​แรงจูงใจและปัจจัยในการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา (Motivations and Factors in Decision Making for Post Graduate Study)



มนุษย์รู้จักการเรียนรู้มาช้านาน การเรียนรู้ในระยะแรกมาจากการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการสังเกตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด มนุษย์ค่อยๆพัฒนาการเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ และรู้จักการบันทึกสิ่งที่พบสิ่งที่สังเกตได้ด้วยการวาดเป็นภาพ การสลักภาพ การคิดค้นตัวอักษรเพื่อใช้เขียน มนุษย์ยังรู้จักการตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเห็นและปรากฏการณ์ต่างๆและพยายามหาคำตอบต่อสิ่งเหล่านี้ รู้จักการคิดค้นทดลองอย่างมีแบบแผนเพื่อหาคำตอบ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และมีการบันทึกความรู้ต่างๆไว้ มีการจัดหมวดหมู่ความรู้ต่างๆให้มีระเบียบแบบแผนซึ่งการพฤติกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ไม่พบในสัตว์ประเภทอื่น

มนุษย์ยังได้เปรียบสัตว์ประเภทอื่นๆเนื่องจากมนุษย์มีสมองขนาดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดลำตัวและน้ำหนักของร่างกาย ทำให้มนุษย์มีสติปัญญาในระดับสูงกว่าสัตว์อื่นๆ รู้จักการเรียนรู้จนสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีวิต สมองของมนุษย์ยังมีพัฒนาการที่ดีกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้มนุษย์ยังรู้จักแสวงหาความรู้ สังเคราะห์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ได้ มีความสามารถจดจำประสบการณ์ที่ได้รับในอดีต แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีวิตได้

มนุษย์ในแต่ละช่วงมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป การเรียนรู้มีทั้งการเรียนรู้ในระบบหรือการเรียนตามหลักสูตร ได้แก่ การเรียนรู้ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา เป็นต้น และการเรียนรู้นอกระบบหรือการเรียนรู้นอกหลักสูตร ได้แก่ การเรียนรู้จากการฝึกฝน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การฝึกอบรม เป็นต้น

การเรียนรู้ของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลามีแรงจูงใจที่แตกต่างกันไป แรงจูงใจ (Motivation) คือ แรงผลักดันที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) แรงผลักดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเกิดมาตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ โดยมีสิ่งเร้า (Stimuli) เป็นตัวช่วยเสริมแรงหรือไม่มีก็ได้

ความต้องการของมนุษย์ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สามารถจูงใจให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองออกมา

ในเรื่องของความต้องการนั้น มาสโลว์ (Abraham Harold Maslow) ได้อธิบายถึงความต้องการของมนุษย์ ไว้ว่าความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้นจากต่ำไปหาสูง (Hierarchy of Needs) ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มักถูกนำเสนอโดยรูปพีระมิด ความต้องการขั้นพื้นฐานหรือขั้นต่ำสุดจะอยู่ข้างล่างและความต้องการขั้นสูงสุดของชีวิตจะอยู่บนสุด โดยระบุว่าความต้องการของมนุษย์มีลำดับขั้นความสำคัญ กล่าวคือ เมื่อความต้องการขั้นต่ำได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการขั้นสูงขึ้นมาก็จะมีการเรียกร้องให้มีการตอบสนองทันที

ซึ่งตามทฤษฎีของมาสโลว์ได้แบ่งลำดับขั้นของความต้องการ (Hierarchy of Needs) ไว้ 5 ขั้นจากต่ำไปสูง ดังนี้

1. ต้องการของร่างกาย (Physiological needs) เป็นความต้องการพื้นฐานเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ได้แก่ ความต้องการปัจจัยสี่ และความต้องการทางเพศ ฯลฯ เป็นต้น

2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เป็นความต้องการที่เหนือกว่าความต้องการอยู่รอด ซึ่งมนุษย์ต้องการเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้น เช่น ต้องการความมั่นคงในการทำงาน ความต้องการได้รับการปกป้องคุ้มครอง ความต้องการความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เป็นต้น

3. ความต้องการด้านสังคม (Social needs) หรือความต้องการความรักและการยอมรับ (Love and belongingness needs) ความต้องการทั้งในแง่ของการให้และการได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความต้องการให้ได้การยอมรับ เป็นต้น

4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs) ความต้องการที่จะได้รับความนับถือยกย่องออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นความต้องการนับถือตนเอง (Self-esteem) ส่วนลักษณะที่ 2 เป็นความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ จากผู้อื่น (Esteem from others) ซึ่งเป็นความต้องการการยกย่อง (Esteem) ความนับถือ (Recognition) และการมีสถานะ (Status) จากสังคม ความต้องการนับถือต่อตนเอง เป็นความเชื่อมั่นในตนเอง มีความแข็งแรง มีความ สามารถในตนเอง มีผลสัมฤทธิ์ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ส่วนความต้องการยกย่องจากผู้อื่นเป็นความพยายามที่จะให้มีความสัมพันธ์ระดับสูงกับบุคคลอื่น เช่น ความต้องการให้ได้การเคารพนับถือ ความสำเร็จ ความรู้ ศักดิ์ศรี ความสามารถ สถานะที่ดีในสังคมและมีชื่อเสียงในสังคม

5. ความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต (Self-actualization needs) เป็นความต้องการสูงสุดแต่ล่ะบุคคล ซึ่งถ้าบุคคลใดบรรลุความต้องการในขั้นนี้ได้ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลพิเศษ เช่น ความต้องการที่เกิดจากความสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ นักร้องหรือนักแสดงที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

จากทฤษฎีของมาสโลว์แสดงให้เห็นว่าความต้องการของมนุษย์นำไปสู่พฤติกรรมหรือการแสดงออกของมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือความต้องการเป็นแรงจูงใจที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือต่อสิ่งเร้านั่นเอง

แรงจูงใจสามารถแบ่งออกเป็นแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) และแรงจูงใจภาย (Extrinsic Motion)

แรงจูงใจภายใน หมายถึง แรงจูงใจที่มาจากภายในตัวบุคคล และเป็นแรงขับที่ทำให้บุคคลนั้นแสดงพฤติกรรมโดยไม่หวังรางวัลหรือแรงเสริมภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นเจตคติ ความคิดเห็น ความสนใจ ความตั้งใจ การมองเห็นคุณค่า ความพอใจ ความต้องการ ทำให้แรงจูงใจภายในอิทธิพลต่อพฤติกรรมค่อนข้างถาวรเพราะไม่ต้องอาศัยมาช่วยให้เกิดขึ้น ซึ่งเทียบได้กับความต้องการขั้นที่ห้าซึ่งเป็นขั้นสูงสุดในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์คือความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต (Self-actualization needs)

แรงจูงใจภายนอก หมายถึง แรงจูงใจที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอก เช่น มาจากแรงเสริมชนิดต่าง ๆตั้งแต่คำชมจนถึงการได้รับรางวัลเป็นสิ่งของ หรือเงินและตัวแปรต่าง ๆ ที่มาจากบุคคลและลักษณะของเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การให้ข้อมูลป้อนกลับ ความคาดหวังของผู้อื่นการอ้างสาเหตุ พฤติกรรมโดยผู้อื่น การตั้งเป้าหมายในการทำงาน แรงจูงใจภายนอกเป็นสิ่งผลักดันภายนอกตัวบุคคลที่มากระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม อาจจะเป็นการได้รับรางวัล เกียรติยศ ชื่อเสียง คำชม การได้รับการยอมรับ ยกย่อง ฯลฯ แรงจูงใจนี้ไม่คงทนถาวรต่อพฤติกรรม บุคคลจะ แสดงพฤติกรรม เพื่อ ตอบสนองสิ่งจูงใจดังกล่าว เฉพาะในกรณีที่ต้องการรางวัล ต้องการเกียรติ ชื่อเสียง คำชม การยกย่อง การได้รับ การยอมรับ ฯลฯ ตัวอย่างแรงจูงใจภายนอกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม เช่น การที่คนงาน ทำงานเพียง เพื่อแลกกับ ค่าตอบแทน หรือเงินเดือน การแสดงความขยันตั้งใจทำงานเพียง เพื่อให้หัวหน้างานมองเห็นแล้ว ได้ความดีความชอบ เป็นต้น ซึ่งแรงจูงใจภายนอกนี้ตรงกับความต้องการขั้นที่สอง สามและสี่ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ในการเรียนรู้ของมนุษย์ในระบบอันได้แก่การศึกษาตามหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษาเกิดจากความต้องการ พลังกดดัน หรือความปรารถนาที่แตกต่างกันไปตามช่วงอายุและระดับการศึกษา กล่าวคือ

การเรียนในระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษา การเรียนในระดับนี้ เด็กไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจและมักไม่ได้เกิดจากความต้องการของตัวเด็กเอง แต่เกิดจากการตัดสินใจของพ่อแม่ และเป็นความต้องการหรือความปรารถนาของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีเป็นหลักรวมทั้งรางวัลที่พ่อแม่นำมาใช้เป็นแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียน แรงจูงใจของเด็กในช่วงนี้มักเป็นแรงจูงใจภายนอก คือเด็กจะยอมไปเรียนเนื่องจากมีแรงจูงใจจากรางวัลที่พ่อแม่หรือครูมอบให้ รวมทั้งแรงจูงใจจากความต้องการให้พ่อแม่รัก เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นเริ่มมีสังคมในโรงเรียน เพื่อนๆหรือสังคมในโรงเรียนจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กอยากไปเรียน ซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่สามคือความต้องการทางสังคม ความต้องการความรักและการยอมรับ ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

การเรียนการเรียนในระดับมัธยมศึกษาหรืออาชีวศึกษา การเรียนในระดับนี้เด็กอาจเริ่มมีการตัดสินใจในการเรียนด้วยตัวเองบ้างแล้วและเริ่มมีความต้องการในการเรียนตามคิดและความชอบของตัวเอง แต่ยังคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่มาก ความแรงจูงใจในช่วงนี้ยังเป็นแรงจูงใจภายนอกและเกิดจากความต้องการขั้นที่สามในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์คือความต้องการทางสังคม ความต้องการความรักและการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าในการเรียนช่วงนี้จะมีแรงจูงใจที่มาจากความต้องการหรือความปรารถนาของพ่อแม่ผู้ปกครองและแรงจูงใจที่เป็นรางวัลจากพ่อแม่รวมถึงความต้องการให้พ่อแม่รักและยอมรับ แต่เด็กจะเริ่มมีความต้องการและความปรารถนาทางด้านการศึกษาที่มาจากตนเองมากขึ้น เนื่องจากเด็กจะเริ่มมีความชอบและเริ่มเข้าใจความต้องการของตนเอง รู้ว่าตนเองชอบอะไรและต้องการเป็นอะไร โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวะ ทั้งนี้เพราะเด็กเริ่มคิดถึงหน้าที่การงานในอนาคต รายได้ ค่านิยม การยอมรับของสังคม ความคาดหวังของครอบครัวและเริ่มอยากได้การยกย่องมากขึ้น ซึ่งความต้องการได้รับการยกย่องนั้นเป็นความต้องการขั้นที่สี่ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นทำให้ได้ตามที่ตนเองคาดหวังไว้ แต่แรงจูงใจเหล่านี้อาจยังไม่ชัดเจนเพราะเด็กบางคนยังไม่รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้นจึงมักพบว่าเด็กหลายๆที่ทีแรกตัดสินใจเลือกคณะหรือสาขาที่เรียนได้แล้ว มีการตัดสินใจสอบใหม่ เพื่อเปลี่ยนคณะหรือสาขาที่เรียนภายหลังถึงแม้ว่าในตอนแรกจะสอบได้หรือเรียนในคณะหรือสาขาที่ตัวเองต้องการก็ตาม

การเรียนการเรียนในระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็นการเรียนในช่วงปริญญาตรีและการเรียนที่สูงกว่าปริญญาตรีหรือบัณฑิตศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ปริญญาโทและปริญญาเอก

การเรียนในช่วงปริญญาตรี ถึงแม้พ่อแม่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการเรียนระดับนี้อยู่ก็ตามแต่การตัดสินในการเรียนส่วนมากมักมาจากตัวของผู้เรียนเอง โดยแรงจูงใจส่วนใหญ่ยังเป็นแรงจูงใจภายนอกที่มาจากความคาดหวังของครอบครัว รายได้ ค่านิยม การยอมรับของสังคมและความต้องการได้รับการยกย่องและได้รับเกียรติ นอกจากนี้ยังมีแรงจูงใจภายในคือมาจากความต้องการและความชอบรวมทั้งความต้องการประสบความสำเร็จของตนเองอีกด้วย ดังนั้นแรงจูงใจในการเรียนช่วงนี้จะเริ่มมีแรงจูงใจภายในคือความต้องการประสบความสำเร็จซึ่งเป็นความต้องการลำดับสูงสุดในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์เข้ามาเสริมแรงกับแรงจูงใจภายนอกคือรางวัลต่างๆ ค่านิยมและความต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคมซึ่งตรงความต้องการขั้นที่สามและการต้องการการยกย่องตามความต้องการขั้นที่สี่ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ส่วนการเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาคือปริญญาโทและปริญญาเอกนั้นการติดสินใจแทบทั้งหมดมักมาจากตัวของผู้เรียนเอง โดยมักมีแรงจูงใจทั้งจากภายนอกและภายในร่วมกันเป็นแรงผลักดันในการอยากเรียนต่อในระดับนี้ แรงจูงใจภายนอกได้แก่ รางวัล รายได้ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การได้รับเกียรติ การยอมรับและการยกย่องจากเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวและสังคม ซึ่งตรงกับความต้องการขั้นที่สามและขั้นที่สี่ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ส่วนแรงจูงใจภายในเกิดจากความต้องการเพิ่มพูนความรู้เพื่อความสำเร็จในชีวิตตามที่ตนเองต้องการและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งตรงกับตามความต้องการขั้นสูงสุดในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าความต้องการในการเรียนสามารถเกิดจากความต้องการขั้นที่สามคือความต้องการทางสังคม ความต้องการความรักและการยอมรับ ความต้องการขั้นที่สามการต้องการการยกย่องและความต้องการขั้นที่ห้าคือความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตซึ่งเป็นขั้นสูงสุดในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ โดยสามารถมีความต้องการทั้งสามขั้นเกิดขึ้นได้พร้อมๆกันโดยไม่จำเป็นจะต้องให้ขั้นที่ต่ำกว่าได้รับการตอบสนองก่อน ซึ่งขัดแย้งกับที่มาสโลว์ระบุไว้ว่าความต้องการขั้นสูงกว่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความต้องการขั้นต่ำกว่าได้รับการตอบสนองแล้ว

ผู้ที่ต้องการเรียนต่อมักถามตัวเองเสมอว่าต้องการจะเรียนไปทำไม จากการศึกษาการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในระดับบัณฑิตศึกษา พบว่าประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือแรงจูงใจที่ทำเกิดความต้องการอยากจะเรียนต่อ ส่วนที่สองคือปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกหลักสูตรและสถาบัน

แรงจูงใจที่ทำให้บุคคลต้องการเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษามีแรงจูงใจที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากแรงจูงในภายนอกได้แก่

1. ความต้องความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคต

2. ความต้องการเงินเดือน ค่าจ้างที่สูงขึ้น

3. ความต้องการอาชีพที่มั่นคง

4. ความต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม มีชื่อเสียง

5. ค่านิยมในสังคม

6. พ่อแม่ต้องการให้เรียน อาจารย์แนะนำ หรือมีเพื่อนชักชวน

จะเห็นได้ว่าแรงจูงใจภายนอกดังกล่าวส่วนใหญ่ยังเป็นความต้องการที่อยู่เพียงแค่ในขั้นที่สอง สามและสี่ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์เท่านั้น เนื่องจากเป็นแรงจูงในที่เกิดจากความต้องการมั่นคงปลอดภัยซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่สอง เช่น ความต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน ความต้องการยอมรับทางสังคมซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่สาม เช่น ต้องการให้พ่อแม่รักและภูมิใจ มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เรียนเพราะเป็นค่านิยม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนและสังคม และความต้องการได้รับการยกย่องนับถือซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่สี่ อันได้แก่ ได้รับการยกย่องนับถือว่ามีหน้าที่การงานที่ดี มีรายได้สูง มีเกียรติและชื่อเสียง เป็นต้น

นอกจากนี้ผลการวิจัยบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าความต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษานั้นยังมาจากแรงจูงใจภายใน อันได้แก่

1. ต้องการความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้เพื่อความสำเร็จในชีวิตตามเป้าหมาย

2. ต้องการทำเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล

ซึ่งแรงจูงใจภายในดังกล่าวนั้นตรงกับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ในขั้นที่สี่ในด้านความต้องการนับถือตนเอง (Self-esteem) ไปจนถึงขั้นที่ห้าซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือความต้องการที่เกิดจากความสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ โดยไม่ได้หวังการยกย่องใดๆ แต่เป็นการรับรู้ถึงความสำเร็จด้วยตนเอง

เมื่อคนเราเกิดแรงจูงใจที่อยากจะศึกษาต่อแล้ว จะคิดต่อไปอีกว่าแล้วจะเรียนต่อเกี่ยวกับอะไรดี และเรียนที่ไหนดี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินว่าจะเรียนอะไรหรือเรียนที่ไหนนั้นก็มีหลายหลายเช่นกัน มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจศึกษาต่อในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันต่างๆ ซึ่งจากการวิเคราะห์งานวิจัยเหล่านั้นสามารถสรุปได้ว่าการที่บุคคลแต่ละคนจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อหลักสูตรใดและที่ใดมีดังต่อไปนี้

1.หลักสูตร (Curriculum) เป็นปัจจัยแรกๆที่มีผู้เรียนให้ความสำคัญมากที่สุดในการตัดสินใจเรียน เนื่องจากส่วนใหญ่คนเราจะคิดก่อนว่าต้องการเรียนอะไร มากกว่าที่จะคิดว่าต้องการเรียนที่ไหน การรู้ความต้องการว่าอยากเรียนอะไรจะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องการเรียนนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนในหลักสูตรไหน เช่น คนที่อยากเรียนทางทางด้านบริหารธุรกิจ ก็จะรู้ว่าควรจะต้องเลือกเรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) แต่ถ้าคนที่ต้องการเรียนทางด้านบริหารเน้นทางภาครัฐ ก็ควรจะเลือกเรียนในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น หรือถ้าคนที่สนใจการบริหารธุรกิจที่เน้นการตลาด ก็ควรจะเลือกเรียนปริญญาโทการตลาดโดยตรงมากกว่าที่จะเลือกเรียน MBA ความต้องการว่าอยากเรียนอะไรนั้นส่วนใหญ่มาจากความถนัดและความชอบส่วนตัว ค่านิยมส่วนบุคคลรวมทั้งค่านิยมในสังคม โอกาสในการนำไปประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งมาจากคำแนะนำชักชวนของบุคคลรอบข้าง เช่น พ่อแม่ หัวหน้างาน ครูอาจารย์ รวมทั้งเพื่อน

2.ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบัน (Institution Reputation and Credibility) เมื่อผู้เรียนรู้แล้วว่าต้องการเรียนในหลักสูตรอะไร สิ่งที่มักจะคิดต่อมาก็คือแล้วจะเรียนหลักสูตรนี้ที่สถาบันไหนดี ซึ่งผู้ที่ต้องการเรียนต่อมักหาข้อมูลว่ามีสถาบันไหนบ้างที่เปิดสอนหลักสูตรที่ตนเองต้องการเรียนบ้าง เมื่อได้รายชื่อสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรที่ตนเองต้องการเรียนแล้ว ผู้ที่ต้องการเรียนจะเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของแต่ละสถาบัน โดยสิ่งหนึ่งที่มักถูกนำมาใช้ในการเปรียบเทียบมากที่สุดคือชื่อเสียงของสถาบัน ซึ่งรวมไปถึงในแง่ของการได้รับการยอมรับเมื่อเข้าเรียนจนสำเร็จการศึกษาจากสถาบันนั้นๆ ถ้าหากไม่ได้สนใจในปัจจัยอื่น ผู้ที่ต้องการเรียนส่วนใหญ่มักต้องการเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงดีกว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆที่มีชื่อเสียงรองลงมา ทั้งนี้เมื่อมองในแง่ของแรงจูงใจแล้วจะพบว่าชื่อเสียงของสถาบันการศึกษามีผลต่อแรงจูงใจของผู้เรียนอย่างมาก ผู้เรียนที่มีแรงจูงใจสูงจากความต้องการการยอมรับและการยกย่องจากสังคมทั้งพ่อแม่ เพื่อนและสังคมที่ทำงาน จะพยายามขวนขวายเพื่อที่จะเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงดีและไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ส่วนผู้เรียนที่มีแรงจูงใจจากความต้องการดังกล่าวต่ำจะขวนขวายน้อยลงโดยยอมเลือกเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงรองลงมา และมักมีแนวโน้มเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน นอกจากนี้ในผลการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจศึกษาต่อในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันต่างๆหลายชิ้นที่ระบุว่า ผู้ที่กำลังหาที่เรียนส่วนใหญ่ต้องการที่จะเรียนต่อในสถาบันการศึกษาของรัฐมากกว่าเอกชน เนื่องจากคิดว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่าและมีชื่อเสียงดีกว่า รวมทั้งมีค่าเทอมที่ถูกกว่าด้วย

3.คณาจารย์ (Instructors) คณาจารย์ที่สอนในหลักสูตรที่ผู้เรียนต้องการเรียนเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยที่ผู้ที่กำลังหาที่เรียนใช้ในการตัดสินใจในการเลือกสถาบันที่จะเรียน ผู้เรียนจะดูพิจารณาดูว่าในหลักสูตรสาขาที่ตนเองต้องการเรียนนั้น คณาจารย์ของสถาบันใดที่มีชื่อเสียงผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งในแง่ของการสอนและผลงานวิจัยมากที่สุด นอกจากนี้ผู้เรียนยังพิจารณาถึงการเชิญอาจารย์พิเศษจากจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ มาร่วมสอนด้วย เช่น ผู้บริหาร หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสบการณ์และมีชื่อเสียงในสาขาวิชานั้นๆ เป็นต้น

4.รูปแบบการเรียนการสอน (Teaching Format) ผู้เรียนมักคำนึงถึงรูปแบบของการเรียนการสอนในหลักสูตรของแต่ละสถาบันว่ารูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมักใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกที่เรียน

  • เป็นการเรียนการสอนในเวลาทำการ (Full Time) หรือนอกเวลาในช่วงเย็นหรือเสาร์อาทิตย์ (Part Time) งานวิจัยหลายงานแสดงให้เห็นว่าคนที่ทำงานแล้วส่วนใหญ่ต้องการเรียนแบบนอกเวลาในช่วงเย็นหรือเสาร์อาทิตย์
  • ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรกี่ปี ผู้เรียนส่วนมากไม่ต้องการเสียเวลาในการเรียนนานมาก หากพบว่าหลักสูตรของสถาบันใดที่ค่อนข้างจบยาก จะทำให้มีผลทำให้ความต้องการเรียนในสถาบันดังกล่าวของผู้เรียนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลอย่างมากต่อผู้ที่มีแรงจูงใจในการเรียนต่อจากเหตุผลที่ว่าอยากได้เพียงแค่ปริญญาและมีความคิดว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน
  • ต้องทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือว่าเป็นการค้นคว้าอิสระ (Independent Study) เมื่อเทียบกันในหลักสูตรเดียวกันที่มีให้เลือกระหว่างทำวิทยานิพนธ์กับการค้นคว้าอิสระ ผู้เรียนส่วนมากจะเลือกเรียนในหลักสูตรที่เป็นการค้นคว้าอิสระมากกว่า ทั้งนี้ผู้เรียนส่วนมากเชื่อว่าหลักสูตรที่มีการทำวิทยานิพนธ์นั้นยากกว่าและจบยากกว่าหลักสูตรที่เป็นการค้นคว้าอิสระ อีกทั้งการเรียนในหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนทำค้นคว้าอิสระนั้นมักเป็นหลักสูตรนอกเวลา ดังนั้นจึงมักได้รับความนิยมมากกกว่า เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว ต้องการจบเร็วและไม่ต้องการเรียนยากมากเกินไป
  • เรียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ จากการวิเคราะห์งานวิจัยหลายงานที่เกี่ยวกับปัจจัยในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อพบว่าคนไทยส่วนมากเลือกที่จะเรียนหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังมีทักษะทางภาษาอังกฤษไม่ดีพอ ไม่ค่อยกล้าพูดภาษาอังกฤษ เพราะกลัวว่าจะพูดผิดหลักภาษาและไม่รู้คำศัพท์ ซึ่งทำให้ไม่กล้าและกลัวอายคนอื่น การเรียนการสอนของหลักสูตรส่วนมากจึงเป็นการเรียนการสอนด้วยภาษาไทย นอกจากนี้ผลงานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนด้วยภาษาไทยแต่ต้องให้เรียนเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษจะมีผลทำให้ความต้องการอยากเรียนของผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวน้อยลงด้วย
  • ใช้สื่อการเรียนการสอนแบบไหน ผู้เรียนส่วนมากมักชอบการรับฟังบรรยายมากกว่า ในขณะที่บางคนอาจชอบการจำลองสถานการณ์ให้ร่วมปฏิบัติ นอกจากนี้ผู้เรียนอาจมีความสนใจและต้องการเรียนในหลักสูตรที่มีการเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารในองค์กรหรือหน่วยงานที่มีชื่อเสียงมาร่วมบรรยายกรณีศึกษา หรือเชิญอาจารย์รับเชิญจากสถาบันต่างๆเพื่อมาแบ่งปันความรู้ เป็นต้น
  • หนังสือและเอกสารประกอบการสอนส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ ผู้กำลังมองหาที่เรียนส่วนมากไม่ได้มีมองหาเฉพาะหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยเท่านั้น ผู้เรียนส่วนมากยังต้องการเรียนในหลักสูตรที่มีหนังสือและเอกสารประกอบการสอนส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยด้วย เพราะเกรงว่าตัวเองจะอ่านหนังสือและเอกสารประกอบการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษไม่เข้าใจ และทำให้เรียนไม่รู้เรื่องในที่สุด
  • มีการให้ทำรายงานหรือนำเสนออภิปรายในชั้นเรียนมากน้อยแค่ไหน มีผู้เรียนไม่น้อยที่ไม่ค่อยชอบรูปแบบการเรียนการสอนที่มีการนำเสนอและการอภิปรายในชั้นเรียน เพราะบางคนไม่ชอบการแสดงออกและไม่กล้าแสดงออก ผู้เขียนพบว่ามีการตั้งคำถามในกระดานสนทนาของเวบไซต์หลายเวบไซต์เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนในหลักสูตร โดยพบว่าผู้ที่กำลังหาที่เรียนหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับหลักสูตรที่ตนเองกำลังตัดสินใจเรียนว่าจะต้องมีการนำเสนอหรือให้อภิปรายในชั้นเรียนบ่อยมากแค่ไหน นอกจากนี้ตามกระดานสนทนาต่างๆยังมีผู้ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการมอบหมายให้ทำรายงานมากเกินไป เนื่องจากผู้ที่กำลังหาที่เรียนหลายคนเกรงว่าตนเองจะไม่มีเวลาเพียงพอในการทำรายงาน เนื่องจากภาระหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น ต้องทำงานไปด้วย เป็นต้น

5.ค่าใช้จ่ายในการศึกษา (Tuition Fee) ผู้เรียนให้ความสำคัญอย่างมากต่อปัจจัยค่าใช้จ่ายในการศึกษา งานวิจัยหลายชิ้นมีผลคล้ายกันว่าผู้เรียนที่เรียนภาคนอกเวลามักเป็นกลุ่มที่ทำงานไปด้วยขณะเรียนซึ่งคนเหล่านี้มักจะเรียนด้วยทุนตัวเอง คนเหล่านี้จึงมักคำนึงถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่จะต้องจ่าย เช่น โอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพและเงินเดือนที่จะได้หลังเรียนจบรวมทั้งความพิเศษที่หลักสูตรมอบให้ในระหว่างเรียน เช่น มีไอแพด ไอโฟนมอบให้ หรือมีการจัดไปดูงานหรือทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ผุ้เรียนหลายคนยังมองถึงปัจจัยในข้อนี้ด้วยว่าทางสถาบันมีการเปิดให้ผู้เรียนสามารถแบ่งจ่ายค่าเล่าเรียน รวมทั้งมีการมอบทุนให้ผู้เรียน เป็นต้น ส่วนผู้ที่เรียนในภาคเวลาทำการส่วนมากเป็นพวกที่ยังไม่ได้ทำงานประจำหรือคนที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัดให้ลาเรียน ซึ่งคนเหล่านี้จะมีทุนจากครอบครัวหรือหน่วยงานของตน โดยส่วนมากต้องการได้รับทุนจากสถาบันในรูปแบบต่างๆ เชน ทุนยกเว้นค่าเทอม ทุนผู้ช่วยสอน ทุนผู้ช่วยวิจัย รวมทั้งทุนเต็ม เป็นต้น

ผู้ที่กำลังหาที่เรียนจำนวนมากให้ความสำคัญต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ โดยผู้ที่กำลังหาที่เรียนยอมเลือกสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าเพราะเหตุผลเรื่องการมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงดีกว่า

6.ความสะดวกในการเดินทาง (Convenience of Transportation) ผู้ที่เรียนภาคนอกเวลา โดนเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไปเรียนในช่วงหลังเลิกงานค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมากต่อความสะดวกในการเดินทางไปเรียน ในหลักสูตรที่มีชื่อเสียงใกล้เคียงกัน ผู้เรียนจะเลือกเรียนในสถาบันที่ตนเองสามารถเดินทางได้สะดวกกว่า นอกจากนี้บางคนยังให้ความสำคัญต่อความสะดวกในการเดินทางไปเรียนเป็นอันดับแรก โดยยอมเลือกเรียนสถาบันที่มีชื่อเสียงน้อยลงมาแต่ตัวผู้เรียนสามารถเดินทางไปเรียนได้สะดวกกว่า ผู้เรียนที่ทำงานหรืออาศัยในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมักเลือกศึกษาในสถาบันที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับที่ทำงานหรือพื้นที่ที่ตนอาศัย เช่น คนที่ทำงานหรืออาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ มักสนใจเรียนต่อในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากกว่าทั้งนี้เพราะต้องการเดินทางไปเรียนได้อย่างสะดวก การต้องไปเรียนนอกพื้นที่ที่ไกลออกไปจะทำให้ผู้เรียนกลัวว่าจะมีผลกระทบต่างๆตามมา เช่น ต้องลาออกจากงานหากเรียนต่อในพื้นที่อื่น เช่น กรุงเทพ หรืออาจมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางสูงขึ้น หรือต้องออกจากครอบครัวมาเช่าห้องพักไว้สำหรับอาศัยช่วงเรียน เป็นต้น

7.การคัดเลือก (Selection) งานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกเรียนต่อแสดงให้เห็นว่าผู้ที่กำลังเลือกที่เรียนหลายคนจะเลือกสถาบันที่ไม่มีการสอบคัดเลือก หรือมีเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้เรียนที่ง่ายกว่าสถาบันที่มีกระบวนการการคัดเลือกที่ยาก โดยผู้ที่กำลังเลือกที่เรียนจำนวนไม่น้อยที่ยอมเลือกเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงน้อยลงมา ถ้าหากพบว่าสถาบันเหล่านี้สามารถเข้าเรียนได้ง่ายกว่า ทั้งนี้สาเหตุที่ผู้ที่กำลังเลือกที่เรียนส่วนมากไม่ชอบการคัดเลือกที่ยาก เพราะกลัวสอบไม่ผ่านการคัดเลือก โดยพบว่าผู้ที่กำลังเลือกที่เรียนส่วนมากจะให้ความสนใจหากหลักสูตรนั้นมีการคัดเลือกด้วยการสอบสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว และจะสนใจน้อยลงหากมีการสอบอื่นๆด้วย เช่น สอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การสอบความถนัดเฉพาะด้าน เป็นต้น ในปัจจัยเรื่องการคัดเลือกมีความสัมพันธ์สูงต่อแรงจูงใจภายในในเรื่องความสำเร็จสูงสุดในชีวิตซึ่งเป็นความต้องการขั้นที่ห้าในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์คือความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต (Self-actualization needs) กล่าวคือ ผู้ที่มีแรงจูงใจและความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตสูงจะไม่รู้สึกว่าการคัดเลือกที่ยากเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จและจะไม่ให้การคัดเลือกมาเป็นอุปสรรคในความตั้งใจของตนเอง โดยจะพยายามให้ตนเองผ่านการคัดเลือกให้ได้ คนเหล่านี้จะมองว่าการคัดเลือกเป็นความท้าท้ายและเป็นสิ่งพิสูจน์อย่างหนึ่งถึงความสำเร็จของตนหากสามารถผ่านการคัดเลือกได้ ส่วนคนที่ต้องการเรียนเนื่องจากมีแรงจูงใจภายนอก เช่น ต้องความก้าวหน้าทางอาชีพ ต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น หรือเรียนเพราะเป็นค่านิยม มักจะไม่ชอบการคัดเลือกที่ยากๆ





References

http://th.wikipedia.org/wiki/ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

http://th.wikipedia.org/wiki/แรงจูงใจ

ทฤษฎีเกี่ยวกับการจูงใจของมาสโลว์(Maslow's General Theory of Human & Motivation), http://thesisavenue.blogspot.com/2008/09/maslows-g....

รังสรรค์ โฉมยา, แรงจูงใจภายในและภายนอก (Intrinsic and Extrinsic Motivation), เอกสารประกอบการสอน วิชา จิตวิทยา, พ.ศ. 2548

ประศาสน์ ไสวงษ์, แรงจูงใจในการศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตของนักศกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, การค้นคว้าอิสระหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, พ.ศ. 2552

สุชีลา เลิศลบศิริ และคณะ, ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2551, พ.ศ. 2551

สุชีลา เลิศลบศิริและอาณัติ ปาลพันธุ์, ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2551

สุชีลา เลิศลบศิริ และคณะ, ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2544, พ.ศ. 2551

รังสรรค์ โฉมยา, แรงจูงใจภายในและภายนอก (Intrinsic and Extrinsic Motivation), เอกสารประกอบการสอน วิชา จิตวิทยา, พ.ศ. 2548

ชนินทร์ เลิศประภาภรณ์, ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโททางการบัญชี, การค้นคว้าอิสระหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2553

ทรงธรรม ธีระกุลและคณะ , ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ, พ.ศ. 2556

ธนกฤต ยืนยงเดชา, ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เป็นอันดับหนึ่งของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, รายงานแบบฝึกหัดการรวิจัยปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พ.ศ. 2554

ฉัตรชัย อินทสังข์และคณะ, ความต้องการศึกษาต่อและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ของนักศึกษาจังหวัดนครราชสีมา

กิดาการ สายธนูและจตุภัทร เมฆพายัพ, การสร้างตัวแบบทำนายการตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท, วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา. 16 (2554) 1 : 3-11

หมายเลขบันทึก: 581868เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท