หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ให้วัชพืชเป็นครูสอนดูดิน


อะฮ้า เข้าใจแล้ว ตรงไหนที่มีหน้าดินเปลือย เนื้อดินแน่น น้ำขัง น้ำท่วมง่าย แม้ว่าตรงนั้นมีออกซิเจนในดินน้อย ก็มีจุลินทรีย์ดินอยู่ และที่พืชขึ้นยากเพราะมีออกซิเจนไม่พอให้ใช้ตอนเมล็ดกำลังงอกและโดนสารพิษเข้าให้พร้อมไปกับการขาดอาหารและน้ำด้วยนี่เอง

มีการเกษตรอยู่แนวหนึ่ง เรียกกันว่า "เพอร์มาคัลเจอร์" วิถีปฏิบัติที่ใช้สอดคล้องกับธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หวังความยั่งยืนของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดำเนินวิถีให้เป็นไปอย่างที่ธรรมชาติเป็น ไม่ให้ความคิดควบคุมธรรมชาติมีอิทธิพลเหนือ

พวกเขาถือว่าวัชพืชเป็นพืชที่ธรรมชาติส่งมาซ่อมแซมดินที่ถูกทำลาย เป็นดัชนีชี้วัดของดิน เป็นสัญญาณเตือนว่าดินมีปัญหา และ เป็นทรัพยากรที่ยังไม่ถูกหยิบมาใช้ เขาว่าพบวัชพืชเมื่อไร จะพบดินที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น มีสมดุลบางอย่างบังเกิดขึ้น

พวกเขาใช้การสังเกตจำนวนวัชพืชหลักที่ค่อยๆลดน้อยลงไปเอง รับรู้การเปลี่ยนแปลงของดินว่าเริ่มเข้าสู่สภาพที่มีสมดุลมากขึ้นกว่าเดิม

อืม หมายความว่า ที่เห็นดงหญ้าเจ้าชู้เปลี่ยนไป มีหญ้าอื่นๆแซมจนจำนวนที่เคยมีมากมายแทบไม่เห็น แล้วมีหญ้าแพรกปรากฏกายขึ้นมาเป็นพืชหลักแทน ที่เห็นบางจุดในดงหญ้าคามีพืชตระกูลถั่วงอกขึ้นและขยายวงกว้างขึ้น เป็นปรากฏการณ์สะท้อนว่าดินตรงนั้นเปลี่ยนแปลง

พืชมีน้ำเป็นชีวิต มีแร่ธาตุในดินเป็นอาหาร มีแผ่นดินเป็นที่ปักหลักพยุงตัว มีสิ่งมีชีวิตในดิน สัตว์หน้าดิน แมลงหน้าดินต่างๆและพืชด้วยกันเป็นสหาย เป็นญาติ มีสัตว์ มีมนุษย์ มีธรรมชาติเป็นผู้คุม

ดินเกิดจากการสลายตัวและผุพังของแร่หินต่างๆโดยอิทธิพลจากธรรมชาติ น้ำ แสงแดดและอากาศ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิภายในดิน

ดินเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตในดินซึ่งมีทั้งพืชและสัตว์ สัตว์หน้าดิน แมลงหน้าดินต่างๆด้วย คำว่า "นิเวศ" จึงมิได้มีแต่ที่เห็นด้วยตาเปล่าเหนือดินอย่างที่เคยรับรู้เท่านั้น มีในดินด้วย

มีกลุ่มพืชตัวจิ๋วในดินอยู่พวกหนึ่ง เรียกกันติดปากว่า "จุลินทรีย์ดิน" กิจกรรมเพื่่อความอยู่รอดของมันมีผลต่อการเน่าเปื่อยผุพังของสิ่งมีชีวิตที่โตกว่า ความชื้น อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง และการถ่ายเทอากาศภายในดินมีผลต่อการเพิ่มจำนวนพวกมัน

พวกมันมีอิทธิพลต่อจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดิน ไนโตรเจนในอากาศ การหมุนเวียนธาตุในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบแดนัม โคบอลท์ เป็นต้น และเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างของดิน

วิถีชีวิตของจุลินทรีย์ดินเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้องการอาหาร น้ำและอากาศเพื่อการมีชีวิต

ในภาวะดินโปร่ง ออกซิเจนสามารถแพร่ลงในดินได้เร็ว คาร์บอนไดออกไซด์แพร่จากดินสู่อากาศได้เร็วด้วย ยิ่งดินโปร่ง ความเข้มข้นของออกซิเจนในดินก็ยิ่งมีระดับใกล้เคียงกับในอากาศ จุลินทรีย์ดินที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับภาวะมีออกซิเจนในดินมากจะเติบโตเพิ่มจำนวน

ดินที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วม เป็นดินที่ออกซิเจนไม่สามารถแพร่ลงในดินได้ ในสภาวะแบบนี้ จุลินทรีย์ดินที่ชอบภาวะมีออกซิเจนมากจะพากันตาย พวกที่มีความสุขกับภาวะที่มีคาร์บอนไดออกไซด์มากจะเติบโตเพิ่มจำนวน

ผู้รู้ด้านการเกษตรเคยบอกว่า เวลาเมล็ดพืชกำลังงอกต้องการออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการสลายสารอาหารเพื่อให้ได้พลังงานในกระบวนการเมตะบอลิซึมต่างๆของเซลล์ การมีออกซิเจนในดินน้อยจะนำพาให้ธาตุอาหารพืชเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซไข่เน่า และจะส่งเสริมให้จุลินทรีย์ดินดำเนินกิจกรรมที่มีสารพิษต่อพืชปล่อยออกมา รวมทั้งจะทำให้พืชขาดอาหารและน้ำเพราะไปทำให้การดูดน้ำและอาหารของรากที่กำลังงอกลดลงหรือหยุดชะงัก

อะฮ้า เข้าใจแล้ว ตรงไหนที่มีหน้าดินเปลือย เนื้อดินแน่น น้ำขัง น้ำท่วมง่าย แม้ว่าตรงนั้นมีออกซิเจนในดินน้อย ก็มีจุลินทรีย์ดินอยู่และที่พืชขึ้นยากเพราะมีออกซิเจนไม่พอให้ใช้ตอนเมล็ดกำลังงอก และโดนสารพิษเข้าให้พร้อมไปกับการขาดอาหารและน้ำด้วยนี่เอง

หมายเลขบันทึก: 581326เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2014 03:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องเขียนอีกแน่นอน เอาอีก อาจารย์คุยเรื่องนี้แล้วสนุกจัง ชอบครับ

ปลูกป่าดีกว่าทำสวน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท