เมื่อพยาบาล..ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อที่ป่วยหนัก


พยาบาลเมื่อเป็นผู้ดูแล เราก็ต้องการผู้ดูแลเช่นกัน

ย้อนอดีตไปกว่า 10 ปี ...

เราซึ่งเป็นพยาบาล ..ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อที่ป่วยหนัก เป็นไตวายระยะสุดท้าย

พ่อป่วยเป็นความดันโลหิตสูง เมื่ออายุประมาณ 60 ปี

ตอนหลังเบาหวาน หัวใจเข้ามาแทรกแซง สุดท้ายมีภาวะไตวายเรื้อรัง ตอนพ่ออายุประมาณ 80 ปี

พ่อตัดสินใจไม่รักษา โดยการล้างไต

พ่อยอมมาหาหมอเป็นระยะ เพื่อประคับประคองตัวเองไม่ให้ทุกข์ทรมานจนเกินไป

พ่อบอกว่า ไม่อยากให้ใครเดือร้อน ถ้าล้างไต พ่อก็เดือดร้อน ทรมาน แม่ก็เดือดร้อน ทรมานเช่นกัน

ถึงแม้ว่า พวกเราบอกพ่อว่า ไม่เดือดร้อนหรอก เราจะหาผู้ดูแลมาฝึกและจะกลับไปดูแลที่บ้านของพ่อ

แต่พ่อบอก พ่อตัดสินใจแล้ว

..

ตอนหลัง..พ่อมาหาหมอไม่ไหว

โชคดีที่เราเป็นพยาบาล ..คอยประสานการดูแลระหว่าง รพ กับที่บ้าน

แต่เมื่ออาการเจ็บป่วยของพ่อหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

เราก็เริ่มสับสนว่า.. จะดูแลอย่างไร เพราะอาการสุดท้ายที่พ่อทรมานมากคือ

อาการคันตามตัว ตาตัวเหลือง พูดเพ้อคนเดียวตลอดเวลา ผุดลุก ผุดนั่ง

กลัวสิ่งแวดล้อมรอบตัว ต้องเปิดไฟให้สว่าง อยู่คนเดียวไม่ได้ บอกว่ามีคนจะมารับไปอยู่ด้วย

พ่อพูดรู้เรื่องเป็นบางครั้ง และส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง เรารู้ว่าพ่อมีอาการของ uremia

แต่พ่อบอกว่า.. พ่อขอไม่ไป รพ อีก

ตอนหลังซึม นอนเป็นสัปดาห์ กินไม่ได้

...

เราเป็นผู้ดูแลเรา เคยคิดว่า ใครนะจะช่วยเราได้

ช่วยตัดสินใจหน่อยว่า เราควรจะทำอะไรให้พ่อได้บ้าง

ใครจะบอกเราได้บ้างว่า เราจะต้องจัดการอย่างไร ให้พ่อสบายที่สุด

พี่สาวเราก็ช่วยกัน เฝ้าพ่อ เปิดเพลงบรรเลงให้พ่อฟัง เปิดเทปธรรมมะบ้างสลับกันไป

จุด aromatherapy ให้พ่อได้ผ่อนคลาย

แม่คอยนั่งเฝ้า น้องสาวคอยอาบน้ำเช็ดตัว ส่วนเราคอยประสานการดูแลระหว่างบ้านกับ รพ

...

และแล้ววันสุดท้าย...ก็มาถึง

แม่โทรศัพท์บอกว่า ..พ่อนอนแน่นิ่ง หายใจเสียงดัง ไม่กินข้าวมากว่าสัปดาห์

เราจึงโทรฯ บอกให้พยาบาลที่อยู่อนามัยใกล้บ้านมาฉีดกลูโคสให้

แม่โทรมาอีกว่า พยาบาลฉีดไม่ได้ แทงเส้นไม่เข้า

เรารีบบึ่งรถมาถึงบ้านที่พ่ออยู่ห่างกัน 50 กิโลเมตร

พบว่า เส้นเลือดของพ่อตีบไปหมด แทงเส้นไม่ได้จริงๆ

เราจะทำอย่างไรดี จะพาไป รพ ดีไหม

..

แต่จำได้ว่า พ่อสั่งเราว่า พ่อขอตายอยู่ที่แห่งนี้ ไม่ต้องพ่าพ่อไป รพ อีก

แต่ถ้าพ่อหมดสติ ไม่รู้ตัว ก็แล้วแต่แม่และลูกจะเห็นสมควร

เราจะทำยังไงดี ณ ช่วงเวลานี้เราต้องการหาคนดูแล หาคนคอยตอบคำถามเรา..ว่าเราควรจะทำอะไรกับพ่อดี

เราไม่มีใคร ถึงแม้เราจะเป็นพยาบาล เราเป็นผู้ดูแล แต่เราก็ต้องการผู้ดูแล

..

เราฝันว่า น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญให้เราโทรปรึกษาได้

เราต้องการเพียงแค่นี้จริงๆ

ตอนนั้น รพ เรา ยังไม่มีหน่วย palliative care

..

สุดท้าย แม่เป็นผู้ตัดสินใจและบอกว่า ให้พ่ออยู่ที่นี่ ไม่ต้องพาไป รพ

พวกเราควรทำตามคำของพ่อบอก

เราก็เพียง แต่เฝ้าดูแล เช็ดตัว พลิกตัว ห่มผ้า เปิดเพลงสลับกับธรรมมะ เบาๆให้พ่อฟัง

จนทุกคนทำใจได้ เราก็พาแม่ไปวัด เพื่อปรึกษาพระอาจารย์

พระอาจารย์บอกแม่...ให้บอกพ่อและกล่าวคำอำลา

แม่ก็ไม่ยอมบอกพ่อ จนพ่อเริ่มหายใจถี่ขึ้นเรื่อยๆ

เราเลยบอกแม่ว่า.. แม่บอกพ่อเถอะนะคะ

แม่ยอม..กล่าวคำอำลา

พ่อก็หันหน้า ลืมตามองแม่เป็นครั้งสุดท้าย และจากไปอย่างสงบ

แม่บอก..ไม่ให้พวกเราร้องไห้

พวกเรากลั้นน้ำตาไว้ไม่ให้ไหล

แต่ตอนนอนคนเดียว เราก็อดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้

...

สุดท้ายจริงๆๆ

อยากจะบอกทุกคนว่า... ถึงแม้เราจะเป็นพยาบาล

เราในฐานะผู้ดูแล ..เราก็ต้องการผู้ดูแลเช่นกันค่ะ

แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

25 พฤศจิกายน 2557 เวลา 04.45น

หมายเลขบันทึก: 581090เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 04:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 05:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วเห็นความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้ใครๆเดือดร้อน ความเข้มแข็งและความรักเอื้ออาทร การกล่าวคำอำลาที่เป็นการอำลากันตลอดไป ... ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวครับ ... หมอสุข

เวลาใดที่คิดถึงพ่อ ฉากทุกฉากจะกลับคืนมา

จำได้ ไม่เคยลืมค่ะ

ถ้าสมัยนี้ เราคงมีคนคอยให้คำแนะนำเราได้ดี เพราะ รพ เรามี หน่วย palliative care

เราคงจะไม่ฝ่าฟัน อย่างโดดเดี่ยว

เรายังจำความรู้สึกตัวเองได้ดีค่ะ

ขอบคุณ คุณหมอสุขทีมาแลกเปลี่ยนค่ะ

เป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดนะครับ

ขอบคุณพี่แก้วมากๆครับ

แม่นแล้วพี่แก้ว พยาบาล หรือ หมอ ก็ ต้องการผู้ดู และ แล ครับ

ขอบคุณที่ให้กำลังใจมาเยี่ยมเยือนบันทึก ทั้ง อาจารย์ขจิตและ อ JJ

แบบนี้มีกำลังใจเขียนต่อ ถึงแม้เวลาจะเข้ามาเขียนมีน้อยลงค่

ขอบคุณพี่แก้วมากครับ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตนเองออกมาได้อย่างชัดเจน

ผมคิดว่า ในฐานะที่เราเป็นบุคลากรสุภาพ แล้วต้องมาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอีกฐานะหนึ่งด้วยนี้ มีประเด็นน่าสนใจมาก สงสัยจะต้องถอดบทเรียนแยกออกมาต่างหาก

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า

เรา ผู้เยียวยาโดยหน้าที่ เมื่อต้องเป็นผู้ดูแล ก็ต้องมีผู้ดูแลเราด้วย

ขอนำบันทึกนี้ไปรวบรวมไว้ ที่นี่ นะครับ

หากจะขออนุญาติสรุปประเด็น แบบนี้ พอจะได้ไหมคะ อาจารย์แก้ว

  • บุคลากรสายสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล เมื่อต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการเจ็บป่วยระยะท้ายของคนในครอบครัว ทำให้เป็นทั้งผู้เยียวยาคนอื่นและผู้ดูแลคนในครอบครัวตัวเอง ก็ต้องการมีผู้ที่คอยดูแล ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆเช่นกัน
ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท