อำนาจในอนาคต


ลักษณะของอำนาจ มี 3 ประการคือ อำนาจทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจด้านอ่อน

อำนาจในอนาคต

(The Future of Power)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

1 พฤศจิกายน 2557

ในปี ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของอเมริกา มีใจความตอนหนึ่งว่า “อำนาจของเรา เกิดจากความยุติธรรมที่เรามีการใช้อำนาจเหล่านั้นอย่างรอบคอบ ยกตัวอย่างของการใช้อำนาจเหล่านั้นคือ ความสุภาพอ่อนน้อมและการยับยั้งชั่งใจ"

และรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกาคือ นางฮิลลารี คลินตัน กล่าวไว้ว่า “อเมริกาไม่สามารถแก้ปัญหาที่รุนแรงทั้งหมดในโลกได้ และโลกก็ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ถ้าไม่มีอเมริกา เราต้องใช้ “อำนาจที่ฉลาด" เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหล่านั้น"

จากข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจทางทหารอย่างเดียว อาจไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ อำนาจที่ฉลาด (Smart power) ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกากล่าวถึง คือการบูรณาการของการใช้อำนาจด้านแข็งและอำนาจด้านอ่อนให้สอดคล้องตามบริบท เพื่อบรรลุแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เป็นสิ่งที่อเมริกามีแนวคิดที่จะใช้เป็นกลยุทธ์ในการธำรงไว้ซึ่งอำนาจในศตวรรษที่ 21

หนังสือเรื่อง The Future of Power จัดพิมพ์โดย PublicAffairs, New York ในปี ค.ศ. 2011 ประพันธ์โดย Joseph S. Nye, Jr. ได้อธิบายถึงการใช้อำนาจที่ฉลาด ซึ่งเขาได้กล่าวว่า ถ้าอเมริกายังมีความต้องการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในโลกแล้ว ต้องศึกษาให้ถ่องแท้และนำไปใช้ให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป เพื่อการบรรลุเป้าประสงค์หลักของประเทศ

Joseph S. Nye, Jr. จบปริญญาตรีจาก Princeton University ได้รับ Rhodes Scholar จาก Oxford University ได้รับปริญญาเอกด้าน Political Science จาก HarvardUniversity เขาเป็นอาจารย์พิเศษและเป็นอดีตคณบดี the Kennedy School of Government at Harvard University เคยทำหน้าที่เป็น deputy undersecretary of state for Security Council Group on Nonproliferation of Nuclear Weapons ในปี ค.ศ. 1977-1979 และเคยดำรงตำแหน่ง chairman of the National Intelligence Council ในปี ค.ศ. 1993-1994 และในปี ค.ศ. 1994-1995 ดำรงตำแหน่ง assistant secretary of defense for International Affair

ผู้สนใจเอกสารแบบ Powerpoint (PDF file) สามารถ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/future-of-power

การมีอำนาจขึ้นกับบริบท โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 การมีอำนาจเปรียบเสมือนการเล่นหมากรุกสามมิติ กระดานบนสุดคืออำนาจทางทหาร (military power) กระดานชั้นกลางเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ (economic power) และกระดานล่างสุดคือ อำนาจแบบแพร่กระจาย (diffusion power) กระดานล่างสุดเป็นกระดานที่ไม่เป็นระบบระเบียบ มีการใช้ข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ในสภาพไร้พรมแดน และอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล

คำนิยามของ อำนาจ คือ ความสามารถได้มาในสิ่งที่ต้องการ มีบริบทคือ ใคร ได้อะไร อย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร ถ้าดูด้านทรัพยากร (ประชากร อาณาจักร ทรัพยากรธรรมชาติ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งทางการทหาร ความมั่นคงของสังคม) อำนาจจะหมายถึง การนำทรัพยากรมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ อำนาจถ้ามองด้านพฤติกรรม จะหมายถึง การที่มีผลต่อผู้อื่นโดยการปรับเปลี่ยนบางสิ่งด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

วิธีการได้มาซึ่งอำนาจมี 3 มุมมองคือ

1.จากการบังคับ (commanding change) เป็นการได้มาซึ่งอำนาจจากใช้กำลัง

2.จากเงื่อนไข (controlling agenda) เป็นอำนาจที่เกิดจากการสร้างเงื่อนไขและควบคุมให้มีการแสดงออกได้อย่างจำกัด และ

3.จากการชักจูง (Establish preference) เป็นอำนาจที่ได้มาจากการสร้างความเชื่อ การรับรู้ และความพึงพอใจ มุมมองแรกเป็นอำนาจด้านแข็ง มุมมองที่สามเป็นอำนาจด้านอ่อน มุมมองที่สองอยู่ระหว่างกลาง

ลักษณะของอำนาจ มี 3 ประการคือ อำนาจทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจด้านอ่อน

อำนาจทางทหาร เป็นอำนาจที่ใช้มากในศตวรรษที่ 19 คือในยุคที่มีการล่าอาณานิคม แต่ในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นการยุคที่สี่ของการรบยุคใหม่ (ยุคแรกคือการรบเป็นแถวเป็นตอน หลังการปฏิวัติในฝรั่งเศสยุคที่สองเป็นการรบอาศัยการยิงที่หนักหน่วงในสงครามโลกครั้งแรก ยุคที่สามเป็นการรุกรบอย่างรวดเร็วของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง) คือจะไม่มีเขตแนวรบที่ชัดเจนและเป็นการยากในการแยกทหารจากพลเรือน การรบพุ่งจะเกิดในประเทศระหว่างประชาชนที่ขัดแย้งกันมากกว่าระหว่างประเทศ และเป็นการรบที่ไม่มีกติกา เช่นการก่อการร้าย การใช้คาร์บอมบ์ ระเบิดพลีชีพเป็นต้น

รูปแบบการใช้อำนาจทางทหาร คือ ใช้ในการสู้รบและการทำลายล้างทางกายภาพ ใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ ใช้ในการรักษาสันติภาพหรือใช้ปกป้องกลุ่มประเทศสนธิสัญญา และใช้กำลังทหารในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การฝึกทหาร ให้ทุนการศึกษาด้านการทหาร ช่วยบรรเทาสาธารณภัย สร้างถนน รักษาพยาบาล และสร้างโรงเรียนเป็นต้น

บทบาทอำนาจทางทหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในศตวรรษที่ 21 อำนาจทางทหารสามารถใช้ได้ทั้งสามมุมมอง และอำนาจทางทหารในศตวรรษที่ 21 จะใช้ตามมุมมองที่สองมากขึ้นคือ อำนาจแบบมีเงื่อนไข ที่ใช้ประกอบกับการเมืองระหว่างประเทศ

อำนาจทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยรายได้มวลรวมของประชาชาติ รายได้ต่อหัว ระดับของเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล นโยบายทางการตลาด การค้าขาย การคลัง และการแข่งขันเป็นต้น อำนาจทางเศรษฐกิจสามารถใช้เป็นทั้งอำนาจด้านแข็งและอำนาจด้านอ่อน

ด้านแข็งคือการแทรกแซงทั้งด้านบวกและด้านลบคือ การชำระหรือการงดชำระหนี้ การกำหนดกำแพงภาษี การจำกัดโควต้า การเข้าถึงตลาด ฯลฯ ด้านอ่อนคือให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ เป็นการให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่ยังด้อยพัฒนา เช่นการสร้างโรงเรียน สนามกีฬา สนามบิน เป็นต้น

จีนได้พัฒนาประเทศทำให้มีเศรษฐกิจเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โดยมีลูกหนี้รายใหญ่คืออเมริกา ในปี ค.ศ. 2008 อเมริกาจึงพยายามบีบให้จีนลอยค่าเงินเพื่อลดการขาดดุล อย่างไรก็ตามค่าเงินหยวนจะยังไม่สามารถเทียบกับดอลลาร์ได้ในระยะสิบปีแรกของศตวรรษ เพราะดอลลาร์ยังใช้เป็นสกุลเงินตราสำรองระหว่างประเทศอยู่ แต่ต่อไปจีนจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อเมริกาจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ โดยใช้มาตรการแทรกแซงทั้งด้านบวกและด้านลบกับจีน เพราะเป็นนโยบายที่ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย

อำนาจด้านอ่อน เป็นสิ่งที่เล่าจื๊อกล่าวว่า ผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้ที่ทำให้ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองไม่รู้สึกว่าถูกปกครองอยู่ อำนาจด้านอ่อนประกอบด้วยวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ โดยใช้ความสัมพันธ์ ความสามารถพิเศษ และแรงดึงดูด เพื่อการชักชวนโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยใช้เรื่องเล่าเป็นประเด็นสำคัญ ว่าเรื่องเล่าของใครจะชนะและมีคนคล้อยตามมากกว่ากัน

นั่นคือต้องมีการสื่อสารแบบรายวันเพื่ออธิบายบริบทและการตัดสินใจ การสื่อสารที่เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี เพื่อผลทางการเมือง และการติดต่อสื่อสารระยะยาว เช่น การให้ทุน การแลกเปลี่ยนดูงาน การอบรม การประชุม การมีช่องทางสื่อสาร เพื่อหวังผลให้เกิดความไว้วางใจ

ประเทศจีนมีการใช้อำนาจด้านอ่อนกับประเทศในเอเชียและประเทศด้อยพัฒนา โดยในปี ค.ศ. 2009 จีนมีการให้ทุนกับนักศึกษาต่างชาติเป็นจำนวน 220,000 ราย เพื่อศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของจีน มีการตั้งสถาบันขงจื๊อหลายร้อยแห่งในโลกเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาจีน มีงบลงทุน 8.9 พันล้านเหรียญในการประชาสัมพันธ์ และให้สำนักข่าวซินหัวรายงานข่าว 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา

ผู้นำในโลกปัจจุบัน 64 คน และอดีตผู้นำ 165 คน เคยศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกาเฉลี่ยปีละ 750,000 คน ที่ยังไม่รวมนักเรียนแลกเปลี่ยน มีผลทำให้บุคคลเหล่านั้นมีมุมมองที่ดีต่ออเมริกา และนำความคิดประชาธิปไตยไปเผยแพร่ในประเทศตน ในอนาคตอำนาจด้านอ่อนจะมีความสำคัญมากขึ้น ใครที่สามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีค่าจากระบบที่ซับซ้อนได้ จะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการใช้อำนาจที่ฉลาด

การเคลื่อนย้ายของอำนาจในศตวรรษที่ 21 มี 2 รูปแบบคือ การแพร่กระจายของอำนาจ (power diffusion) และ การเปลี่ยนของขั้วอำนาจ (power transition)

1.อำนาจแบบแพร่กระจาย การปฏิวัติของข้อมูลข่าวสาร คือการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเครื่องคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และซอฟท์แวร์ ที่ทำให้การสร้าง การดำเนินการ การส่งผ่าน และการค้นหาข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเทคโนโลยีการเชื่อมต่อมีราคาถูกลง เป็นตัวเร่งการแพร่กระจายของอำนาจ เพราะมีผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงข่าวสารที่มีอย่างมากมายมหาศาลได้ โดยไม่มีการจำกัดด้วยอาณาเขตอีกต่อไป

โลกไซเบอร์ เป็นโลกของข่าวสารอิเล็คโทรนิค ที่ใช้ทรัพยากรของการสร้าง ควบคุม สื่อสาร มีระบบเครือข่าย (อินเตอร์เน็ต อินตราเน็ต โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม) ซอฟท์แวร์ ทักษะบุคคล มีการส่งข้อมูลข่าวสารผ่านไซเบอร์โดเมน มีการเข้าถึงได้ง่าย ถือว่าเป็นอำนาจด้านอ่อน ที่ชักชวนกับพลเมืองชาติอื่นให้ทำตามอย่าง

แต่บางครั้งอาจเป็นอำนาจด้านแข็งได้ เช่นการใช้ “บอตเน็ต" ส่งคอมพิวเตอร์ไวรัสเพื่อเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือ “นักแฮกเกอร์" ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างทางกายภาพได้ โดยการเจาะระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition)

หลายประเทศในโลกที่มีการกรอง การปิดกั้น หรือจับกุมผู้แพร่ข่าวสารอิเล็คโทรนิค เช่น จีน เวียตนาม อิหร่าน ลิเบีย เอธิโอเปีย และซาอุดิอาระเบีย แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารออกสู่ชาวโลกได้ เช่น การเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในซินเกียงของจีน การคัดค้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่าน ในปี ค.ศ. 2009 และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในประเทศตะวันออกกลาง หรือประเทศทางตอนเหนือของทวีปอาฟริกา ที่ทำให้ยูทูป เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารของผู้ต่อต้าน

อำนาจแบบแพร่กระจาย มีผู้ที่มีบทบาทมากมายหลากหลายที่ทำให้อำนาจแพร่กระจายออกไป ทั้งรัฐบาล หน่วยงานที่มีโครงข่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล ตลอดจนถึงรายบุคคลที่มีเครือข่ายเล็ก ๆ ไม่มีใครระบุอาณาเขตได้ว่าการแพร่กระจายไปถึงที่ใด ในปี ค.ศ. 2010 กูเกิลประกาศจะยกเลิกการให้บริการในจีน โดยกล่าวหาว่าจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องเข้ามาดูแลเป็นพิเศษในเรื่องเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ต ที่แสดงถึงอำนาจแบบแพร่กระจายที่มีบทบาทมากขึ้นในศตวรรษที่ 21

2.การเปลี่ยนขั้วอำนาจ มีคำถามว่าอมริกาเสื่อมถอยจริงหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงแล้วแม้ว่าอเมริกาจะมีพลเมืองเพียงร้อยละ 5 ของโลก แต่มีผลิตภัณฑ์ 1 ใน 4 ของโลก และมีการใช้จ่ายด้านกองทัพมากที่สุดในโลก รวมถึงการมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและระบบการศึกษาที่ดี จากการวิเคราะห์สถานการณ์ประเทศต่าง ๆ ในโลกที่มีผลกระทบกับอเมริกา และการวิเคราะห์สถานการณ์ในอเมริกาเอง มีผลดังนี้

ยุโรป มีสหภาพยุโรปเป็นแกนกลาง มีค่าใช้จ่ายทางการทหารครึ่งหนึ่งของอเมริกา แต่มีจำนวนทหารมากกว่า และมี 2 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ด้านการค้าของยุโรปมีขนาดใกล้เคียงกับอเมริกา แต่ยังมีปัญหาเรื่องความสามัคคีระหว่างชาติสมาชิก ความร่วมมือด้านต่างประเทศและทางทหารยังมีข้อจำกัด และในปี ค.ศ. 2010 ยุโรปดูอ่อนด้อยลงเมื่อเทียบกับจีนและอเมริกา ดังนั้นแม้จะยังมีข้อขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ กับอเมริกา แต่การแข่งขันด้านอำนาจจะไม่เกิดขึ้น อเมริกาและยุโรปจะมีความร่วมมือกัน

ญี่ปุ่น สองทศวรรษที่เกิดความชะงักงันทางด้านเศรษฐกิจจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้จีนก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นสู่ลำดับสองของโลกในปี ค.ศ. 2010 แต่ญี่ปุ่นยังมีอุตสาหกรรมและกองทัพที่ทันสมัย และญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ของการลุกขึ้นมาใหม่ได้ คือการก้าวสู่ความทันสมัยในยุคเมจิ และยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องประชากรที่สูงอายุและมีจำนวนลดลงเพราะมีนโยบายกีดกันผู้อพยพ แต่มีความเข้มแข็งเรื่องของมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูง แรงงงานมีฝีมือ สังคมที่มั่นคง มีวัฒนธรรม ความร่วมมือกับนานาชาติ และการช่วยเหลือประเทศอื่น ที่เป็นอำนาจด้านอ่อน ญี่ปุ่นจะไม่จับมือกับจีน เพราะยังมีวิสัยทัศน์ที่ขัดกัน และยังเกรงกับการมีอิทธิพลมากขึ้นของจีน ดังนั้นญี่ปุ่นคงให้ความร่วมมือกับอเมริกามากกว่า

กลุ่มประเทศบริคส์ (BRICs) มีประชากรรวมประมาณครึ่งโลก ผลผลิตหนึ่งในสี่ของโลก เงินตราสำรองประมาณร้อยละ 40 ของโลก (โดยมากเป็นของจีน) ที่เป็นหัวใจของกลุ่มคือจีน มีการวิเคราะห์แต่ละชาติสมาชิกดังนี้

รัสเซีย เดิมเป็นสหภาพโซเวียตที่มีอำนาจพอ ๆ กับอเมริกา มีอาณาเขตมากที่สุดในโลก ประชากรมากเป็นลำดับสาม เศรษฐกิจเป็นลำดับสอง มีน้ำมันและก๊าซมากกว่าซาอุดิอาระเบีย มีหัวรบนิวเคลียร์ครึ่งโลก และจำนวนทหารมากกว่าอเมริกา มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุด ต่อมาสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 ทำให้อาณาเขต เศรษฐกิจ และจำนวนทหาร รวมถึงความเป็นคอมมิวนิสต์ลดลง ปัจจุบันยังมีระบบสาธารณสุขไม่ดี อัตราตายสูง และอัตราการเกิดลดลง มีการคอร์รัปชั่นมาก รัสเซียมีแนวโน้มจับมือกับจีน แต่ยังมีการขัดแย้งเรื่องการต่างประเทศและการมองโลกบ้าง รัสเซียอาจยังเป็นภัยกับอเมริกาอยู่ เพราะยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่เท่ากับสมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต

อินเดีย อาจได้เป็นประเทศมหาอำนาจในอนาคตที่มีสามขั้วคือ จีน อเมริกา และอินเดีย เพราะอินเดียมีประชากร 1.2 พันล้านคนและไม่นานอาจมากที่สุดในโลก อินเดียมีสภาพเศรษฐกิจที่มหาศาลแต่มีมาตรฐานการครองชีพต่ำ ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร และมีแผนงานด้านอวกาศ มีจำนวนทหารมาก มีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 60-70 ลูก มีอำนาจด้านอ่อนคือ ความเป็นประชาธิปไตย วัฒนธรรม และ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่อินเดียยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ผลิตภัณฑ์รวมประเทศยังน้อย แม้มีวิศวกรคอมพิวเตอร์มากแต่ที่ใช้งานได้จริงน้อย สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีน้อย ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหาท้าทายกับอเมริกา และอินเดียกับจีนยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ มีแนวโน้มว่าอินเดียจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีน

บราซิล เป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่มีปัญหาเรื่องการจลาจล เชื้อชาติ ศาสนา หรือขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ในปี ค.ศ. 2007 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ที่ชายฝั่ง บราซิลมีจำนวนทหารน้อย ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนอำนาจด้านอ่อนนั้น บราซิลมีเทศกาลคาร์นิวาล และฟุตบอล แต่โครงสร้างพื้นฐานของบราซิลยังไม่ดีพอ มีอาชญากรรมและคอร์รัปชั่นสูง การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจยังน้อยเพราะระบบการศึกษายังไม่ดี ความยากจนยังเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นบราซิลจึงไม่น่าเป็นคู่แข่งของอเมริกา

จีน เป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มบริคส์ เพราะมีจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ จำนวนทหาร ค่าใช้จ่ายทางทหาร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ต มากที่สุดของกลุ่ม จีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2008 ได้เร็ว และอีกไม่นานผลิตภัณฑ์รวมของชาติจะแซงอเมริกาเป็นลำดับหนึ่งของโลก จีนมีอาณาเขตใกล้เคียงกับอเมริกา มีประชากรมากกว่าสี่เท่า มีกองทัพบกใหญ่ที่สุดในโลก มีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 200 ลูก มีความสามารถด้านอวกาศ และโลกไซเบอร์ ส่วนอำนาจด้านอ่อนของจีน ยังมีความด้อยกว่าฮอลลีวูดและบอลลีวูด ระบบมหาวิทยาลัยยังสู้อเมริกาไม่ได้ จำนวนเอ็นจีโอยังน้อยอยู่ แต่จีนพยายามเพิ่มด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรม มีการสร้างสถาบันขงจื้อนับร้อยแห่งในต่างประเทศเพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมของจีน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อลดความหวาดกลัว ประชากรทั้งอเมริกาและจีนต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู และมีการเตรียมพร้อมทางทหารไว้เผื่อเกิดสงคราม

จีนเคยรุ่งเรืองในสมัยโบราณ แต่ระยะห้าร้อยปีที่ผ่านมา มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ประเทศตะวันตกมีบทบาทเป็นมหาอำนาจของโลก จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงนำจีนเข้าสู่ยุคทันสมัยในทศวรรษที่ 1980 ทำให้จีนเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในโลกอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งคำสอนของขงจื้อทำให้เกิดการเสริมอำนาจด้านอ่อน แต่จีนยังมีปัญหาในชนบทที่ห่างไกล ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ ความไม่เท่าเทียม การอพยพแรงงาน ระบบประกันสังคม การคอร์รัปชั่น ความไม่มั่นคงด้านการเมือง ด้านเหนือและตะวันออกเจริญกว่าด้านใต้และตะวันตก มีชนกลุ่มน้อยมาก และประชากรเริ่มอาวุโส

แม้ว่าจีนมีความสำเร็จด้านเหรียญทองโอลิมปิค รถไฟความเร็วสูง และฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจเร็ว แต่ถ้าเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองด้วย และด้านการเมืองของจีนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอีกสิบหรือสิบห้าปีข้างหน้า เมื่อเหล่านักศึกษาที่จบจากต่างประเทศเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

จีนมีปัญหาเรื่องของโลกไซเบอร์ เมื่อรัฐบาลกลางจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เพราะการเมืองในประเทศมีความเปราะบาง ปัญหาเรื่องการอพยพที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหาเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ส่วนด้านการทหาร จีนมีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย และมีการผลิตเองด้วย มีการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างมหาศาล ทำให้จีนมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออก และท้าทายอำนาจของอเมริกาได้ในอนาคต แต่อเมริกามีข้อได้เปรียบคือมีทั้งญี่ปุ่นและอินเดียขนาบจีนอยู่ รวมถึงประเทศใกล้เคียงที่จะคอยควบคุมความประพฤติของจีน

ปัญหาของอเมริกา ความเสื่อมโทรมของอเมริกาส่วนมากเกิดจากปัญหาภายใน คือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดอาชญากรรมบ่อย การหย่าร้างสูง การตั้งครรภ์ก่อนวัย การทำแท้ง และการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นต้น นโยบายด้านการอพยพเข้าเมืองที่มีการปิดกั้นมากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรกลุ่มฮิสปานิคเพิ่มขึ้น

การปิดกั้นการอพยพเข้าเมืองไม่เป็นผลดี เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้อพยพที่ได้รับการศึกษาขั้นสูงจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์รวมของประเทศได้มาก การมีผู้อพยพที่คัดสรรแล้ว(ดีที่สุดและฉลาดที่สุด) ทำให้อำนาจด้านอ่อนเพิ่มขึ้น เพราะบุคคลเหล่านี้และญาติที่อยู่ในประเทศเดิม จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของอเมริกาให้ดูดี รวมถึงการมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้เกิดความสร้างสรรค์

อเมริกามีความล้ำหน้าด้านเศรษฐกิจหลายอย่างเช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็คโทรนิค ที่ทำรายได้เข้าอเมริกาอย่างมาก อเมริกามีการลงทุนด้านการพัฒนาและการวิจัยมากที่สุดในโลก และมีความสัมพันธ์อันดีของอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย แต่หลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลกลางเกิดหนี้สินมาก และคาดว่าในปี ค.ศ. 2023 จะมีหนี้สินเท่ากับผลิตภัณฑ์รวมของประเทศ อย่างไรก็ตามอเมริกามีข้อได้เปรียบ เพราะดอลลาร์เป็นระบบเงินสำรองของโลกและความคล่องตัวของพันธบัตรรัฐบาลของอเมริกา

การมีแรงงานที่มีความรู้ดีเป็นข้อได้เปรียบ เป็นเพราะระบบการศึกษาขั้นสูงของอเมริกา ที่ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดลำดับของมหาวิทยาลัย ชาวอเมริกันได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุด มีการตีพิมพ์บทความด้านวิทยาศาสตร์ในวารสารต่าง ๆ มากที่สุด แต่การศึกษาในระดับล่างยังคงเป็นปัญหาอยู่ รวมถึงปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ด้านสถาบันทางการเมือง ประชากรมีความเชื่อถือในรัฐบาลกลางลดลง ปัญหาการคอร์รัปชั่นลดลงเทียบกับก่อนหน้านี้ สามในสี่ของประชาชนมีความผูกพันกับชุมชน และมีการอาสาช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชน

ผลการประเมิน พบว่าอเมริกาและจีนจะแข่งกันเป็นมหาอำนาจ ทั้งนี้ขึ้นกับการเมืองในประเทศจีนด้วย อเมริกาจะเป็นมิตรที่ดีกับยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอื่น ๆ คาดหมายว่าห้าสิบปีแรกของศตวรรษนี้ จีนยังคงแซงอเมริกาไม่ได้ แต่อเมริกาจะถดถอย เพราะปัญหาเรื่องจำนวนหนี้สิน การศึกษาขั้นมัธยม การขัดแย้งทางการเมือง และที่สำคัญคือการตื่นกลัวกับการก่อการร้ายมากเกินไป ทำให้มีนโยบายที่ไม่เปิดกว้างเหมือนเดิม ส่งผลเสียเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระยะยาว

นโยบายของอเมริกาในศตวรรษที่ 21 เพื่อรับมือกับผู้ที่จะมาแข่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกคือจีน ที่เหมาเจ๋อตุงได้สร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง เติ้งเสี่ยวผิงสร้างเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ประธานาธิบดีหูจินเทาสร้างอำนาจด้านอ่อน ที่แสดงให้เห็นถึงจีนมีการใช้อำนาจที่ฉลาด

แต่ในปี ค.ศ. 2009 เกิดภาวการณ์ก้าวร้าวทางการต่างประเทศของจีน ที่ทำให้โลกตะวันตกมองว่า จีนเปลี่ยนไปจากแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “ก้าวอย่างระมัดระวังและอย่าทำตัวเด่น" ทำให้อเมริกามียุทธศาสตร์เพื่อยังคงไว้ซึ่งอิทธิพลและเพื่อรักษาความสงบสุขในโลก 3 ข้อดังนี้

1.เข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัดของอเมริกา นั่นคืออเมริกาไม่สามารถควบคุมประเทศต่าง ๆ ในโลกได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศที่เป็นมิตร

2.ต้องพัฒนาอำนาจที่ฉลาด คือการบูรณาการอำนาจด้านแข็งและอำนาจด้านอ่อนเข้าด้วยกัน รวมถึงการใช้ให้ถูกต้องกับบริบทด้วย

3.สร้างความมั่นคงให้กับอเมริกาและเครือข่าย ทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ

ความท้าทายของอเมริกา ที่ยังต้องเผชิญมี 5 ประการคือ

1.การก่อการร้ายกับอาวุธนิวเคลียร์ อเมริกาจะต้องมีนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย และปกป้องอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นของต่างชาติด้วยไม่ให้ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย มีการสร้างความมั่นคงในตะวันออกกลาง และให้ความสนใจรัฐที่ล้มเหลว

2.การพัฒนาของอิสลาม ไม่ใช่เป็นสงครามระหว่างศาสนา แต่เป็นสงครามในศาสนาอิสลามเอง ที่ชนกลุ่มน้อยใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มใหญ่ในตะวันออกกลาง อเมริกาต้องเปิดตลาดการค้า จัดการศึกษา ส่งเสริมสถาบันของพลเรือนในสังคม และให้พลเมืองมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น

3.การเพิ่มอิทธิพลของเอเชียด้านเศรษฐกิจ จัดการโดยมีนโยบายให้จีนเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น และยังคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศที่เป็นมิตรกับอเมริกาในเอเชีย

4.ความตกต่ำด้านเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการบริหารที่ล้มเหลว หรือเกิดวิกฤติในตะวันออกกลางของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อเมริกาจึงควรมีนโยบายพึ่งพาน้ำมันน้อยลง และมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น

5.ความล้มเหลวของระบบนิเวศน์ เช่น การเกิดโรคระบาด การแปรเปลี่ยนบรรยากาศโลก อเมริกาควรมีแนวทางการใช้พลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ

กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปของโลกมีมาอย่างยาวนาน อเมริกาควรทำหน้าที่ประเทศมหาอำนาจ ที่มีส่วนรับผิดชอบในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโลก มีการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก (ทั้งด้านทะเล อวกาศ และอินเตอร์เน็ต) เป็นตัวกลางขจัดความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆและสร้างสถาบันและสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นนานาชาติ ทั้งนี้อเมริกาจำเป็นต้องมียุทธศาตร์ในการจัดการกับการพุ่งขึ้นมาทั้งของรัฐและที่ไม่ใช่รัฐคือ การใช้อำนาจที่ฉลาด เน้นความร่วมมือกัน การมีสถาบัน และการมีเครือข่าย ที่สามารถตอบสนองต่อบริบทใหม่ของโลกยุคข้อมูลข่าวสาร

**********************************************************

หมายเลขบันทึก: 579551เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2014 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลละเอียดมากเลยครับ

ผมว่าในอนาคตถ้าอเมริกาไม่ปรับนโยบาย

อาจมีผู้ก่อการร้ายมากขึ้น ส่งที่น่ากลัวคืออาชญากรในประเทศอเมริกาเพิ่มขึ้น

คนเครียดขึ้น มีนักเรียนยิงกันตายและฆ่าผู้อื่นตายในโรงเรียนมากขึ้น

อีกอย่างคือ โรคระบาดครับ

ขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท