โลกทัศน์พัฒนา เพื่อปฏิรูปครูไทย


คำว่า Growth Mindset (โลกทัศน์พัฒนา หรือโลกทัศน์พรแสวง) เป็นคำสำคัญมากสำหรับการศึกษา หรือการเรียนรู้


คำว่า Growth Mindset (โลกทัศน์พัฒนา หรือโลกทัศน์พรแสวง) เป็นคำสำคัญมากสำหรับการศึกษา หรือการเรียนรู้

เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Fixed Mindset (โลกทัศน์หยุดนิ่ง หรือโลกทัศน์พรสวรรค์) ที่ผมเข้าใจว่า วงการศึกษาไทยยึดถือกันมาป็นเวลานานหลายสิบปี จนปัจจุบัน

เรื่องนี้ผมเคยเขียนในคำนิยมหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง ใน บันทึกนี้

วันนี้ขอขยายความ ไปสู่การพัฒนาครู และการพัฒนาตนเองของคนทุกคน

ผมคิด (ไม่ทราบว่าคิดถูกหรือคิดผิด) ว่าสังคมไทยเรามีมิจฉาทิฐิในเรื่องยึดถือโลกทัศน์พรสวรรค์ เหนือโลกทัศน์พรแสวง คนไทยเราจึงไม่ค่อยมีความมุมานะบากบั่นพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ปล่อยให้ความสนุกสบายเป็นเจ้าเรือน เราจึงมีคำผิดๆ ว่า "เรียนจบ"

เมื่อ "เรียนจบ" ได้ปริญญา ก็เลิกเรียนรู้ต่อ คิดว่าที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยเพียงพอแล้ว ซึ่งไม่จริงอย่างยิ่งสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความรู้เปลี่ยนชุดบ่อย คำว่าเรียนจบจึงไม่มี ต้องเรียนรู้เรื่อยไป การเรียน/การศึกษา จึงต้องติดอาวุธ "โลกทัศน์พรแสวง" ให้แก่นักเรียน/นักศึกษาทุกคน และติดอาวุธทักษะและฉันทะในการเรียนรู้ นี่คือการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ครูจะต้องทำหน้าที่ปลูกฝังให้ศิษย์เกิดโลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นั่นหมายความว่า ครูเองก็ต้องมี โลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับพัฒนาตนเอง Growth Mindset จึงเป็นหัวใจของการพัฒนาครู ดังตัวอย่างที่ประเทศฟินแลนด์ ที่ผมเพิ่งไปดูงานมาเมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว และบันทึกไว้ ที่นี่ ที่ฟินแลนด์ นักเรียนเรียนในชั้นเรียนวันละ ๕ ชั่วโมง แต่ครูเรียนวันละ ๗ ชั่วโมง เพราะนักเรียนเรียนระหว่าง ๘.๓๐ น. ถึง ๑๔.๓๐ น. พัก ๑ ชั่วโมง ครูก็เรียนในช่วงเวลาดังกล่าว และมารวมตัวกันเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ครู และร่วมกับครูใหญ่ ในช่วง ๑๔.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ทุกวัน โดยเอาเรื่องราวที่พบในชั้นเรียน ๕ ชั่วโมงก่อน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ครูฟินแลนด์ หรือระบบการศึกษาฟินแลนด์ มีระบบการทำงานที่สะท้อน "โลกทัศน์พัฒนา" ทั้งต่อนักเรียน และต่อครู

ครูที่ดี ที่อุทิศตนต่อวิชาชีพครู จะไม่ใช่เรียนวันละ ๗ ชั่วโมง แต่จะเรียนรู้ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งชีวิต จะเป็นไปเพื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนา โลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งของศิษย์และของตนเอง รวมทั้งของเพื่อนครูด้วย

สภาพเช่นนี้ วิชาชีพครู จะเป็นวิชาชีพที่สูงส่ง เป็นที่เชื่อถือ และเคารพนับถือ ไม่มีทางเป็นวิชาชีพที่ตกต่ำ


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๗

โรงแรม Motel One, นครเบอร์ลิน


หมายเลขบันทึก: 581397เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท