6 Powerful Communication Tips


การสนทนาเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน

6 เคล็ดลับการติดต่อสื่อสาร

6 Powerful Communication Tips

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

18พฤศจิกายน 2557

บทความนี้ นำมาจาก 6 Powerful Communication Tips from Some of the World's Best Interviewers: Listening intently isn't just for journalists. Here's how to sharpen your interviewing skills to get the most out of your connections. โดย Courtney Seiter

คนส่วนมากจะประหม่า เมื่อต้องไปงานเลี้ยง พบปะผู้คนใหม่ ๆ หรือในการสัมภาษณ์งาน ว่าไม่รู้จะพูดคุยอย่างไรดี การสนทนาเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน นักประพันธ์ ผู้สื่อข่าว ผู้สัมภาษณ์ ต่างมีวิธีการพัฒนาเทคนิค เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้คน และสร้างความเข้าใจกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเคล็ดลับการติดต่อสื่อสาร จากผู้เชี่ยวชาญ 6 ประการ ที่จะช่วยให้เราสร้างสัมพันธภาพที่ดี หรือเป็นผู้ที่มีการเจรจาพาทีที่ดี คือ

1. ให้เตรียมข้อมูลไว้ล่วงหน้า แล้วโยนทิ้งไป

  • ถ้าคุณมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ให้ค้นคว้าเรื่องราวของบุคคลที่เราจะพบด้วย จะได้รู้สึกมั่นใจ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ มืออาชีพจะไม่อ่านโพยที่เตรียมไว้ แต่จะให้เหตุการณ์พาไป ปล่อยเป็นธรรมชาติ
  • การพูดคุยกันไม่ใช่การสัมภาษณ์ เพราะการสัมภาษณ์เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ควรให้เป็นการสนทนากันมากกว่า ให้โยนกระดาษจดทิ้งไป
  • ผู้สัมภาษณ์ที่ดีจะรู้ว่าสมควรทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลาย แล้วเปิดใจสนทนาในสิ่งที่เป็นจริงของตัวเขา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายรู้สึกไม่เกร็ง ไม่รู้สึกว่ามีไมโครโฟนอยู่ตรงหน้า มีความเป็นตัวของตัวเอง นั่นแหละวิเศษสุด

2. ทำตัวให้เสมอกัน ทั้งด้านอารมณ์ ระดับพลังงาน ภาษา และกิริยาท่าทาง

  • ถ้าคู่สนทนารู้สึกสบาย การสัมภาษณ์ก็จะเป็นไปด้วยดี ซึ่งทำได้โดยทำตัวให้เข้ากันกับเขา ทางด้านอารมณ์ ระดับพลังงาน ภาษา และกิริยาท่าทาง เช่น การมีภาษาท่าทางของเรา ให้เสมือนกับเป็นกระจกเงาของผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คุณสนใจกับการสนทนา แต่ให้ทำแค่เป็นนัย ๆ ก็พอ
  • ภาษาท่าทางช่วยในการสนทนาได้มาก เช่นถ้าเขาหันเท้าไปที่ประตูออก แสดงว่าควรจบการสนทนาได้แล้ว
  • และโปรดจำไว้ว่า ในการสัมภาษณ์ ไม่มีคำถามใดที่ใช้ได้กับทุกคน ขึ้นกับว่าบุคคลนั้นคือใคร ควรรู้ว่าเขาเป็นใคร ทำงานอะไร

3. ฝึกการฟังอย่างอ่อนตัว

  • การฟังเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสนทนา นักสัมภาษณ์ที่ดีจะฟังอย่างสนใจ ไม่เพียงแต่คำพูด แต่ต้องสังเกตทั้งน้ำเสียง การเว้นระยะ และคำตอบที่ไม่ได้พูดออกมา การฟังอย่างสนใจทำให้รู้จังหวะว่า เมื่อใดควรเปลี่ยนเรื่องพูด หรือเมื่อใดควรถามต่อเพื่อเจาะลึก
  • คำถามสด ๆ มักจะได้คำตอบที่ดีที่สุด จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาถามแต่คำถามที่เตรียมเอาไว้
  • และไม่ต้องกังวลว่าจะมัวแต่ถามเรื่องอื่น จนละเลยประเด็นสำคัญ ให้ใช้เทคนิคการจำ ด้วยการสร้างภาพในใจ ในสิ่งที่เราทนไม่ได้กับเรื่องนั้น (outrageous image) จะทำให้เราไม่ลืมเรื่องสำคัญนั้น ๆ

4. กระตุ้นด้วยพลังของการหยุด

  • การหยุด เป็นเทคนิคหนึ่งของการสนทนา ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม
  • ถ้าคุณสามารถทนต่อการไม่สนองตอบอย่างทันทีได้ บุคคลนั้นจะขยายความเพิ่ม ทำให้เราเข้าถึงจิตใจเขามากขึ้น วิธีปฏิบัติคือ หลังจากฟังคำตอบ ให้หยุดรอโดยนับหนึ่งถึงสาม หรือนับถึงห้าก็ได้ แล้วคุณจะประหลาดใจกับคำตอบที่ได้รับเพิ่มเติม
  • เพราะธรรมชาติของคนเราไม่อยากให้เกิดความเงียบนาน ดังนั้นการหยุดเป็นพลังอันหนึ่งที่ใช้ได้ดีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่นการต่อรองขึ้นเงินเดือน การหยุดทำให้เขาเกิดความอึดอัด แล้วเขาจะพูดออกมา ในสิ่งที่เขาตั้งใจไม่อยากพูดตั้งแต่แรก

5. ฝึกฝนความอยากรู้

  • เทคนิคทุกอย่างจะไม่สำเร็จถ้าขาดความอยากรู้ (curiosity)
  • ความปรารถนาเรียนรู้บุคคลอื่น ดียิ่งกว่าทุกเคล็ดลับ ให้ทำตนอยู่ในภาวะของการใฝ่รู้ (exploratory mode) ตลอดเวลา แล้วคุณจะพบว่า คุณอาจจะเจอคนที่วิเศษ ที่คุณไม่เคยคาดหวังเอาไว้
  • Dale Carnegie กล่าวว่า คุณจะมีเพื่อนภายในสองเดือน มากกว่ามีเพื่อนภายในสองปี ถ้าคุณสนใจเขามากกว่าตัวเอง (You can make more friends in two months by becoming interested in other people than you can in two years by trying to get other people interested in you.)

6. ไม่มีมานะ (ถือตัวถือตน)

  • โดยปกติ คนเรามักจะพูดถึงแต่ตนเอง หรือเกิดมีมานะ ทำให้ไม่สนใจผู้อื่น
  • ดังนั้นการไม่มีมานะ (ego suspension) เป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยากรู้ และทำให้คุณมีการติดต่อกับผู้อื่นได้
  • ส่วนมากในการสนทนาสองต่อสอง คนหนึ่งจะรอให้คนอื่นพูดก่อน แล้วจะพูดถึงเรื่องเดียวกัน ในทำนองที่ดียิ่งกว่าหรือน่าสนใจกว่า วิธีการหักห้ามมานะคือ อดทนต่อคำกล่าวที่เราอยากจะพูดออกมาของเรื่องที่ดียิ่งกว่า แต่ส่งเสริมคะยั้นคะยอให้เขาได้เล่าเรื่องเพิ่มเติม
  • ถ้ามีโอกาสได้พบเจออีก ให้เก็บความอยากเล่าเรื่องราวของเราไว้ แต่ให้ถามเขาถึงรายละเอียดเพิ่มเติม เขาจะภูมิใจที่ได้เล่าเพิ่มในสิ่งที่เรายังไม่รู้ แล้วเราจะประหลาดใจ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม

สรุป

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากวิธีการทั้งหก ของผู้สัมภาษณ์มืออาชีพ ที่จะช่วยให้คุณได้ติดต่อกับผู้อื่น และมีการสนทนาที่มีความหมายมากกว่าเดิม

***************************************

หมายเลขบันทึก: 580708เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หก ประเด็น พอไหว ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท