย ผัดหมี่ และอาหารเจ แน่ละ เรากินอาหารเยอรมัน

กินเสร็จเริ่มสว่างพอดี ผลัดเสื้อผ้าออกไปวิ่งดูลาดเลารอบๆ โรงแรมและสถานีรถไฟ พบรถโค้ชคันโตๆ หลายคัน มาจอดรับผู้โดยสารไปต่างเมือง เช่น Hamburg และเข้าไปศึกษาป้ายบอกทิศทางของสถานีรถไฟ โดยเฉพาะป้ายชี้ทางไปที่ให้บริการตู้ฝากกระเป๋าชั่วคราว จึงได้พบว่า เยอรมันก็ติดป้ายชี้ทางมั่วเหมือนกัน

ตามกำหนดเดิมของสาวน้อยหัวหน้าทัวร์ วันนี้เราจะไปเที่ยว บาด ฮัมบวร์ก ไปชมศาลาไทย และวัฒนธรรมอาบน้ำแร่สมัยโบราณ แต่เพราะพนักงานรถไฟสไตรค์ รถไฟ S5 จึงหยุดวิ่ง พนักงานรถไฟที่เราไปถามข้อมูล กด สมาร์ทโฟนแนะนำวิธีไปด้วย U4 ต่อ U2 ต่อรถบัส ผมบอกสาวน้อยว่า ซับซ้อนนัก อย่าไปเลย เพราะที่เที่ยวก็ไม่สำคัญอะไร อยู่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำ ไมน์ ดีกว่า เป็นอันตกลงตามนั้น

เราออกจากสถานีรถไฟ ออกมาพบว่าหมอกลงหนัก บ้านเราหมอกลงตอนเช้า พอสายก็หายไป เรามาพบหมอกที่ลงหนักตอนสาย ที่ แฟรงค์เฟิร์ต

กลับมาตั้งหลักที่โรงแรม หัวหน้าทัวร์หาแผ่นพับไกด์ทัวร์มาศึกษา หาสถานที่เที่ยว สรุปว่าไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ สแตเดล (Stadelsches Kunstinstitut) หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกสั้นๆ ว่า Stadel Museum ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพิพิธภัณฑ์ริมแม่น้ำ เปิดเวลา ๑๐.๐๐ น. นั่งรถรางสาย ๑๖ ข้ามแม่น้ำ ไปลงที่สถานี Otto Hanh Platz แล้วเดินคลำทางไป ค่าบัตรผ่านประตูคนละ ๑๔ ยูโร บัตรโดยสาร Frankfurt Card ช่วยให้เราได้ลดครึ่ง ผมเช่า Audio Guide ราคา ๔ ยูโร ไปดู ๓ ชั้น คือชั้น ๑ เป็นศิลปะสมัยใหม่ Modern Ars – 1800 – 1945) ชั้น ๒ เป็นศิลปะโบราณ (Old Mastering Painting – 1300 – 1800) ชั้นใต้ดินเป็นศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art – 1945 - ปัจจุบัน)

เนื่องจากผมต้องเข้าไปอ่านตัวหนังสืออธิบายภาพใกล้ๆ เพราะตาไม่ดี หรือเข้าไปถ่ายภาพคำอธิบายแบบ โคลสอัพ ผมถูกเตือน ๒ ครั้ง ว่าห้ามเข้าไปใกล้เกิน ๕๐ซ.ม. ไม่ทราบว่าเหตุผลคืออะไร ก่อนเข้าไปชมผมถามเขาก่อนว่า ถ่ายรูปได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ห้ามใช้แฟลช

พิพิธภัณฑ์นี้ดีมาก มีคำอธิบายภาพรวมของแต่ละห้องว่าแสดงความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงอะไร สะท้อนยุคของศิลปะการวาดภาพ ที่ผมไม่มีความรู้เลย จึงเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้แบบผิวเผินว่า ไม่ว่าวงการใด ต้องมีคนหรือกลุ่มคน ลุกขึ้นมา "กบฏ" ต่อแนวทางเดิมๆ จึงจะเกิดความก้าวหน้าในวงการนั้น

ชมภาพวาดและศิลปะสร้างสรรค์จนหมดแรงอาหารเช้า จึงออกมานั่งกินปิกนิกที่ริมแม่น้ำ ไมน์ ท่ามกลางผู้คนที่มาขี่จักรยาน วิ่งออกกำลัง และเดินเล่น และวิวอาคารที่ฝั่งเหนือ รวมทั้งวิวสะพานโฮลไบน์ (Holbeinsteg) ซึ่งเป็นสะพานคนเดิน

พอมีกำลัง ก็ชวนกันเดินเล่นชมวิวและถ่ายรูปบนสะพาน โฮลไบน์ ข้ามฟากไปฝั่งเหนือ และเดินคลำทางกลับ Hbf (สถานีรถไฟกลาง) และกลับไปพักที่โรงแรม เรามาทราบจากป้ายบอกทางภายหลังว่า ระยะทางจากพิพิธภัณฑ์ ถึง Hbf เท่ากับ ๑ กิโลเมตร

ตกเย็น สาวน้อยชวนไป validate ตั๋วรถไฟ Eurail Pass (ที่สาวน้อยจัดการซื้อมาจากกรุงเทพ) ที่ห้องบริการ DB (Deutche Bahn) ที่เราไปถามข้อมูลทุกวัน แล้วชวนกันไปเดินเล่นบนถนนไกเซอร์ จนไปพบ Willy Brant Platz ที่มีการออกแบบ renovate พื้นที่ใหม่ ทำให้ดูกว้างขวางสวยงาม มีสวนสาธารณะเล็กๆ ให้คนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ผมได้ถ่ายรูปท้องฟ้าในเมืองใหญ่ยามอาทิตย์อัสดงที่นี่ จาก Willy Brandt Platz เรานั่งรถรางสาย ๑๑ กลับ Hbf




ภาพในพิพิธภัณฑ์ สแตเดล ภูเขาไฟเวสุเวียสระเบิด ปี ๑๘๒๐ โดย Johan Christian Dahl


ภาพ Houses on the Bank of River Zann 1871 โดย Claud Monet


ในห้อง Max Beckmann


ครูพานักเรียนมาเรียนศิลปะ ภาพนี้ถ่ายในห้องศิลปะยุคเก่า


ห้องศิลปะร่วมสมัย


หมดแรงในห้องศิลปะร่วมสมัย


ที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำ ไมน์


แม่น้ำไมน์ ถ่ายจากสะพาน โฮลไบน์


บนสะพาน โฮลไบน์


ทางเท้าบนถนนไกเซอร์ยามเย็น


นั่งเล่นในสวนสาธารณะที่ Willy Brandt Platz


Willy Brandt Platz


ท้องฟ้ายามสนธยา ถ่ายที่ Willy Brandt Platz


ถ่ายหน้า Hbf


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๗

โรงแรม Monopol, แฟรงค์เฟิร์ต


หมายเลขบันทึก: 581988เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท