beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

TEACH LESS, LEARN MORE : เปิดปากศิษย์ ปิดปากครู <๑> ทำไมต้อง Teach less Learn more


มีความรู้สึกว่า ระบบการศึกษาของไทยที่ผ่านมา ทำให้ผู้เรียนทั้งหลาย เป็น "ผู้พิการทางความคิด" ..

บันทึกนี้ คล้ายๆ กับเป็นบทนำของหนังสือ "เปิดปากศิษย์ ปิดปากครู" ที่บีแมนจะเขียนขึ้นมาใหม่ โดยถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์การเรียนการสอนของ ๓ วิชา ประกอบด้วยวิชา 258435 Apiculture หรือ การเลี้ยงผึ้ง, 001126 Living management หรือการจัดการการดำเนินชีวิต และ 258201 Principle of taxonomy หรือหลักอนุกรมวิธาน

จากวลีที่ว่า Teach less, Learn more นั้น ที่แปลเป็นไทยได้อย่างสะใจว่า " เปิดปากศิษย์ ปิดปากครู" ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นคำแปลของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ซึ่งน่าจะแปลก่อนวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ ดังหลักฐานการประชุมสัมนาของครุสภา

Teach less, Learn more นั้น beeman ตีความว่าตัวเองเริ่มใช้การเรียนการสอนแบบนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ และ พัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปี ๒๕๕๗ และจะพัฒนากันต่อไป โดยมีนิสิตที่น่ารักทุกคนเป็นผู้ให้ความร่วมมือ..

นิสิตทุกคนที่ผ่านการเรียนการสอนแบบนี้ จากผู้สอนที่ออกแบบกระบวนการได้ดี ก็จะมีความ Smart (มีความสามารถหลายด้าน) เพราะมีทักษะที่ถูกฝึกมาหลายๆ ด้านนั่นเอง..

ผมได้ศัพท์ใหม่ๆ จากการเรียนการสอนแบบนี้ เช่น

  • วิชาการเพื่อวิชาการ กับ วิชาการเพื่อชีวิต
  • การจัดการศึกษาแบบที่เคยเป็นมา ทำให้ "ผู้เรียนเป็นผู้พิการทางความคิด"

และมีหลายคำที่นิสิต เขียนมาเล่าสู่กันฟัง เช่น

  • การเรียนที่มีความสุข และสามารถนำเรื่องราวที่ได้จากการเรียนไปเล่าให้ครอบครัวฟังบนโต๊ะอาหาร..

สำหรับแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนหนังสือเล่มนี้ มาจากมีหลายประการ แต่ที่สำคัญน่าจะมาจาก จดหมาย Forward mail ที่ส่งต่อๆ กันมา จนถึง อาจารย์ปรานี นางงาม ผู้ร่วมสอนรายวิชา หลักอนุกรมวิธาน

จดหมายฉบับนี้ส่งมาให้เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตกผลึกทางความคิด เป็นเรื่องราวกับ ผีเสื้อตัวหนึ่งซึ่งถูกคนช่วยแล้วกลายเป็นผีเสื้อพิการ ทำให้ผมย้อนระลึกถึงเรื่องราวในอดีต ๒ เรื่องด้วยกัน

  1. คุณแม่ผม มีลูก ๑๑ คน แต่ละคนถูกเลี้ยงให้เหมือนผีเสื้อที่ต้องช่วยตัวเองเมื่อจะออกจากดักแด้ ชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในชีวิต (อุปสรรค คือ การศึกษา) แต่พอพี่ๆ ของผมมีลูกเป็นของตัวเอง ก็เลีัยงดูลูกๆ เป็นอย่างดี ช่วยเหลือลูกในหลายๆ เรื่อง ไม่ปล่อยให้ลูกประสบความยากลำบากและแก้ปัญหาเองบ้าง ลูกๆ เลยยังช่วยตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว คือ เป็นคนที่ "ขาดภูมิต้านทาน" ในบางเรื่อง
  2. มีความรู้สึกว่า ระบบการศึกษา รวมทั้งผู้สอนที่ผ่านมา เป็นระบบการสอนที่ป้อนผู้เรียนมากเกินไป ไม่ค่อยได้ฝึกให้ลูกศิษย์ได้คิดเสียเท่าไร (รวมทั้งพวกโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสอนทำการบ้านด้วย) จนพวกลูกศิษย์ทั้งหลายนั้นกลายเป็น
    "ผู้พิการทางความคิด" คือเป็นคนที่คิดไม่ค่อยจะเป็นนั่นเอง..
หมายเลขบันทึก: 580265เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท