วิทยากรกระบวนการ...ความไม่ยากไม่ง่ายที่ทายท้า


"ผู้สร้างความปรองดองต้องมีทักษะ เป็นวิทยากรกระบวนการ รู้วิธีการตั้งคำถาม และต้องไม่ตัดสินหรือตั้งธงล่วงหน้า" ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์*

ผมอ่านข่าวไปเจอเรื่องปัญหาระหว่าง ไทยพีบีเอส กับ ทหาร (คสช.) ในบทบาทของสื่อที่จัดเวทีสาธารณะ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและขัดต่อเจตนารมณ์ของ คสช. เห็นการแถลงข่าวและการ "ร่วม" หาทางออกหรือการ "วิพากษ์" หรือ "วิจารณ์" ต่างทัศนะต่างมุมมอง และไปอ่านเจอทัศนะของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการจัดการความขัดแย้ง เพราะเรื่องของการสร้าง "ความปรองดอง" เป็นวาระแห่งชาติ เป็นวาทะกรรมแห่งยุคสมัย และเป็นเรื่องที่ชาวไทยหลีกหนีไม่พ้น รอยแผลหรือรอยต่อของสังคมยังต้องรอคอยเวลาที่จะเยียวยา ไม่รู้ว่าจะมีหน้าตาแบบไหน ไม่รู้ว่าจะถูกใจชาวไทยสักเพียงใด หรือรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันสมานได้ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ในเวลานี้เชื่อว่าชาวไทยต่างก็รอเวลาที่ "ความปรองดอง" มีหน้าตาที่จับต้องสัมผัสได้ว่ามีอยู่จริง

เวทีของการสร้างความปรองดอง เป็นเรื่องที่ดูจะหนัก แต่กลไกของสังคมคงทำให้มีให้เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ แต่วันนี้อยากพูดถึง "วิทยากรกระบวนการ" อันเป็นเรื่องที่มีและเกิดขึ้นในสังคมโลกและสังคมไทย และพักหลัง "วิทยากรกระบวนการ" ดูจะเป็นเรื่องที่ในสังคมวิชาการให้ความสำคัญเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการ "ควานหาคำตอบ" ในเวทีต่างๆ ในเวทีของการสร้างความปรองดองคงมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่องค์กรต่างๆ พยายาม "ควานหาคำตอบ" ภายใต้ข้อจำกัดที่มากกว่าช่วงปรกติ เพราะช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์ "รัฐประหาร" ที่การควบคุมสื่อหรือการควบคุมสถานการณ์ต่างๆในบ้านเมืองต้องมีกติกาพิเศษ การจะแสดงทัศนะหรือการจะจัดกิจกรรมต่างๆจึงต้องละเอียดอ่อน รอบคอบเพื่อไม่ไปละเมิดกติกา และอาจทำให้กิจกรรมต่างๆเหล่านั้น "เสียสูญ" และอาจเกิดภาวะ "เปล่าประโยชน์" หรืออาจมีโทษตามมา

"วิทยากรกระบวนการ" จำเป็นต้องมีทักษะในการ "อำนวยการ" ให้ผลของ "กระบวนการ" สำเร็จดังหมายให้ได้ แต่ความยากและความท้าทายที่มีอยู่คือต้องรู้จักการสรรหา เลือกหาคำถามที่เป้นประโยชน์ในภาพรวม ตั้งคำถามที่เป็นกลาง หากเป็นเวทีสร้างความปรองดอง และไม่ตัดสินหรือตั้งธงล่วงหน้า อย่างที่ อาจารย์วันชัย กล่าวไว้ การเป็น "วิทยากรกระบวนการ" เรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งอย่างอาจารย์วันชัยว่าไว้คือ "ไม่ตัดสิน" ว่าถูกผิด ขาวดำ ดีไม่ดี หรือไม่ตั้ง "ธง" ว่าอยากได้คำตอบแบบนี้ (แบบที่ชอบหรือแบบที่ต้องการ) เพราะเวทีที่จัดขึ้น กระบวนการต่างๆก็จะไม่บรรลุผล เพราะเชื่อว่า "คน"ที่มาร่วม จะรู้อยู่นัยๆว่ามีการตั้งธงของคำตอบไว้ การมีส่วนร่วมหรือการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก จึงลดลงหรือมีข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในหลากมุมมองต่างมิติ เพราะเมื่อใดที่ตั้งธงคำตอบ ก็เปรียบเสมือนการ "รู้"อยู่แล้ว ก็มาบรรยายให้ฟังและก็สรุป ถาม-ตอบ เพียงเท่านั้น ไม่ต้องมีการสร้างกระบวนการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ให้เสียเวลา

จริงๆตั้งใจจะเขียนเรื่องของประสบการณ์ที่เคยทำ "กระบวนการ" มาบ้าง ไม่มาก ไม่เชี่ยวชาญ แต่จะเขียนถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมใน "วงแห่งการพูดคุย" หรือ "วงสนทนา" และกลไกการสร้าง "สุนทรียสนทนา" เพื่อให้สามารถ "ถอดบทเรียน" จากการจัดวงสนทนาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ

"วงสนทนา"ที่จะทำให้สำเร็จได้นั้นต้องมี "สุนทรียศาสตร์" ผสมคละเคล้า ลดความมีตัวตนเพื่อความเสมอภาคทางความคิด และไม่ครอบงำความคิด แม้ความเห็นนั้นจะขัดกับจริตของเรามากน้อยเพียงใดก็ตาม ที่เขียนมาจึงหมายอธิบายการสร้างวงสนทนาที่มีสุนทรีย์ "สุนทรียสนทนา" คือวงสนทนาที่มีความสุข เมื่อใดที่ความทุกข์ใจเกิดขึ้น ความคิดความเห็นในวงสนทนาจะเปลี่ยนแปลงไป หลายต่อหลายครั้งผู้ดำเนินรายการเห็นข้อจำกัดเรื่องเวลาเป็นสำคัญ จึงเค้นเน้นถามเร้าให้ผู้ร่วมวงรีบตอบ จนท้ายที่สุดคำตอบอาจไม่ใช่ความจริง เพราะในบางสถานการณ์ "สุนทรียสนทนา" ต้องลดข้อจำกัดเรื่องเวลาออกบ้างตามสถานการณ์

บันทึกเรื่องนี้ดูจะสับสนและปะปนด้วยศาสตร์และศิลป์ ก็ขอจบไว้ก่อนเพียงเท่านี้ หากมีโอกาสจะมาเขียนเรื่องนี้อีกสักหน่อย ความคิดเห็นข้างต้นอาจไม่ตรงคำของอาจารย์วันชัย แต่เป้นทัศนะของผู้เขียน ขอน้อมรับไว้หากผิดพลาด

ณ มอดินแดง

18 พฤศจิกายน 2557

หมายเลขบันทึก: 580694เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การเป็นวิทยากรกระบวนการดูเหมือนไม่ยาก แต่จริงสลับซับซ้อนพอสมครวค่ะ พยายามจะเป็นวิทยากรกระบวนการแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ค่ะ ต้องศึกษาเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆๆค่ะ

วิทยากรกระบวนการต้องมีหลายทักษะ

ที่สำคัญเรื่องการฟังจาก U theory

เอาเรื่องคุณสมบัติวิทยากรกระบวนการมาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts/423435


https://www.gotoknow.org/posts/423702

รออ่านอีกนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท