Fast Track to Success: Strategy


การมีแผนยุทธศาสตร์แล้วแต่ไม่มีการนำไปปฏิบัติ ก็เปรียบเสมือนฝันกลางวัน การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อทำให้ฝันเป็นจริง

ทางด่วนสู่ความสำเร็จ ในเรื่องยุทธศาสตร์

(Fast Track to Success: Strategy)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

5 พฤศจิกายน 2557

ทางด่วนสู่ความสำเร็จ (The Fast Track to Success series:Strategy, Project Management, Innovation, Finance, Sales, and Marketing) เป็นหนังสือ 6 เล่มชุด ประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริหารองค์กร คือ ยุทธศาสตร์ การบริหารโครงการ นวัตกรรม การเงิน การขาย และ การตลาด จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pearson Education Limited ในปี ค.ศ. 2009

หนังสือทางด่วนสู่ความสำเร็จชุดนี้ควรศึกษาทั้งหมด หรือศึกษาแยกเป็นแต่ละเล่มตามลักษณะงาน เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของตนเอง เพื่อทีมงาน และเพื่อองค์กร เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับหน้าที่ใหม่หรือผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้วก็ได้ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ เพราะในหนังสือมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นเลิศ กรณีศึกษา เครื่องมือที่แนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเป็นกรอบในการพัฒนาอาชีพของทุกอุตสาหกรรม

หนังสือชุดนี้ทั้ง 6 เล่ม มีผู้ประพันธ์ต่างกันออกไป แต่ในหนังสือแต่ละเล่มแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ ๆ คือ

1.) สร้างความตระหนัก (Awareness) เป็นการมองเรื่องนั้น ๆ โดยภาพรวม มีคำถามที่ถามบ่อยรวมถึงคำตอบ และการสำรวจตนเองโดยใช้แบบประเมินตนเองและทีมงาน ว่าต้องทำการพัฒนาในเรื่องใดเพิ่มเติมอีก

2.) ขั้นตอนทางธุรกิจ (Business building) ว่าด้วยเครื่องมือและเทคนิคที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีความทันสมัย ของการปฏิบัติที่เป็นเลิศ 10 ชนิด ที่ช่วยการพัฒนาทักษะ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง

3.) การพัฒนาอาชีพ (Career development) เป็นการแนะนำขั้นตอนที่ควรทำเพื่อความก้าวหน้า 10 สัปดาห์แรกของการเข้ารับตำแหน่ง การเป็นผู้นำของทีมในการทำงาน รวมถึงหนทางความก้าวหน้าเป็นผู้อำนวยการต่อไป และ

4.) คู่มือผู้อำนวยการ (Director's toolkit) เป็นเคล็ดลับสู่ความสำเร็จและความยั่งยืน โดยมีสรุปเครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการเป็นผู้บริหารระดับสูง

ที่ขอแนะนำเป็นเรื่องแรกคือเรื่อง ทางด่วนสู่ความสำเร็จในเรื่องยุทธศาสตร์ (Fast Track to Success: Strategy) ประพันธ์โดย David McKean ซึ่งมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ของบริษัท IT Leaders Ltd. ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรและการพัฒนาภาวะผู้นำ McKean จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Cambridge ด้าน chartered engineer มีความเชี่ยวชาญกว่า 15 ปี และมีประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัททั่วโลกในเรื่องการสร้างยุทธศาสตร์ และการนำยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint สามารถ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/fast-track-strategy

คำว่า ยุทธศาสตร์ (Strategy) มาจากภาษากรีก ว่า strategos ที่หมายถึงผู้นำกองทัพ ตามความหมายในพจนานุกรมคือ แผนการในการบรรลุเป้าหมายระยะยาว แต่โดยความนัยแล้ว หมายถึงการระบุแนวทางที่ดีที่สุดที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายของทีมหรือขององค์กรในอนาคต และสามารถใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร

ประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์คือ เป็นเรื่องของอนาคต เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ ใช้ทางเลือกที่มีเหตุผล และ ใช้สื่อสารให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเทียบได้กับการรบในสมัยโบราณ ที่ต้องมีการวางแผนเพื่อชัยชนะหรือประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

ผู้ที่ทำหน้าที่วางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ โดยมากจะเป็นผู้จัดการที่มีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร และเป็นผู้ที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับองค์กรต่อไปเมื่อมีอาวุโสมากขึ้น จึงควรมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคนิคการพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อวางแผนอย่างเฉียบคม มีความรู้ มีทักษะในการสื่อสาร มีเครือข่าย และสามารถนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ในบริบทของผู้นำแล้วเรื่องยุทธศาสตร์คือการตอบคำถามง่าย ๆ 3 คำถามคือ 1.) ปัจจุบันนี้เราอยู่ ณ ที่ใด ? 2.) ในอนาคต เราต้องการไปถึงที่ใด ? และ 3.) เราจะไปถึงที่นั้นได้อย่างไร ?

ในการประเมินตนเองและทีมงานเรื่องยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ การประเมินทีมงานและการประเมินหัวหน้าทีม การประเมินทีมงานนั้น มีหัวข้อต่าง ๆ 10 ข้อ (ดังแสดงในตารางที่ 1 ) มีการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 5 แล้วนำคะแนนมาแปลงให้เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสี คือ เขียว เหลือง แดง สีเขียวหมายถึงเป็นไปด้วยดี สีเหลืองหมายถึงมีความเสี่ยงหรือต้องให้ความสนใจ สีแดงหมายถึงต้องให้ความสนใจเร่งด่วน ส่วนในการประเมินตนเองของหัวหน้าทีมจะใช้หัวข้อความสามารถพิเศษ 4 ประการคือ ความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ และพฤติกรรม

ตารางที่ 1 แสดงการตรวจสอบยุทธศาสตร์ของทีมงานโดยสังเขป 10 ขั้นตอน

หัวข้อที่/เรื่อง เกณฑ์การประเมิน สถานะ (เขียว,เหลือง, แดง)
1.Strategic planning - leadership มีทีมผู้บริหารระดับสูงในการวางแผนยุทธศาสตร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับผิดชอบต่อความสำเร็จในการวางแผน รวมถึงกระบวนการและกรอบเวลาในการทำแผนยุทธศาตร์
2.Strategic focus – objectives and values มีการกำหนดเป้าประสงค์ขององค์กร ค่านิยมขององค์กร และมีการทำให้วัตถุประสงค์มีความสมดุลทั้ง 4 มุมมอง (การเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน การเรียนรู้และการเจริญเติบโต)
3.Understand of the business environment

ศึกษาการแข่งขันของตลาด สิ่งแวดล้อม ( PESTEL = การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย) รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร เทียบเคียงกับการปฏิบัติที่เป็นเลิศ

4.Keeping ahead of the competition เลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือตลาดในอนาคต โดยหาจุดที่เป็นความแตกต่างจากคู่แข่ง และมีการสร้างการขายและการตลาดให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์
5.Matching key capabilities to strategic priorities มีการพัฒนาการจัดการกระบวนการภายในโดยมีการจัดสรรทรัพยากรเกื้อหนุนอย่างพอเพียง มีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และบุคลากรมีทักษะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายและมีความพอเพียง
6.Creating practical strategic plans มีการสร้างแผนยุทธศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สื่อสารทั่วทั้งองค์กรแบบเรียบง่ายและเข้าใจง่าย มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อให้เกิดความสำเร็จ และมีการวิเคราะห์ความเสี่ยง (แผนงานโครงการเหล่านี้ไม่ใช่งานประจำที่ทำอยู่)
7.Commitment and ownership ทุกภาคส่วนในในองค์กรมีความเกี่ยวข้องและเข้าใจแผนยุทธศาสตร์ มีความสอดคล้องเห็นเป็นแนวทาง ตั้งแต่ระดับองค์กร หน่วยงาน จนถึงระดับบุคลากร มีการเรียนรู้และมีการจัดการความรู้
8.Communication มีการจัดทำเอกสารรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์ทุกขั้นตอน ที่บุคลากรสามารถเข้าถึงเพื่อศึกษาทำความเข้าใจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรายงานถึงความก้าวหน้าของแผนยุทธศาสตร์สม่ำเสมอ
9.Culture of strategic change มีวัฒนธรรมในการคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อการบรรลุแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงมีการให้รางวัลและยกย่องชมเชยเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น
10.Performance management มีการตกลงเรื่องตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ มีการทบทวนความก้าวหน้าของผลงานโดยทีมผู้บริหารระดับสูงและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการทบทวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันการผิดพลาดซ้ำในอนาคต

แนวคิดเรื่องทางด่วนสู่ความสำเร็จของยุทธศาสตร์นั้น

ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1.) ครื่องมือและเทคนิค (Tools and Techniques) คือกระบวนการ 10 ขั้นตอน โดยมีคำย่อว่า S-T-R-A-T-E-G-I-E-S 2.) เทคโนโลยี (Technologies) และ 3.) การนำไปปฏิบัติ (Implementation) ดังจะอธิบายโดยสังเขปแต่ละหัวข้อดังนี้

1.เครื่องมือและเทคนิค เป็นกระบวนการสร้างยุทธศาสตร์ขององค์กร 10 ขั้นตอน (ตารางที่ 2) เหมาะสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความสามารถ เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ และสร้างยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ และเพื่อกระตุ้นทีมงานในการสร้างแผนยุทธศาสตร์และการนำไปปฏิบัติ ขั้นตอนที่แนะนำนี้ เป็นแนวทางการจัดทำโดยอาศัยเหตุผลที่เรียบง่าย ลำดับขั้นตอนอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่กระบวนการขั้นสุดท้ายต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อองค์กร

โปรดระลึกไว้ว่า ยุทธศาสตร์มีเพื่อบอกถึงสิ่งที่เราอยากเป็นในอนาคต โดยอาศัยความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน และไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแบบตายตัว เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ยุทธศาสตร์สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ไม่ควรทำบ่อย เพราะจะทำให้บุคลากรสับสน และจะไม่ทำอะไรเลย จนกว่ายุทธศาสตร์จะนิ่ง

ตารางที่ 2 แสดงกระบวนการสร้างยุทธศาสตร์โดยย่อ 10 ขั้นตอน

ขั้นที่ แผนงาน คำอธิบาย สถานะ (เขียว,เหลือง,แดง) เทคโนโลยี (เครื่องมือลำดับที่)
1 S = Start the process วางโครงร่างพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด สื่อสารถึงขั้นตอนต่าง ๆ เรื่องบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาโครงการ และระบุผลลัพธ์ที่คาดหวัง
1,2
2 T = Take stock วิเคราะห์ตำแหน่งองค์กรในปัจจุบัน ศึกษาเรื่องความต้องการของลูกค้า ประเมินคู่แข่งขัน วิเคราะห์ความสามารถขององค์กร ทบทวนสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
1,2,3,4
3 R = Review high-level themes บริบททางยุทธศาสตร์ขององค์กร พันธกิจ ค่านิยมหลักขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร ความได้เปรียบในการแข่งขัน
1,2,3,4
4 A = Agree high-level objectives

วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์หลักขององค์กรในระยะยาวที่วัดผลได้และมีทางสำเร็จโดยใช้สมรรถนะหลักขององค์กร โดยมากองค์กรใช้ลิขิตสมดุล (Balanced Scorecards)เป็นมุมมองในการระบุเป้าหมายทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้และการเจริญเติบโต ด้านกระบวนการ ด้านลูกค้า และ ด้านการเงิน

1,2,3,4
5 T = Target key products and markets การคัดเลือกสินค้าและตลาด ที่ทำให้เพิ่มรายได้และใช้เวลาลดลง โดยใช้หลักการขับเคลื่อนโดยตลาด หรือการขับเคลื่อนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ มีการแบ่งส่วนของสินค้าและตลาด เพื่อใช้เป็นจุดเน้นในการวางยุทธศาสตร์
1,2,5,6
6 E = Extend to develop internal capability and functional plans วิเคราะห์ความสามารถขององค์กร เป็นการดูจุดแข็งที่องค์กรมีอยู่เพื่อใช้ประกอบในการวางแผน เช่นความสามารถในการสร้างคุณค่า (กำไร) เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ลอกเลียนได้ยาก รวมถึงวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร
1,2,5,6
7 G = Generate a risk register and future-proof the plan ความคงอยู่ของแผนยุทธศาตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการที่วางไว้จะอยู่ได้ตลอดลอดฝั่งตามเวลาที่วางไว้ ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงว่า มีหนทางที่ดีกว่านี้หรือไม่ มีการประเมินความเสี่ยง และคาดการณ์ล่วงหน้าทั้งแง่บวกและแง่ลบ
1,2,5,6
8 I = Integrate all corporate-wide projects and key activities บูรณาการโครงการและกิจกรรม โดยรวบรวมเป็นกลุ่มโครงการที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน แล้วจัดลำดับความเร่งด่วน นำโครงการต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการโดยอ้างอิงกับระยะเวลาลงในแผนที่เพื่อการติดตามและการสื่อสาร
1,2,7,8
9 E = Engage and empower the organization with good communication การสื่อสารที่มีประสิทธิผล วางแผนสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้สื่อที่เหมาะสม มี 4 วิธีที่แนะนำคือ 1.) นำเสนอแผนระดับองค์กรให้ผู้บริหารระดับสูง 2.) นำเสนอยุทธศาสตร์ระดับองค์กรสั้น ๆ เข้าใจง่ายให้กับบุคลากรในองค์กร 3.) นำเสนอในรูปแบบเฉพาะตัวให้ผู้มีผลกระทบ และ4.) จัดทำเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดตามสมควรเพื่อเผยแพร่
1,2,7,8
10 S = Supervise progress and governance การทบทวนและติดตามความก้าวหน้า ผู้บริหารระดับสูงมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์องค์กรเข้ากับบุคลากร มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าของประเด็นสำคัญอย่างสม่ำเสมอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
1,2,9,10

2. เทคโนโลยี ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการทำงาน มีการใช้ประโยชน์ในด้านการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และ เป็นโครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์ โดยช่วยให้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การเลือกใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องสอดคล้องกับกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์มีความสำคัญ แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่จะกล่าวต่อไปเป็นแค่ตัวช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำทีม การมีปฏิสัมพันธ์ และ พฤติกรรมที่แสดงออก

ผู้ประพันธ์แบ่งตามลักษณะการใช้งานของแต่ละเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่สอดคล้องกับขั้นตอนทั้ง 10 ในการวางแผนยุทธศาสตร์ (ช่องสุดท้ายของตารางที่ 2 ) และการนำเครื่องมือไปใช้ต้องศึกษาการใช้งานให้เหมาะสมดังนี้

1.) เครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์และอีเมล์ (ทั้งอยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้) รวมถึง Video conference โดยพยายามทำให้เรียบง่าย และอย่าลืมการพบปะพูดจาโดยตรงด้วย

2.) เครื่องมือวางแผนยุทธศาสตร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพียงแต่กรอกข้อมูลลงในแบบ หรือการสร้างขึ้นเองจาก Spreadsheet ที่รวบรวมไว้เป็นส่วนกลาง ข้อสำคัญคือต้องทำให้ข้อมูลทันสมัย และ มีการทบทวนโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับสูง

3.) แหล่งข้อมูลข่าวสารภายนอก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อินเตอร์เน็ต การเทียบเคียง การสำรวจลูกค้า โดยมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

4.) แหล่งข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร คือการจัดการความรู้ รายงานต่าง ๆ และ ฐานข้อมูลขององค์กร เพื่อหาโอกาสในการพัฒนา เน้นการให้ข้อมูลกับผู้ที่ต้องการ และระวังการรายงานซ้ำซ้อน

5.) เครื่องมือจัดการข้อเสนอแนะและความคิดสร้างสรรค์ การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของบุคลากรในองค์กร และโปรแกรมรวบรวมความคิด เช่น Mind map ควรมีการจัดการเรื่องการคัดกรองและจัดความเร่งด่วน ส่วนความคิดที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงควรมีรางวัลให้เจ้าของความคิดและกล่าวชมเชย

6.) ครื่องมือจัดทำงบประมาณและจำลองสถานการณ์ เช่นโปรแกรม Spreadsheet ควรมีการควบคุมและผลักดันโดยผู้บริหารระดับสูง

7.) ครื่องมือจำลองให้เห็นการดำเนินการของแผน เช่น โปรแกรม PERT โปรแกรม Visio หรือโปรแกรม Project ในการนำเสนอต้องสะท้อนความเป็นจริงและระบุทรัพยากรที่ใช้ด้วย

8.) ครื่องมือการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ เช่นโปรแกรม PowerPoint ที่สามารถใส่ลูกเล่นต่าง ๆ เช่น วิดีโอคลิป ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ การนำเสนอควรตรงประเด็นตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้กระชับได้ใจความ ไม่ใส่ข้อมูลลงรายละเอียดมากนัก ควรเปิดเวลาให้ซักถามด้วย

9.) ระบบจ่ายค่าตอบแทนที่โยงกับผลงาน พยายามทำให้เรียบง่ายและใช้ประโยชน์กับงานที่สร้างคุณค่า

10.) ครื่องมือแสดงผลงานของโครงการและการจัดการความเสี่ยง ใช้เพื่อติดตามความสำเร็จของโครงการ ควรทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งองค์กร

3.การนำไปปฏิบัติ คือการบริหารการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลงถึง 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และครั้งที่สองคือการนำไปปฏิบัติ อารมณ์และความรู้สึกของบุคลากรในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมีสาเหตุอยู่ 2 ประการ ประการแรกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบกับสิ่งที่บุคลากรปฏิบัติงานอยู่เป็นประจำ การแก้ปัญหาต้องหาทางออก คือวิธีที่เน้นชนะด้วยกัน ประการที่สองคือ การขัดแย้งด้านความคิดในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการตัดสินใจไปทางใดจึงจะถูก แต่มีวิธีการแก้ปัญหาคือ พยายามใช้ข้อมูลที่เป็นจริง และมีการปรึกษาหารืออภิปรายกันในรูปแบบของมืออาชีพที่มุ่งเน้นการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

วิธีการบริหารการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จได้นั้น ก่อนอื่นต้องศึกษา 4 ขั้นตอนของบุคลากรในการตอบสนองเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ

1.) การดำเนินธุรกิจตามปกติ บุคลากรคิดว่าสิ่งที่ปฏิบัติเป็นประจำดีอยู่แล้ว มีความก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมีสิ่งมากระตุก ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง

2.) การเปลี่ยนแปลงเริ่มส่งผล บุคลากรเมื่อทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน โกรธ เกิดการต่อรอง มองในแง่ลบ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ

3.) ร่วมเดินทาง บุคลากรเกิดความสิ้นหวัง เริ่มมีความสงสัย มีการทดลองแนวคิดใหม่ดู เริ่มมีความหวังบ้าง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และ

4.)ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ บุคลากรเริ่มมองโลกในแง่ดี เห็นข้อด้อยของการปฏิบัติงานแบบเดิม การดำเนินการเริ่มประสบความสำเร็จ บุคลากรเกิดความรับผิดชอบ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน ดังนั้นมาตรการที่จะใช้จัดการกับความรู้สึกที่อ่อนไหวคือ การสื่อสารให้บุคลากรเกิดแรงบันดาลใจ รับฟังข้อคิดเห็น ตอบปัญหาที่ยังค้างคาใจ ให้ความรู้กับบุคลากรจนเกิดความเข้าใจ เห็นประโยชน์และไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงถ้ามองในแง่บวกถือว่าเป็นความท้าทาย ทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นความก้าวหน้าของชีวิตในการทำงาน ดังนั้นการบริหารการเปลี่ยนแปลง อย่าระบุรายละเอียดจนเกินไป ให้บอกหลักเกณฑ์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนรายละเอียดให้ผู้ที่มีผลกระทบเป็นผู้พิจารณาดำเนินการเอง

นั่นคือแผนการต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร อย่ารีบด่วนตัดสินใจถ้ายังไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ขาดทางเลือกอื่นอีกถ้ามี (การตัดสินใจกลับไปกลับมาไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินการ) ข้อสำคัญต้องมีการประชุมติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งผลความก้าวหน้าให้ผู้บริหารระดับอาวุโสที่รับผิดชอบได้รับทราบ

ความก้าวหน้าในอาชีพ คือการได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้น ผู้จัดการที่มีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรมีโอกาสที่จะประสบความก้าวหน้าในอาชีพสูงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดการ สิ่งที่ผู้จัดการควรให้ความสนใจคือผลงานหรือตัวชี้วัดความสำเร็จ และมีการเรียนรู้จากการทบทวนผลงานจากความสำเร็จหรือผลงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการเรียนรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา ไม่ว่าจากเว็บ วารสาร รายงานการประชุม ชุมชนนักปฏิบัติ การเทียบเคียง ฯลฯ

องค์ประกอบในการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งประกอบด้วย ทักษะ ประสบการณ์ ทัศนคติ และพฤติกรรม ดังนั้นจึงควรประเมินความพร้อมของตนเองในด้านต่าง ๆ คือ ความสามารถ ความน่าเชื่อถือ ความปรารถนา ความสัมพันธ์ และการแข่งขันกับผู้อื่น นอกจากนี้ต้องให้ความสนใจการเตรียมความพร้อมในการออกจากตำแหน่งด้วย นั่นคือ การเตรียมผู้ที่จะมารับหน้าที่ต่อไว้ล่วงหน้า ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การเตรียมเอกสารให้พร้อม และมีการแนะนำตัวให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วยตนเอง

สรุป การมีแผนยุทธศาสตร์แล้วแต่ไม่มีการนำไปปฏิบัติ ก็เปรียบเสมือนฝันกลางวัน การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อทำให้ฝันเป็นจริง คือการเขียนแผนปฏิบัติการหรือโครงการนั่นเอง ซึ่งจะได้นำเสนอ เส้นทางด่วนสู่ความสำเร็จ ตอน การบริหารโครงการ ที่ท่านสามารถติดตามได้ต่อไป

****************************************************

หมายเลขบันทึก: 579806เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท