การแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ


การแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

การแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

สรณะเทพเนาว์ [1]

ท่ามกลางกระแสหมาด ๆ ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันตามมาในประเด็นการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง ๒๕๐ คน ในที่นี้ขอเรียกง่าย ๆ ว่า “การแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำตัว สปช.” โดยมีผู้เสนอวิพากษ์วิจารณ์ต่อสื่อสาธารณะในภาพลบว่า ฟุ่มเฟือย เกินจำเป็น สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ด้วยตัวเลขงบประมาณแผ่นดินที่มหาศาล

คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) โดยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานรัฐสภาอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ [2] ได้ออกระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ [3] ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเอาไว้แล้ว ลองพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในอีกแง่มุมหนึ่งถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ที่ปรึกษาประจำตัว สปช.” ใน ๒ ระดับ คือ ระดับประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ [4] เป็นคณะทำงานทางการเมือง ได้แก่ (๑) ที่ปรึกษา (๒) นักวิชาการ (๓) เลขานุการ รวมจำนวนตำแหน่งละ ๘ อัตรา และระดับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [5] ได้แก่ (๑) ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (๒) ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (๓) ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมจำนวน ๕ อัตรา

ลองมาดูเหตุผลความจำเป็นเบื้องต้นในการแต่งตั้ง

(๑) สปช. ไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญครบทั้ง ๑๑ ด้าน อาจมีบางคนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการที่อาจมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งด้าน ไปจนถึงสองสามสี่ห้าด้าน

(๒) สปช.เปรียบเสมือน “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”(ส.ส.ร.) ซึ่งมีผู้เปรียบว่าเป็น ส.ส.ร.๓ส.ส.ร.๒ คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และส.ส.ร.๑ คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ฉะนั้น ความหลากหลายของกลุ่มบุคคลที่ได้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่ง สปช. จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการปฏิรูปมากเกินกว่าด้านที่ตนเองได้รับการสรรหา โดยเฉพาะ สปช. จากจังหวัด ซึ่งไม่ได้ระบุด้านใดด้านหนึ่งไว้จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือ สปช. ในการปฏิบัติหน้าที่

(๓) อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ [6] มาตรา ๓๑ เปรียบเสมือน “วุฒิสภา” ที่มีอำนาจเหนือองค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญ และยังมีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำ แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๗ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา ๓๑(๑) และ ในกรณีจำเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติยังมีอำนาจหน้าที่ต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาด้วย ตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่รอบรู้ในด้านระเบียบกฎหมาย รวมถึงรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น ๆ มาช่วยปฏิบัติงานด้วย

(๔) หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เปรียบเสมือน “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับการออกแบบประเทศไทย เพื่อวางโครงสร้างรูปแบบการปกครองให้เหมาะสมที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิรูปการพัฒนาประเทศไทยในทั้ง ๑๑ ด้าน และด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น

(๕) อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ต้องมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณสมบัติของ สปช. ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่า “เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆมีความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ ในด้านต่าง ๆ”

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในเรื่อง การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ ๒ ของข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ [7]

ข้อ ๑๑๘ เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา และให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วนเพื่อให้สภาพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

ให้สมาชิกเสนอแนะเพื่อให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญรวมกันทั้งฉบับ เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น

สมาชิกอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาเสร็จสิ้นการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกต้องทำเป็นหนังสือและมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิก และสมาชิกที่ยื่นคำขอหรือที่ให้คำรับรองคำขอของสมาชิกอื่นแล้วจะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอของสมาชิกอื่นอีกมิได้

คำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้ยื่นต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อ ๑๑๙ ในกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เป็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายในหกสิบวัน โดยแสดงร่างเดิมและการแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา รายงานนั้นอย่างน้อยต้องระบุว่า ได้มีหรือไม่มีคำขอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราใดบ้าง และมติของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวด้วยคำขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นประการใด

ถึงตรงนี้แล้ว สปช. ๒๕๐ คนทุกท่าน จะต้องตระหนักถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลทุกๆด้าน อาทิ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาการตัดสินใจแนวทางของการปฏิรูปซึ่งจะมีเวทีคู่ขนานกับ สปช. จำนวน ๔ เวที [8] ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

(๑) เวทีวิชาการของ สปช. มีผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการที่ดำเนินการได้เองทันที

(๒) เวทีของบุคคลที่จะไปช่วยเป็นกรรมาธิการของ สปช. เมื่อระเบียบข้อบังคับการประชุมของ สปช.แล้วเสร็จก็ดำเนินการได้

(๓) เวทีที่รัฐบาลตั้งรองรับ (๓๐๐ คน) โดยแบ่งเป็นการเมือง เศรษฐกิจ พลังงาน และด้านสังคม โดยพิจารณาจากบุคคลที่ไม่ได้ถูกเลือกให้เป็น สปช.และความสมัครใจและสนใจเป็นหลัก มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ โดยใช้พื้นที่ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะเป็นสถานที่ประชุม จะเริ่มเมื่อออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมารองรับ คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า และ

(๔) เวทีที่ กอ.รมน.ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จะไปตั้งเวทีในระดับจังหวัดโดยแบ่งเป็นรายภาค โดยทั้ง ๔ เวทีใช้งบประมาณไม่มาก ตามที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าว

[1] สรณะ เทพเนาว์ , สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ,นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย,ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง, บทความพิเศษ, ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

[2] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓๔ ก วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ , http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/...

 

[3] ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๓ - ๔, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๒๑๓ ง วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/...

 

[4] ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นคณะทำงานทางการเมือง ดังต่อไปนี้

(๑) คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ

(๒) คณะทำงานทางการเมืองของรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ข้อ ๔ คณะทำงานทางการเมืองตามข้อ ๓ ให้มีตำแหน่ง จำนวนและอัตราค่าตอบแทนดังต่อไปนี้

(๑) ที่ปรึกษา จำนวน ๓ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท

(๒) นักวิชาการ จำนวน ๓ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท

(๓) เลขานุการ จำนวน ๒ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท

[5] ข้อ ๕ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคน ในตำแหน่ง จำนวนและอัตราค่าตอบแทน ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๑ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๒๔,๐๐๐ บาท

(๒) ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๑ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท

(๓) ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๓ อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท

การแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคนตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีการแต่งตั้งครบจำนวน ๕ อัตรา ในจำนวน ๕ อัตราดังกล่าว ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่สมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างน้อย ๑ อัตรา

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑ – ๑๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๕๕ ก วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

[7] ข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๒๒๑ ง วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/221/1.PDF

[8]“คัด สปช.สอบตก ๓๐๐ คน เปิดเวทีคู่ขนาน สปช.”, ข่าว ทีวี ๓,๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗,

http://www.krobkruakao.com/ข่าวการเมือง/105160/คัด-สปช-สอบตก-300-คน-เปิดเวทีคู่ขนาน-สปช-.html

หมายเลขบันทึก: 579814เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2021 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท