สานเสวนาวางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส


แนะวางแผนยุทธศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) รวมถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อไป เน้นความสำคัญของการก้าวไปสู่สังคมแห่งเทคโนโลยี ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ต้องรู้เท่าทัน ระมัดระวังป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะมาพร้อมกับยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ด้วย

]

(สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสานเสวนา (Dialogue) การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี --- ผู้เข้าร่วมสานเสวนาเสนอแนะวางแผนยุทธศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) รวมถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อไป เน้นความสำคัญของการก้าวไปสู่สังคมแห่งเทคโนโลยี ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ต้องรู้เท่าทัน ระมัดระวังป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะมาพร้อมกับยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ด้วย

สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialogue) การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ 2 โรงแรม ที.เค. พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร การสานเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่ (1) การแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (2) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ของแต่ละท่านในการทำงานในหน่วยงาน หรือจากประสบการณ์ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส และ (3) วิเคราะห์ และสังเคราะห์ออกมาเป็นมาตรการ ยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ผู้เข้าร่วมสานเสวนาในครั้งนี้ มีจำนวนประมาณ 37 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งปฏิบัติงานในระดับนโยบาย หรือให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานผู้บริหาร (CEO) สถาบันศรีศักดิ์ จามรมาน การศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต (Srisakdi Charmonman Institute of eLearning) อธิการบดีกิตติคุณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเชีย บิดาอินเทอร์เน็ตไทย ได้เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำการสานเสวนาในครั้งนี้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และ นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ นายประเสริฐ ศรีมนารัตนกุลผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คุณธิดา ศรีไพวรรณ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายอนันต์ วรธิติพงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ นางกอบแก้ว อัครคุปต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยนางสาวพรรณราย ขันธกิจ และ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัยหลักโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องในเชิงการกำหนดนโยบายสาธารณะ ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. ควรกำหนดคำขวัญ/วิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของ กสทช. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ว่า "เข้าถึง ถ้วนทั่ว เท่าเทียม" และสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ว่า "เข้าถึง ใช้เป็น ใช้ได้" แล้วแปลงสู่แผนยุทธศาสตร์ แผนงาน/โครงการ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
  2. แผนยุทธศาสตร์ตามโครงการนี้ ควรมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) รวมถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อไป ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการก้าวไปสู่สังคมเทคโนโลยีมากขึ้น จะต้องพิจารณาดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง การออกแบบกรอบแนวทางในการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย กำหนดค่าเป้าหมาย และตัวชี้วัดในแต่ละระยะการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ด้อยโอกาส เช่น คนเร่ร่อน คนชายขอบ หรือชนเผ่า คนไร้สัญชาติ
  3. สนับสนุนส่งเสริมให้คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง การซื้อขาย และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องรู้เท่าทัน ระมัดระวังป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะมาพร้อมกับยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ด้วย
  4. กสทช. ควรมีการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสมาคม มูลนิธิ ชมรม กลุ่ม สถาบัน องค์กรด้านคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำหนดความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ที่ชัดเจน และเป็นความต้องการที่แท้จริงของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อจะได้ให้การสนับสนุนตรงตามความต้องการ และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น
  5. กสทช. ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส โดยใช้มาตรการจูงใจทางด้านภาษี การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ให้ หรือการยกย่องเชิดชูเกียรติในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
  6. ควรมีการร่วมมือระหว่าง กสทช. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาต่อยอดฐานข้อมูลด้านคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ในมิติทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ด้วยไอซีทีเข้าไปด้วย เช่น ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) มีการจัดทำฐานข้อมูลคนพิการ การจัดทำบัตรประจำตัวผู้พิการ โดยพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมีฐานข้อมูลผู้พิการจำนวน 1,500,000 คน มีการจัดทำความร่วมมือ (MOU) รวมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของคนพิการ สิทธิคนพิการ ก้าวต่อไปจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ GIS เพื่อทดสอบสถานการณ์ภัยพิบัติสำหรับพื้นที่ที่มีผู้พิการอาศัยอยู่และเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ จะมีการเตรียมการ และการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติอยางทันท่วงที เป็นต้น
  7. การออกแบบต่างๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เนื้อหา โครงข่าย ควรอยู่บนพื้นฐานอารยะสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
  8. ด้านฮาร์ดแวร์ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องกำหนดมาตรฐานคุณลักษณะขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากคุณลักษณะขั้นสูงมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่สามารถกำหนดให้เป็นปัจจุบันได้ การกำหนดราคาให้เหมาะสม เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาแพงจะต้องปรับ โดยกำหนดราคาให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญว่าจะต้องสนับสนุนอุปกรณ์อะไรก่อนหลัง เป็นต้น
  9. ควรมีกลไกในการสนับสนุนทางด้านฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับคนพิการแต่ละประเภท แต่ละลักษณะ เช่น คนพิการหูหนวกบางลักษณะอาจไม่ต้องการเครื่องช่วยฟังแต่ต้องการไอแพดซึ่งใช้ประโยชน์อำนวยความสะดวกได้มากกว่า เป็นต้น
  10. รัฐควรสนับสนุนให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีกำลังในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน สามารถซื้ออุปกรณ์ได้ในราคาถูก หรือผ่อนชำระได้ เป็นต้น
  11. ด้านซอฟต์แวร์ ควรกำหนดซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชันการบริการขั้นพื้นฐาน เช่น บริการค้นหาข้อมูล บริการแชท การบริการรับ-ส่งข้อมูล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อสื่อสารได้สะดวก และพัฒนาซอฟต์แวร์/บริการเพิ่มเติมเฉพาะกลุ่ม เช่น คนพิการหูหนวก คนพิการตาบอด คนพิการทางสติปัญญา เป็นต้น
  12. กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักการเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับกรณีเว็บไซต์ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ซึ่งได้รับมาตรฐานระดับ AAA
  13. จัดให้มีการประกวดการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือแอพพลิเคชัน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจจะกำหนดหัวข้อซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชันที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชันที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ได้
  14. กสทช. ควรสนับสนุนทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ของผลงานวิจัย นวัตกรรม อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ที่หน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัย เช่น เทคโนโลยีบอกสายรถประจำทางสำหรับคนตาบอด การใช้สมาร์ทการ์ดในการเข้าถึงการบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง ระบบติดตามผู้สูงอายุซึ่งมีภาวะอัลไซเมอร์ (รีสแบนด์) การนำเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกของต่างประเทศมาพัฒนาให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานของคนไทย (มีข้อความการใช้งานต่างๆ เป็นภาษาไทย ฯลฯ) เป็นต้น
  15. ควรสนับสนุนให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคนทั่วไป สามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ในลักษณะ Mobile office เพื่อลดปัญหาการจราจร ลดค่าใช้จ่าย อุปสรรคในการเดินทาง
  16. หน่วยงานภาครัฐควรมีโครงการนำร่องในการรวบรวมงานที่สามารถทำจากที่บ้านผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เช่น งานด้านการออกแบบ เป็นต้น
  17. ควรมีการพัฒนาต่อยอด ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ (Thailand Knowledge Center: TKC) ให้เป็นฐานความรู้ของประเทศไทย เป็นระบบฐานความรู้ ที่ผ่านการคัดเลือกคัดกรอง น่าเชื่อถือ และรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับทราบ และเข้ามาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ต่อนื่อง
  18. รณรงค์ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากศูนย์ไอซีทีชุมชน ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้นจำนวน 1,981 ศูนย์ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2558 กระทรวงฯ จะดำเนินการติดตั้งศูนย์ไอซีทีชุมชนเพิ่มอีก 300 ศูนย์ และในศูนย์ไอซีทีชุมชนบางแห่งมีการให้บริการเพิ่มเติมในส่วนของการทดลองติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานของคนพิการ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว จำนวน ๑๒๐ ศูนย์ และควรเพิ่มการติดตั้งให้มากขึ้นเพื่อให้คนพิการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ เช่น คนหูหนวก เป็นต้น
  19. ควรมีการจัดตั้งศูนย์ไอซีที ในบ้านพักคนชราที่มี 10 กว่าแห่ง และศูนย์บริการผู้สูงอายุทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้งาน รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งตามนิคมอุตสาหกรรม /โรงงานต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แรงงานสามารถหาความรู้ หรือใช้คอมพิวเตอร์ในการพักผ่อน การประสานงาน ติดต่อสื่อสาร หรือการค้นหาอาชีพการงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วย
  20. การพิจารณาจัดตั้งศูนย์ไอซีทีชุมชน หรือศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตควรอยู่ใกล้ชุมชน สามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง
  21. กสทช. ควรสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์และบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งดูแลกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ที่อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กชาวเขา เด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ เด็กติดเชื้อ และเด็กที่ต้องโทษ ซึ่งปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน
  22. ควรจัดให้มีการบริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเเคลื่อนที่ (Mobile Services) เข้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการพัฒนาบริการให้หลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้บริการด้านสุขภาพ อาชีพ การให้คำปรึกษาต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย
  23. การใช้กลไกของเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ไอซีทีชุมชน ซึ่งผ่านการอบรมจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จนเป็นวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จำนวนประมาณ 5,000 คนทั่วประเทศ รวมไปถึงใช้กลไกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มจิตอาสาต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี
  24. ควรเพิ่มการจัดฝึกอบรมความรู้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อใหม่ ให้มากขึ้นผ่านกลไกความร่วมมือของสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม มูลนิธิ วิทยากรศูนย์ไอซีทีชุมชน อสม. กลุ่มจิตอาสาต่างๆ เป็นต้น
  25. ควรให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เพราะเป็นรากฐานในการเข้าถึงเทคโนโลยี และสื่อสารสาธารณะ แม้เทคโนโลยีจะทันสมัยเพียงใดไหน ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ยกตัวอย่างการแจกแท็บเล็ต ซึ่งเป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบาย ไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้เลย ขาดความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์ หรือแม้แต่คุณครู บุคลากรทางการศึกษายังไม่มีความรู้ที่เพียงพอในการถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่เตรียมเข้าสู่ในระดับอุดมศึกษา หรืออาชีวะศึกษา หรือในระดับที่สูงขึ้นไป เพื่อเตรียมบุคลกรในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในท้ายที่สุด
  26. รณรงค์ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชันที่แต่ละหน่วยงานพัฒนาขึ้น เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาแอพพลิเคชัน เพื่อให้บริการแจ้งสิทธิสำหรับผู้พิการ ๗ ประเภท ว่าจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง ต้องมีเอกสารอะไร และติดต่อประสานงานที่ไหนได้บ้าง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติพัฒนาแอพพลิเคชัน "Thai Accessible tested" ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันที่แจ้งบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้บริการในแต่พื้นที่ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ รวมถึงบอกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคนพิการผ่านระบบ ทั้งระบบแอนดรอย และ iOS การจัดทำเว็บไซต์ตลาดนัดแรงงานสำหรับคนพิการ โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ในการรวบรวมตำแหน่งงานสำหรับคนพิการ และคนพิการสามารถเพิ่มข้อมูลบุคคล เพื่อแจ้งความจำนงว่าสนใจทำงานด้านใด ซึ่งระบบสามารถจับคู่การหางานให้กับคนพิการและบริษัทที่ต้องการจ้างแรงงานคนพิการได้ถูกต้องตามความต้องการ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับใช้งานจริง เว็บไซต์สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ แอพพลิเคชัน Tap tap C เป็นการสื่อสารสำหรับคนพิการกับศูนย์ให้บริการ เพื่อแปลงความหรือรูปภาพให้คนพิการเข้าใจสินค้าและบริการที่ต้องได้ การเข้าไปใช้บริการฟังการอ่านหนังสือเดซี่ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๑๔๑๔ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทำได้รวดเร็ว และเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
  27. การพัฒนาเทคโนโลยี เนื้อหา จะต้องเข้าถึงได้ง่าย สามารถเรียนรู้และเข้าใจง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชนบท จะสามารถเข้าถึงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ได้สะดวก รวดเร็ว มากกว่าสื่อทางคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
  28. ควรผลิตสื่อ หรือรายการที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เห็นความสำคัญการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้
  29. สนับสนุนให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ผลิตสื่อและมีช่องทางนำเสนอสำหรับกลุ่มเป้าหมายฃองตนเอง โดยเฉพาะสื่อสาธารณะต่างๆ
  30. สื่อหรือรายการที่นำเสนอทางโทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ตจะต้องมีบริการที่หลากหลายที่จะช่วยให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ เช่น การใช้ล่ามภาษามือ การบรรยายเสียงด้วยตัวอักษร (Text Caption) การบรรยายภาพด้วยเสียง (Audio Caption) เป็นต้น
  31. ควรผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลิขสิทธิ์ กรณีที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เช่น การนำหนังสือ หรือข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ มาทำเป็นสื่อทางเลือก (Alternative format) สำหรับคนพิการ ให้ถือว่าไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งสำคัญกับคนพิการมาก เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญในระดับโลก ซึ่งในต่างประเทศมีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้อยู่ และมีการจัดทำสื่อทางเลือกจากหนังสือมากมายให้บริการในระบบคลาวด์ จากทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำหนังสือหรือว่าสื่อเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะไม่มีกฎหมายฉบับนี้รองรับ
  32. ผลักดันการออก พระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุด้วย
  33. ควรจะต้องมีหน่วยงานเข้ามาจัดการเรื่องการเรียนรู้ในกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ไอซีทีเป็นตัวกลางในการเข้าถึงข้อมูล มีการประมวลผลส่งเสริมการเรียนรู้ การนำไอซีทีมาช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  34. การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน โดยมีบริการถามตอบที่รวดเร็ว
  35. การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ในการปรับทัศนคติในการให้บริการสำหรับผู้รับบริการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  36. การสร้างสภาพแวดล้อม หรือเมืองที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส (Friendly City) ซึ่งมีภาคีหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญทางด้านนี้ และมีการหารือเตรียมการว่าจะมีการดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ทั้งการออกแบบผังเมือง มีการวางระบบตั้งแต่ในบ้าน มีลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุในบ้าน มีระบบสนับสนุน Long term care fund การจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านที่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ มีระบบการแจ้งเตือนช่วยเหลือ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแลรักษาตามบ้าน การคมนาคมขนส่งที่อำนวยความสะดวกของผู้พิการ ผู้สูงอายุ มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ การเข้าถึงเทคโนโลยี มีการอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์สื่อสาร สามารถผ่อนชำระสมาร์ทโฟน/อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานได้ การให้บริการจากชุมชน ควรให้ชุมชนมีสวนร่วมในการช่วยส่งเสริมสนับสนุน การมีส่วนร่วมในการจ้างงาน เช่นกรณีญี่ปุ่นมีการกำหนดอาชีพที่สงวนไว้สำหรับผู้สูงอายุ ขยายระยะเวลาในการเกษียณอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีงานทำ และสามารถแสดงศักยภาพของตนเองได้ แม้ว่าจะเกษียณแล้ว เป็นต้น
  37. การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภทควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ตามความจำเป็น เป็นธรรม ไม่เหลื่อมล้ำกัน
  38. ควรมีการบูรณาการการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบเรื่องการจัดให้มีศูนย์บริการแบบเบล็ดเสร็จ ในการให้บริการทุกมิติ

แนวทางในการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางในการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนโยบายให้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งประเทศมาใช้ เช่นกรณีของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่หากใครต้องการใช้ความเร็วสูงกว่าความเร็วที่จัดบริการให้จ่ายค่าบริการเพิ่ม เป็นต้น

2. ด้านเครือข่าย จะต้องนิยามคำจำกัดความใหม่ เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดมาตรการให้การกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม (Universal Service Obligation: USO) พิจารณาเครือข่ายพื้นฐานซึ่งหมายถึงโครงข่ายแบบมีสาย และบรอดแบนด์ 2 เมกกะบิต ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากการลงทุนมีมูลค่าสูง แต่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการวิดีโอคอล (Video Call) ซึ่งต้องใช้ความเร็วพื้นฐานมากกว่าที่กำหนดไว้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานความเร็วใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย พัฒนากลไกในการคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานที่ต้องรู้เท่าทันในการใช้งานเทคโนโลยี ไม่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงต่างๆ

3. ควรให้กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่าย 3G ได้ในราคาที่ต่ำ ตามความจำเป็นในการใช้งาน โดยอาจจัดเป็นแพ็คเกตที่มีระดับความเร็ว (Speed) และแบนด์วิธทีสามารถใช้งาน สำหรับคนแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท เช่น คนตาบอดใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการนำทาง อ่านหนังสือ จะต้องมีแบนด์วิธทีสามารถใช้งานได้ไม่สะดุด คนหูหนวก ต้องการโทรศัพท์ ต้องซิม ต้องการอินเทอร์เน็ตไม่จำกัด คุณภาพการอัพโหลด/ดาว์นโหลดวิดีโอไม่ให้กระตุก เป็นต้น

4. ขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมพื้นที่บริการให้ได้มากที่สุด ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ จะต้องพิจารณาเสนอแนะว่าพื้นที่ หรือลักษณะอย่างไรบ้างที่ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุม เพราะหากว่าพื้นที่บริการไม่ทั่วถึงการเรียนรู้ก็จะทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า เทคโนโลยีทุกอย่างมีข้อจำกัด ไม่สามารถกล่าวได้ว่าทุกจุดจะต้องได้บริการที่เท่าเทียม จะมีบางพื้นที่ที่เป็นข้อจำกัดจริงๆ แม้ในต่างประเทศก็จะมีพื้นที่เหล่านี้อยู่ และเงินกองทุน กทปส. ก็เป็นเงินสนับสนุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องให้บริการทั่ว จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมายได้

5. ผลักดันการเปลี่ยนผ่านจาก IP Address จาก IPv4 ไปเป็น IPv6 ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อรองรับ Internet of Things อย่างมีประสิทธิภาพ

นี้อาจเป็นเพียงข้อเสนอแนะบางส่วนจากเวทีสานเสวนาฯ สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น "การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี" สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้www.convergencebtfpfund.net

หมายเลขบันทึก: 580052เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีประโยชน์มากเลยครับ

ผู้พิการจะได้ใช้ด้วย

อยากเห็นภาคปฏิบัติมากกว่าเป้นนโยบายแต่ไม่ได้ลงมือทำครับ

ขอบคุณมากๆครับ

คนพิการ ใช้อินเตอร์เป็นงาายต่อการเข้าเงินกองทุน พัฒนาคนพิการ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท