วิทยาลัยชุมชนในปัจจุบันใต้กฎกระทรวง เทียบกับพระราชบัญญัติในสภาสนช.


การจัดการศึกษาโดยชุมชน

๓.๑ เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการขยายโอกาสทางการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก ๖ ปีเป็น ๙ ปี และขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น ๑๒ ปี ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น และมีผู้จบชั้นมัธยมศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจและส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในชนบทกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสในการศึกษาต่อระดับสูง ขาดการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งยากไร้ทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น ชุมชนจึงอ่อนแอ และขาดการพัฒนา ดังนั้นเพื่อให้ประชาชน ได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยยึดหลักตามนโยบาย "การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน" รัฐบาลที่มีพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ด้านการศึกษาว่าให้จัดให้มีวิทยาลัยชุมชนขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเหตุผลและความจำเป็นที่สำคัญ ๔ ประการ คือ

ประการแรก มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าจำนวนมากที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ซึ่งไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ด้วยสาเหตุของความไม่พร้อมด้านต่างๆ เช่น ความยากจน ความไม่สะดวกในการเดินทาง หรือจำเป็นต้องประกอบอาชีพ เป็นต้น ตลอดจนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพแล้วแต่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต นอกจากนี้ยังมีประชาชนผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนมาก ทั้งผู้ที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนต้นและแรงงานของประเทศที่ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งจัดเป็นแรงงานที่ขาดทักษะในการทำงาน

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งระดับปริญญาและต่ำกว่าปริญญา ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ แต่สถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ยังไม่สามารถบริการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษาได้อย่างเพียงพอและยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้ทั้งเนื้อหาสาระ และวิธีการจัดการที่บริหารโดยบุคคลนอกชุมชน วิทยาลัยชุมชนจึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาอีกระบบหนึ่งที่เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นต่ำกว่าปริญญา ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของสถาบันอุดมศึกษา ในการรับเข้าเรียนปี ๑ และปี ๒ ให้มาเรียนในหลักสูตรอนุปริญญาเพื่อศึกษาต่อ ใน ๒ ปีหลังของสถาบันอุดมศึกษาหรือเพื่อประกอบอาชีพได้ รวมถึงการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตที่สามารถเชื่อมโยงกับการศึกษาทุกระดับและช่วยเติมเต็มส่วนการศึกษาที่ขาดไปให้สมบูรณ์ขึ้น

ประการที่สอง ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนตามโครงการพัฒนาชนบทต่างๆ เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น วิทยาลัยชุมชนจะเปิดสอนหลักสูตรหลากหลายโดยเน้นที่ความจำเป็นในการพัฒนาและแก้ปัญหาของท้องถิ่น และท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนดและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรรวมทั้งจัดการเรียนการสอน โดยใช้ผู้มีความรู้ความสามารถในท้องถิ่น

ประการที่สาม พัฒนาทักษะความรู้ด้านอาชีพของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพอิสระ หรือการประกอบอาชีพในสถานประกอบการ โดยวิทยาลัยชุมชนจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพัฒนาหลักสูตรรวมทั้งการพัฒนาและการผลิตบุคคลกร ซึ่งอาจจะดำเนินการเองหรือดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ ในท้องถิ่น

ประการที่สี่ กระจายอำนาจจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่น และให้นำทรัพยากรที่มีอยู่หลากหลายในแต่ละพื้นที่และอยู่ต่างสังกัดมาดำเนินการจัดการศึกษาวิทยาลัยชุมชน โดยให้ประชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปแบบองค์คณะบุคคล เพื่อเอื้อประโยชน์ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพแก่ประชาชนในท้องถิ่น

๓.๒ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีวิทยาลัยชุมชน

(๑) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

กำหนดให้การศึกษาระดับอุดมศึกษามี ๒ ระดับ คือ ระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญา (มาตรา ๑๖ วรรคสาม) โดยให้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาดังกล่าวในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบัน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา ๑๙) และการจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา ๒๐)

(๒) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๕๔๖

กำหนดให้ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานบางประเภทได้ และในกรณีที่การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาบางประเภท สำนักงานปลัดกระทรวงหรือสำนักงานต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดอาจจัดให้มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนและรูปแบบอื่น เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้ และได้กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมิได้มีกฎหมายอื่นกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานไว้โดยเฉพาะให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยการจัดตั้ง การบริหารงาน สังกัดและการจัดประเภทของสถานศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ตลอดจนหลักเกณฑ์อื่นในการบริหารงานและการดำเนินการทางวิชาการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา ๒๒)

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา โดยที่องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และจำนวนกรรมการในคณะกรรมการ สถานศึกษาสำหรับสถานศึกษาบางประเภทที่มีสภาพและลักษณะการปฏิบัติงานแตกต่างไปจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยทั่วไป อาจกำหนดให้แตกต่างไปตามสภาพและลักษณะการปฏิบัติงานรวมทั้งความจำเป็นเฉพาะของสถานศึกษาประเภทนั้นได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา ๓๘)

(๓) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖

ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดและส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำหลักเกณฑ์ และแนวทางการสนับสนุนทรัพยากร และการจัดตั้ง จัดสรรงบประมาณอุดหนุนวิทยาลัยชุมชน และเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้ง ยุบ รวม ปรับปรุงและยกเลิกวิทยาลัยชุมชน (ข้อ ๑) และได้กำหนดให้สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน เป็นส่วนราชการในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ข้อ ๒)

(๔) กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖

กฎกระทรวงฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘[๑] มาตรา ๒๒ วรรคสาม[๒] และมาตรา ๓๘ วรรคสาม[๓] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งเป็นสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาและฝึกอบรมด้านวิชาการและด้านวิชาชีพตามหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในชุมชน โดยกำหนดให้วิทยาลัยชุมชนเป็นส่วนราชการในสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการ
การอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

(๕) มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๕

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เห็นชอบในหลักการ ๔ ข้อ ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ คือ

(๑) ให้ความเห็นชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน โดยจัดตั้งในปี ๒๕๔๕ จำนวน ๑๐ จังหวัด ในปี ๒๕๔๖ ขยายเพิ่มในจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีแรงงานหรือประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาระดับสูงจำนวนมาก และขยายเพิ่มอีกเมื่อมีความพร้อมในปีต่อๆ ไป

(๒) ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำกฎหมายรองรับการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน และมีหน่วยงานรับผิดชอบ ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงาน โดยเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่ของกระทรวงศึกษาธิการ และระยะก่อนปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ให้หน่วยงานดังกล่าวอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

(๓) ให้ความเห็นชอบในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในจังหวัดเพื่อดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน ใช้สถานศึกษาที่มีอยู่เดิมและมีศักยภาพเพียงพอยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยชุมชนโดยไม่สร้างสถานศึกษาใหม่และใช้หน่วยงานทางการศึกษา สถานประกอบการ ภาคเอกชน และแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และท้องถิ่นเป็นเครือข่ายในการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน

(๔) ให้ความเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการวิทยาลัยชุมชนอย่างต่อเนื่อง

พร้อมนี้ให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วยคือ

(๑) วิทยาลัยชุมชนที่จะจัดตั้งขึ้นควรมีรูปแบบและการดำเนินการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ไม่ควรยึดเอาการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนของต่างประเทศมาเป็นตัวแบบโดยตรง

(๒) การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งควรจะต้องตอบสนองต่อความต้องการและการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ

(๓) การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในท้องถิ่นใด ควรให้ชุมชนและท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เข้ามามีส่วนร่วมลงทุน หรือมีส่วนริเริ่มในการจัดตั้งด้วย เพื่อให้ท้องถิ่นได้ตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบในส่วนของตนตั้งแต่ต้น รวมทั้งสามารถพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นของการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

๓.๓ หลักการของวิทยาลัยชุมชน

วิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาแห่งแรกที่
เปิดโอกาสให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการโดยตรง เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของชุมชน รัฐบาลได้มอบหมายให้วิทยาลัยชุมชนจัดการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในทุกสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่วิทยาลัยตั้งอยู่ โดยมีหลักการดังนี้

(๑) เปิดกว้างและเข้าถึงง่าย เพื่อเป็นการให้โอกาสและปฏิบัติต่อนักศึกษาผู้เข้ารับบริหารทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการประกันคุณภาพแก่กลุ่มคนในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลให้มีโอกาสได้ศึกษาในระดับอุดมศึกษารวมทั้งจัดให้บริการคำปรึกษา แนะแนว การจัดตารางการเรียนที่ยืดหยุ่นหลากหลาย และขยายเครือข่ายการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุมทั่วถึง ในลักษณะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ยึดชุมชนเป็นพื้นฐาน เพื่อให้คนไทยในชุมชนได้เรียนรู้และฝึกทักษะอย่างกว้างขวาง

(๒) มีหลักสูตรหลากหลายประเภท วิทยาลัยชุมชนมีการจัดโปรแกรมการศึกษาแบบสหวิทยาการ มีทั้งหลักสูตรคู่ขนานกับระดับอุดมศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ และมีหลักสูตรทางเลือกเพื่อเข้าสู่อาชีพ ตลอดจนหลักสูตรเพื่อทักษะการทำงานที่สามารถเข้าสู่งานได้รวดเร็ว หลักสูตรต่างๆ ได้จัดขึ้นมาทุกสาขา ทุกอาชีพเพื่อเป็นทางเลือกของคนในชุมชนตามศักยภาพของตนเอง

(๓) ตอบสนองต่อชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วิทยาลัยชุมชนจะเป็นแหล่งผลิตและพัฒนากำลังคนในภาคเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งด้านธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างวิชาชีพเพื่อการประกอบกิจการ ช่วยให้เกิดการสร้างกิจการของตนเอง รวมทั้งผลิตคนป้อนตลาดแรงงาน ตลอดจนช่วยอบรมเพิ่มพูนทักษะการทำงานแก่แรงงานในภาคการผลิตของสังคมและประเทศชาติ

(๔) เน้นคุณภาพและการใช้ประโยชน์ โดยจัดการสอนและการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ มุ่งผลให้ผู้เรียนและกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับบริการมีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและรูปแบบวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคคลและชุมชน เช่น การจัดการร่วมกับโรงงาน หรือสถานประกอบการ การจัดการศึกษาแบบสะสมหน่วยกิจ การจัดหลักสูตรสนองความต้องการด้านสังคม วัฒนธรรม สุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจ นิทรรศการ ศิลปะ กีฬา ดนตรี
การละคร การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เป็นต้น

(๕) เสียค่าใช้จ่ายน้อย จัดเก็บค่าบริการจากกลุ่มเป้าหมายในราคาถูก เพื่อให้บริการแก่กลุ่มบุคคลในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลและมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสเรียนโดยไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาและได้เรียนใกล้บ้าน ตลอดจนได้เรียนไปพร้อมกับการทำงานเพื่อพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นการศึกษาตลอดชีวิต

(๖) สร้างพันธมิตรกับธุรกิจเอกชน องค์กรของรัฐ และองค์กรเอกชน โดยจัดทำในรูปแบบเครือข่าย เพื่อสามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนอย่างกว้างขวาง

(๗) ปรับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลง

(๘) ค้นหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยทำการสำรวจ หรือจัดทำระบบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความต้องการของชุมชน เทคโนโลยีและตลาดแรงงานตลอดเวลา

(๙) เชื่อมโยงกับพันธมิตรทั้งในและนอกชุมชน จัดบทบาทที่เข้มแข็งในการแสวงหาพันธมิตร ความร่วมมือกับบุคคล ชุมชน หน่วยงาน องค์กร สมาคมวิชาชีพ ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน กำหนดกรอบความร่วมมือทั้งรูปแบบและระดับความสัมพันธ์หลากหลาย ให้ชุมชนได้เลือกในการเข้าร่วมกิจกรรมตามความพร้อมของตน เพื่อร่วมกันดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามภารกิจของวิทยาลัยชุมชน

(๑๐) ชุมชนเป็นผู้นำ หรือร่วมดำเนินการ สร้างองค์งานที่เข้มแข็งในการชักนำชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ การดำเนินงาน และการสนับสนุนทุกรูปแบบ เพื่อจัดให้บริการตามความต้องการของชุมชน

๓.๔ โครงสร้างและการบริหารงานวิทยาลัยชุมชน

การจัดโครงสร้างการบริหารงานวิทยาลัยชุมชน แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ ส่วนกลาง และส่วนวิทยาลัย

(๑) โครงสร้างการบริหารงานของวิทยาลัยชุมชนส่วนกลาง

โครงสร้างองค์กรวิทยาลัยชุมชนส่วนกลาง ประกอบด้วย องค์คณะบุคคลบริหารงานและหน่วยงานรับผิดชอบ ตามลำดับดังนี้

(๑.๑) คณะกรรมการการอุดมศึกษา[๔] เป็นองค์คณะบุคคลบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะในการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และประกาศที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงาน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย ตลอดทั้งมีอำนาจเสนอแนะและให้ความเห็นในการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่สถานศึกษาระดับปริญญา ทั้งที่เป็นสถานศึกษาในสังกัดและสถานศึกษาในกำกับแก่คณะรัฐมนตรีด้วย

ในส่วนของกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเกี่ยวกับระบบเครือข่ายในการบริหารการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน

(๑.๒) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ และทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ในส่วนของกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้แก่วิทยาลัยชุมชนตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายังมีอำนาจในการปกครอง ดูแล รักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีไว้เพื่อการดำเนินกิจการของวิทยาลัยชุมชน ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่นของวิทยาลัย

(๑.๓) คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน[๕] เป็นองค์คณะบุคคลบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังนี้

(๑.๓.๑) พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการศึกษาของวิทยาลัยต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา

(๑.๓.๒) ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

(๑.๓.๓) กำหนดแนวทาง ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนให้วิทยาลัยจัดระบบเครือข่ายในการบริหารการจัดการศึกษา

(๑.๓.๔) ออกระเบียบและข้อบังคับของสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนและอาจมอบให้วิทยาลัยเป็นผู้ออกระเบียบและข้อบังคับสำหรับวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องๆ ไปก็ได้

(๑.๓.๕) พิจารณาเสนอการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกวิทยาลัยต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา

(๑.๓.๖) พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่วิทยาลัย

(๑.๓.๗) ระดมทุนและทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาของวิทยาลัย และส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนวิทยาลัยชุมชน

(๑.๓.๘) ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของวิทยาลัย

(๑.๓.๙) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาและรัฐมนตรีในการออกระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับเพื่อดำเนินการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖

(๑.๓.๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

(๑.๓.๑๑) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

(๑.๓.๑๒) อำนาจหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดโดยเฉพาะ

(๑.๔) สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๔ กลุ่มคือ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มพัฒนาวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และกลุ่มส่งเสริมเครือข่ายการจัดการศึกษา สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน ดังนี้

(๑.๔.๑) จัดทำข้อเสนอนโยบายและจัดทำแผนหลักของระบบวิทยาลัยชุมชน เสนอแนะการจัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณให้วิทยาลัยชุมชน

(๑.๔.๒) จัดทำระบบข้อมูล สารสนเทศ กำกับ ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน

(๑.๔.๓) จัดทำมาตรฐานการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน

(๑.๔.๔) พัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน และเครือข่ายความร่วมมือการจัดการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(๑.๔.๕) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน

(๑.๔.๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(๒) โครงสร้างการบริหารงานของวิทยาลัยชุมชนส่วนวิทยาลัย

โครงสร้างองค์กรส่วนวิทยาลัย เป็นโครงสร้างองค์กรของวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่ง ประกอบด้วย องค์คณะบุคคลบริหารงานและหน่วยงานรับผิดชอบ ตามลำดับดังนี้

(๒.๑) สภาวิทยาลัยชุมชน เป็นองค์คณะบุคคลบริหารงานวิทยาลัยชุมชนทั้งระบบ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑๑ แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังนี้

(๒.๑.๑) วางนโยบายและให้ความเห็นชอบแผนการจัดการศึกษา และงบประมาณของวิทยาลัย

(๒.๑.๒) กำกับดูแลให้วิทยาลัยปฏิบัติตามนโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการศึกษาตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

(๒.๑.๓) ออกระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของวิทยาลัย

(๒.๑.๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบการแบ่งส่วนงานในวิทยาลัย และการจัดตั้งหน่วยจัดการศึกษาของวิทยาลัย

(๒.๑.๕) ระดมทุนและทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาของวิทยาลัย

(๒.๑.๖) ให้คำแนะนำและการบริหารและการจัดการวิทยาลัยแก่ผู้อำนวยการ

(๒.๑.๗) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนายการและการดำเนินงานของวิทยาลัย

(๒.๑.๘) ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

(๒.๑.๙) อนุมัติการให้อนุปริญญาและประกาศนียบัตร

(๒.๑.๑๐) อนุมัติการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

(๒.๑.๑๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของวิทยาลัย

(๒.๑.๑๒) แต่งตั้งคณะทำงาน หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิทยาลัย

(๒.๑.๑๓) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและการถอดถอนผู้อำนวยการ

(๒.๑.๑๔) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้อำนวยการ อาจารย์พิเศษ และกรรมการสภาวิชาการ

(๒.๑.๑๕) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

(๒.๒) วิทยาลัยชุมชน เป็นส่วนราชการ ซึ่งจัดเป็นสถานศึกษาในระบบเครือข่ายวิทยาลัยชุมชน มีผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงาน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(๒.๒.๑) เป็นสถาบันหลักในระบบเครือข่ายวิทยาลัยชุมชนซึ่งดำเนินบทบาทสถานศึกษาของรัฐที่บริหารจัดการโดยชุมชน

(๒.๒.๒) จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ

(๒.๒.๓) จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

(๒.๒.๔) จัดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรปรับพื้นฐาน จัดอบรมและการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต และหลักสูตรอื่นตามความต้องการของชุมชน

(๒.๒.๕) บริหารจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนและหน่วยจัดการศึกษาตามแผนและงบประมาณที่สภาวิทยาลัยชุมชนให้ความเห็นชอบ

(๒.๒.๖) ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยจัดการศึกษา

(๒.๒.๗) ส่งเสริมให้มีการสร้างและพัฒนาอาชีพ คุณภาพวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน

(๒.๒.๘) จัดให้มีการสังเคราะห์องค์ความรู้ เพื่อต่อยอดความต้องการพัฒนาของชุมชนและครอบครัวในรูปของการวิจัย หรือการศึกษาเพื่อการพัฒนาร่วมกับชุมชน

(๒.๒.๙) บริหารจัดการให้ส่วนงานภายใต้วิทยาลัยชุมชนดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

(๒.๒.๑๐) เป็นสำนักเลขานุการของสภาวิทยาลัยชุมชน

(๒.๓) สภาวิชาการ เป็นองค์คณะบุคคลผู้ชำนาญหรือเชี่ยวชาญ งานวิชาการของวิทยาลัยชุมชนทั้งระบบ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ คือให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่สภามหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการเกี่ยวกับหลักสูตร การเรียน การสอน คุณภาพทางการศึกษา การเปิดสาขาวิชา การเปิดหลักสูตร และการดำเนินงานของหน่วยจัดการศึกษา

(๒.๔) หน่วยจัดการศึกษา เป็นสถานที่ที่สภาวิทยาลัยชุมชนประกาศจัดตั้งให้เป็นหน่วยจัดการศึกษา เครือข่ายของวิทยาลัยชุมชน เพื่อจัดการศึกษาตามที่ชุมชนต้องการรวมกับวิทยาลัยชุมชน การประกาศให้สถานที่ใดเป็นหน่วยจัดการศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับของวิทยาลัยชุมชน หน่วยจัดการศึกษา มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับวิทยาลัยชุมชน และหน่วยจัดการศึกษาอื่นในการจัดการศึกษาตามแผนการจัดการศึกษาที่สภาวิทยาลัยชุมชนให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้มีหน้าที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีทั้งสายวิชาการและวิชาชีพ จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรปรับพื้นฐาน รวมทั้งจัดหลักสูตรระยะสั้น จัดอบรมและการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต และหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มตามความต้องการของชุมชนได้

(๒.๕) คณะกรรมการหน่วยจัดการศึกษา เป็นองค์คณะบุคคลสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยจัดการศึกษา มีหน้าที่กำกับติดตามและให้การสนับสนุนหน่วยจัดการศึกษาดำเนินงานให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนของหน่วยจัดการศึกษานั้นๆ

๓.๕ การจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน

(๑) การจัดการศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพ

วิทยาลัยชุมชนมีการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพตามหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ประกอบด้วย

(๑.๑) จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

(๑.๒) จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการทางสังคม และเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศ ประกอบด้วย

(ก) สังคมและเศรษฐกิจเกษตร เน้นหลักสูตรการเกษตรอุตสาหกรรม

(ข) สังคมและเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เน้นหลักสูตรการบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการท่องเที่ยว

(ค) สังคมและเศรษฐกิจภาคบริการ เน้นหลักสูตรการบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพ และการท่องเที่ยว

(ง) สังคมและเศรษฐกิจสารสนเทศ เน้นหลักสูตรคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ

(๑.๓) ชนิดของหลักสูตร จัดหลักสูตรอย่างน้อย ๔ ประเภท ได้แก่

(ก) หลักสูตรอนุปริญญา หรือหลักสูตร ๒ ปีแรกของระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและวิชาชีพอื่น เพื่อการถ่ายโอนไปศึกษาระดับปริญญา หรือเพื่อประกอบอาชีพ

(ข) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งเน้นความรู้ ทักษะ และสมรรถนะอาชีพเพื่อการประกอบอาชีพ

(ค) หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

(ง) หลักสูตรปรับพื้นฐาน หลักสูตรพัฒนาขึ้น หรือรายวิชาที่จัดให้ผู้เรียนเพื่อปรับพื้นฐานการศึกษาให้เต็มประสิทธิภาพ

(๑.๔) วิธีการจัดการศึกษา

วิทยาลัยชุมชนจะจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยจัดในรูปแบบที่เปิดกว้างหลากหลาย ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน มีความยืดหยุ่น ทั้งด้านการเข้าเรียน ตารางเรียน สถานที่เรียน วิธีการเรียนการสอนและการสำเร็จการศึกษา เช่น ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ทั้งภาคปกติ ภาคค่ำ วันหยุดราชการ หรือเรียนทางไกล นอกจากนี้จะต้องสร้างพันธมิตร องค์กรของรัฐและชุมชน มุ่งเน้นคุณภาพและการใช้ทรัพยากรร่วมกันและชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการ ทั้งนี้ การดำเนินงานให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

(๑.๕) ผู้สอน

ผู้สอนในวิทยาลัยชุมชนแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ

กลุ่มที่ ๑ ผู้สอนซึ่งเป็นครู หรืออาจารย์ที่ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนเป็นประจำอยู่แล้ว คือ อาจารย์ประจำของวิทยาลัยชุมชน และครูหรืออาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งเชิญมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษ

กลุ่มที่ ๒ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ ที่ได้รับเชิญให้มา โดยมีฐานะเป็นอาจารย์พิเศษหรือวิทยากร

(๑.๖) กลุ่มเป้าหมายผู้เรียน

กลุ่มเป้าหมายที่สามารถมาเรียนในวิทยาลัยชุมชนมีหลากหลายดังต่อไปนี้

(ก) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

(ข) ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่พลาดโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

(ค) ผู้ไม่รู้หนังสือ หรือผู้ไม่สำเร็จการศึกษาระดับต่างๆ หรือผู้ออกจากการศึกษากลางคัน

(ง) ผู้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี

(จ) ผู้ที่ทำงานหรือเกษียณงานแล้ว

(ฉ) ผู้ที่ทำงานและต้องการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์

(ช) ผู้เรียนในระบบการศึกษาปกติที่ต้องการพัฒนาความสามารถบางวิชา

(๒) การจัดการฝึกอบรม

วิทยาลัยชุมชนนอกจากจะจัดให้มีการศึกษาทางด้านวิชาการและวิชาชีพแล้ว ยังได้มีการจัดฝึกอบรมให้กับประชนชนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลากรในชุมชน โดยมีหลักสูตรที่สอดคล้องกับอาชีพ ธุรกิจ เศรษฐกิจ และปัญหาทางสังคมของชุมชน ดังนี้

(๒.๑) หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาอาชีพ ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะและสมรรถนะในการประกอบอาชีพได้จริง และเข้าสู่อาชีพได้รวดเร็ว โดยสอนแบบครบวงจรทั้งทางด้านการตลาดและเทคโนโลยี

(๒.๒) หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเปิดสอนให้มีความหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน

หลักสูตรทั้ง ๒ ประเภทนี้สามารถเก็บหน่วยการเรียนสะสมไว้สำหรับเทียบความรู้เข้าสู่ระบบการศึกษาปกติได้

๓.๖ รายได้ของวิทยาลัยชุมชน

วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งมีรายได้จากเงินงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดสรรให้ นอกจากนี้ วิทยาลัยชุมชนหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจมีรายได้และทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(๓.๖.๑) ผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าบริการต่างๆ ที่วิทยาลัยหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับจากการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย

(๓.๖.๒) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาปกครอง ดูแลหรือใช้ประโยชน์เพื่อการดำเนินกิจการของวิทยาลัย

(๓.๖.๓) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่วิทยาลัยหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย

(๓.๖.๔) เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินอุดหนุนอื่นที่วิทยาลัยหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับเพื่อใช้ดำเนินกิจการของวิทยาลัย

(๓.๖.๕) รายได้หรือผลประโยชน์อย่างอื่น

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอำนาจในการปกครอง ดูแลรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีไว้เพื่อการดำเนินกิจการของวิทยาลัยชุมชนทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่นของวิทยาลัยชุมชน รายได้รวมทั้งเบี้ยปรับที่วิทยาลัยหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับจากการดำเนินการของวิทยาลัย กฎหมายกำหนดให้วิทยาลัยหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาสามารถจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของวิทยาลัย ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด

๓.๗ อนุปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะของวิทยาลัยชุมชน

คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีอนุปริญญา และประกาศนียบัตรอย่างหนึ่งอย่างใดในสาขาวิชาที่มีการสอนในวิทยาลัยได้[๖] โดยอนุปริญญาออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรระดับอนุปริญญา และประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหรืออบรมเฉพาะวิชา คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนอาจกำหนดให้มีเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของ
ผู้ได้รับอนุปริญญาและประกาศนียบัตรได้ โดยที่การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของเข็มวิทยฐานะ ให้ทำเป็นข้อบังคับของสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนและประกาศในราชกิจานุเบกษา นอกจากนี้ คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของวิทยาลัย และเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาได้ โดยทำเป็นข้อบังคับของสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา


[๑] มาตรา ๘ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติการ อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งหรือหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

[๒] มาตรา ๒๒ ฯลฯ ฯลฯ

การจัดตั้ง การบริหารงาน สังกัดและการจัดประเภทของสถานศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ตลอดจนหลักเกณฑ์อื่นในการบริหารงานและการดำเนินการทางวิชาการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

[๓] มาตรา ๓๘ ฯลฯ ฯลฯ

องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และจำนวนกรรมการในคณะกรรมการ สถานศึกษาสำหรับสถานศึกษาบางประเภทที่มีสภาพและลักษณะการปฏิบัติงานแตกต่างไปจากสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยทั่วไป อาจกำหนดให้แตกต่างไปตามสภาพและลักษณะการปฏิบัติงานตลอดทั้งความจำเป็นเฉพาะของสถานศึกษาประเภทนั้นได้ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ฯลฯ ฯลฯ

[๔] ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน

[๕] ประกอบด้วย

(๑) ประธานกรรมการวิทยาลัยชุมชน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากกรรมการวิทยาลัยชุมชนผู้ทรงคุณวุฒิ

(๒) กรรมการวิทยาลัยชุมชนโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนหอการค้าไทย

(๓) กรรมการวิทยาลัยชุมชนจำนวนสองคน ซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนึ่งคน และเลือกจาก
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาวิทยาลัยหนึ่งคน

(๔) กรรมการวิทยาลัยชุมชนผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตาม (๑) (๒) และ (๓) รวมกัน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน

ฯลฯ ฯลฯ

[๖] ข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖

ร่าง

พระราชบัญญัติ

สถาบันวิทยาลัยชุมชน

พ.ศ. ....


.................................................................

.................................................................

.................................................................

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิทยาลัยชุมชน

........................................................................................................................................................

.........................................................................

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ...."

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"สถาบัน" หมายความว่า สถาบันวิทยาลัยชุมชน

"สภาสถาบัน" หมายความว่า สภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน

"วิทยาลัย" หมายความว่า วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่ง

"สภาวิทยาลัย" หมายความว่า สภาวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่ง

"ผู้อำนวยการสถาบัน" หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน

"ผู้อำนวยการวิทยาลัย" หมายความว่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่ง

"สภาวิชาการ" หมายความว่า สภาวิชาการ สถาบันวิทยาลัยชุมชน

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้สถาบันเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์และความสอดคล้องในการบริหารงานบุคคลของสถาบัน ให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของสถาบันตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายอื่นโดยอนุโลม เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีอำนาจออกกฎ วางระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

บททั่วไป


มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ให้สถาบันเป็นสถานศึกษาซึ่งจัดการศึกษาโดยวิทยาลัยชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ให้บริการทางวิชาการ ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน การพัฒนาที่ยั่งยืน เติมเต็มศักยภาพบุคคล ตอบสนองและสอดคล้องต่อความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

มาตรา ๙ การดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘ สถาบันต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) การสร้างโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน

(๒) การตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนในเรื่องการศึกษา การฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ

(๓) ความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการศึกษาต่อในระดับปริญญาของนักศึกษา

(๔) ความร่วมมือกับสถานศึกษา สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐ สถานศึกษาชั้นสูง สถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศในการจัดการศึกษา

(๕) มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ

(๖) การะดมทรัพยากรทั้งจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในการ จัดการศึกษา

(๗) การบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล

(๘) การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนในการบริหารจัดการ

(๙) การประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๑๐ สถาบันอาจแบ่งส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(๑) สำนักงานสถาบัน

(๒) วิทยาลัย

สถาบันอาจกำหนดให้มีส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัย

สำนักงานสถาบัน อาจแบ่งส่วนราชการเป็นกองหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

วิทยาลัย อาจแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักวิชาการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักวิชาการ

มาตรา ๑๑ การจัดตั้ง การรวม การโอนหรือการยุบเลิกวิทยาลัย หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัย ให้ทำเป็นกฎกระทรวง

การแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานผู้อำนวยการ กอง และสำนักวิชาการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองหรือสำนักวิชาการ ให้ทำเป็นประกาศสถาบัน

มาตรา ๑๒ นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน สถาบันอาจมีรายได้และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(๑) เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ ค่าปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ของสถาบัน

(๒) เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินอุดหนุนอื่นที่สถาบันได้รับเพื่อใช้ ในการดำเนินกิจการของสถาบัน

(๓) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่สถาบัน

(๔) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุน หรือจากทรัพย์สินของสถาบัน

(๕) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ที่ราชพัสดุหรือจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งสถาบันปกครอง ดูแล ใช้ หรือจัดหาประโยชน์

(๖) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น

ให้สถาบันมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบัน ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุและที่เป็นทรัพย์สินอื่น รวมทั้งจัดหารายได้จากการให้บริการ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาของส่วนราชการในสถาบัน

รายได้ของสถาบันตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมาย ว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๑๓ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถาบันตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน

มาตรา ๑๔ บรรดารายได้และทรัพย์สินของสถาบันต้องจัดการเพื่อประโยชน์ภายใต้วัตถุประสงค์ของสถาบันตามมาตรา ๘

เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบันจะต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว สถาบันต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้อุทิศให้หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏต้องได้รับอนุมัติจากสภาสถาบัน

หมวด ๒

การดำเนินการ


มาตรา ๑๕ ให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วย

(๑) นายกสภาสถาบัน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(๒) กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้อำนวยการสถาบัน

(๓) กรรมการสภาสถาบันซึ่งเลือกจากผู้แทนภาคเอกชนจำนวนสามคน ผู้แทนประธาน สภาวิทยาลัยจำนวนสองคน ผู้แทนผู้อำนวยการวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนผู้สอนประจำจำนวนหนึ่งคน

(๔) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกสถาบัน โดยคำแนะนำของนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตาม (๒) และ (๓) ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวต้องมาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารงานบุคคล การศึกษา หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับองค์กรชุมชน

ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นอุปนายกสภาสถาบัน และให้ทำหน้าที่แทนนายกสภาสถาบัน เมื่อนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน แต่หากอุปนายกสภาสถาบันไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาสถาบัน ให้สภาสถาบันเลือกกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งทำหน้าที่แทนนายกสภาสถาบัน

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตาม (๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

ให้สภาสถาบันแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสถาบันคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภาสถาบันโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการสถาบัน

มาตรา ๑๖ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

กรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้

มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๖ นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันประเภทนั้น

(๔) สภาสถาบันมีมติให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ

(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๖) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๗) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

การพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) ต้องมีคะแนนเสียงลงมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสภาสถาบันทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๓) และ (๔) ว่างลง และยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาสถาบันประกอบด้วยกรรมการสภาสถาบันเท่าที่มีอยู่แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

ในกรณีที่นายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หรือได้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หรือได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

ในกรณีที่นายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา ๑๕ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันขึ้นใหม่ ให้นายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีนายกสภาสถาบันหรือกรรมการสภาสถาบันใหม่แล้ว

มาตรา ๑๘ สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาของสถาบัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน

(๒) กำกับมาตรฐานการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษา

(๓) ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของสถาบัน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของสถาบัน และอาจมอบหมายให้สภาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้

(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

(๕) อนุมัติการให้อนุปริญญาและประกาศนียบัตรตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง

(๖) พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนราชการของสถาบันตามมาตรา ๑๐ รวมทั้งการแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการดังกล่าว

(๗) พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการสถาบัน

(๘) แต่งตั้งและถอดถอนประธานสภาวิทยาลัย กรรมการสภาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการวิทยาลัย และผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

(๙) ออกข้อบังคับว่าด้วยคุณสมบัติและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้สอนพิเศษ

(๑๐) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของสถาบันตามมาตรา ๑๒

(๑๑) ออกข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงาน การเงิน การจัดหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบันตามมาตรา ๑๒

(๑๒) ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการศึกษา ระดมทรัพยากร และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน เพื่อการจัดการศึกษาของสถาบัน

(๑๓) ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของผู้อำนวยการสถาบัน

(๑๔) อนุมัติการจัดการศึกษาร่วม การยกเลิกการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ

(๑๕) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาสถาบัน

(๑๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

มาตรา ๑๙ การประชุมของสภาสถาบัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๒๐ ให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วย

(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการสถาบัน

(๒) กรรมการสภาวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลภายในและภายนอกของสถาบัน

ให้กรรมการสภาวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสถาบันคนหนึ่งเป็นประธานสภาวิชาการ

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสภาวิชาการ ตลอดจนการประชุมและการดำเนินงานของสภาวิชาการให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๒๑ สภาวิชาการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะการวางนโยบายและแผนพัฒนาทางวิชาการต่อสภาสถาบัน

(๒) เสนอเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การเรียนการสอน การประเมินผลการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษาต่อสภาสถาบัน

(๓) ส่งเสริมการบริการทางวิชาการที่สอดคล้องกับภารกิจของวิทยาลัย และความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน

(๔) ประเมินความก้าวหน้าทางวิชาการ และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาทางวิชาการต่อสภาสถาบัน

(๕) เสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การเปิดสอน การปรับปรุง และการยกเลิกหลักสูตรการศึกษา

(๖) เสนอแนะการจัดการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ รวมทั้งยกเลิกการจัดการศึกษาร่วม

(๗) พิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเสนอสภาสถาบัน

(๘) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นใน เรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาการ

มาตรา ๒๒ ให้มีผู้อำนวยการสถาบันเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน และให้มีรองผู้อำนวยการสถาบันตามที่สภาสถาบันกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามคนเพื่อทำหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสถาบันมอบหมายได้

มาตรา ๒๓ ผู้อำนวยการสถาบันนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภาสถาบันจากผู้มีคุณคุณสมบัติตามมาตรา ๒๕

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

ผู้อำนวยการสถาบันมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้

รองผู้อำนวยการสถาบันนั้น ให้สภาสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการสถาบันจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๖

เมื่อผู้อำนวยการสถาบันพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการสถาบันพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๒๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๓ ผู้อำนวยการสถาบันพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕

(๔) สภาสถาบันมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๕) ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือถูกให้ออกจากราชการ เพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๗) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๘) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

การพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) ต้องมีคะแนนเสียงลงมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสภาสถาบันทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๒๕ ผู้อำนวยการสถาบันต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาสถาบันรับรอง และได้ทำการสอนในสถาบันหรือสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสภาสถาบันรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในสถาบัน สถาบันอุดมศึกษาอื่น องค์กรภาครัฐ หรือภาคเอกชน

นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๒๖ รองผู้อำนวยการสถาบันต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาสถาบันรับรอง และได้ทำการสอนในสถาบันหรือสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสภาสถาบันรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในสถาบัน สถาบันอุดมศึกษาอื่น องค์กรภาครัฐ หรือภาคเอกชน

นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง รองผู้อำนวยการสถาบันต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๒๗ ผู้อำนวยการสถาบันมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ของสถาบัน และเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของทางราชการและของสถาบัน

(๒) จัดทำแผนพัฒนาสถาบัน ดูแลไม่มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานของสถาบัน

(๓) บริหารบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่และทรัพย์สินอื่นของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของทางราชการและของสถาบัน

(๔) จัดทำงบประมาณรับและงบประมาณรายจ่ายเพื่อเสนอต่อสภาสถาบัน

(๕) จัดหารายได้และทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของสถาบัน

(๖) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐ เอกชน สถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ

(๗) เป็นผู้แทนสถาบันในกิจการทั่วไป

(๘) ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสถาบันต่อสภาสถาบัน

(๙) แต่งตั้งรองผู้อำนวยการวิทยาลัยโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัย

(๑๐) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสถาบันเสนอต่อสภาสถาบัน

(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของสถาบันหรือตามที่สภาสถาบันมอบหมาย

มาตรา ๒๘ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการวิทยาลัย รองผู้อำนวยการวิทยาลัย หัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัย จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้

ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งจะรักษาราชการแทนตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงหนึ่งตำแหน่ง แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

มาตรา ๒๙ ในกรณีที่ผู้อำนวยการสถาบันไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้อำนวยการสถาบันเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองผู้อำนวยการสถาบันหลายคน ให้รองผู้อำนวยการสถาบันที่ผู้อำนวยการสถาบันมอบหมายเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าผู้อำนวยการสถาบันมิได้มอบหมาย ให้รองผู้อำนวยการสถาบันซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันหรือไม่มีผู้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้สภาสถาบันแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๕ เป็นผู้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบัน

ให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน และในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือให้มีอำนาจและหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนเป็นกรรมการหรือมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในขณะรักษาราชการแทนด้วย

มาตรา ๓๐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบัน ผู้อำนวยการสถาบันจะมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยและหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัย ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเฉพาะในส่วนราชการนั้นก็ได้

หมวด ๓

การดำเนินการของวิทยาลัย


มาตรา ๓๑ ในการดำเนินการตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ ให้มีวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการในสถาบัน มีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา และฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ

มาตรา ๓๒ ให้วิทยาลัยบริหารและจัดการศึกษาบนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน การระดมทรัพยากรและการสนับสนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเพื่อการพัฒนาบุคลาการในท้องถิ่น

มาตรา ๓๓ วิทยาลัยจะปฏิเสธการรับผู้ใดเข้าศึกษาในวิทยาลัย หรือยุติหรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาผู้ใดด้วยเหตุเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาแก่วิทยาลัยมิได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักศึกษาผู้ใดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

มาตรา ๓๔ ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘ วิทยาลัยอาจจัดการศึกษาร่วมกับสถานศึกษา สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในการจัดการศึกษา และมีอำนาจให้ประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งแก่ผู้สำเร็จการศึกษา สำหรับการอนุมัติอนุปริญญาให้เป็นอำนาจของสภาสถาบัน

เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา วิทยาลัยอาจร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ โดยให้สภาสถาบันเป็นผู้อนุมัติการจัดการศึกษาร่วม และมีอำนาจให้อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันดังกล่าวแก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้

การดำเนินการจัดการศึกษาและการยกเลิกการจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๓๕ ในวิทยาลัยให้มีสภาวิทยาลัยเพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษาประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรชุมชนซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในภูมิลำเนาเดียวกันกับวิทยาลัย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนศิษย์เก่า และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คน เป็นกรรมการ

ในกรณีที่วิทยาลัยใดไม่มีผู้แทนศิษย์เก่า ให้สภาวิทยาลัยประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

ให้กรรมการสภาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งเลือกกรรมการสภาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งและเสนอต่อสภาสถาบันเพื่อแต่งตั้งเป็นปรานสภาวิทยาลัย

ให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นกรรมการสภาวิทยาลัยโดยตำแหน่งและให้สภาวิทยาลัยแต่งตั้งรองผู้อำนวยการวิทยาลัยคนหนึ่งโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นเลขานุการ

จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวีการได้มาซึ่งกรรมการสภาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบัน

มาตรา ๓๖ ให้นำมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๙ มาใช้บังคับแก่วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง การประชุม และการดำเนินงานของกรรมการ สภาวิทยาลัยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๗ สภาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของวิทยาลัยและสอดคล้องกับนโยบายที่สภาสถาบันกำหนด

(๒) ให้ความเห็นชอบแผนจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการของวิทยาลัย

(๓) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาวิทยาลัย

(๔) ออกระเบียบและข้อบังคับของวิทยาลัยตามที่สภาสถาบันมอบหมาย

(๕) อนุมัติหลักสูตรและการเปิดสอนหลักสูตรฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพตามความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน

(๖) อนุมัติการให้ประกาศนียบัตร

(๗) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา

(๘) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการวิทยาลัยและการดำเนินงานของวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภาสถาบัน

(๙) แต่งตั้งคณะทำงานหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นใน เรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิทยาลัย

(๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภาสถาบันมอบหมาย

มาตรา ๓๘ ให้มีผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของวิทยาลัย และอาจให้มีรองผู้อำนวยการวิทยาลัยตามจำนวนที่สภาสถาบันกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยมอบหมายก็ได้

มาตรา ๓๙ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนั้น ให้สภาสถาบันแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๑

หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

รองผู้อำนวยการวิทยาลัยนั้น ให้ผู้อำนวยการสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัย

มาตรา ๔๐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑

(๔) สภาสถาบันมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่ สภาสถาบันกำหนด

(๕) สภาสถาบันมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๖) ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือถูกให้ออกจากราชการ เพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

(๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๘) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๙) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

การพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) และ (๕) ต้องมีคะแนนเสียงลงมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสภาสถาบันทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

เมื่อผู้อำนวยการวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๔๑ ผู้อำนวยการวิทยาลัยและรองผู้อำนวยการวิทยาลัยต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาชั้นชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาสถาบันรับรอง และมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในสถาบัน สถาบันอุดมศึกษาอื่น องค์กรภาครัฐ หรือภาคเอกชนหรือเคยเป็นผู้สอนประจำในสถาบันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยและรองผู้อำนวยการวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบันด้วย

มาตรา ๔๒ ผู้อำนวยการวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารกิจการของวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของสถาบัน

(๒) จัดทำแผนจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการของวิทยาลัยเสนอต่อสภาวิทยาลัย

(๓) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเพื่อเสนอผู้อำนวยการสถาบันและรายงานสภาวิทยาลัยเพื่อทราบ

(๔) บริหารบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของทางราชการและของสถาบัน

(๕) ประสานความร่วมมือด้านวิชาการและการใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชน องค์กรชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานอื่นของรัฐ

(๖) ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการวิทยาลัยต่อผู้อำนวยการสถาบัน

(๗) ส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาและกิจการนักศึกษา

(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภาสถาบัน สภาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันมอบหมาย

มาตรา ๔๓ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัย ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งสภาวิทยาลัยแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกวิทยาลัย มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนการดำเนินกิจการของวิทยาลัย

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการ รวมตลอดถึงการดำเนินงานและการประชุมของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาวิทยาลัย

หมวด ๔

ตำแหน่งทางวิชาการและผู้สอนพิเศษในสถาบัน


มาตรา ๔๔ ผู้สอนประจำในสถาบันจะมีตำแหน่งทางวิชาการและเงินประจำตำแหน่งอย่างไร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

มาตรา ๔๕ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาจแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณวุฒิและคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นผู้สอนประจำเป็นผู้สอนพิเศษได้

คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้สอนพิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบัน

หมวด ๕

อนุปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ


มาตรา ๔๖ สถาบันมีอำนาจให้อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรอย่างหนึ่งอย่างใดในสาขาวิชา ที่มีการสอนในสถาบันได้ ดังต่อไปนี้

(๑) อนุปริญญาออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับอนุปริญญา

(๒) ประกาศนียบัตรออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรม

การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีอนุปริญญา และการใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาให้เป็นไปตามประกาศของสถาบันและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๔๗ สถาบันอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือเข็มวิทยฐานะ เป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับอนุปริญญาและประกาศนียบัตร และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน ประธานสภาวิทยาลัย กรรมการสภาวิทยาลัย ผู้บริหารสถาบันและผู้สอนประจำในสถาบันก็ได้

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะและครุยประจำตำแหน่ง ให้ทำเป็นข้อบังคับของสถาบันและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง จะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา ๔๘ สถาบันอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถาบันได้ โดยออกเป็นข้อบังคับของสถาบันและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามวรรคหนึ่ง เพื่อการอื่นใดที่มิใช่เพื่อประโยชน์ของสถาบันหรือส่วนราชการของสถาบัน ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบัน

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ


มาตรา ๔๙ ผู้ใดใช้ครุยวิทยาฐานะ เข็มวิทยาฐานะ ครุยประจำตำแหน่งของสถาบันโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีอนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในสถาบันโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำไปเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล


มาตรา ๕๐ ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ รายได้ หนี้ สิทธิ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เฉพาะในส่วนของสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน มาเป็นของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ข้าราชการซึ่งโอนมาเป็นข้าราชการของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ ยังคงดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิมต่อไปจนกว่าจะได้รับแต่งตั้งใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบที่กำหนดโดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๕๑ ให้ประธานกรรมการวิทยาลัยชุมชนและกรรมการวิทยาลัยชุมชนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามพระราชบัญญัติต่อไปนี้ จนกว่าจะได้มีสภาสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๒ ให้ประธานกรรมการวิทยาลัยชุมชนและกรรมการวิทยาลัยชุมชนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีรูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่นายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป จนกว่าจะได้มีสภาสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๓ ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๔ ให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

มาตรา ๕๕ ผู้ที่ได้รับอนุปริญญา และประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๖ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับผู้ได้รับอนุปริญญาและประกาศนียบัตรของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕๖ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศซึ่งออกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ เฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาลัยชุมชน และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

พอเป็นพระราชบัญญัติอำนาจของกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนในแต่ละจังหวัดถูกริบไปเป็นของส่วนกลาง กลายร่างเป็นแค่กรรมการสถานศึกษา สภาวิชาการของแต่ละจังหวัดถูกยุบหายไป กลายเป็นสภาวิชาการของส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร ทุกอย่างเป็นรวบอำนาจ ไม่ใช่กระจายอำนาจ สอบถามไล่เรียงได้ความว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเมื่อจะเป็นพระราชบัญญัติต้องให้อำนาจส่วนกลางมากๆ(เป็นงั้นไป) ในปัจจุบันวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดจัดการศึกษาตามบริบทของชุมชนของแต่ละจังหวัด ซึ่งแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละแห่ง น่าเสียดายในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นแปรญัตติในสภานิติบัญญ้ติ ก็ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่หลายๆท่านที่เห็นด้วยกับบริบทที่กระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดตามกฎกระทรวงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะดึงกลับได้มากน้อยขนาดไหน ก็ต้องดูเพราะท่าทางว่าจะประชุมแปรญัตติไม่เกินสามครั้ง ขอพระสยามเทวาธิราชช่วยด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 580848เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท