จิตตปัญญาเวชศึกษา 214: "สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม ภาค 3


"สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม ภาค ๓

เขียนไปแล้วสองภาค มีคำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้นคือ "แล้วจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร จึงจะดี?" อยากจะนำมาใคร่ครวญและสะท้อนดู ตรงนี้ต้องมี disclaimer ว่าไม่เคยทำวิจัยหาคำตอบจริงๆจังๆ ดังนั้นเป็นเพียง personal observation ผสมๆกับที่เคยอ่า่นมาบ้าง (evidence-based level 5)

@บริบทของผู้เรียนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
เดี๋ยวนี้นักศึกษาเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน สมัยก่อนนั้นระบบ paternalism ระบบที่ผู้เหนือกว่า (วัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ ฯลฯ) เป็นผู้มอบ ถ่ายทอด หรือสั่งสอนเหมาะสำหรับ mentality ที่ชอบมีผู้นำ ชอบเป็นผู้ตาม ไม่ค่อยชอบคิดเองแต่ชอบมีคนบอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ดีกว่า ฯลฯ ในผู้เรียนแบบนี้การสอนแบบ classic ดั้งเดิมเหมาะมาก เพราะครูมีอำนาจเต็ม มี authority พูดอะไรก็เป็นอย่างนั้น นักเรียนก็จดไป บันทึกไป จำไป
แต่ถ้าบริบทของผู้เรียนเปลี่ยนไป เป็นมี autonomy มากขึ้น อยากคิดเอง อยากเป็น อยากมี อยากรู้นั่นรู้นี่ ไม่อยากทำอย่างนั้น ไม่อยากทำอย่างนี้ จนไปถึง extreme อย่าง rebellion กบฎ บทบาทการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนไป หันไป focus ที่การจัด "บทบาทการเรียน" มากขึ้น

เพราะจริงๆแล้ว "การเรียนสามารถเกิดขึ้นโดยไม่มีการสอน" และบางครั้งก็ "มีแต่การสอน ไม่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น"

การเปลี่ยนโจทย์เป็นจัดกิจกรรมการเรียน (โดยจะมีสอนหรือไม่มีสอน) จะเปิดความเป็นไปได้หลายประการขึ้น ที่สำคัญก็คือ บริบทที่ "ทุกคน ณ ที่นั้น" เป็นผู้เรียน และสามารถเป็นผู้ contribute หรือมอบอะไรบางอย่างให้กับ group ได้ด้วย ในแบบนี้ นักเรียนก็อาจจะมีบทบาทเป็นคนสอนอยู่ชั่วขณะ ครู (หรืออาจจะเรียกเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียน) ก็สามารถกลายเป็นผู้เรียนไปตามวาระ กิจกรรมแบบนี้จะถูกจริตกับบริบทที่สองที่เน้น autonomy หรือ freedom ของผู้เรียนได้มากกว่าแบบเดิม

@ inter-professional facilitator
มีคำใหม่เข้ามาจากงานประชุม AP-PBL ที่ภูเก็ต ในการจัด PBL (problem-based learning) แบบที่ใช้ผู้สอนหรือผู้คุมหลากหลาย expertise ซึ่งน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนจริยธรรม

เพราะ "จริยธรรม" เป็นเรื่องที่ว่าด้วยเหตุผล "ทางสังคม" มากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

การนำเอาผู้คนจากหลากหลายวิชาชีพเข้ามา ไม่ได้นำมาเฉพาะ "คน" แต่นำเอามุมมองที่หล่อหลอมด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันเข้ามาผสม เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น "คุณค่า" ของเรื่องราวหนึ่งๆนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการหล่อหลอมที่ว่านี้ ในสังคมที่แท้จริง คุณค่าทางจริยธรรมจะเป็นผลผลิตของ melting pot หม้อหลอมรวมของหลายๆวัฒนธรรม ความเชื่อ การเลี้ยงดู ฯลฯ ดังนั้นมุมมองที่แตกต่างจะเพิ่ม "มิติและความลึกซึ้ง" ให้กับการเรียนรู้มากขึ้น

ทักษะที่สำคัญที่จะได้คือ "suspension of assumption" หรือการห้อยแขวนความคิดเห็น ไม่รีบด่วนตัดสิน

เพราะในขณะที่มีแต่คนในวงการเดียวคิด ทำ พูด ผู้ที่มีความรู้มากที่สุด ประสบการณ์มากที่สุด ก็กลายเป็นผู้ dominate ชี้นำกลุ่มไปโดยปริยาย แต่การที่ทำกิจกรรมที่เริ่มมีผู้คนหลากหลายวงการ ทำให้เกิด awareness รับรู้ว่ามีคนในบริบทนั้น ที่รู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้เลยได้ง่ายขึ้น แน่นอน คงจะไม่มีประโยชน์ในกิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะคนนอกคงจะไม่รู้ลึกซึ้ง แต่ถ้าพูดถึงมิติทางสังคมที่แพทย์เกี่ยวข้องด้วย เช่น จริยธรรม คุณธรรม ข้อมูลจากคนภายนอกวงการอาชีพจะเป็นสิ่งเพิ่มเติมที่สำคัญมาก เปิดโลกทรรศน์ เปิดหูเปิดตาให้ออกจากกะลาเล็กๆไปสู่โลกภายนอกที่กว้างใหญ่ได้ตรงกับความเป็น จริงมากขึ้น

@การเรียนจริยธรรมเป็น formative และต่อเนื่องตลอดไป

อุปสรรคสำคัญในการเรียนเรื่องจริยธรรมคือ "การประเมินเพื่อตัดสิน"

ความยากที่แท้จริงของเรื่องนี้ ที่นักเรียนจะนำไปใช้ในชีวิตจริงคือ เรื่องชีวิตนั้นเป็น dilemma หรือประเด็นขัดแย้งที่ซับซ้อน ไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นขาวกับดำชัดเจน แต่ใน concept หลักการประเมินแบบ summative หรือการประเมินเพื่อตัดสิน เพื่อจัด ranking นั้น ต้องมี validity มี accuracy และมี precision ทั้งสามประการไม่ค่อยเผื่อแผ่เรื่องความไม่ชัด ความไม่แน่นอน และความเป็น "บริบทเกี่ยวข้องอย่างมาก" (หรือความไม่เป็น "ปรนัย")

ถ้าการเรียนจริยธรรมแล้วมีการสอบ ยิ่งสอบได้เกรด A B C+ อะไรด้วย จะเกิดความ "ไม่สมจริง" ขึ้นคือแทนที่นักเรียนจะทุ่มเทตอบจากตัวตนจริง และได้ feedback กลับเพื่อการเรียนรู้เพิ่มต่อยอด จะกลายเป็นการตอบแบบกะเก็งผลลัพธ์ คือคะแนนสูงๆ หรือการกะเก็งว่า "อาจารย์อยากจะให้ตอบว่าอะไร" การตอบแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดการ "เปลี่ยนแปลงในตัวตน" ซึ่งเป็น ultimate goal ของการเรียนรู้แต่อย่างใด แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะเสแสร้งให้อยู่รอด ให้ดูดี ให้เกิด "ภาพลักษณ์" ซึ่งปกคลุมตัวตนที่แท้จริงไว้ได้ภายใต้เสื้อคลุมแห่งความเสแสร้งนี้

การเรียนจริยธรรมที่หวังผลในตัวตนผู้เรียนจึงต้องมีพื้นที่ self reflection การสะท้อนตนเองเพื่อค้นหาคุณค่า และความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของสิ่งที่ตนเองคิด พูด ทำ มีต่อคนรอบข้าง ต่อสังคม ต่อโลกใบนี้ ถ้าหากจะมีการประเมิน ก็ควรจะเป็นการประเมินแบบ formative เพื่อสร้างสรรค์ต่อยอด มิใช่เพื่อตัดสินได้ตก หรือเพื่อ ranking

คำถามที่ควรจะทิ้งท้ายกิจกรรมเสมอๆก็คือ "ต่อจากนี้ไป จะทำอย่างไรต่อ เพื่ออะไร เพราะอะไร เราจะกลายเป็นคนแบบไหนสำหรับสังคม?"

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๘ นาฬิกาา ๒๖ นาที
วันแรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 581932เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2014 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2014 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท