บันทึกอนุทินครั้งที่ 7 เรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ วันที่บันทึก วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2557 โดยวิทยากร รศ. ดร. ประพันธ์ศิริ สุขเสารัจ


บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 7

วันที่บันทึก วันอาทิตย์ ที่ 7 กันยายน 2557

เรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ รหัส 102611 อาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

ผู้บันทึก นางสาวรดาการ ปรางสุข รหัส 57D0103204

ป. โท หลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ รุ่นที่ 13 หมู่ที่ 1

..............................................................................................................................................................................

1.ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจาการเข้าร่วมอบรม เรื่อง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ วิทยากรผู้ให้ความรู้ สรุปได้ดังนี้ คือ ท่านวิทยากรได้อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคลจากการทำงานของสมอง โดยทั่วไปโครงสร้างของสมองแบ่งการทำงานเป็นซีกซ้ายและซีกขวาการทำงานของเซล์สมองซีกซ้ายจะใช้ภาษาได้ดี เข้าใจในเรื่องที่เป็นนามธรรมได้ดี ชอบคิดวิเคราะห์ มีความเป็นระบบระเบียบ ชอบครุ่นคิด ชอบคำนวณ ความมีเหตุผล ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรียงลำดับ จำรายละเอียดปลีกย่อย จะจดจำชื่อคน ชื่อสถานที่ได้แม่นยำ ชอบคอมพิวเตอร์ ส่วนการทำงานของสมองซีกขวาจะมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ถนัดด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ สื่อสารด้วยสีหน้า ออกท่าทาง มักพูดนอกเรื่อง ชอบต่อเติมคำพูดให้สนุกสนาน คิดในภาพรวมได้ดี พูดเป็นคำ ๆ พูดไม่เต็มประโยค โต๊ะรก ๆ ชอบขีดเขียนขยุกขยิก ใช้อารมณ์หุนหัน ชอบคนหมู่มาก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ชอบเอามือ – เท้าไปแหย่เพื่อน จำชื่อไม่ได้ ขี้ลืม จำหน้าคน สถานที่ ได้แม่น การที่ครูผู้สอนทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา จะทำให้วิเคราะห์และเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน ความแตกต่างระหว่างบุคคล และสามารถนำข้อมูลมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายตามศักยภาพของผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีลักษณะดังนี้

1.จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนการ

สอนที่เริ่มจากการตื่นเต้น การเล่นเกมความสนุกสนาน ครูต้องเป็นนักกิจกรรมในการสอนเด็กสมองซีกซ้าย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่ถนัดสมองซีกขวา ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเรียนจากสื่อจากเครื่องมือ เรียนรู้จากของจริง เรียนรู้จากการท่องจำ เรียนจากสถานที่จริงเรียนนอกสถานที่ ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง กล้ามเนื้อช่วยจำ บรรยากาศจะเอื้ออำนวยต่อผู้เรียนกลุ่มนี้มาก เพราะจะมีนิสัยขี้เล่น ใช้อารมณ์ในการเรียน สนใจในงานที่ครูสั่ง ชอบจินตนาการ จิตใต้สำนึก

2. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพราะเราไม่สามารถทราบได้อย่างชัดเจนว่าผู้เรียนแต่ละคนใช้สมองซีกใดบ้าง บางคนจะถนัดทั้งซีกซ้ายและซีกขวาเพราะฉะนั้นจะต้องวิเคราะห์ผู้เรียน เพราะคนเรามีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

สำหรับความรู้เรื่องต่อไปที่ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้แก่นักศึกษาคือ หลักการสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning : BBL) สรุปความรู้พอสังเขป ได้ดังนี้ สมองคนเรามีกระบวนการการทำงานไปพร้อมๆกัน จึงสามารถจัดกิจกรรมหลากหลายได้ในขณะเดียวกัน สมองสามารถรับรู้ได้ทั้งในภาพรวมและรายละเอียดปลีกย่อย ข้อมูลความรู้ถูกเก็บไว้ในหลาย ๆ ส่วนของสมอง และถูกดึงมาใช้จากความจำที่หลากหลายรูปแบบโดยเส้นประสาท ความหมายของความรู้มีความสำคัญกว่าข้อมูลความรู้ การเรียนรู้เกิดจากความสนใจและการรับรู้ ความจำมี 2 แบบ คือ การท่องจำกับการจำแบบสามัญสำนึก (Spatial)สมองเป็นกระบวนการทางสังคม จะมีการพัฒนาได้ร่วมกับสมองส่วนอื่น ๆ สมองแต่ละส่วนมีการประสานงานเฉพาะ สมองมีการพัฒนา ผู้สอนต้องพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาสมอง การเรียนรู้เกิดได้จากทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกาย ความสนใจ และการปรับเปลี่ยนทางเคมี ควรค้นหาและพัฒนาความสามารถที่ติดตัวมาโดยกำเนิด การสอนแบบใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning : BBL) จะต้องจัดการเรียนรู้โดยประยุกต์ความรู้แนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง โครงสร้างหน้าที่การทำงานของสมองมาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่ถาวร

ความรู้เรื่องต่อไปที่ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้ คือ การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT โดยจะให้ความสำคัญต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กระบวนการสอนที่สอดคล้องกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ตลอดจนคำนึงถึงกระบวนการสอนที่มุ่งพัฒนาสมองของมนุษย์ทั้ง 2 ซีก คือซีกว้ายและซีกขวาไปพร้อม ๆ กันซึ่งจะสอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญา ที่อธิบายถึงความสามารถของผู้เรียนที่แตกต่างกัน10 ด้าน และผู้เรียนแต่ละคนจะสมารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการใช้ความสามารถที่มีอยู่นั้นเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้เช่นกัน แบบฉบับการเรียนรู้ของผู้เรียนดังกล่าวนั้น มี 4 แบบ และการเรียนรู้ทั้ง 4 แบบนี้ มีคุณค่าเท่าเทียมกัน บทบาทหรือลีลาการสอนของครู มี 4 แบบดังนี้

บทบาทที่ 1 ครูเป็นผู้ลงมือทำเป็นส่วนมาก

ในขั้นนี้คำถามที่ใช้ คือ "WHY" (ทำไม) ผู้เรียนเฝ้าสังเกตเพื่อตอบคำถามว่า "ทำไม" ผู้เรียนในรูปแบบนี้จะเป็นผู้ที่มีนิสัย อยากรู้อยากเห็น สงสัย ครูต้องเป็นผู้กระตุ้น สร้างแรงจูงใจด้วยภาพ สื่อ ให้สังเกต ให้ดูวีดีโอ เปิดเทปให้ฟัง สนทนาซักถาม

บทบาทที่ 2 คำถามที่ใช้ คือ "WHAT" ผู้เรียนในรูปแบบนี้จะเป็นคนที่คิดไตร่ตรองเพื่อตอบคำถามว่า มีอะไรบ้าง ผู้เรียนจะฟัง จดจำ บทบาทของครูในรูปแบบนี้จะเป็นผู้บอก ผู้สอน ครูสาธิตให้ดู ให้ผู้เรียนศึกษาใบความรู้ ฟังจาก CD หรือเชิญวิทยากรมาบรรยาย ในบทบาทที่ 2 นี้ เป็นขั้นสร้างความคิดนามธรรม

บทบาทที่ 3 ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือทำเป็นส่วนมาก

ในขั้นนี้จะใช้คำถามว่า "HOW"ผู้เรียนได้ปฏิบัติลงมือทำของจริง เพื่อตอบคำถามว่าของสิ่งนี้ทำงานอย่างไร ให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัด ทดลองสรุปผล ครูทำหน้าที่บทบาทเป็น "โค้ช" คอยกำกับ ชี้แนะ

บทบาทที่ 4 ประสบการณ์จริง

ในขั้นนี้คำถามคือ "IF" ผู้เรียนเป็นผู้ค้นหาและค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง สร้างผลงานใหม่ด้วยตนเอง ทำรายงานค้นคว้าเพิ่มเติม จัดนิทรรศการ บทบาทของครูคือ เป็นผู้ประเมิน เป็นผู้ร่วมเรียนรู้

ขั้นตอนรูปแบบการสอนแบบ 4 MAT จะกระตุ้นให้สงสัยและสังเกต หาเหตุมาวิเคราะห์ดู พรั่งพรูประสบการณ์เดิม เพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่ ทำความเข้าใจด้วยการลงมือทำ นำไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ใส่ใจทบทวนตรวจสอบ เห็นชอบและเผยแพร่

ความรู้เรื่องสุดท้ายที่ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้ คือ การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ให้นำมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบ 4MAT ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ คำถามคือ "HOW" กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเริ่มจาก การแบ่งกลุ่มผู้เรียน ในการแบ่งกลุ่มผู้เรียนควรมีผู้ที่เรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน คละกัน กำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันออกไป ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาทุกคน ช่วยกันติว อ่าน เรียนรู้ ครูสรุป ประเมินผลวัดความรู้โดยใช้คะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้เรียนจะมีทักษะในการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม ช่วยเหลือกันในกลุ่ม เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้เรียนที่เรียนเก่งช่วยผู้เรียนที่เรียนอ่อน เป็นแนวทางให้ครูผู้สอนได้พัฒนาผู้เรียนได้เต็มความสามารถ ฝึกให้ผู้เรียนมีน้ำใจต่อกันมีคุณธรรม จริยธรรม มีความมุ่งมันในการทำงาน

2. ความคิดเห็นประเด็นที่เรียน

สะท้อนความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ คือ ทำให้ทราบเกี่ยวกับ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ว่ามีหลายรูปแบบ อยู่ที่ว่าครูผู้สอนจะเลือกรูปแบบนวัตกรรมแบบใดมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะต้องเลือกให้เหมาะกับธรรมชาติวิชา เนื้อหาสาระที่จะสอน และต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียนด้วย การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูควรพึงระวังว่าไม่ใช่การปล่อยให้ผู้เรียนได้เรียนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองทั้งหมด บทบาทของครูก็ยังมีความสำคัญ คอยเป็นผู้แนะนำ ชี้แนะ อธิบาย บรรยาย ให้ความรู้ผู้เรียนเพื่อให้การเรียนรู้บรรลุเป้าหมาย ผู้เรียนก็ยังคงเรียนรู้แบบท่องจำ ฟัง เพื่อให้เกิดความรู้ได้ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทำอย่างไรครูผู้สอนจะค้นหารูปแบบนวัตกรรมมาจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เต็มตามศักยภาพ ครูต้องพัฒนาตนเองหารูปแบบนวัตกรรมที่หลากหลายมาจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ครูต้องเป็นนักจัดกิจกรรมในการจัดการเรียนรู้

3.การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตน/และการปฏิบัติงาน

การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในรายวิชาสังคมศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สอนอยู่ นั้น คือ จะนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4MAT ไปใช้ โดยจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ในเรื่องการสอนเรื่อง มารยาทไทย ตามกระบวนการเรียนการสอนแบบ 4MAT ดังนี้

ขั้นที่ 1 WHY

ให้ผู้เรียนดู CD การทำความเคารพตามมารยาทไทย โดยให้ผู้เรียนสังเกตวิธีการแสดงความเคารพในรูปแบบต่าง ๆ

ขั้นที่ 2 What

ครูอธิบายวิธีการทำความเคารพแบบต่าง ๆเพิ่มเติม แล้วสาธิตให้ผู้เรียนดู เช่น การกราบแบบเบญจางค์ประดิษฐ์, การไหว้ครู, การไหว้พ่อ – แม่ เป็นต้น

ขั้นที่ 3 How

ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติการทำความเคารพตามมารยาทไทยแบบต่าง ๆ แล้วให้ทำแบบแบบฝึกหัด เรื่อง มารยาทไทย

ขั้นที่ 4 If

ครูและผู้เรียนร่วมกันสรุปความรู้ที่ได้เรียนมาเป็น Mind Mapping สร้างสรรค์ผลงานให้สวยงาม ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องมารยาทไทยแล้วทำรายงานส่ง ผู้เรียนนำผลงานจัดแสดงที่ป้ายนิเทศหน้าห้องเรียน

4. บรรยากาศในการเรียน

บรรยากาศในการอบรมวันนี้ มีความสนุกสนานมากผู้เข้ารับการอบรมมีความตั้งใจฟังในการถ่ายทอดความรู้ของท่านวิทยากร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันและกัน มีความเป็นกันเอง มีความสามัคคีในการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม

5.ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน

ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน ๆ ผู้เข้ารับการอบรมจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มาก เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ บรรลุตามจุดหมาย และมาตรฐานการเรียนที่รู้ที่กำหนดไว้ได้ ผู้เข้ารับการอบรมตั้งใจฟังการบรรยายของท่านวิทยากร และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเช่น การเล่นเกม การทำกิจกรรมกลุ่ม ที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงการออกไปนำเสนอผลงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ 4MAT ในรายวิชาที่ตนเองสอนอยู่ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ - แชร์ประสบการณ์ต่อกัน

6.ความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ผู้สอน/วิทยากร

ท่านวิทยากร รศ.ดร. ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ท่านได้อบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน ไม่ซับซ้อน ทำให้เข้าใจง่าย ท่านมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาผู้เข้ารับการอบรมได้ปฏิบัติกิจกรรมในระหว่างการอบรม เปิดโอกาสให้ได้ซักถาม แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน บรรยากาศในการอบรมมีความเป็นกันเองดีมาก

ทั้งนี้ ต้องขอขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่านที่ได้ให้ความเมตตาต่อนักศึกษาด้วยดีตลอดมา

ที่จัดกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งทำให้พวกเราได้รับความรู้ต่าง ๆมากมายเกี่ยวกับรูปแบบนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนต่อไป



หมายเลขบันทึก: 580186เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท