Coaching the Toxic Leader


ผู้นำที่ดีสร้างบริษัทที่มีกฎเกณฑ์ เน้นการทำงานให้มีผลงานที่ออกมาดีของบุคลากร ส่วนผู้นำที่เป็นพิษทำให้สิ่งแวดล้อมผิดแผกไปตามพยาธิสภาพของผู้นำด้วย

กลเม็ดการสอนผู้นำ

Coaching the Toxic Leader

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

18 พฤศจิกายน 2557

บทความนี้นำมาจาก Coaching the Toxic Leader ประพันธ์โดย Manfred F.R. Kets de Vries ตีพิมพ์ในหนังสือ Harvard Business Review, April 2014

Manfred F.R. Kets de Vries เป็น Distinguished Professor of Leadership Development and organizational Change ที่ Insead in France, Singapore, และ Abu Dhabi หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ The Hedgehog Effect: The Secrets of Building High Performance Teams (John Wiley & Sons, 2011)

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถศึกษาและ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/coaching-the-toxic-leader

ผู้บริหารระดับสูง มีพลังในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้กับบุคลากร ในการทำงานอย่างเต็มความสามารถ หรือทำให้ที่ทำงานเป็นพิษบุคลากรอยู่อย่างปราศจากความสุข ผู้นำที่ดีสร้างบริษัทที่มีกฎเกณฑ์ เน้นการทำงานให้มีผลงานที่ออกมาดีของบุคลากร ส่วนผู้นำที่เป็นพิษทำให้สิ่งแวดล้อมผิดแผกไปตามพยาธิสภาพของผู้นำด้วย ไม่ว่าจะเป็นแผนทางธุรกิจ ระบบ และโครงสร้างขององค์กร การแสดงออกของผู้นำที่เป็นพิษ อาจจะมีสิ่งละอันพันละน้อยปนกันไป ไม่ตรงกับทฤษฎีนัก แม้ผู้นำที่ปกติก็อาจแสดงออกความไม่ปกติได้ในบางครั้ง

ความเป็นพิษของผู้นำ มี 4 ประการคือ

1. ผู้นำแบบหลงตัวเอง (THE NARCISSIST)

2. ผู้นำแบบคุ้มดีคุ้มร้าย (THE MANIC-DEPRESSIVE)

3. ผู้นำแบบดื้อแพ่ง (THE PASSIVE-AGGRESSIVE)

4. ผู้นำแบบไร้อารมณ์ (THE EMOTIONALLY DISCONNECTED)

1. ผู้นำแบบหลงตัวเอง (THE NARCISSIST) เป็นสิ่งที่พบได้มากที่สุด เราทุกคนเป็นมากบ้างน้อยบ้าง การรักหรือหลงตนเองนี้ ถ้ามีในระดับที่เหมาะสม จะเป็นภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิต แต่ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นอันตราย การหลงใหลได้ปลื้มในความสง่างามของตนเอง ทำให้ผู้หลงตนเอง เกิดความเห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงคนอื่น ต้องการเรียกร้องความสนใจ ต้องการมีชื่อเสียง ต้องการอำนาจและเกียรติยศ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นพวกหลงตัวเอง รู้ได้จากการสังเกตผู้ที่เป็นลูกน้องของเขา ที่บอกว่าเขาดีแต่ใช้งาน ไม่เคยให้อะไรตอบแทน ทำให้ผู้ร่วมงานบางคนไปเข้ากับฝ่ายตรงข้าม หรือขอย้ายตัวเองไปทำงานในหน่วยอื่น ผู้ที่หลงตัวเอง มักชอบทำให้ตนเองดูดี แต่งตัวดี มีมิตรไมตรี และน่าหลงใหล เขามักจะมองผู้คนเป็น 2 พวกคือ ถ้าไม่ใช่เพื่อนก็คือศัตรู (for or against) ถ้าใครเป็นพวกตรงข้าม เขาจะทำการขจัดออกไป ไม่ให้อยู่ขวางทาง

กฎการสอนผู้ที่หลงตนเอง คือ หลีกเลี่ยงการทำให้ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองของเขาแตกสลายไป เพราะสิ่งที่เขาแสดงออกเป็นการชดเชยสิ่งที่ขาดไปในวัยเด็ก คือการไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้ปกครองได้นั่นเอง หรือเกิดจากผู้ปกครองกระตุ้นเด็กมากเกินไป (overstimulation) โดยไม่คำนึงถึงหลักความจริง จนกระทั่งเขาทำไม่ได้ ผู้ที่หลงตนเองดูเหมือนเป็นผู้ที่มีความมั่นใจสูง แต่เป็นไปเพื่อปิดบังจุดอ่อนที่อยู่ลึก ๆ

การสอนผู้หลงตนเอง คือการให้มีความมั่นใจในตนเองเป็นพื้นฐาน ให้การเคารพและชมเชยในสิ่งที่เขาทำได้ดี โดยให้แสดงความเห็นอกเห็นใจเขาก่อน เพื่อสร้างความไว้วางใจ แล้วจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมี 2 วิธีคือ

  • การถ่ายโอน (Transference) ผู้ที่หลงตนเองมีความต้องการ 2 อย่างคือความสมบูรณ์แบบ หรือไม่เห็นความสำคัญเลย ความต้องการเอาใจผู้ปกครองในวัยเด็ก จึงถูกถ่ายโอนมาเป็นเอาใจผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ฝึกสอนแทน
  • การแข่งขัน (Competitiveness) ให้ความท้าทาย เป็นการดึงความทะเยอทะยานมาใช้ประโยชน์ เพื่อทดแทนการโอ้อวด แต่ไม่ทำจริง

2. ผู้นำแบบคุ้มดีคุ้มร้าย (THE MANIC-DEPRESSIVE) การมีพฤติกรรมเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรือเป็นคนมี 2 บุคลิกภาพ (bipolar disorder) ที่มีอาการเหมือนผู้ที่เป็นโรคจิต มีระดับทั้งเป็นมากหรือเป็นน้อย แม้มีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลกระทบกับอาชีพและผู้ร่วมงาน

จะรู้ว่าผู้นำเป็นแบบคุ้มดีคุ้มร้ายได้อย่างไร โดยมากมักจะมีประวัติทางการแพทย์ ในการขอคำปรึกษากับจิตแพทย์ และได้รับยาลิเธียม (lithium) เพื่อรักษาอาการ ทำให้เขามีชีวิตที่ราบเรียบ ไม่น่าตื่นเต้น ซึ่งทำให้เขาเลิกกินยาในเวลาต่อมา นอกจากนี้ เขามักมีประวัติในการใช้สารเสพติด ติดสุรา เพราะเกิดอาการคลั่งไคล้ ในการทำให้เคลิบเคลิ้มของสิ่งเสพติด

การสอนผู้ที่มีอารมณ์คุ้มดีคุ้มร้าย ผู้ที่มีอารมณ์คุ้มดีคุ้มร้าย ต้องรักษาทั้งทางด้านยาและโดยจิตแพทย์ แต่ผู้ป่วยมักไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นทางที่ดีในการสอนคือ ให้เขากล้าเผชิญกับความจริงกับความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อสถาปนาโครงสร้างใหม่ ที่ทำให้เขารู้สึกได้ถึงความปลอดภัย (ซึ่งตรงข้ามกับการสอนผู้ที่หลงตนเอง)

  • คู่ชีวิตและครอบครัว (Partners and family) เป็นการได้รับรู้ความปรารถนา เป้าประสงค์ในชีวิต ในมุมมองของคู่ชีวิตและครอบครัว เพื่อให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น และทำให้เขามีอารมณ์ที่มั่นคง
  • เพื่อนร่วมงาน (Colleagues) ในทำนองเดียวกัน การที่เขามีความเข้าใจความรู้สึกของทีมผู้บริหารและไม่ใช่ผู้บริหาร จะมีส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้
  • ผู้นำที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองมีปัญหา (ไม่เหมือนกับผู้หลงตนเอง) การสอนจึงสามารถบอกความจริงได้ตรง ๆ ถึงการให้ความช่วยเหลือ และในการขอความร่วมมือในการทำงานด้วยกัน

3. ผู้นำแบบดื้อแพ่ง (THE PASSIVE-AGGRESSIVE) เป็นคำอธิบายถึงผู้นำที่ไม่แสดงออกของความไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมา และไม่ชอบการเผชิญหน้า เบื้องลึกพฤติกรรมนี้มีมาจากชีวิตในวัยเด็ก ที่อยู่ในครอบครัวที่ถูกห้ามการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดอาการเก็บกด การดำเนินชีวิตจึงแสดงออกเสมือนให้ความร่วมมือ แต่ทว่าความจริงดื้อแพ่ง พฤติกรรมที่ไม่ให้ความร่วมมือแต่เจ้าตัวไม่รู้สำนึก เมื่อผู้อื่นรู้สึกอิดหนาระอาใจ กลับปกป้องตนเอง และเที่ยวกล่าวโทษแต่ผู้อื่นโดยไม่เหลียวดูตนเอง

จะรู้ว่าผู้นำเป็นแบบดื้อแพ่งได้อย่างไร ผู้นำแบบดื้อแพ่งแม้จะมีข้อตกลงแล้ว แต่มักจะไม่ทำตามสัญญา เช่นงานเสร็จไม่ทัน มาเข้าประชุมสาย มีแต่ข้อแก้ตัว หรือทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เขามักเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และชอบลืมคำมั่นสัญญา เมื่อคาดคั้นมากเข้ามักจะไม่ทำเลย แต่ถ้าปล่อยให้ทำงานตามสบายไม่กดดัน เขาจะทำงานได้ดี ตัวเขาเองนั่นแหละ ตกเป็นเหยื่อในพฤติกรรมของตนเอง

การสอนผู้นำแบบดื้อแพ่ง

  • ผู้ที่ดื้อแพ่งต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า โดยวิธีการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน
  • ให้เผชิญอย่างสม่ำเสมอ (Consistent confrontation) วิธีการของผู้ฝึกสอนคืออย่าโต้เถียงหรือชี้แจงใด ๆ ให้ถอยออกมาก่อน ให้เขาได้ทบทวนคำพูดของเขาเอง เพราะเขาถือว่าการโต้เถียงทำให้เขาตกเป็นเหยื่อ และเราคือผู้ร้าย แต่ให้กล่าวตักเตือนโดยสุภาพว่า วิธีการดื้อแพ่งนี้ ไม่เป็นผลดีกับเขา ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
  • ฝึกพฤติกรรมที่ดีกว่า (Practicing better behavior) ผู้ที่ดื้อแพ่งเป็นผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ผู้ฝึกสอนต้องสร้างความมั่นใจ โดยการถามเขาโดยตรงว่า ให้อธิบายว่า เขาจะแก้ปัญหาหรือแก้ไขสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่อย่างไร
  • ย้อนดูเรื่องในอดีตของครอบครัว (Exploring the family) การซักถามเรื่องของครอบครัวในอดีต อาจทำให้ค้นพบสาเหตุของการเป็นคนดื้อแพ่งได้ เช่น กฎการห้ามเถียงบิดาเป็นต้น

4. ผู้นำแบบไร้อารมณ์ (THE EMOTIONALLY DISCONNECTED) ผู้นำแบบไร้อารมณ์ก็ก่อเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน ในทางจิตวิทยาเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า alexithymia ซึ่งมาจากภาษากรีกที่แปลว่า ไม่มีคำบรรยายของอารมณ์ (no words for emotions) ผู้นำที่ขาดพลวัต ขาดแรงบันดาลใจ ขาดวิสัยทัศน์ จึงเป็นการยากในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อื่น การขาดทักษะการติดต่อสื่อสาร และเป็นคนที่คาดเดาได้ยาก ทำให้ไม่สามารถดึงความเก่งที่มีอยู่ในบุคคลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ การไม่มีอารมณ์ ส่งผลต่อวัฒนธรรมขององค์กร และทำให้บุคลากรขาดความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้นำแบบไร้อารมณ์ เขาจะเป็นคนที่เข้าพวกได้ยาก ไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร เมื่อเขามีความเครียด จะมีอาการทางร่างกายคือ ปวดท้อง กล้ามเนื้อตึง และปวดศีรษะ แต่ไม่แสดงออกทางอารมณ์ เป็นปกติของบุคคลไร้อารมณ์ ที่ไม่รู้ว่าเหตุใดร่างกายจึงมีความผิดปกติ โดยไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดมาจากทางด้านจิตใจ การรักษาทางด้านร่างกายจึงไม่ใช่หนทางแก้ไข

การสอนผู้นำแบบไร้อารมณ์ แนะนำให้เขารู้จักแสดงออกทางอารมณ์อย่างถูกต้อง 2 ระยะคือ

  • การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน (Fixing immediate problems) ให้รู้จักการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นเป็นลำดับแรก เช่น ให้เขารู้จักไถ่ถามผู้อื่น ว่าเกิดอะไรขึ้น มีสิ่งใดให้เขาได้ช่วยเหลือหรือไม่
  • การแสดงออกความรู้สึก (Describing the pain) รู้จักแสดงความรู้สึกส่วนลึกออกมา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น รู้จักเล่นหัวบ้าง อย่าแสดงตนเหมือนหุ่นยนต์ที่ไร้ความรู้สึก

วิธีการอื่นที่ช่วยผู้นำแบบไร้ความรู้สึกได้

  • การรักษาแบบกลุ่มและการรักษาทั้งครอบครัว ทำให้ผู้เข้าฝึกอบรมรู้จักการแสดงออกทางอารมณ์ และรู้จักสังเกตตนเองด้วย
  • รวมถึงวิธีการสะท้อนกลับด้านชีวิต การผ่อนคลายทางอารมณ์ การฝึกสมาธิ การฝึกจินตภาพ และการสะกดจิต ก็อาจช่วยได้เช่นกัน แม้ในกลุ่มคนที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ในภาวะเครียด เป็นการเพิ่มการรู้จักตัวตนที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อม
  • เช่นเดียวกับมนุษย์กระป๋อง (Tin Man) ที่ค้นพบว่าตนเองก็มีหัวใจ ผู้นำแบบไร้อารมณ์สามารถเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ได้ ซึ่งจะทำให้เขามีความสัมพันธ์กับผู้อื่น โน้มน้าวผู้คนได้ สร้างขวัญและกำลังใจ ทำให้องค์กรเป็นสถานที่ที่น่าสนใจและน่าทำงาน

สรุป การเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิผล

  • ผู้บริหารที่ไม่รู้จุดอ่อนของตนเอง เปรียบเสมือนเรือที่เผชิญกับภูเขาน้ำแข็งในทะเล ที่ลืมไปว่าอันตรายมีอยู่ใต้น้ำ
  • ผู้นำที่มีประสิทธิผล รู้จักประสานปฏิกิริยาตอบสนองและการกระทำเข้าด้วยกันอย่างมีปัญญา และรู้จักยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจ
  • การที่ผู้นำมีผู้ฝึกสอน เป็นการช่วยชี้จุดอ่อนให้กับผู้นำ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมในการแสดงออก ที่ผู้นำอาจไม่รู้สึกตัว

*****************************

หมายเลขบันทึก: 580700เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตแนะนำการใช้งานระบบนะคะ ถ้าอาจารย์เปลี่ยนมาใส่คำสำคัญว่า coaching และอีกคำว่า leader หรือจะใช้เป็นคำไทยก็ได้นะคะ จะสามารถเชื่อมโยงกับบันทึกอื่นๆ ของสมาชิก GotoKnow ได้ด้วยคำสำคัญที่ใส่ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท