ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๙๔. เที่ยวโครงการตามแนวพระราชดำริ ตำบลทรงคนอง



คณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และคู่สมรส ได้ไป เยี่ยมชม โครงการตามแนว พระราชดำริ ตำบลทรงคนอง เมื่อเย็นและค่ำวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผมสรุปว่าเป็นโครงการพื้นที่สีเขียว สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพ และป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ

จากโรงแรมโอเรียนเตล รถขึ้นทางด่วนไปข้ามสะพานพระรามเก้า เลี้ยวเข้าถนนสุขสวัสดิ์ ไปพระประแดง ไปวางพวงมาลาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๒ แล้วนั่งรถรางผ่านวัดทรงธรรม วัดคันลัด (วัดมอญ ดูจากเสาหงส์ ธงตะขาบ) ไปยัง สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ในบริเวณพื้นที่สีเขียว ฟังการบรรยาย สรุปเรื่องพื้นที่สีเขียวที่เรียกกันทั่วไปว่า พื้นที่กะเพาะหมู หรือปอดของกรุงเทพ จากเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ที่มีกิจกรรมเพื่อรณรงค์อนุรักษ์พื้นที่นี้หลากหลายกิจกรรม

หลังเดินชม หรือนั่งรถรางชม (แล้วแต่สภาพกำลังขา) บริเวณสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในปริมณฑล ของกรุงเทพ แล้วไปลง เรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ นั่งเรือราวๆ ครึ่งชั่วโมง กินลม(เย็น) ชมบรรยากาศ สองฝั่งเจ้าพระยา ที่ฝั่งหนึ่งเป็นกรุงเทพมีตึกสูงเต็ม อีกฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เรา มักเรียกกันว่าบางกระเจ้า หรือกะเพาะหมู ระหว่างนั่งเรือเราได้รับเสิร์พพุดดิ้งมะพร้าวอ่อนที่แสนอร่อย

ท่านอธิบดีกรมชลประทาน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และคณะไปต้อนรับ เราฟังการบรรยายสรุป โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งค่าก่อสร้าง ๕๒๘ ล้านบาท แต่ค่าเวนคืนที่ดินกว่า ๗ พันล้านบาท ผลคือ ป้องกันน้ำท่วมพระประแดงและบริเวณใกล้เคียงได้ชะงัด หลังจากเปิดใช้ประตูระบายน้ำนี้ น้ำไม่ท่วมอีกเลย รวมทั้งตอนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔

นอกจากระบายน้ำแล้ว ยังใช้แรงดันน้ำหมุนเทอร์ไบน์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย กรมชลประทาน นำโมเดลผลิตกระแสไฟฟ้าแบบนี้ไปใช้ในอีกหลายที่

คลองลัดโพธิ์ขุดสมัยพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลที่ ๑ ทรงให้ถมเพื่อป้องกันพม่ายกมาตีกรุงเทพทางเรือ เหลือคลองแคบๆ แล้ว ร. ๙ รับสั่งให้ขยายและสร้างประตูระบายน้ำ

หลังจากนั้น เราได้รับเลี้ยงอาหารจาก อบต. ทรงคนอง และฟังเพลงไทยสากลจากวงดนตรีคนมอญ พื้นเมือง ที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่บริษัท ที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น และตามปกติรวมตัวกันปีละครั้ง เพื่อขับกล่อมวงสะบ้า ในวันสงกรานต์ แต่วันนี้มารวมตัวต้อนรับคณะของเราเป็นพิเศษ

อาหารที่นำมาเลี้ยงเป็นอาหารพื้นเมืองที่คัดสรรว่ารสชาติดีสุดยอด ได้แก่ ข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว ข้าวขาว เป็ดพะโล้ น้ำพริกลงเรือ ผัดผักรวมเบญจรงค์ ปลาสลิดทอด ต้มข่าไก้ใส่ยอดมะพร้าว แกงมะตาดกับกุ้ง ของหวานมีกล้วยบวชชี และผลไม้รวม

เวลาสองทุ่มหลังฝนซา เรานั่งรถไปยังชุมชนอนุรักษ์ต้นลำพู และหิ่งห้อย ไปยังบ้านของคุณบุญรัตน์ บุญญาธิษฐาน โดยมีรองอธิบดีกรมป่าไม้ คุณเปรมพิมล พิมพ์พันธ์ และข้าราชการของกรมไปต้อนรับ ฟังการบรรยายสรุปสั้นๆ โดยคุณบุญรัตน์ แล้วเราเดินเข้าไปนั่งชมหิ่งห้อยที่อยู่บนต้นไทรสูงมาก มีหิ่งห้อยจำนวนมาก รวมทั้งมีตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่ต้นไม้เตี้ยๆ และมาเกาะมือเจ้าหน้าที่ที่ไปต้อนรับพวกเราด้วย เป็นการชมหิ่งห้อยแบบไม่ต้องนั่งเรือ โชคดีที่ฝนหยุด

เราได้ความรู้ว่า หิ่งห้อยที่นี่มี ๕ ชนิด (species) ๔ สกุล (genus) คือหิ่งห้อยน้ำกร่อย ๒ ชนิด หิ่งห้อยบก ๒ ชนิด และหิ่งห้อยน้ำจืด ๑ ชนิด (Luciola aquatilis) ซึ่งรายงานว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก โดย ผศ. ดร. อัญชนา ท่านเจริญ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่จริงการอนุรักษ์หิ่งห้อย ต้องไม่ใช่แค่อนุรักษ์ต้นลำพู ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

ตลอดเวลาที่เราไปเยี่ยมชม คุณวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายก อบต. ทรงคนอง ไปต้อนรับและดูแล อยู่ตลอด ท่านเป็นคนโอภาปราศรัย และสุภาพอ่อนน้อม ท่านบอกกับผมว่า โครงการนี้ทำให้ประชาชน ในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากจริงๆ และต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



พระบรมราชานุสาวรีย์ ร. ๒

ขึ้นรถราง

แล่นผ่านตลาดพระประแดง

ภายในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ น่าวิ่งหรือขี่จักรยานออกกำลัง

สระน้ำภายในสวน

อาคารศูนย์การเรียนรู้พื้นที่สีเขียวนครเขื่อนขันธ์

ลงเรือล่องเจ้าพระยาไปยังประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ฝั่งกรุงเทพ

ฝั่งกะเพาะหมู

เห็นสะพานภูมิพลอยู่ไกลลิบ

ความงามของสะพาน

ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

คลองลัดโพธิ์

สะพานภูมิพล ๒

วงดนตรีผู้สูงอายุมอญ


คุณบุญรัตน์ บุญญาธิษฐาน


หิ่งห้อย

เพิ่มเติม ๘ มีนาคม ๒๕๕๘

ผมพบหนังสือ "แนวพระราชดำริในมหานคร คลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล" อ่านหรือดาวน์โหลดได้ที่

http://www.crownproperty.or.th/public/upload/media/Recommended%20Books/9572d55acb8a4e07a1ef1519662f5a6a.pdf

วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๕๗





หมายเลขบันทึก: 581031เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท