The Fast Track to Success: Project Management


การแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการหรือโครงการ เป็นการทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

ทางด่วนสู่ความสำเร็จ เรื่อง การบริหารโครงการ

The Fast Track to Success: Project Management

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

5 พฤศจิกายน 2557

ทางด่วนสู่ความสำเร็จ เรื่อง การบริหารโครงการ (The Fast Track to Success : Project Management) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pearson Education Limited ในปี ค.ศ. 2009 มีผู้ประพันธ์ร่วมกันสองคนคือ Patrick Harper-Smith และ Simon Derry

ผู้ประพันธ์คนแรกคือ Patrick Harper-Smith ทำงานเป็นที่ปรึกษาเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์ งานวิจัยการตลาด และการบริหารจัดการโครงการ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงินและการจัดการองค์กร ให้กับบริษัทระดับนานาชาติ เช่น การท่องเที่ยว บริการด้านการเงิน Harper-Smith เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Project Leaders International (PLI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการอบรมความรู้เกี่ยวกับซอฟท์แวร์

ส่วนผู้ประพันธ์คนที่สองคือ Simon Derry เป็นที่ปรึกษามืออาชีพที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปี ทำงานกับบริษัทชั้นนำหลากหลายอุตสาหกรรม จบการศึกษาจาก University College of Swansea แล้วเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นผู้อำนวยการบริษัท Project Leaders International (PLI) เขาได้รับปริญญาโทด้าน MBA จาก Henley Management College และ Derryมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงการ การสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรม

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ Powerpoint (PDF file) สามารถ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/fast-track-project-management

ทางด่วนสู่ความสำเร็จ ในเรื่องของการทำแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร การแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการหรือโครงการ เป็นการทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

การบริหารโครงการจึงถือว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จขององค์กรในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง ต้องอาศัยภาวะผู้นำเพื่อผลสัมฤทธิ์ของทีมงาน คำว่า โครงการ (Project) คือความต่อเนื่องของกิจกรรมที่ออกแบบไว้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในระยะเวลาและงบประมาณที่จัดให้ การบริหารโครงการ (Project Management) ทำให้ผู้จัดการโครงการมุ่งเน้นที่ความสำคัญของโครงการ มีการติดตามผลงาน ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ผู้จัดการโครงการสามารถควบคุมโครงการโดยมีเครื่องมือและเทคนิค ที่ช่วยให้ทีมบรรลุวัตถุประสงค์ในเวลาและงบประมาณที่จัดให้ โครงการไม่ใช่งานประจำ ดังนั้นในองค์กรใหญ่ ๆ จะมี สำนักงานบริหารโครงการ (Project Management Office = PMO) เป็นการเฉพาะ เพื่อรายงานคณะกรรมการบริหารถึงเรื่องความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

การประเมินตนเองและทีมงานในเรื่องการบริหารโครงการจึงเป็นเรื่องแรกที่ควรตระหนักรู้ การประเมินทีมงานนั้น มีหัวข้อต่าง ๆ 10 ข้อ (ดังแสดงในตารางที่ 1 ) มีเกณฑ์การให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 5 แล้วนำคะแนนมาแปลงให้เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสี คือ เขียว เหลือง แดง สีเขียวหมายถึงเป็นไปด้วยดี สีเหลืองหมายถึงยังคงมีความเสี่ยงหรือต้องให้ความสนใจ สีแดงหมายถึงต้องให้ความสนใจหรือแก้ไขโดยเร่งด่วน

ส่วนในการประเมินตนเองของหัวหน้าทีมจะใช้หัวข้อความสามารถพิเศษ 4 ประการคือ ความรู้ (อุตสาหกรรมและการตลาด บริบททางธุรกิจ การบริหารจัดการ และ การปฏิบัติที่เป็นเลิศ) ความสามารถ (การบริหารโครงการ การบริหารความเสี่ยง การตัดสินใจ และ การสื่อสาร) ทัศนคติ (ความยืดหยุ่น การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การคาดหวังสูง และ การมุ่งเน้นผลลัพธ์) และพฤติกรรม (การหาหนทาง การวิเคราะห์ การหาความเห็น และ ความเป็นประชาธิปไตย) โดยมีการให้คะแนนและแปลงเป็นสัญลักษณ์สีเช่นเดียวกัน

เมื่อประเมินตนเองและทีมงานแล้ว นำผลทั้งสองอย่างมาพล็อตเป็นกราฟ ถ้าผลลัพธ์อยู่มุมล่างซ้ายแปลว่าการนำทีมไม่ดีและทีมไม่มีประสิทธิภาพ มีโอกาสประสบความล้มเหลวสูง มุมบนซ้ายหมายถึงการมีผู้นำทีมที่ดีแต่ทีมยังไม่พร้อม การแก้ปัญหาคือหัวหน้าทีมต้องพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากร และทำการปรับปรุงการทำงานเป็นทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงาน ถ้าผลลัพธ์อยู่มุมล่างขวาหมายถึงมีทีมที่ดีแต่ผู้นำทีมยังมีปัญหา อาจพาไปสู่การบริหารผิดทิศทางได้ส่วนมุมบนขวาหมายถึงทั้งหัวหน้าทีมและทีมงานมีความพร้อม โอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตมีสูง

ตารางที่ 1 การตรวจสอบทีมงานบริหารโครงการโดยสังเขป 10 ขั้นตอน

หัวข้อ เกณฑ์การประเมิน สถานะ (แดง,เหลือง,เขียว)
1.Business needs มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ขององค์กร ทราบความต้องการของลูกค้า และสามารถระบุความเกี่ยวเนื่องกับโครงการอื่น ๆ
2.Project goals มีการตั้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการตกลงเรื่องตัวชี้วัดความสำเร็จ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นด้วยถึงการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร
3.Stakeholders มีการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ มีการประเมินพันธะสัญญาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และของทีมงาน มีการสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนสนับสนุน
4.Workplan and timing มีการระบุเป้าหมายของโครงการอย่างชัดเจน มีการประเมินจุดที่เป็นวิกฤตของโครงการ และมีการกำหนดจุดที่ระบุความก้าวหน้าของโครงการเป็นระยะ ๆ
5.Issues and risks กำหนดประเด็นสำคัญและความเสี่ยง มีการวางแผนการแก้ไข และมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการประชุมอย่างสม่ำเสมอ
6.The team มีการเลือกหัวหน้าทีม และเลือกทีมงานที่มีข้อตกลงร่วมกัน มีการทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิกทีม
7.Critical Decisions มีการบันทึกการตัดสินใจและเหตุผลประกอบเพื่อการตรวจสอบ มีกระบวนการที่ใช้ในการตัดสินใจ แจ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถ้ามีการเปลี่ยนแผน
8.Resources and budget มีการระบุทรัพยากรที่ต้องการล่วงหน้า ทั้งปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ และมีการตกลงเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง
9.Project leadership มีทักษะในการบริหารโครงการ มีความเข้าใจภาพรวมเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง และมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จของโครงการ
10.Communications มีการสื่อสารให้หน่วยเหนือหรือลูกค้าถึงความก้าวหน้าของโครงการ สื่อสารหน่วยข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารถึงทีมงาน หรือผู้ช่วยเหลืออื่น ๆ

แนวคิดเรื่องทางด่วนสู่ความสำเร็จของการบริหารโครงการนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1.) เครื่องมือและเทคนิค (Tools and Techniques) 2.) เทคโนโลยี (Technologies) และ 3.) การนำไปปฏิบัติ (Implementation) ดังจะอธิบายโดยสังเขปแต่ละหัวข้อดังนี้

1.เครื่องมือและเทคนิคเป็นการแนะนำเครื่องมือชั้นนำ 10 ชนิด ที่จะช่วยให้ผู้จัดการโครงการพัฒนาผลงานได้ง่ายยิ่งขึ้น เครื่องมือที่แนะนำนี้ขึ้นกับการบูรณาการเข้ากับลำดับขั้นตอนแผนการบริหารโครงการที่แนะนำในหนังสือนี้ และจากการใช้งานจริงในโครงการต่าง ๆ ที่ผู้ประพันธ์ให้คำปรึกษากับลูกค้า มีดังนี้ คือ

1.1 ความจำเป็นทางธุรกิจ (Business needs) โครงการมีไว้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับองค์กร การที่เราจะแน่ใจได้ว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่าหรือไม่ จะมีชุดคำถามที่ใช้ในการตรวจสอบว่าจำเป็นหรือไม่คือ SPRINT ซึ่งย่อมาจาก Situation คือ สถานการณ์ เป็นความจำเป็นทางธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ขององค์กรProblem (or opportunity) ปัญหาหรือโอกาสพัฒนา ในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร Risks ความเสี่ยง ถ้าไม่มีโครงการนี้จะเกิดความเสี่ยงอย่างไรกับองค์กร (ไม่ใช่ต่อโครงการ) Impact ผลกระทบ ปริมาณของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (อาจเป็นตัวเลขหรือจำนวนเงิน) Needs ความจำเป็น มีความจำเป็นต่อจุดมุ่งหมายขององค์กรTiming เวลา หมายถึงระยะเวลาสิ้นสุดของโครงการที่ตอบสนองความจำเป็น

1.2 เป้าประสงค์ของโครงการ (Project Goals) โครงการต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า เพื่อบรรลุอะไร สามารถวัดผลได้ ไม่ใช่ชื่อของกิจกรรมที่จะทำ โดยมีคำย่อว่า SMART คือ Specific มีความเฉพาะเจาะจง Measurable สามารถวัดผลได้ Agreed ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นสมควร Realistic มีเวลาพอเพียง มีทรัพยากรสนับสนุน Time bound มีการกำหนดเวลาสิ้นสุดของโครงการ

1.3 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เป็นการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสนับสนุนโครงการ เป็นงานเฉพาะของหัวหน้าโครงการ หรือผู้ที่เป็นแกนหลักของโครงการเท่านั้น และไม่ควรเปิดเผยการวิเคราะห์นี้ เพราะถ้าการวิเคราะห์นี้รั่วไหลออกไปแล้วมีผลกระทบทางลบ อาจส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการได้ เพราะโดยมากมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองภายในองค์กร

1.4 แผนงานและเวลา (Work plan and timings) เป็นการหาเส้นทางวิกฤต (Critical path) ที่ใช้ในการวางแผนโครงการ โดยการเขียนแผนผังของกิจกรรมทั้งหมดในโครงการว่า กิจกรรมใดเริ่มก่อน แล้วต่อด้วยกิจกรรมใด หรือกิจกรรมใดต้องทำเป็นคู่ขนาน แล้ววิเคราะห์เส้นทางกิจกรรมทั้งหมดว่าเส้นทางใดที่ใช้เวลามากที่สุด นั่นคือเส้นทางวิกฤต ของโครงการ (เพราะใช้เวลานานที่สุดนั่นเอง)

1.5 ประเด็นและความเสี่ยงต่าง ๆ (Issues and risks) เป็นการเขียนแผนฟื้นฟู ที่ทุกโครงการควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบของความเสียหายและถือเป็นเอกสารส่วนหนึ่งของโครงการ

1.6 ทีมงาน (The team) เป็นการคัดเลือกทีมงาน โครงการทุกโครงการสำเร็จได้เพราะบุคลากร ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บทบาทของบุคลากรในทีมที่ทำหน้าที่ที่มีความแตกต่างกันคือ เป็นผู้ประสานงาน ผู้วิพากษ์ เจ้าของความคิดต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดต่อกับหน่วยนอก ผู้สังเกตการณ์ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ

1.7 การตัดสินใจวาระสำคัญ (Critical decisions) มีการตัดสินใจเป็นทีม มีข้อคิดที่ใช้พิจารณาคือ SAFE ที่ย่อมาจาก Suitable ความเหมาะสม Acceptable เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย Feasible มีความเป็นไปได้ ในระยะเวลาและทรัพยากรที่จัดให้ Enduring มีความคงทนจนสิ้นสุดโครงการ หรือคงอยู่ในระยะยาว

1.8 ทรัพยากรและงบประมาณ (resources and budget) การจัดสรรงบประมาณของโครงการ เป็นเอกสารแสดงถึงการใช้ทรัพยากรและงบประมาณของโครงการทั้งหมด โดยใช้ตารางแจกแจงรายละเอียดงบประมาณที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม และสามารถนำหลักการนี้มาทำเป็นตารางความรับผิดชอบ ที่เป็นค่าใช้จ่ายตามรายบุคคลที่ใช้ในโครงการได้

1.9 หัวหน้าโครงการ (Project leadership) หมายถึงการมอบหมายงาน ถึงแม้ว่าหัวหน้าจะได้มีการมอบหมายงานไปแล้วก็จริงแต่ยังคงต้องรับผิดชอบผลงานอยู่ ส่วนวิธีการมอบหมายงานมีอยู่ 7 วิธีคือ 1.) มอบหมายงานที่เหมาะสม 2.) บุคลากรมีทักษะ ความสามารถ ทัศนคติ 3.) อธิบายงานที่มอบหมาย 4.) ระบุผลลัพธ์ที่ต้องการ 5.) จัดสรรทรัพยากรให้ 6.) ให้การสนับสนุน และ 7.) มีการทบทวนผลงาน

นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาทที่ผู้เป็นหัวหน้าต้องกระทำเองไม่ควรให้ผู้อื่นทำแทนคือ 1.) การยกย่องชมเชย 2.) การให้รางวัล 3.) การชี้แจงหลักการสำคัญ 4.) การติดต่อกับผู้ให้ทุนสนับสนุน และ 5.) ความลับ

1.10 การสื่อสาร (Communication) แผนการสื่อสาร จำเป็นต้องรู้ว่า ข้อมูลที่เราต้องการคืออะไร และ ใครเป็นผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูล เมื่อใด และ ในรูปแบบใด

2. เทคโนโลยี มีหลักการในการพิจารณาในการเลือกใช้เทคโนโลยี คือ V-SAFE ที่ย่อมาจาก Value (เพิ่มคุณค่าหรือไม่) Suitable (มีความเหมาะสมหรือไม่) Acceptable (เป็นที่ยอมรับหรือไม่) Feasible (ใช้งานง่ายหรือไม่) Enduring (มีความยั่งยืนหรือไม่) การใช้เครื่องมือแต่ละชนิด ต้องมีการใช้อย่างชาญฉลาด และมีการเรียนรู้เมื่อเกิดความผิดพลาด เพราะทุกเทคโนโลยีที่กล่าวถึงทั้ง 9 ตัวนี้ มีทั้งข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง เครื่องมือที่ผู้ประพันธ์แนะนำมีทั้งหมด 9 ชนิด คือ 1.) Internet 2.) Spreadsheet software 3.) Word-processing applications 4.) Project management software 5.) Video conferencing 6.) E-mail 7.) Blogs and forums 8.) Digital dashboard 9.) Lessons-learned database

3. การนำไปปฏิบัติ เป็นการเริ่มต้นที่ดีถ้าได้ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบโครงการเป็นผู้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการทำโครงการต่าง ๆ ให้กับบุคลากร เพื่อลดแรงต้านที่เกิดขึ้น ในการทำโครงการให้สำเร็จมีแนวคิดหรือวิธีปฏิบัติที่ง่าย ๆ เรียกว่าวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) ที่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสมควรมีการประชุมติดตามผลความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงทำเพื่อลดแรงต้าน ต้องทำความเข้าใจกับขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ 4 ขั้นตอน ที่เรียกว่า DREC curve (Denial, Resistance, Exploration, Commitment) คือเมื่อบุคลากรทราบว่าสิ่งแวดล้อมในการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่จะแสดงออกคือการปฏิเสธโดยอ้างว่าของเดิมก็ดีอยู่แล้ว ต่อมาจะแสดงออกถึงการต่อต้าน ผู้ที่เป็นหัวหน้าควรทำความเข้าใจและให้บุคลากรได้ทดลองกับสิ่งใหม่ เมื่อบุคลากรเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็จะเกิดความร่วมมือและมีความมุ่งมั่นต่อระบบใหม่ที่แนะนำ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือ 1.) การทำให้งานเห็นผลความสำเร็จอย่างรวดเร็ว 2.) ผู้บริหารระดับสูงมีความมุ่งมั่น 3.) มีระบบการรายงาน การติดตามผล และการสื่อสาร 4.) ระบุวัตถุประสงค์ที่มีคุณค่าสูง 5.) ให้รางวัลแก่ผู้ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงาน 6.) การบริหารการเปลี่ยนแปลงถือว่าเป็นการประเมินผลงานของทีม 7.) พัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพของงาน 8.) สื่อสาร สื่อสาร และสื่อสาร 9.) ประเมินความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ 10.) เรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาด

การที่จะเจริญก้าวหน้าในอาชีพหรือหน้าที่การงาน 10 สัปดาห์แรกจึงมีความสำคัญว่า จะต้องทำอะไร ต้องให้ความสนใจเรื่องใด และต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใด ในการเป็นผู้นำของทีมงานคุณลักษณะที่พึงมีคือ

1.) มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง คือ ก. รู้ตนเองในเรื่อง ความรู้ ความสามารถพิเศษ ทัศนคติ และ พฤติกรรมข. เน้นความสมดุลของ ความจำเป็นของเป้าหมาย (วัตถุประสงค์ของโครงการ) ความจำเป็นของทีมงาน (การประชุมที่มีประสิทธิภาพ การได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสื่อสาร) และ ความจำเป็นของแต่ละบุคคล (ด้านอารมณ์ ความรู้สึก)

2.) มีทักษะที่ถูกต้อง คือ เรื่องของคนกับระบบ รูปแบบการนำ (เวลา คุณภาพ และ ความมุ่งมั่น) การฝึกสอนงาน

3.) ความมุ่งมั่นที่ถูกต้อง คือ การแสดงออกของพฤติกรรม ก. ก่อนเริ่มโครงการ มีการระบุความต้องการ ความจำเป็นทางธุรกิจ วิธีการคัดเลือก ความสามารถ ข. หลังเสร็จสิ้นโครงการ คือ การให้รางวัล และการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ รวมถึงผู้นำมีหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องด้วย คือ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สถานการณ์ที่ไม่กล่าวโทษกัน การทำงานอย่างมีจริยธรรมการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

สรุป สิ่งที่ได้นำเสนอมาเกี่ยวกับทางด่วนสู่ความสำเร็จทั้งสองตอนนี้ แนวความคิดบางสิ่งบางอย่างสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์ที่ต่าง ๆ กันออกไป จากการเรียนรู้ คือการประเมินตนเองและทีมงาน เพื่อศึกษาหาช่องว่างที่ต้องทำการปรับปรุงพัฒนาของตนเองและทีมงาน โดยการเรียนรู้จากเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในหนังสือ หรือค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม จากนั้นให้ใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนที่จะกระทำสิ่งใดลงไป โดยหาจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบสูงต่อการทำงาน และสามารถลงมือปฏิบัติได้ง่าย สุดท้ายนี้ แนวความคิดต่าง ๆ ที่นำเสนอในหนังสือเป็นเพียงข้อเสนอแนะ เพราะในโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สมควรที่จะต้องติดตามให้ทันอยู่เสมอ เพื่อจะได้เป็นผู้นำระดับแนวหน้าในสิ่งที่ตนเองมีความถนัด

***************************************************

หมายเลขบันทึก: 579809เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท