One Health


One Health หมายความเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างวิทยาศาสตร์หลากแขนง ต่างสาขาเพื่อการสร้างสุขภาพที่ดีของส่วนรวมได้แก่ คน สัตว์ และระบบนิเวศ จัดเป็นศาสตร์ใหม่ที่เกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพโดยตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรมและกายภาพขององค์ประกอบต่างๆ

สพ.ญ. วิไลพร ( 2550 ) กล่าวว่า One Health หมายถึง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่มีความชำนาญด้านต่างๆ ทุกสาขาวิชาทางสุขภาพทั้งมนุษย์และสัตว์ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือในระดับโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและสมดุลสำหรับคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม

ประวัติความเป็นมา

ปัจจุบันทั่วโลกมีความตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพของประชาชนและความปลอดภัยทางด้านอาหารมากขึ้น แต่เนื่องจากผลของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีคนจำนวนมากมีปัญหาทางด้านสุขภาพและโภชนาการ สัตว์จัดเป็นแหล่งอาการหลักของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม หรือไข่ แต่พบว่าในปัจจุบันโรคติดเชื้อในมนุษย์มีแหล่งที่มาจากสัตว์เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นหากพบปัญหาการติดเชื้อในสัตว์อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของมนุษย์ได้

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 พบรายงานการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนจำนวนมากเช่น รายงานการระบาดโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ รายงานการระบาดของโรคนิปาห์ในประเทศมาเลเซีย และรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกในทวีปเอเชีย ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการระบาดมากขึ้นได้แก่ การเร่งเพิ่มผลผลิตจากสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการบริโภคของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่านิยมด้านการเลี้ยงสัตว์เช่น พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัขและแมว การทำฟาร์มสัตว์ป่า เป็นต้น

ดังนั้นองค์กรต่างๆทั่วโลกจึงร่วมมือกันดำเนินงานในนามของ One Health เพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค เตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ เพื่อให้ประชาชนมี่คุณภาพชีวิตที่ดี ความร่วมมือดังกล่าวได้แก่ ความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรใหญ่ระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการดูแลด้านสุขภาพคนและสุขภาพสัตว์ซึ่งประกอบด้วย The UN Food and Agriculture Organization (FAO), The World Organization for Animal Health (OIE) และ The World Health Organization (WHO) ได้ดำเนินการร่วมมือกันพัฒนาโครงร่างยุทธศาสตร์ในการตอบสนองการควบคุมและป้องกันภัยอันตรายที่เกิดจากโรคประจำถิ่นและโรคอุบัติใหม่ตามเอกสาร Contributing to One World, One Health ในปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอันตรายจากการติดเชื้อโรคประจำถิ่นและโรคอุบัติใหม่จากการอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ในปี 2552 พบการประสานงานด้าน One Health เพิ่มเติมโดนหน่วยงานทางสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆในประเทศแคนาดาได้ดำเนินการร่วมกับ 3 องค์กรระหว่างประเทศข้างต้นในการตอบสนองโครงร่างยุทธศาสตร์โดยการดำเนินการปรึกษาหรือตามแนวคิดของ One World, One Health โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายโครงร่างยุทธศาสตร์และแบ่งแยกลักษณะของประเทศในการแนะนำการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตามหลักการของ One Health ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับระหว่างประเทศ ภูมิภาค ระดับประเทศและในระดับพื้นที่ด้วย

แนวคิดด้าน One Health ไม่ได้เป็นแนวความคิดที่ใหม่แต่ถูกพูดถึงมากในเวลานี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคระบาดสัตว์ต่างๆที่อาจติดต่อสู้คนได้จึงควรใช้โอกาสนี้ในการพิจารณากิจกรรมที่ดำเนินร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์และ สิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาความร่วมมือให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

การเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ระหว่าง คน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง One health

จัดให้มีกลไกความร่วมมือระดับชาติในการเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ระหว่าง คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคโดยเชื่อมโยงเข้ากับระบาดวิทยาภาคสนามสร้างกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการเฝ้าระวังโรคระหว่างภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องและต่างประเทศ พัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ชนิด Indicator-based และ event-based surveillance ใช้ทั่วประเทศพัฒนาศักยภาพการประเมินความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่ในระดับเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังโรคและคณะกรรมการประสานงานโรคติดต่ออุบัติใหม่ระดับชาติพัฒนางานเฝ้าระวังด้านเชื้อดื้อยาระบบการจัดการ ตรวจสอบ กักกัน ควบคุมโรคในสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ และการควบคุมการค้าสัตว์ป่า มีการวางนโยบายในการลดความเสี่ยงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอย่างเป็นระบบด้วยความร่วมมือแบบพหุภาคีจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนร่วมกันทุกภาคส่วน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ทั้งด้านสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม การจัดกลไกประสานความร่วมมือภาคสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ในการศึกษาวิจัยร่วมกันในด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีการส่งเสริมการป้องกันควบคุมโรคในสัตว์ สัตว์ป่า และคน บริเวณช่องทางเข้าประเทศ ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงการเตรียมการและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ ตามแนวทางของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (พ.ศ. 2548)

การพัฒนาบุคลากรและหน่วยปฏิบัติการเฝ้าระวังตอบสนองในทุกระดับเพื่อการป้องกันเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมโรค(OneHealth Response Team)

การพัฒนาทีมสอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคในทุกระดับ มีการจัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขทุกระดับในการป้องกันควบคุมการติดเชื้อนักระบาดวิทยาภาคสนาม และส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศจัดทำกลไกการประสานงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ สุขภาพสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยด้านอาหาร หน่วยกักกันโรค ในทุกระดับรวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกในการเตรียมพร้อมและการปฏิบัติเมื่อเกิดโรคระบาดและสอดแทรกสุขศึกษาไปตามสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่องแบบยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #One Health
หมายเลขบันทึก: 579684เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท