Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความเป็นไปได้ที่รัฐไทยที่เป็นเจ้าของดินแดนจะสร้างสรรค์ ความดีงามให้แก่ “สิทธิมนุษยชน” ของ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ซึ่งเป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเพื่อหนีภัยความตาย


กระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง

: บทสรุปและข้อเสนอแนะในการจัดการ[1]

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550

------------------------------------------------------------------

เรามีสมมติฐานว่า ทุกฝ่ายอยากก่อให้เกิด "ความดีงาม" แก่มวลมนุษยชาติและพื้นพสุธาอันเป็นที่อาศัยแห่งมวลมนุษยชาติ ดังนั้น ข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงเป็นไปเพื่อสุขภาวะของผู้หนีภัยการสู้รบ และความเป็นไปได้ที่รัฐไทยที่เป็นเจ้าของดินแดนจะสร้างสรรค์ ความดีงามให้แก่ "สิทธิมนุษยชน" ของ "ผู้หนีภัยการสู้รบ" ซึ่งเป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเพื่อหนีภัยความตาย

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการตอกย้ำทัศนคติแบบมนุษยนิยมของรัฐไทย

ข้อเสนอในประการแรก รัฐไทยควรจะแสดงแนวคิดมนุษยนิยมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนต่อประชาคมโลก ทั้งนี้ เพราะว่า เราพบว่า ในเชิงหลักกฎหมาย รัฐไทยเองก็ยอมรับที่จะให้ความยุติธรรมตามกฎหมายไทยแก่เหล่าผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า ความเป็นมนุษย์ก็เป็นเงื่อนไขที่เพียงพอที่จะได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายไทย ในเชิงข้อเท็จจริง ก็อาจมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ไม่น้อยที่จะทำให้ความยุติธรรมตามกฎหมายไทยได้บังเกิดแก่ผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง แต่ปัญหาและอุปสรรคนั้นก็คลี่คลายลงได้ ด้วยกาลเวลาที่ค่อยผ่านไป หลายอย่างที่เป็นปัญหาในวันแรกๆ ของผู้หนีภัยการสู้รบที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทย ก็ค่อยๆ คลี่คลายและเป็นไปได้ในวันต่อๆ มา เราพบว่า ในวันหนึ่งของปี พ.ศ.2539 ตำรวจไม่รับแจ้งความในคดีที่บุตรของผู้หนีภัยการสู้รบถูกชาวบ้านสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ใกล้ค่ายพักพิงทำร้ายร่างกาย แต่ในวันต่อมาใน พ.ศ.2549 ตำรวจเรียนรู้ว่า พวกเขามีหน้าที่จะรับแจ้งความเมื่อมนุษย์คนหนึ่งถูกทำร้าย โดยไม่สนใจว่า มนุษย์คนนั้นมีสัญชาติไทยหรือไม่ ? เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ ? ดังนั้น เราจึงเสนอแนะให้รัฐบาลไทย "ส่งสัญญาณที่ชัดเจน" ว่า ผู้หนีภัยการสู้รบมีสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญาได้

รัฐไทยไม่ควรจะลังเลที่จะแสดงตนว่า มีแนวคิดแบบมนุษยนิยมในการจัดการกระบวนการยุติธรรมเพราะโดยผลของเรื่อง รัฐไทยก็ได้พยายามที่จะให้ความยุติธรรมตามกฎหมายไทยบังเกิดในค่ายพักพิง อาจมีกรณีที่เป็นปัญหา ซึ่งไม่อาจนำมาสรุปได้ว่า รัฐไทยปฏิเสธที่จะให้ความยุติธรรมตามกฎหมายไทยแก่มนุษย์ในค่ายพักพิง การที่รัฐไทยแสดงท่าทีที่คลุมเครือเกี่ยวกับการจัดการความยุติธรรมตามกฎหมายไทยในค่ายพักพิงนั้น น่าจะไม่เป็นสิ่งที่ "ดีงาม" ต่อภาพลักษณ์ของรัฐไทยในสายของประชาคมโลก อย่ากังวลเพียงว่า การที่มีท่าทีที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทยแก่เหล่าผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่าในค่ายพักพิงจะส่งสัญญาณให้ชนกลุ่มน้อยอพยพเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะโดยข้อเท็จจริง หากมีการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายชนกลุ่มน้อยในหมู่บ้านใด หรือการบังคับเกณฑ์แรงงานชาวบ้านมาใช้ในการสู้รบ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็จะเดินทางอพยพเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่สนใจว่า พวกเขาจะมีความผิดฐานเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายหรือไม่ พวกเขาสนใจเพียงแค่ว่า พวกเขาจะหนีภัยความตายพ้นหรือไม่

จัดเสวนาปัญหาต่างๆ ของคนในพักพิงให้แก่ประชาสังคมได้ร่วมรับรู้และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อนำไปสู่การปรับทัศนคติที่ดีระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง และคนที่ไม่เกี่ยวข้อง

หากรัฐไทยตกลงที่จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐไทยยอมรับที่จะจัดการด้านการยุติธรรมตามกฎหมายไทยแก่เหล่าผู้หนีภัยการสู้รบ การส่งสัญญาณนั้นอาจทำได้หลายทาง แต่การทำเป็นเพียง "หนังสือเวียน" ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมก็คงไม่พอ ความละมุนละม่อมในการยอมรับรองสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบราวหนึ่งแสนสี่หมื่นคนในค่ายพักพิงควรจะเป็นการสร้างบรรยากาศของการทักทอความเข้าใจในหลักกฎหมายและความเห็นใจในทุกขภาวะของคนดังกล่าว การสร้างพื้นที่ทั้งในความเป็นจริงและในพื้นที่สื่อสารมวลชนน่าจะเป็นพื้นที่การส่งสัญญาณที่มีประสิทธิภาพ ถึงเวลาแล้วที่จะมีจัดเสวนาปัญหาต่างๆ ของคนในพักพิงให้แก่ประชาสังคมได้ร่วมรับรู้และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อนำไปสู่การปรับทัศนคติที่ดีระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง และคนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่กำลังเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกต่อสถานการณ์ด้านการจัดการความยุติธรรมตามกฎหมายไทยในค่ายพักพิงต่างๆ วงเสวนานี้ไม่จำเป็นต้องเช่าโรงเเรมในเมืองใหญ่ อาจทำได้ แต่สิ่งที่ควรทำมากกว่า ก็คือ การเชิญชวนคนในแวดวงต่างๆ ไปตั้งวงเสวนาในค่ายพักพิงกับคนในค่ายพักพิง โดยเฉพาะ (1) เหล่าผู้หนีภัยการสู้รบตัวเป็นๆ และ (2) เจ้าหน้าที่ อ.ส.ซึ่งมักมีข่าวว่า ไม่สนับสนุนกิจกรรมของฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน

การนำคนที่เกี่ยวข้องในความเป็นจริงมาตั้งวงเสวนาอย่างตรงไปตรงมาถึงเรื่องที่ไม่เคยบอกกันอย่างตรงไปตรงมา ผลที่ได้รับ ก็คือ ความชัดเจนว่า สิ่งที่เคยสงสัยกันนั้นมีความชัดเจนเป็นอย่างไร หรือสิ่งที่เคยขัดแย้งกันนั้นควรแก้ไขอย่างไร หรือสิ่งที่เห็นชอบร่วมกันแล้วควรพัฒนาต่อไปอย่างไร ?

ขอให้ตระหนักว่า วงเสวนาในหลากหลายรูปแบบระหว่างฝ่ายที่อยากเห็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบและฝ่ายที่กังวลต่อปัญหาความมั่นคงของรัฐไทยโดยรวม จะนำไปสู่การปรับทัศนคติให้มีความละมุนละม่อมต่อกัน อันส่งผลต่อไปถึงการลดความห่างเหินและการมองกันในแง่ร้ายระหว่างเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ดูแลค่ายพักพิงดู ดังนั้น เราจึงเสนอแนะให้รัฐบาลไทยและ UNHCR ร่วมมือกันที่จะสร้างพื้นที่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่จะมีกิจกรรมที่ปรับทัศนคติระหว่างกัน มิใช่แค่ถึงเวลาแล้ว แต่กำลังจะสายเกินไปแล้ว อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจตรงกันนำไปสู่ความขัดแย้งจนเยียวยามิได้

"งานสื่อสารสาธารณะเชิงรุก" เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการจัดการความยุติธรรมในค่ายพักพิงสำหรับงานบนพื้นที่สื่อสารสาธารณะนั้น ในปัจจุบัน เราพบว่า ด้วยท่าทีที่ปิดและระแวดระวังจนเกินไปของส่วนราชการด้านความมั่นคง ข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้รับ ก็อาจไม่ชัดเจนนัก และด้วยความไม่ชัดเจนในความเงียบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ข่าวที่ไม่ชัดเจนก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ทุกฝ่ายมีต่อรัฐไทย เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยต้องตรึกตรองให้ถี่ถ้วนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามหรือไม่ หากไม่ใช่สิ่งที่ดีงามต่อใครเลยนั้น ก็ไม่ควรจะกระทำลงไป แต่หากว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นได้บังเกิดความดีงามต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อาจส่งผลที่ไม่ดีนักต่ออีกฝ่ายหนึ่ง การอธิบายความก็ควรจะต้องทำต่อสาธารณะชนถึงการชั่งน้ำหนักที่จะทำสิ่งที่ดีและไม่ดีนั้นๆ ควรจะเลิกยกเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐเพียงประเด็นเดียว โดยไม่มีการแสดงเหตุผลเเละให้น้ำหนักกับความมั่นคงของมนุษย์ เพราะการทำเช่นนั้นย่อมสร้างความไม่มั่นคงให้แก่รัฐไทย และส่วนราชการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสังกัดอยู่ คงเป็นธรรมดาที่การกระทำหลายอย่างของรัฐอาจจะส่งผลทั้งดีและไม่ดีต่อเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบ

ประชาสังคมก็คงยอมรับได้หากมีคำอธิบายที่ชอบด้วยเหตุผลจากฝ่ายที่กระทำลงไป พื้นที่สื่อสารสาธารณะที่ถูกเปิดขึ้นจึงจะเข้ามาทำหน้าที่ "ส่งสาร" ไปยังประชาสังคมทั้งในระดับภายในประเทศไทยและระหว่างประเทศ เเละสื่อสารทำความเข้าใจกับตัวผู้ลี้ภัย ซึ่งจะเป็นผู้ใช้กระบวนการยุติธรรมโดยตรง ทั้งนี้ การสื่อสารต่อผู้ลี้ภัยจะต้องดำเนินการทั้งระดับบน เเละระดับรากหญ้า ให้เข้าถึง "องค์ความรู้" ที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความสามารถที่ทุกฝ่ายจะจัดการความยุติธรรมได้

ถึงเวลาแล้วเช่นกันที่ควรจะต้องสร้างสรรค์ "งานสื่อสารสาธารณะเชิงรุก" เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการจัดการความยุติธรรมในค่ายพักพิง งานนี้ควรจะเป็นงานของส่วนราชการของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการจัดการความยุติธรรมในค่ายพักพิง กล่าวคือ (1) กระทรวงการยุติธรรม (2) กระทรวงมหาดไทย (3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ (4) สถาบันวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรม

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่จัดการโดยชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงในสถานะของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่รัฐไทยให้การยอมรับและส่งเสริม

ในประการที่สอง รัฐไทยควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในค่ายพักพิงในเรื่องที่มีความขัดแย้งระหว่างความผิดตามกฎหมายไทยและความผิดตามกฎหมายจารีตประเพณีของคนในค่ายพักพิง

ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาถกเถียงต่อไปว่า รัฐไทยยอมรับให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในค่ายพักพิงหรือไม่ ? ทั้งนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริง เรื่องนี้ ก็ดำเนินการอยู่แล้ว และโดยข้อกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทย เราก็พบว่า ระบบกฎหมายไทยก็ยอมรับให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งแน่นอน กรณีย่อมไม่มีข้อยกเว้นแม้จะเป็นกรณีของผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงในส่วนที่มิใช่ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน กล่าวคือ เป็นเรื่องความผิดอาญาต่อส่วนตัว

กฎหมายพิเศษที่ชัดเจนมากำหนดรองรับความเป็นไปได้ที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก

อย่างไรก็ดี แม้ในส่วนที่เป็นคดีที่ยอมความกันได้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทางเลือกย่อมเป็นไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย การมีกฎหมายพิเศษที่ชัดเจนมากำหนดรองรับความเป็นไปได้ที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก ก็เป็นสิ่งที่รัฐไทยควรจะต้องทำ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้มาซึ่ง "องค์กรของรํฐที่มีอำนาจหน้าที่" ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะเจาะจง แม้โดยความเป็นจริง กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมจะได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่การที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังมีกำลังคนและกำลังงบประมาณสนับสนุน การมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนก็เป็นสิ่งที่เอื้ออย่างมากต่อการทำงาน แต่กฎหมายนี้อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับกฎหมายจากรัฐสภาในระดับพระราชบัญญัติ ความจำเป็นน่าจะเป็นกฎหมายในระดับฝ่ายปกครองในรูปของ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี" ก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งความมีกฎหมายรองรับจะทำให้งานดังกล่าวไม่เสี่ยงต่อการผันแปรตามความเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องเเละเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไทย องค์การเอกชน เเละองค์กรชุมชนในการปฏิบัติตาม สิทธิเเละหน้าที่ของตนต่อไป[2] และสาเหตุที่ต้องเป็น "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี" ก็เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอาจจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทย โดยท่าทีที่ชัดเจนของรัฐไทยในเรื่องการยอมรับกระบวนการยุติธรรมชุมชนตามกฎหมายจารีตประเพณีของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบในสถานะของกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ก็น่าจะทำให้เกิดความเป็นได้ของกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่นี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่า กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ถูกเลือกโดยชุมชนอนุรักษ์นิยมในเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบก็อาจไม่เอื้อต่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลกสมัยใหม่ เราพบว่า มีเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบเองซึ่งมีแนวคิดที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และปรารถนาที่จะเรียนรู้โอกาสในการได้รับความยุติธรรมทุกรูปแบบ พวกเขาโดยส่วนใหญ่มิได้หวาดกลัวที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมที่กำหนดตามกฎหมายของรัฐไทยสมัยใหม่ ดังนั้น เราจึงเสนอแนะให้รัฐบาลไทยและ UNHCR ร่วมมือกันที่จะให้การศึกษาเรื่องโอกาสที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทุกรูปแบบแก่เหล่าผู้หนีภัยการสู้รบให้กับทุกฝ่ายที่ทำงานในค่ายพักพิง ในฐานะกระบวน การยุติธรรมหลักที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกนั้น จะเป็นจริงได้ ก็ด้วยความรอบรู้ที่จะเลือก การส่งเสริมองค์ความรู้ที่จะเลือกรูปแบบของความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อนมิใช่หรือ เรายังต้องการงานศึกษาเชิงเปรียบเทียบโดยนักวิชาการถึงผลกระทบของกระบวนยุติธรรมของชุมชนตามกฎหมายจารีตประเพณีดั่งเดิมและกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทย

การยอมรับกระบวนการยุติธรรมชุมชนตามกฎหมายจารีตประเพณีในสถานะกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสำหรับคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน

ในประการที่สาม รัฐไทยควรจะมาพิจารณาแนวคิดและมาตรการใหม่ในการจัดการกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทยสำหรับเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง แนวคิดใหม่ ก็คือ แนวคิดเชิงรุกในการจัดการกระบวนการยุติธรรมอันไม่รอให้เกิดความผิดทางอาญาแล้วจึงลุกขึ้นมีบทบาท และมาตรการใหม่ ก็คือ การทำให้กลไกประสิทธิภาพปกติเพื่ออำนวยความยุติธรรมตามกฎหมายไทยปรากฏตัวให้ชัดเจนขึ้นในค่ายพักพิง

แม้จะมีการยอมรับกระบวนการยุติธรรมชุมชนตามกฎหมายจารีตประเพณีในสถานะกระบวนการยุติธรรมทางเลือกสำหรับคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน การยอมรับนี้ก็ไม่หมายความรัฐไทยไม่ต้องทำอะไร แต่รัฐไทยก็ยังคงมีหน้าที่ในการจัดการกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่บทบาทเปลี่ยนไป การยอมรับนี้มีผลเพียงว่า การตัดสินความผิดและการลงโทษเป็นไปโดยชุมชน ส่วนรัฐไทยนั้น กลับไปรับบท "พี่เลี้ยงของชุมชน" กล่าวคือ ส่งเสริมคุณภาพของกลไกชุมชนในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางเลือกนั้น ให้สอดคล้องกับกฎหมายไทย เเละ หลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี ควรจะทำให้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญาของรัฐไทยในค่ายพักพิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ในส่วนการจัดการกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีอาญาแผ่นดิน กรณีคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

นอกจากการบังคับใช้กฎหมายอาญาสาระบัญญัติของรัฐไทยอย่างเคร่งครัด การยกเว้นผลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะทำได้ ก็โดยการยอมรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐไทย ซึ่งสถานการณ์หลังนี้ก็ไม่ใช่ "ของง่าย" ที่จะทำให้เกิดขึ้น

เราไม่ควรเลือกที่ละเลยกฎหมายที่กำหนดความผิดอาญาต่อแผ่นดิน แม้ความผิดดังกล่าวนั้นจะมิใช่ความผิดตามกฎหมายจารีตประเพณีของชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง และสิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายจารีตประเพณีของชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบฯ แต่มิใช่ความผิดตามกฎหมายอาญาของรัฐไทย ก็ไม่อาจได้รับการลงโทษอาญา โดยสรุป เราควรจะทำให้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญาของรัฐไทยในค่ายพักพิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งกลไกประสิทธิภาพแห่งการบังคับใช้กฎหมายอาญาจึงจำเป็นเพื่อการเกิดขึ้นของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น เราจึงต้องการกลไกประสิทธิภาพเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาในค่ายพักพิง

กลไกประสิทธิภาพในประการแรก ก็คือ โรงเรียนสอนกฎหมายอาญาเบื้องต้นสำหรับชุมชน ซึ่งสอนทั้งที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายจารีตประเพณีและกฎหมายไทยผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายในคดีอาญาย่อมจะต้องทราบว่า คดีอาญาที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ? ถ้าเป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว การเจรจาระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้โทษตามกฎหมายจารีตประเพณีของชุมชนก็เป็นไปได้ แต่หากเป็นเรื่องของความผิดอาญาต่อแผ่นดิน การเจรจาระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้โทษตามกฎหมายจารีต ประเพณีของชุมชนย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไทยทีเดียว ดังนั้น ชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงย่อมจะต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา กลไกประสิทธิภาพที่ต้องการ ในที่นี้ ก็คือ โรงเรียนสอนกฎหมายอาญาเบื้องต้นสำหรับชุมชนซึ่งสอนทั้งที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายจารีตประเพณีและกฎหมายไทย สิ่งนี้จะสร้างความรอบรู้สำหรับชุมชนที่จะเริ่มต้นการจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

กลไกประสิทธิภาพในประการที่สอง ก็คือ คลีนิคกฎหมายหรือสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายเป็นกลไกประสิทธิภาพอีกประการที่จำเป็นสำหรับชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง สิ่งนี้จำเป็นสำหรับชุมชน สิ่งนี้จะเป็นตัวเสริมความสามารถที่จะจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชุมชน เป็นช่องทางที่ "นักกฎหมายวิชาชีพ" จะใช้เป็นช่องทางในการเข้ามาทำงานกับเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบในกรณีที่จะต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญาไทยต่อไป ผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงต้องการความช่วยเหลือ ทั้งความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลือในการเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องดำเนินต่อไปในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและในชั้นศาลยุติธรรมต่อไป และเมื่อมีการลงโทษผู้กระทำความผิดในทัณฑ์สถาน ชุมชนผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงก็ยังต้องการคำแนะนำ จนกระทั่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้สิ้นสุดลง

กลไกประสิทธิภาพในประการที่สาม ก็คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าใจปัญหาของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบและมีทัศนคติที่ดีและสร้างสรรค์ในการจัดการปัญหา จะต้องระวังไม่นำเอาเจ้าหน้าที่ที่มีแนวคิดแบบอมนุษยนิยมเข้ามาทำงานเรื่องนี้ เพราะจะสร้างความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเหล่าผู้กระทำความผิดและผู้เสียหาย ซึ่งมีสภาวะความเปราะบางทางด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ แม้เราจะปฏิเสธที่จะใช้คำว่า "ผู้ลี้ภัย" แต่เราก็ทราบดีว่า พวกเขาก็คือพวกผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศจารีตประเพณี

เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นอีกกลไกประสิทธิภาพที่สำคัญที่สุดในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญาไทย เพราะพวกเขาจะต้องปรากฏตัวในการสอบสวนสืบสวนการกระทำความผิดอาญา และนำคดีขึ้นสู่อัยการและศาลตามลำดับ หากคำฟ้องที่ยกร่างขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความบกพร่อง ก็เป็นการยากที่ความยุติธรรมทางอาญาจะปรากฏตัวขึ้นได้ในทางสาระ และหากวิธัปฏิบัติการเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดกอาจพบขึ้นในขั้นตอนนี้ และเมื่อเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงเกี่ยวข้อง ความไม่รู้ภาษาไทยและความไม่รู้กฎหมายไทย อาจทำให้เรื่องต่างๆ นี้เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ล่ามที่รู้ภาษาไทยและภาษาชาติพันธุ์ของผู้หนีภัยการสู้รบฯ จะต้องปรากฏตัวในชั้นนี้ ล่ามดังกล่าวควรจะมาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือได้สำหรับทุกฝ่าย

เราพบว่า มีความยากลำบากที่จะผู้หนีภัยการสู้รบจะแจ้งความ หรือในกรณีที่คดีความเกิดในค่ายพักพิง การเข้าสู่ค่ายพักพิงก็เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก หากเราจำนนต่ออุปสรรคดังกล่าว กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพในค่ายพักพิงก็ไม่อาจเกิดขึ้น แนวคิดเรื่องสถานีตำรวจในพื้นที่พิเศษ อาทิ สถานีตำรวจเฉพาะกรณีในเขตที่มีนักท่องเที่ยวอย่างมากมายก็ยังเป็นไปได้ หรือสถานีตำรวจเฉพาะกรณีในทางหลวงที่มีปัญหาการจราจรอย่างมากมายก็เป็นไปได้ แล้วทำไมสถานที่ตำรวจเฉพาะกรณีจะเกิดไม่ได้ในค่ายพักพิง ? แล้วทำไมสถานที่ตำรวจเฉพาะกรณีจะเกิดไม่ได้ในค่ายพักพิง ? หากเราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในค่ายพักพิง

กลไกประสิทธิภาพในประการที่สี่ ก็คือ กระบวนการพิจารณาคดีในศาลก็ย่อมจะต้องเป็นไปภายใต้ความเข้าใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง "ตัวละคร" ในกระบวนพิจารณาคดีย่อมจะต้องตระหนักถึง "ความเปราะบาง" ของผู้หนีภัยการสู้รบ เรื่องนี้มิใช่เอกสิทธิ์ที่เกินเลย แนวคิดของเรื่องนี้ ก็เหมือนกับ เรื่องของเหล่าผู้ด้อยโอกาสในกระบวนพิจารณาคดีของศาล ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับเดียวกัน

แต่ความพิเศษของผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดก็ควรจะได้รับการเอาใจใส่ คงจะไม่ต้องมีกระบวนการพิจารณาพิเศษสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิงให้แตกต่างไปจากคดีอาญาทั่วไป คดีการฆ่ากันตายระหว่างคนนอกค่ายย่อมไม่แตกต่างไปจากคดีระหว่างคนในค่าย จำเป็นจะต้องมีล่ามสำหรับสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา แต่ในแง่ของการรับรู้ถึงกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ ในคดีที่ทุกฝ่ายเข้าใจภาษาไทย ล่ามก็คงไม่จำเป็น แต่ในคดีที่ฝ่ายใดไม่เข้าใจภาษาไทยล่ามก็จำเป็น ทนายความก็เป็นกลไกที่จำเป็นในทุกคดีอาญา แต่คดีอาญาทั่วๆ ไป การแสวงหาทนายความก็อาจเป็นไปได้ง่ายกว่า แต่หากเป็นคดีเกี่ยวกับผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง ความซับซ้อนอันเกี่ยวกับสถานะบุคคลของคนดังกล่าวมีมาก จึงต้องการทนายความที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทยว่าด้วยสถานะบุคคลของผู้ลี้ภัยความตาย การสร้างทนายความผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ น่าจะเป็นโจทย์พัฒนาที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องมาเป็นแม่งานร่วมกับ UNHCR เพื่อก่อให้เกิดขึ้นจริง

กลไกประสิทธิภาพในประการที่ห้า ก็คือ กระบวนการลงโทษหรือฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอาญาก็ย่อมจะต้องมีการเสริมกลไกประสิทธิภาพ เราพบว่า จำเป็นจะต้องมีล่ามสำหรับสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในระหว่างกระบวนการลงโทษหรือฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอาญา แม้ว่า พวกเขาก็จะถูกศาลตัดสินแล้วว่า มีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่กระบวนการลงโทษก็ย่อมมีเป้าหมายที่จะทำให้คนผิดกลายเป็นคนถูก กระบวนการลงโทษก็จะต้องไม่นำไปสู่กระละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิด ในขณะเดียวกัน กระบวนการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดก็ย่อมมีเป้าหมายที่ซ่อมแซมพฤติกรรมที่ผิดพลาดของมนุษย์ให้เกิดผลมากกว่าความหลาบจำ แต่ควรจะเกิดผลเป็นการสร้างแนวคิดใหม่แก่ผู้กระทำผิด อาจจะมีองค์ความรู้มากแล้วสำหรับการลงโทษและการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในสถาบันการศึกษาไทยสำหรับคนในวัฒนธรรมไทย แต่สำหรับคนในวัฒนธรรมอื่นและคนในสถานการณ์ยากลำบากของชีวิต ดังเช่นผู้ลี้ภัย คงต้องมีการให้โจทย์วิจัยไปยังสถาบันการศึกษาไทยในเรื่องนี้ องค์ความรู้ที่เฉพาะเรื่องคงต้องถูกสร้างสรรค์ ไม่ว่าเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบจะต้องกลับประเทศพม่า หรือไปยังประเทศที่สาม หรือตกค้างอยู่ในประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมที่ให้ความสำคัญที่การปรับคนผิดให้เป็นคนถูก น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับพวกเขา การมีมนุษย์ที่ดีงามสำหรับประชาคมโลกก็เป็นกลไกที่สร้างสันติภาพให้แก่โลก จำเป็นจะต้องมีล่ามสำหรับสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในระหว่างกระบวนการลงโทษหรือฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอาญา

กลไกประสิทธิภาพในประการที่หกและเป็นประการสุดท้าย ก็คือ กลไกในการประสานงานที่มีแนวคิดใหม่และสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นไปได้ของกระบวนการยุติธรรม "ใหม่และสอดคล้องต่อสมัยปัจจุบัน" ในค่ายพักพิง ภารกิจนี้เป็นเรื่องที่แบกรับโดยกระทรวงมหาดไทยมาตลอด ซึ่งการทำงานของส่วนราชการนี้ก็มีทั้งที่น่าชื่นชมและที่น่าตำหนิ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานของมนุษย์ แต่ที่น่าสรรเสริญ ก็คือ ความพยายามปรับตัวของกระทรวงมหาดไทยต่อเรื่องราวของผู้ลี้ภัย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ยอมที่จะผูกพันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 แต่ก็คงกล่าวไม่ได้ว่า ประเทศไทยได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศจารีตประเพณีว่าด้วยสิทธิในชีวิตและสิทธิของผู้ลี้ภัย ปรากฏเรื่องราวของคนหนีภัยความตายนับไม่ถ้วนที่เข้ามาในประเทศไทย และกลับออกไป หรือกลมกลืนกับสังคมไทยในที่สุด ทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย มีอดีตผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในวันนี้ หรืออย่างน้อยเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะคนเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย ในความสำเร็จที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำในเรื่องนี้ ก็ไม่อาจบดบังความไม่สำเร็จที่มีอยู่ ดังนั้น ท่าทีที่สร้างสรรค์และเอื้อต่อความพึ่งพอใจของทุกฝ่าย น่าจะอยู่ที่การปรับวิธีการประสานงานของกระทรวงมหาดไทย

ในวันนี้ เราเห็น "Camp Commander" 9 ท่านที่เป็นสัญลักษณ์ของ "การปกครองของรัฐบาลไทย" ในพื้นที่ค่ายพักพิง ขอให้สังเกตว่า รูปแบบที่ส่ง "ปลัดอำเภอ" มาจัดการการปกครองพื้นที่ที่มีปัญหาการหนีภัยความตาย ก็เป็นรูปแบบการปกครองดั่งเดิมที่นำมาปรับใช้กับสถานการณ์พิเศษตามแนวชายแดนในระยะเวลากว่า 10 ปีที่เราต้องรับผิดชอบดูแลผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าแทนประชาคมโลก หากว่า แนวคิดใหม่ในการจัดการกระบวนการยุติธรรมในค่ายพักพิงจะต้องถูก "ปรุงแต่ง" ขึ้น การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายก็คงจะมากขึ้น ภาระที่หนักมากของกระทรวงมหาดไทยก็จะลดลง เพราะถูกแบ่งปันไปยังส่วนราชการอื่นๆ ในขณะเดียวกัน อำนาจที่กระทรวงมหาดไทยที่มีเหนือค่ายพักพิงก็คงจะต้องลดลงและมีเงื่อนไขมากขึ้น รูปแบบของการปกครองแบบใหม่ในค่ายพักพิงก็คงจะต้องเป็นโจทย์เพื่อการพัฒนาที่กระทรวงมหาดไทยต้องยอมรับ

แนวคิดอาจจะสุดโต่งจนต้องฝันถึง "อำเภอ[พิเศษ]แม่หละ" หรือ "อำเภอ[พิเศษ]บ้านใหม่นายสอย" ซึ่งอาจเป็น "อำเภอพิเศษ" เพื่อดูแล "ปัญหาสุดท้าย" ในการจัดเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบ เเละเตรียมพร้อมสำหรับฉากสุดท้ายของค่ายพักพิงต่างๆ ที่กำลังใกล้เข้ามา โจทย์สุดท้ายที่จะต้องบังเกิด ก็หนีไม่พ้นทางออก 3 ทางที่เป็นไปได้กล่าวคือ (1) การนำเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบออกไปจากประเทศไทย ซึ่งอาจจะกลับไปประเทศต้นทาง หรือ (2) การส่งพวกเขาไปยังประเทศที่สาม หรือ (3) การยอมรับไว้ในสถานะของราษฎรไทย แต่จุดร่วมในทุกกรณี ก็คือ ความรู้สึกที่ดีที่พวกเขาจะมีต่อรัฐไทย และการยอมรับของนานารัฐในประชาคมระหว่างประเทศ ความรักในประเทศไทยของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบที่จะจากออกจากประเทศไทยไปน่าจะเป็น "กำไร" ที่เราไม่เคยเเละไม่ควรจะยอมเสียไป ก่อนจะถึงเวลานั้น การบริหารในรูปแบบอำเภอพิเศษยังช่วยขยายการเข้าถึงของรัฐไทยในพื้นที่ชายเเดน ทั้งในด้านบุคลากรจากหน่วยราชการต่างๆ เช่นด้าน ยุติธรรม ปกครอง เเละ สาธารณสุข สามารถเข้าถึงพื้นที่พักพิงฯ ได้มากขึ้น เช่นการมีตัวเเทนหรือผู้ประสานงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีตำรวจประจำอำเภอ เป็นต้น[3] รูปแบบการปกครองใหม่เฉพาะกิจนั้นน่าจะเป็นกลไกประสิทธิภาพที่อาจจะต้องหลุดจาก "อนุรักษ์นิยม" เพื่อเอาชนะปัญหาเดิมๆ ที่กลไกเก่าก้าวข้ามไม่ได้ แต่เป้าหมายก็ยังเหมือนเดิมที่การรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของเหล่าคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องไม่ทำให้ความมั่นคงแห่งรัฐไทยน้อยลงไป

รัฐไทยคงสัญญาไม่ได้ว่า จะรับเอาคนในค่ายพักพิงมาไว้ในแผ่นดินไทยทั้งหมด แต่การที่รัฐไทยน่าจะให้แก่คนในค่าย ก็คือ กระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมแก่วิถีชีวิตที่กำลังเปลี่ยนไปของเหล่าผู้หนีภัยการสู้รบในค่ายพักพิง แต่ความสำเร็จของเรื่องนี้ ก็เป็นได้ก็ด้วยความสำเร็จที่ต้องเกิดขึ้นก่อนในเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐไทยในความรับผิดชอบระหว่างประเทศนี้


[1] เอกสารนี้มาจากบทสรุปของรายงานการศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมในค่ายพักพิงสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย : ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นางสาวจุฑิมาศ สุกใส นางสาวดารุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และ นางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมและ UNHCR (พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 – มกราคม พ.ศ. 2550)

http://www.archanwell.org/office/download.php?id=513&file=479.pdf&fol=2

[2] โปรดดูคำให้สัมภาษณ์ เเละข้อห่วงใยจากพื้นที่ ในบทที่ 3 ของรายงานการศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมในค่ายพักพิงสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย : ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นางสาวจุฑิมาศ สุกใส นางสาวดารุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมและ UNHCR (พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 – มกราคม พ.ศ. 2550)

[3] เราต้องยอมรับว่าภาคราชการไทยเองก็พยายามเข้าถึงพื้นที่พักพิงฯ เเต่อาจจะติดปัญหาเรื่องการประสานงาน การขออนุญาตเข้าพื้นที่ เเละการสื่อสารกับหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบางปัญหาซื่งคาบเกี่ยวระหว่างในพื้นที่เเละนอกพื้นที่ ตัวอย่างเช่นปัญหาสุขภาพ เเละโรคติดต่อ หรือเเม้กระทั่งตำรวจเองก็ไม่สามารถเข้าไปทำคดีที่เกิดขึ้นภายใน หรือเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่พักพิง โดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นปัญหาในการจัดสรรความยุติธรรมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 580391เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2014 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you this very informative and throughout article.

I wonder if 'we' have looked at ways to 'take advantages' of (refugees) situations in some forms (eg. international/communal relations, economic development, diseases control, information gathering, ...) to offset costs in management of refugee situations -- presumed temporary or seasonal in nature?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท