บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 7 เรื่อง การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)


ความคาดหวังในการศึกษาดูงานครั้งนี้

มีความคาดหวังว่าจะได้เห็นกระบวนการจัดการความรู้ของโรงเรียนเทศบาล 4 ได้รู้ว่าโรงเรียนนี้จัดการความรู้เรื่องใดบ้าง และหวังว่าจะได้ดูตัวอย่างการจัดการความรู้ของบุคลากรในโรงเรียนเทศบาล 4

ความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงาน

วันนี้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) จังหวัดนครราชสีมา ผู้ให้ความรู้คือ นายศักดิ์เดช กองสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียน สาระสำคัญทีท่านกล่าวถึงได้แก่ องค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การบริหารสถานศึกษาด้วยการจัดการความรู้ (KM) “เพาะชำโมเดล” เป็นต้น

การที่จะสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น อันดับแรกจะต้องให้บุลากรในองค์กรเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้ อาจจะจัดให้บุลากรได้อบรมจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการความรู้ จากนั้นกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรเห็นความสำคัญในการจัดการความรู้ในองค์กรของตน ชี้ให้เห็นผลของการจัดการความรู้ที่ได้หลังจากที่ร่วมกันจัดการความรู้ นำบุคลากรไปศึกษาดูงานจากองค์กรที่มีการจัดการความรู้ที่เป็นระบบ มีการตั้งเป้าหมายในการจัดการความรู้ให้ชัดเจน หลังจากนั้นให้โอกาสทุกคนได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดการความรู้ โรงเรียนเทศบาล 4 ได้ใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนวันละประมาณ 1 ชม. ในการประชุม และลงมือปฏิบัติ จัดการความรู้เรื่องต่างๆที่มี และมีผู้บริหารคอยกำกับติดตามผลการปฏิบัติอยู่ตลอด เป็นประจำ เมื่อให้บุลากรในโรงเรียนลงมือปฏิบัติแล้ว ผู้บริหารจะประชุม ให้ทุกคนได้รายงานผลการปฏิบัติงานของตน บุคลากรทุกคนก็จะมีการเตรียมตัวรายงานผลมาล่วงหน้า และสิ่งนี้จะทำให้ทุกคนกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเพื่อที่จะได้รายงานความคืบหน้า หากตนไม่ได้ทำจริงก็จะส่งผลทำให้คนนั้นไม่สามารถรายงานความคืบหน้าได้ และจะต้องเร่งทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ท่าน ผอ. ศักดิ์เดชได้กล่าวถึง การจัดการความรู้ทั้ง 2 ประเภท ไว้ดังนี้ การจัดการความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ตลอด ทำได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้ที่เป็น Explicit Knowledge จะเริ่มจากการรวบรวม จัดเก็บความรู้ที่มี จัดให้เป็นระบบระเบียบ ซึ่งจะทำให้ง่ายในการเลือกใช้และเข้าถึงความรู้นั้น จากนั้นให้นำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงใช้ในงานของตนเพื่อให้งานของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้นและได้มีการเรียนรู้ และยกระดับงานของตนส่วนความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge เริ่มจากการที่บุลากรแต่ละคนได้แบ่งปันความรู้ เทคนิควิธีการ ที่ทำให้งานของตนสำเร็จ ให้ผู้อื่นได้รู้ ทุกคนมีการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความรู้นั้น และสุดท้ายนำความรู้ที่ได้นั้นไปปรับใช้ในงานของตนเอง ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่าง โมเดลปลาทูให้ได้เห็นอีกด้วย “โมเดลปลาทู” จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นส่วนหัว เป็นการตั้งเป้าหมายในการจัดทำ KM ทำเพื่ออะไร ทำเรื่องอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 ส่วนกลางลำตัว เป็นการลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอน และส่วนที่ 3 ส่วนหาง เป็นคลังความรู้ที่ทำให้สามารถรวบรวม จัดเก็บความรู้ได้อย่างเป็นระบบ ช่วยให้การแพร่กระจายความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บุคคลที่สำคัญในการจัดการความรู้ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุด คุณเอื้อ(คนที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) คุณอำนวย(คนที่คอยอำนวยความสะดวก) คุณกิจ(ผู้ปฏิบัติ) คุณลิขิต(ผู้บันทึกข้อมูล) คุณประสาน(คนที่คอยประสานงานแต่ละฝ่าย) คุณวิศาสตร์(คนที่มีความสามารถเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี) นอกจากนั้นโรงเรียนนี้ยังได้จัดการความรู้ในรูปแบบของ “เพาะชำโมเดล” เป็นโมเดลที่ทางโรงเรียนได้ช่วยกันสร้างขึ้น ซึ่งมีเครื่องดังนี้ เรื่องเล่าเร้าพลัง การสกัดขุมความรู้ สังเคราะห์แก่นความรู้ สร้างตารางอิสรภาพ บันไดแลกเปลี่ยนความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการทบทวนหลังปฏิบัติการ ผลงานที่ได้ ได้แก่ blog งานวิจัย รูปแบบการสอน คลังความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนวัตกรรม

สิ่งที่นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของตน

สิ่งที่ข้าพเจ้าจะขอนำไปประยุกต์ใช้คือ จะขอนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้ของโรงเรียนนี้ไปปรับใช้ โดยจะนำเรื่องที่ได้เรียนรู้นี้ไปเสนอต่อท่านผู้บริหารของโรงเรียนที่ทำงานอยู่ ประชุมนำความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้นี้ไปถ่ายทอดสู่บุคลากรในองค์กรเดียวกัน สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรเห็นความสำคัญในการจัดการความรู้ ประชุม วางแผนในการจัดการความรู้ร่วมกัน ค้นหาความรู้ที่ต้องจัดการ รวบรวมความรู้ รวบรวมข้อมูล จากนั้นทุกคนลงมือจัดการความรู้ที่มีในองค์กร และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรที่อยู่ใกล้เคียง และอีกอย่างคือมีการเสริมแรงแก่คนในองค์กรโดยการให้รางวัลแก่ผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และขยันทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก จะทำให้บุลากรในองค์กรมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 580182เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท