ทำนวัตกรรมให้ประสบผลสำเร็จ


การเดินทางไปสู่ความเป็นยอดนักนวัตกรรมต่างหากคือเป้าหมายที่แท้จริง

ทำนวัตกรรมให้ประสบผลสำเร็จ

The Innovator's Way: Essential Practices for Successful Innovation

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

1 พฤศจิกายน 2557

นวัตกรรม เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในวงการธุรกิจในปัจจุบัน บริษัททางเทคโนโลยีลงทุนกันเป็นพันล้านเหรียญเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรม เพราะถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการได้เปรียบในการแข่งขัน แต่มีรายงานว่า นวัตกรรมที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จมีเพียงร้อยละสี่เท่านั้น

เราจะสามารถเพิ่มความสำเร็จให้กับนวัตกรรมได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมคือ Peter Denning และ Robert Dunham กล่าวว่า นวัตกรรมไม่ใช่การประดิษฐ์คิดค้น แต่เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้ โดยที่พวกเขาให้คำนิยามของนวัตกรรมว่า นวัตกรรม คือศิลปะในการทำให้ผู้คนยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จอยู่แปดประการคือ sensing, envisioning, offering, adopting, sustaining, executing, leading, และ embodying

Peter Denning และ Robert Dunham ได้ประพันธ์หนังสือเรื่อง The Innovator's Way: Essential Practices for Successful Innovation จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ MIT Press ในปี ค.ศ. 2010 ผู้ประพันธ์คือ Peter Denning เป็น Professor, Chair of the Computer Science Department และเป็น Director ของ the Cebrowski Institute for Information, Innovation, and Superiority ของ the Naval Postgraduate School ที่ Monterey, California ส่วน Robert Dunham เป็นผู้ก่อตั้ง the Institute for Generative Leadership และบริษัทที่ปรึกษา Enterprise Performance

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/innovators-way

มีการเข้าใจผิดว่า การประดิษฐ์คิดค้นทำให้เกิดนวัตกรรม ทำให้องค์กรมีวิธีในการระดมความคิดสร้างสรรค์และมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ความเชื่อนี้ส่งผลให้ภาครัฐออกเป็นนโยบาย มหาวิทยาลัยส่งเสริมการวิจัย และมีการลดภาษีให้กับภาคเอกชน

ในขณะที่ Peter Drucker (ในปี ค.ศ. 1985) รายงานว่ามีเพียง 1 ใน 500 ของสิ่งประดิษฐ์ที่จดทะเบียนสิทธิบัตรมีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน เขามีความเชื่อว่าความรู้ใหม่ ๆ มีส่วนน้อยมากต่อนวัตกรรม Stephen Kline และ Nathan Rosenberg (ในปี ค.ศ. 1986) สรุปว่านวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยโดยมากมักจะผิด และ Harold Evans (ในปี ค.ศ. 2004) วิเคราะห์นวัตกรรม 75 ชิ้น สรุปว่า นวัตกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น

เมื่อใดจึงจะนับว่านวัตกรรมนั้นประสบผลสำเร็จ ความสำเร็จของนวัตกรรม หมายถึงมีการนำเอาความคิดนั้นไปใช้ และเป็นที่ยอมรับของชุมชน จุดสำคัญคือการยอมรับ ซึ่งนำไปสู่คำนิยามที่ผู้ประพันธ์ให้ไว้ว่า นวัตกรรมคือ การยอมรับในแนวทางการปฏิบัติใหม่ของชุมชน (Innovation is adoption of new practice in a community.) ชุมชนในที่นี้คือกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดการยอมรับความคิดเห็นใหม่

แนวทางการปฏิบัติ 8 ประการ ที่ทำให้นวัตกรรมประสบผลสำเร็จในกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้คือ 1.) การรับรู้ 2.) การทำให้เห็นภาพ 3.) การนำเสนอ 4.) การยอมรับ 5.) การทำให้ยั่งยืน 6.) การทำตามสัญญา 7.) การนำ และ 8.) การทำให้ฝังอยู่ในตัว

ซึ่งจะต้องปฏิบัติเป็นแบบบูรณาการ ไม่จำเป็นต้องทำทีละขั้นตอน แนวทางการปฏิบัติ 2 ประการแรกเป็นหลักของการสร้างนวัตกรรม 3 ประการต่อมาเป็นการทำให้ชุมชนยอมรับ (5 ประการแรกโดยมากมักจะเรียงตามลำดับ) ส่วน 3 ประการสุดท้ายเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยอื่น ๆ ดังจะกล่าวต่อไป

1.การรับรู้ (Sensing) คือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับชุมชน โดยระบุประเด็นหรือโอกาสที่จะไขว่คว้าได้ ทุกนวัตกรรมเริ่มต้นด้วยความน่าจะเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใครก็ตามที่ไม่มีความสามารถในการหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ มีกี่ครั้งที่แทนที่เราจะกล่าวว่า นึกออกแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า เขาคิดได้อย่างไร หรือ ทำไมเราไม่สามารถคิดแบบนั้นได้

การที่มีความคิดดี ๆ มีความเป็นไปได้เกิดจากการฝึกฝน เป็นการฝึกฝนที่จะรับฟังและสังเกตถึงความไม่ปกติธรรมดา แล้วถามตนเองว่า อะไรคือความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหานั้น คุณลักษณะนี้เรียกว่า การรับรู้ ดังนั้นหัวใจของการรับรู้นี้จึงเป็นเรื่องของทักษะการฟัง ให้รับรู้เรื่องราวที่ประชาชนให้ความสนใจ และหาหนทางที่เป็นไปได้ในการแก้ไข

2.การทำให้เห็นภาพ (Envisioning) คือการบอกเล่าเรื่องราว ว่าทุกสิ่งจะดีขึ้นถ้าสามารถทำความคิดให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ เป็นการตกผลึกความเป็นไปได้ ที่เกิดจากการรับรู้เรื่องราวแล้วนำมาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์กับชุมชนเป้าหมาย

การเล่าเรื่องที่ดีเป็นความสามารถในการกุมใจผู้ฟังและทำให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการขึ้นมาได้ว่า หนทางปฏิบัติใหม่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม ความสำเร็จอยู่ที่ความสามารถในการเล่าเรื่อง บางคนคิดว่าเป็นเรื่องยากในการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องเป็นการสร้างนวัตกรรม เราจึงต้องเป็นผู้นำโดยอาศัยการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้อื่นสามารถติดตามเราไปสู่โลกใบใหม่ให้ได้

3.การนำเสนอ (Offering) คือการยื่นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและผู้นำชุมชน เพื่อให้รับไว้พิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะผู้ที่ได้รับฟังส่วนมากมักจะปฏิเสธข้อเสนอ ผู้แทนขายสินค้าพบว่าร้อยละ 90 ของข้อเสนอมักได้รับการปฏิเสธ พวกเขาจึงเน้นวิธีการนำเสนอที่มองดูแล้วมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง

นักนวัตกรรมไม่ได้รับการฝึกฝนให้พร้อมรับมือกับความล้มเหลวของการนำเสนอ และมักจะแสดงออกโดยการปกป้องข้อเสนอนั้นแล้วไม่กล้าที่จะนำเสนอต่อรายอื่นอีก เพราะเกรงว่าจะประสบความล้มเหลวหรือถูกปฏิเสธ ทำให้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นวัตกรรมไม่ประสบความสำเร็จ

4.การยอมรับ (Adopting) คือการทำให้สมาชิกในชุมชนยอมรับแนวทางการปฏิบัติใหม่เป็นครั้งแรก โดยมีข้อเสนอว่า ถ้าได้ทดลองมาระยะหนึ่งแล้วเกิดความไม่พึงพอใจ ก็ไม่ต้องยอมรับ การยอมรับเกิดขึ้นได้ 3 ครั้ง คือ เกิดขึ้นในหัว เกิดขึ้นที่มือ และเกิดขึ้นที่ร่างกาย

การยอมรับครั้งแรกเกิดจากผู้คนในชุมชนยอมรับความคิดใหม่ ครั้งที่สองเกิดจากการปฏิบัติทดลองใช้เป็นครั้งแรก และครั้งที่สามคือการปฏิบัตินั้นเกิดความยั่งยืน เป็นเรื่องปกติที่นวัตกรรมที่นำเสนอในครั้งแรกจะถูกปฏิเสธ แต่เราต้องเรียนรู้ว่า เพราะเหตุใดเขาจึงปฏิเสธ และหาหนทางใหม่ ๆ ในการทำให้พวกเขาเกิดการยอมรับคุณค่าที่เรานำเสนอ

5.การทำให้ยั่งยืน (Sustaining) คือการทำให้สมาชิกในชุมชนนำหนทางปฏิบัติใหม่ไปใช้อย่างยาวนานและเกิดความต่อเนื่อง บูรณาการเข้ากับแนวทาง มาตรฐาน กระบวนการ ที่ปฏิบัติอยู่ เพื่อเกิดคุณประโยชน์ในชีวิต เป็นการทำให้นวัตกรรมเกี่ยวข้องและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ภายหลังจากที่มีการยอมรับแนวทางปฏิบัติใหม่ไปใช้ในชุมชน

มีปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืนคือ ความสามารถในการเรียนรู้ การให้ความช่วยเหลือ การส่งมอบ การบำรุงรักษา ความเชื่อมโยง ความสะดวกสบาย และความมุ่งมั่น การยอมรับต่างจากการทำให้ยั่งยืนคือ การยอมรับคือการทำให้ผู้คนเห็นว่า คุณค่าที่จะได้รับมากกว่าราคาที่จ่ายครั้งแรก ส่วนการทำให้ยั่งยืนนั้นต้องทำให้ผู้คนคิดว่าคุณค่าที่ได้รับอย่างต่อเนื่องคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย

6.การทำตามสัญญา (Executing) คือการรักษาพันธะสัญญาที่ให้ไว้โดยการให้ช่วยเหลือ เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าการยอมรับนั้นทำให้เกิดคุณค่า ผู้ประพันธ์เน้นที่การสนทนาเพื่อให้ข้อเสนอนั้นมีประสิทธิผล เกิดความน่าเชื่อถือ และเป็นการรักษาสัญญาที่ให้ไว้

การสนทนาแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ การสนทนาในเรื่องบริบท เป็นการยืนยันว่าเราใส่ใจในเรื่องนั้นๆ การสนทนาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ เป็นการสนทนาให้สมาชิกในชุมชนที่มีการปฏิบัติแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะมีข้อผูกมัดในอนาคต และการสนทนาเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของเราที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการได้

7.การนำ (Leading) คือการทำงานเชิงรุกเพื่อให้แนวทางอื่น ๆ เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ คือ การฝ่าฟันอุปสรรค การสร้างความไว้วางใจ และความมุ่งมั่นของผู้นำเกิดความยั่งยืน เป็นทักษะในการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามที่เราปรารถนาโดยใช้วิธีการสนทนา เป็นการปฏิบัติที่สำคัญในทุกขั้นตอนของการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้มีคนปฏิบัติตาม

แนวทางของการนำมีหลายรูปแบบ แต่ที่ผู้ประพันธ์แนะนำคือ ผู้นำที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวแล้วหลบออกข้างทาง ส่งผลให้ผู้ตามคิดว่าตนเองเป็นผู้ทำให้เกิดความสำเร็จ ตามที่เล่าจื๊อ นักปราชญ์จีนในยุคโบราณได้กล่าวไว้ในเรื่องผู้นำที่ดีว่า เป็นผู้ที่ได้การยอมรับนับถือจากประชาชน โดยใช้อำนาจผ่านการโน้มน้าวชักชวน ให้ปฏิบัติตามในหนทางใหม่ ๆ ซึ่งมีพื้นฐานจากการเอาใจใส่ดูแล การเอาใจใส่จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้นำ ส่วนผู้นำที่ใช้อำนาจผ่านการบังคับ จะทำให้นวัตกรรมไม่ยั่งยืน ดังนั้นนักนวัตกรรมต้องฝึกฝนการสนทนา เพื่อให้ผู้ตามเกิดความมุ่งมั่นและให้การสนับสนุนในเรื่องนวัตกรรม

8.การทำให้ฝังอยู่ในตัว (Embodying) คือการฝึกฝนทักษะดังที่กล่าวมาทั้งหมด จนกระทั่งสามารถปฏิบัติได้เป็นอัตโนมัติ ที่ทำให้สมาชิกของชุมชนยอมรับแนวทางปฏิบัติใหม่ เป็นความท้าทายของนักนวัตกรรมที่ทำให้สมาชิกในชุมชนมีการฝังแนวทางปฏิบัติใหม่เข้าไว้ในตัว คือมีการพูด มีการแสดงออก มีความรู้สึก และมองโลกที่ต่างออกไปจากเดิม

ดังนั้น นักนวัตกรรมจะต้องมีการแสดงออกทั้งทางภาษา ร่างกาย และอารมณ์ ได้เช่นเดียวกันกับชุมชนด้วย ภาษา ท่าทาง และอารมณ์เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นในการนำเสนอทุกครั้ง นักนวัตกรรมต้องแสดงออกทั้งภาษา ท่าทาง และอารมณ์ให้สอดคล้องควบคู่กันไปด้วย เพราะจะส่งผลให้ผู้ฟังเกิดการรับรู้ถึงคุณค่าและเกิดความรู้สึกร่วมได้ การแสดงออกทั้งทางภาษา ท่าทาง และอารมณ์สามารถฝึกหัดได้ เรียกว่าการผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชน

ถ้าจะให้เกิดผลดี แนวทางปฏิบัติทั้ง 8 ประการควรทำคู่ขนานกันไป ผลโดยรวมของการปฏิบัติจะกลายเป็นแนวทางของนักนวัตกรรมคนนั้น ๆ และแนวทางทั้ง 8 ประการนี้ นอกจากการแสดงออกเรื่องมุมมองด้านของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของปฏิกิริยาทางร่างกายและอารมณ์ที่แสดงออกควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีอยู่ในประการที่ 8 คือเรื่องการฝังตัวเพื่อให้คงอยู่ในตัวของนักนวัตกรรม เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ เป็นทักษะในการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการบูรณาการแนวทางการปฏิบัติทั้ง 8 ประการเข้าด้วยกันจนเป็นหนึ่งเดียว ที่เป็นแบบอย่างของตนเอง

นวัตกรรมในระดับองค์กรนั้น แนวทางการปฏิบัติทั้ง 8 จะไม่จำกัดอยู่ที่ตัวบุคคล แต่จะขยายไปสู่บุคคลอื่น ๆ และทีมงาน เป็นการเพิ่มผู้สังเกตการณ์ในการฟังเสียงของลูกค้า การแบ่งเป็นทีมต่าง ๆ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร

องค์กรนวัตกรรม มีการเรียนรู้ที่จะนำแนวทางปฏิบัติทั้ง 8 ประการเข้ามามีส่วนในการออกแบบ ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

บทบาทขององค์กรคือการสร้างยุทธศาสตร์ สนับสนุน และมีการประสานงาน ในการจัดสรรบุคลากรให้เกิดคุณค่าที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในการคัดเลือกลูกค้า การนำเสนอต่อลูกค้าที่มีความแตกต่างกัน การจัดสรรทรัพยากร การเปิดตลาดใหม่ และการเพิ่มคุณค่า ที่เรียกว่าการออกแบบองค์กร

มีนวัตกรรมมากมายที่เกิดจากการใช้เครือข่ายทางสังคม คือการที่ผู้คนติดต่อกันอย่างไม่มีการบริหารจัดการ โดยใช้ช่องทางสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นการเข้าร่วมชุมชนที่มีความสนใจเหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างสมัครใจ เครือข่ายทางสังคมเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการสนทนา การนำเสนอ การยอมรับ และการบูรณาการของการปฏิบัติใหม่ ๆ เช่น Social network mappers, LinkedIn, Plaxo, Facebook, MySpace, Flickr, Twitter, และ YouTube เป็นต้น

พลวัตรของเครือข่ายทางสังคมส่งผลต่อการบริหารจัดการและการนำ ในเรื่องของความรวดเร็วของนวัตกรรม และจัดการต่อการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ มีผลทำให้จำนวนผู้คนที่เข้าร่วมวงสนทนามีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นความไม่ปกติได้เร็วขึ้น มีความรวดเร็วในการสนทนาและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ใช้คนจำนวนน้อยลงและใช้เวลาเร็วขึ้นในการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ ดังนั้นนักนวัตกรรมชั้นนำจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ต่อความสนใจและคุณค่าที่มีอยู่ในเครือข่ายทางสังคม และเครือข่ายทางสังคมจะมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมในอนาคตอย่างแน่นอน

นักนวัตกรรมชั้นยอดทำเรื่องยากให้ดูเหมือนง่าย งานที่ลำบากดูเหมือนเป็นงานที่น่าสนใจ สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนดูเหมือนเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ทำให้สิ่งที่สับสนให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ นักนวัตกรรมเหล่านี้ทำในสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเกมที่เล่นอยู่ ไม่ใช่ทำการปรับปรุงเกมให้ดีขึ้น ทำให้ผู้คนยอมรับและมาเล่นในเกมที่เขาเสนอได้

สรุป ในความเป็นจริงแล้ว นักนวัตกรรมชั้นยอด เช่น Bill Gates, Steve Jobs, Larry Page, Sergey Brin, Candy Lightner, และ Paul McCartney พวกเขาเหล่านี้เริ่มต้นจากการเป็นผู้เริ่มต้น เป็นผู้ที่มีศักยภาพ เป็นผู้เชี่ยวชาญ จนเป็นนักนวัตกรรมระดับปรมาจารย์ เพราะเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการยกระดับตนเองขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้แต่เขาเหล่านั้นบางครั้ง ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร คือรู้แต่ไม่สามารพูดออกมาเป็นคำพูดให้เข้าใจได้ ในหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า คนระดับปรมาจารย์นวัตกรรมได้เรียนรู้อะไรบ้าง แต่หนังสือเล่มนี้สามารถอธิบายว่าเขาเหล่านั้นสามารถเป็นนักนวัตกรรมชั้นยอดได้อย่างไร และยังกล่าวไว้ว่า การเป็นนักนวัตกรรมชั้นยอดไม่ใช่เป้าหมาย แต่ การเดินทางไปสู่ความเป็นยอดนักนวัตกรรมต่างหากคือเป้าหมายที่แท้จริง

***************************************************************

หมายเลขบันทึก: 579556เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2014 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท