สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

"ให้โอกาสสัมผัสของจริง" วิธีดึงการมีส่วนร่วมของเยาวชน ร่วมขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต


"เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ" วลีนี้เชื่อว่าใครๆ ก็คงได้ยินกันจนชินหูและชินชากันไป ไม่มากก็น้อย หากเป็นดอกไม้ก็คงเรียกว่าถูกหยิบถูกดมกันจนเฉามือไปแล้วแน่นอน ... แต่จะทำอย่างไรให้วลีนี้เป็นความจริงขึ้นมาได้ ร่วมรับฟังหนึ่งในคำตอบที่ "ใช่" จากบทสัมภาษณ์ของคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ได้เคยกล่าวไว้ในงาน "ต่างใจไทยเดียว" กันค่ะ ...

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล

" สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป คำถามที่อยู่ในใจใครหลายคนว่าแล้วจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เขาสนใจ คำตอบอยู่ที่ว่าเราให้โอกาสเขาหรือเปล่า เราให้พื้นที่ให้เขาได้แสดงความเห็น เราให้พื้นที่ที่เขาจะได้แสดงออก แต่ว่าอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเติมคือ เราต้องให้โอกาสให้เขาได้ไปสัมผัสของจริง ให้โอกาสให้เขาได้ไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทางสังคมไทย และให้โอกาสเขาในการลงมือทำ และต้องยอมรับ และให้โอกาสเขาลองผิดและลองถูก การให้โอกาสที่เขาจะรู้จัก เรื่องราวที่เขาจะไปสนใจ เรื่องราวรอบตัว เขาถึงจะสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวเล็กๆ ที่อยู่ไกลตัวเขาออกไปหน่อย และก็ค่อยๆ ขยับไปไกลขึ้น อย่าไปคาดหวังเรื่องใหญ่ๆ สำหรับคนที่เพิ่มเริ่ม

ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ไม่ถนัดในบางเรื่องก็จะได้มีโอกาสทำงานกับเด็กในการใช้ทักษะเช่นการใช้ไอที เป็นต้น คนรุ่นใหม่เก่งกว่าเรา คิดว่าคีย์เวิร์คสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่คือคนรุ่นใหม่ต้องการโอกาส ต้องการการยอมรับแต่ว่าเขาก็ต้องการโค้ชที่ดี ต้องการคนที่เรียกว่าค่อยๆ ประคับประคองเขาไปในทางที่ถูก แต่ห้ามครอบ ห้ามกรอบเขา เรื่องของการมีส่วนร่วมในการเป็น Active Citizen เพื่อบ้านเพื่อเมืองก็เหมือนกัน

คิดว่าถ้าเราทำงานเข้าใจธรรมชาติของเขา เปิดโอกาสให้เขาลองทำ ลองผิดลองถูกไป ค่อยๆ ใส่โจทย์ไป เขาสามารถจะสำเร็จได้ แล้วเขาจะพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อมโยงใส่ตัวเขา คนรอบข้าง และเขาจะคิดขึ้นมาได้เองว่าฉันอยู่ไม่ได้แล้ว อย่างน้ำไหลในบ้านเราเด็กเขาเดินไปปิดไหม ดิฉันเชื่อว่าเขาเดินไปปิด เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และถ้าเขาไม่ดูแลบ้านของเขา ใครจะดูแล แต่ทำไมเวลาเรื่องข้างนอกเรื่องสังคมมีใครทิ้งขยะลงไปมีสักกี่คนลงไปเก็บ ลองตั้งคำถามแบบนี้ดูแล้วเราจะเห็นว่าแล้วมันต่างกันอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านและเหตุการณ์ที่เกิดบนท้องถนน

ความต่างอยู่ที่เขารู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน แต่เขาไม่รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชน วิธีการง่ายนิดเดียวคือค่อยๆ ให้เขารู้จักสังคมรอบข้างนี่เป็นอย่างไร และตัวเขาเอง บ้านเขา เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างไร พอเขาได้เริ่มรู้จักเข้าใจปัญหาในชุมชนตนแล้วและใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีประโยชน์กับโจทย์ที่ว่านี้ เดี๋ยวเขาก็จะสนุกไปแล้ว แล้วก็เริ่มมีความคิดซับซ้อนขึ้น ดิฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องของ Active Citizen ในทุกที่ ทุกชุมชนได้จากความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น"

>>> ทำความรู้จักมูลนิธิสยามกัมมาจลผ่านคลิปวิดีโอแนะนำหลักคิดและหลักการทำงานของมูลนิธิฯ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=0hqWX5XpxFI


>>> เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com

หมายเลขบันทึก: 581037เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท