สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

เริ่มแล้ว! มูลนิธิสยามกัมมาจลจับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้า โครงการมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 2


โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ : เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการโดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้โจทย์จริงเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมจากผู้ขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ในภาคประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาใช้ศักยภาพของตนเองด้านศิลปะได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม


ยังคงขับเคลื่อนต่อเนื่อง สำหรับโครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่: เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change: UNC) โดยเช้าวานนี้ (27 พ.ย. 57) ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายในการทำ งานโครงการ ระยะที่ 2 ณ ห้องประชุม 413 ชั้น 4 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ



คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวเท้าความความเป็นมาของโครงการฯ ว่า "เวลาเราเห็นปัญหาในสังคมแล้วเรารู้สึกเจ็บปวดไปกับคนที่ได้รับผลกระทบ เราก็ตั้งใจอยากนำเสนอออกไปให้สังคมรับรู้ด้วย แต่ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดังใจ ดูเหมือนมันเบาไป การใช้ศิลปะเข้ามาช่วยพบว่าทำให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและ มีพลังมากขึ้น"

สำหรับโครงการเฟสที่ 1 ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการและเวทีนำเสนอผลงานไปแล้วเมื่อวันที่ 16 - 21 กันยายน 2557 ณ ห้อง Creative Society ชั้น 1 (ห้อง 106) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น ทั้งจากเยาวชน นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา NGOs และสื่อมวลชน คลิกชมที่ https://www.scbfoundation.com/activity_detail.php?project_id=998&content_id=9739

"เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือเด็กเราสามารถเติบโตไปอย่างมีวุฒิภาวะ มีจิตสำนึก มีความเป็นพลเมืองที่ดี ใช้ความรู้ที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงานได้อย่าง เต็มที่ เป้าหมายรองเราก็คิดว่าสื่อที่ออกมาก็ควรได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย จำเป็นต้องมีการวางแผนการสื่อสารผลงานออกไปตั้งแต่เริ่มต้น โดยเวลา 3 ปีนี้ เราจะมาทำร่วมกันเพื่อให้ได้เป็น Lab Scale และคาดหวังว่าทางสถาบันการศึกษาจะมองเห็นโอกาสการปรับการเรียนการสอน เพื่อสร้างโอกาสการเรียนการสอนให้เด็กทั้งหมด เพื่อตอบเป้าหมายข้างต้น มากกว่าเด็กห้าคนสิบคนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ได้เข้ามาร่วมโครงการในครั้ง นี้"



อ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า "หลังจากโครงการหนึ่งทำไปแล้ว อาจารย์หลายท่านยังเห็นแววตาของเด็ก ของลูกศิษย์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ในอนาคต เราอาจตามไปดูศิษย์เก่าเด็กเฟส 1 เฟส 2 เหมือนกันว่าได้ผลแค่ไหน หลังจากเขาผ่านโครงการนี้ไปสู่ชีวิตการทำงาน ถ้าเราติดตาม ตรวจสอบได้ มันจะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ตอนนี้มันอาจยังไม่ตอบได้ว่าเด็กๆ เขามีวุฒิภาวะไหม แต่มันตอบได้แล้วว่าเด็กไทยมีจิตสำนึกชัดเจน ที่เราเริ่มโครงการปีที่ 1 ไป ตอบได้ว่ามันคุ้ม โครงการนี้จะนำเราไปสู่ส่วนหนึ่งของสังคม กระบวนการทางการศึกษาสามารถเข้ามาตอบโจทย์สังคมได้"

ขณะที่การทำงานในเฟสที่ 2 นี้จะขยายผลเครือข่ายการทำงานกับภาคประชาสังคม NGOs เพิ่มมากขึ้น


"ในส่วนการมีส่วนร่วมของภาคสังคม เราต้องการ NGOs เข้ามาช่วยด้านการศึกษา อาจต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมเล็กน้อยว่าการทำงานกับเด็ก เขาจะไม่ใช่มืออาชีพ แต่เขามีความฝันมีแรงบันดาลใจของเขาอยู่ มันมีอยู่ครึ่งๆ เราต้องเอาโจทย์ให้ชัดว่าเรื่องอะไร สื่อสารกับคนกลุ่มไหน มี Key Message อะไร ทำงานกับเด็กอาจไม่ได้ดังใจ แต่เพื่อสร้างคน ไม่มีใครการันตีได้ แต่เราต้องเชื่อเด็กเราก่อน งานนี้ทำให้เราเห็นอำนาจของเสียงเด็ก การที่เราโยนโจทย์ยากๆ ให้เด็ก มันมีข้อดีอย่างหนึ่งที่เราเห็น เขามีเสียงของการสื่อสารอย่างสดใส ที่มืออาชีพเขาไม่มี เสียงของเด็กอาจไม่ได้ก้าวร้าว บอกว่าหยุด อย่าทำ ถ้าเราเปลี่ยนกับผู้ทำนโยบายไม่ได้ แต่เด็กเขาจะสื่อกับเด็กด้วยกันได้"



ด้าน อ.ดนุ ภู่มาลี ที่ปรึกษาโครงการสื่อรณรงค์เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างการจัดสรรที่ดินในประเทศ ไทย คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนผลการเข้าร่วมโครงการปีที่ 1 ว่า "ทีแรกที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ ผมรู้สึกว่าเรามีภาระเริ่มอีกแล้ว เพราะงานที่มีอยู่ก็เยอะมากอยู่แล้ว พอได้ไปเรียนรู้งานภาคสังคมกับ อ.ปรีดา คงแป้น เด็กๆ ได้เห็นคนที่ถูกกระทำก็มีพลัง ทีแรกเลือกประเด็นพลังงาน และได้เปลี่ยนเป็นประเด็นที่ดินที่อยู่อาศัยแทน "ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้เด็กผลิตสื่อ เราต้องไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เราต้องทำแค่นำเสนอ เมื่อทำเสร็จแล้วก็รู้สึกดีครับ สำหรับระยะที่ 2 นี้ก็รู้สึกท้าทาย เป็นสัญญาใจ เชื่อว่าเครือข่ายการทำงานจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็คิดว่าผมจะได้ทำต่อไปเรื่อยๆ"

สำหรับความคืบหน้าการประชุมครั้งนี้ ทำให้โครงการฯ ได้แนวทางการขับเคลื่อนโครงการระยะที่ 2 ประกอบด้วย
- บทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
- กำหนดวันเวลาและสถานที่ในการจัดเวิร์คช็อปครั้งที่ 1 2 และ 3
- การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเวิร์คช็อป
- หารือวัน เวลา และสถานที่ ในการนำเสนอผลงาน Final
- หารือวันและเวลาในการจัดเวทีนำเสนอผลงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ


ผู้สนใจติดตามชมรายละเอียดของโครงการนี้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.scbfoundation.com/index.php?project_id=998


หมายเลขบันทึก: 581338เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2014 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2014 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท