สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

เด็กเก่งไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ


ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่ก้าวเดินไปไม่หยุดนิ่ง กับ "ความใฝ่ฝัน" ที่จะส่งต่อ "ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ" นวัตกรรมด้าน ICT ฝีมือตัวเองสู่กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ยอมหยุดอยู่แค่การประกวดเท่านั้น


"อู๋" ยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ เยาวชนคนเก่ง ICT เจ้าของรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ปี 2555 และเยาวชนในโครงการต่อยอดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปีที่ 1 จึงยังคงมองต่อไปยังหนทางข้างหน้า เพื่อสานฝันตัวเองให้เป็นจริงในที่สุด


ล่าสุด ยุทธพงศ์ได้ต่อยอด "ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ" ขึ้นไปอีกขั้น สู่ ผลงาน "ระบบตรวจวัดน้ำหนักแรงกดฝ่าเท้าและสมดุลร่างกายเพื่อตรวจสอบโอกาสการเกิดการล้มในผู้สูงอายุ" โดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 กลุ่มเทคโนโลยีจากการประกวด Student Design Challenge ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 8 (i-CREATe 2014) ระหว่างวันที่ 20 – 22 ส.ค. ณ ประเทศสิงคโปร์ มาครองได้ เหนือผู้ส่งผลงานเข้าประกวดอีก 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย และออสเตรเลีย โดยเป็นการพัฒนาผลงานร่วมกับน้องปวีณา มั่นบัว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มีอาจารย์ไพรัช สร้อยทอง เป็นที่ปรึกษา



ยุทธพงศ์อธิบายว่า ผลงานเดิมของเขาจะวัดแรงกด 2 เท้าว่าเป็นอย่างไร กดหนักหรือกดเบา โครงสร้างอุ้งเท้าเป็นอย่างไร ส่วนผลงานใหม่จะดูในเรื่องจุดกึ่งกลางของการลงน้ำหนัก ระบบจะแสดงผลเป็นกราฟให้เห็นทิศทางการเอนตัวของผู้ทดสอบ เช่น หากมีการเอนตัวมาทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างต่อเนื่องแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะหกล้มในทิศทางดังกล่าวได้มากกว่าด้านอื่นๆ เมื่อรู้ตัวอย่างนี้แล้วจึงป้องกันตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น ออกแบบบ้านให้มีราวจับในจุดที่เสี่ยงต่อการหกล้มอย่างห้องน้ำและบันได รวมถึงการออกแบบแผ่นรองรองเท้าหรือตัวรองเท้าให้มีผู้สวมใส่ทรงตัวได้ดีขึ้น


จึงตอบโจทย์เพื่อให้ผู้สูงอายุตลอดจนผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอาการบาดเจ็บรุนแรงจากการหกล้ม และช่วยให้ผู้มีโครงสร้างอุ้งเท้าผิดปกติสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ อีกทั้งเป็นการลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ


" ปกติแล้ว การตรวจสอบดังกล่าวต้องใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์จากต่างประเทศ ราคาตั้งแต่ 3 แสนถึง 10 ล้านบาท แต่ผมได้เปลี่ยนมาเป็นการเขียนอัลกอริทึมซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมดเพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูล พบว่าข้อมูลที่ได้จากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมีความคล้ายคลึงกับข้อมูลจากอุปกรณ์ของต่างประเทศประมาณ 78เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าที่ยอมรับได้ โดยใช้ต้นทุนเพียง 1 หมื่นถึง 2.5 แสนบาท ปัจจุบันทดลองใช้จริงกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ" ยุทธพงศ์เล่า



ก้าวต่อไป เยาวชนคนเก่งใน โครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" บอกว่าในอนาคตยังต้องการพัฒนาให้ระบบสามารถวิเคราะห์และประมวลผลหาวิธีการแก้ปัญหาโครงสร้างอุ้งเท้าของผู้ใช้งานได้ด้วย โดยตัดออกมาเป็นแผ่นรองรองเท้าที่สอดคล้องกับเท้าของแต่ละบุคคลภายใน 1/2 ชั่วโมง คาดว่าต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 1 ปีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ก่อนจะขยายผลยังกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มอื่นๆ ต่อไป


ทั้งนี้ "ยุทธพงศ์" เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ใน โครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่"ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมให้เยาวชนได้ใช้ความรู้ความสามารถด้าน ICT ต่อยอดและพัฒนาผลงานจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) และโครงการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ให้เกิดผลสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริง ทั้งในด้านการค้าและการรับใช้สังคม



ผู้สนใจสามารถติดตามผลงานของเยาวชนคนเก่ง ICT ในโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปีที่ 2 ประจำปี 2557 ได้ที่ https://www.scbfoundation.com/project/ต่อกล้าให้เติบใหญ่ #

หมายเลขบันทึก: 580702เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาร่วมเชียร์เด็กเก่งและผู้สนับสนุนค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท